xs
xsm
sm
md
lg

‘มาร์ค’ลั่นอาเซียนเข้าเป้า‘สามอาร์’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - ปิดฉากประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ นายกฯ “อภิสิทธิ์” ลั่นไทยประธานอาเซียฯ บรรลุเป้าหมาย “สามอาร์-3Rs” ฟุ้งผลงานตั้ง กมธ.สิทธิอาเซียน คือ ผลงานชิ้นโบว์แดง ขณะที่การเจรจาทวิภาคีไทย-ญี่ปุ่นริเริ่มพัฒนาลุ่มน้ำโขง พร้อมเดินหน้าความร่วมมือลดกำแพงภาษี EAFTA ก่อนปี 2015

วานนี้ (25 ต.ค.) ได้มีพิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ในพื้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ที่เป็นไปอย่างเรียบง่าย หลังการประชุมสุดยอดอาเซียนเอเชียตะวันออกเชียงใต้ (EAS) ครั้งที่ 4 โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นกล่าวถึงผลสรุปต่างๆ ในการประชุม ก่อนที่จะกล่าวมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้กับผู้นำเวียดนาม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ว่า ก่อนอื่นขอแสดงความซาบซึ้งอย่างยิ่งยวดของประชาชนชาวไทยแด่สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านบรูไน ดารุสสลาม และผู้นำอีก 14 ประเทศที่ได้ลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้พระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายไว้ 3 ประการ หลังจากที่ได้รับตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยเมื่อปีที่ผ่านมา สรุปได้ด้วย “สามอาร์ -3Rs” กล่าวคือการบรรลุเป้าหมายตามกฎบัตรอาเซียน - Realising the ASEAN Charter การเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง - Revitalizing a people-centred ASEAN Community และการเน้นย้ำความมั่นคงของประชาชนในภูมิภาค Reinforcing human security for all

โดยทั้ง 3 เป้าหมายประสบความสำเร็จด้วยดีในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย โดยได้รับความสนับสนุนจากความมุ่งมั่นร่วมของประเทศกลุ่มอาเซียน และองค์กรต่างๆ ตามกฎบัตรอาเซียนต่างได้รับการจัดตั้งและเริ่มทำงานแล้ว ซึ่งการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สองวันที่แล้ว ก็เป็นความสำเร็จล่าสุดของอาเซียน สะท้อนความมุ่งมั่นของอาเซียนในการบรรลุเป้าหมายการสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

“การหารือตลอด 3 วันที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึง vibrant spirit of cooperation and a common sense of destiny และสะท้อนให้เห็นถึงพันธกรณีของเราในการผลักดันกระบวนการสร้างประชาคมด้วยการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระดับภูมิภาคและการเพิ่มศักยภาพให้กับประชาชน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับประโยชน์จากการรวมตัวเป็นประชาคมของอาเซียนใน ปี 2558”

พร้อมกันนี้ อาเซียนยังได้ร่วมกันในการหาทางรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่ภูมิภาคและประชาชนต้องเผชิญ ในการนี้อาเซียนจะยกระดับการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อสะท้อนเสียงที่มีเอกภาพของอาเซียนเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกในกรอบการประชุมสุดยอด G-20 รวมทั้งหวังว่าจะสามารถจัดตั้งข้อริเริ่มเชียงใหม่เชิงพหุภาคีภายในปีนี้เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยจะมีการขยายวเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ประสบวิกฤตการเงินจาก 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1.2 แสนดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่นายเหวียน เติน สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ซึ่งจะเป็นประธานคนต่อไปได้กล่าวสุนทรพจน์การจัดตั้งประชมคมอาเซียนที่จะมีความชัดเจนขึ้น

ส่วนภาพในพิธีปิดซึ่งเป็นบทสรุปสุดท้าย นายอภิสิทธ์ ได้จับมือกับนายเหวียน โดยมีข้อความสีขาวบนวีดิทัศน์ บนพื้นที่แดงแปลได้ว่า “ยินดีต้อนรับ เวียดนาม 2010” ก่อนที่ผู้นำทั้ง 10 คน จะขึ้นบนเวทีเพื่อจับมือแสดงความยินดี เป็นสัญลักษณ์ของความประสบความสำเร็จ โดยมีการร้องเพลงประจำอาเซียนครั้งที่ 15 ก่อนที่ผู้นำทั้ง 10 ประเทศ จะเดินทางกลับประเทศ

สำหรับบทสรุปของการประชุมอาเซียนครั้งที่ 15 บรรดาผู้นำชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน ได้ให้คำมั่นเพื่อเอาชนะความขัดแย้ง และผลักดันการสถาปนาประชาคมแบบเดียวกับสหภาพยุโรป (อียู) ระหว่างพิธีปิดการประชุมสุดยอดประจำปีที่ประเทศไทย โดยเฉพาะความสำเร็จในการจัดตั้งกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ ขณะที่ผู้นำประเทศบวก 6 ได้ร่วมให้สัตยบรรณรับรองข้อตกลงส่งเสริมเศรษฐกิจ การรวมกลุ่มทางการเมืองและความร่วมมือในประเด็นต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศโลก และการจัดการด้านภัยพิบัติ

ขณะที่การประชุมครั้งสุดท้ายที่นายอภิสิทธิ์ จะนั่งเป็นประธานอาเซียนอีกครั้ง คือการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ที่ประเทศสิงคโปร์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้

**หวังเวียดนามสานภารกิจต่อ

ด้านนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ว่า การที่ประชามคมอาเซียนจะปฏิบัติตามพันธกิจที่ระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียนเป็นเรื่องยาก และเป็นภาระหนัก แต่ไทยได้แสดงให้เห็นแล้วว่าในฐานะประธานอาเซียนสามารถนำเสียงของประชาคมให้เวทีโลกได้รับรู้ ในการประชุม G 20 ซึ่งเวทีโลกกำลังจับตาบทบาทอาเซียน และประชาคมเอเชียตะวันออก เพราะ 50% ของกองทุนเงินสำรองทั้งโลกอยู่ในภูมิภาคนี้ หรือ 20% ของจีดีพีทั้งโลก จึงเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศเวียดนามจะผลักดันความรับผิดชอบนี้ได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ในการประชุมเอเชียตะวันออก (EAS) ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นกรอบหนึ่งของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 15 นั้น ที่ประชุมได้ทบทวนทิศทางความร่วมมือ และเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อรับมือสิ่งท้าทายต่างๆ ในด้านเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมถึงติดตามผลแถลงการณ์ร่วมของการประชุมอีเอเอสว่าด้วยวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลก

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือและรับทราบถึงข้อเสนอแนะจากการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการเงินสำหรับการค้า และผู้นำยังได้รับทราบรายงานผลการศึกษาการเปิดการค้าเสรีและการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดียออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (EAFTA)

รวมถึงแนวทางการเชื่อมโยงการสื่อสารโทรคมนาคม และประชาชนในภูมิภาคเข้าด้วยกัน ทั้งยังรับรองแถลงการณ์ว่าด้วยการการจัดการภัยพิบัติ ที่จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้จากผลกระทบจากพายุกิสนาและป้าหม่า รวมถึงเหตุแผ่นดินไหวในอินโดนีเซีย ทั้งนี้ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะได้เรียนรู้การให้ความช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัยจากประเทศคู่เจรจา อย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

**ญี่ปุ่นพร้อมปล่อยกู้ 400 ล.ดอลล์ ช่วยอินโดนีเซียลดโลกร้อน

นายยูคิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมที่จะพิจารณาปล่อยเงินกู้สกุลเงินเยนมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลืออินโดนีเซียในการรับมือกับปัญหาโลกร้อน และหากมีการทำข้อตกลงกันจะถือเป็นการดำเนินการภายใต้การการริเริ่มของนายฮาโตยามะที่ต้องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและเทคนิคแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน

ทั้งนี้ นายกฯญี่ปุ่นได้กล่าวกับประธานาธิบดีซูสิโล่ บัมบัง ยุดโดโยโน่ ของอินโดนีเซียในช่วงที่พบกันนอกรอบ ซึ่งทางด้านผู้นำอินโดนีเซีย ได้ขอบคุณผู้นำญี่ปุ่น และเปิดเผยว่า อินโดนีเซียกำลังพยายามลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเต็มที่ รวมทั้งการแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า

**เชื่อมั่นพม่าเดินหน้า ปชต.

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าการประชุมในครั้งนี้ทุกประเทศตกลงและยินดี ที่จะตอบรับสัญญาณต่างๆ ของประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ที่มีต่อประเทศพม่า โดยเฉพาะการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศพม่า ซึ่งทางพม่าได้ยืนยันในเวทีอาเซียนบวก 3 ด้วยว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในปีหน้า และทางพล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่าได้ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามแผนโรดแม็ป ที่จะจัดให้มีกระบวนการเลือกตั้งขึ้นในปีหน้า พร้อมกันนี้ผู้นำพม่ายังระบุด้วยว่านางออง ซาน ซูจี มีส่วนร่วมและถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ในประเทศพม่า

**ลดกำแพงภาษี EAFTA ก่อนปี 2015

ขณะที่นายคาซูโฮะ โคดามะ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ได้แถลงผลการประชุมอาเซียนกับสามประเทศคู่ค้าคู่เจรจา มีการหารือในหลายๆ ประเด็น เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ การทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ สำหรับความร่วมมือระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ซึ่งนายฮาโตยามะ คาดหวังว่าจะมีการลงมือปฏิบัติในเรื่อง การละเมิดลิขสิทธิ์ การพัฒนาทางระบบการเงิน เรื่องระบบการศึกษา และตอกย้ำความสำคัญของการลดกำแพงการค้า EAFTA ให้หมดก่อนปี 2015 ด้วย ซึ่งญี่ปุ่นจะเข้ามาร่วมช่วยเหลือจัดการปัญหานี้ให้ได้มากที่สุด

สำหรับจุดยืนของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของพม่า ญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนจุดยืนของอาเซียนในทุกๆเรื่อง และก็หวังว่า การเลือกตั้งทั่วไปของพม่าที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า และอยากให้ประชาชนทุกภาคส่วนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างเป็นอิสระ

ส่วนเรื่องของสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นยังได้ใช้เวทีอาเซียนประกาศเป้าหมายในการลดปัญหาภาวะเรือนกระจกลงจากปี 1990 ให้ได้ร้อยละ 25 ก่อนถึงปี 2020 ซึ่งนายฮาโตยามะ รู้ดีว่า ปริมาณดังกล่าว ความเป็นจริงแล้วทำได้ยากทีเดียว

ต่อข้อซักถามว่า การที่ญี่ปุ่นกับจีนเป็นสองประเทศเร่งกันให้ความช่วยเหลืออาเซียน นั้น เป็นในเชิงการแข่งขันทางการค้าการลงทุนหรือไม่ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นยืนยันว่าญี่ปุ่นกับจีนที่สนุบสนุนอาเซียนด้วยเม็ดเงินมหาศาลนั้นถือเป็นเรื่องที่ดีกับอาเซียน และยืนยันว่าความสัมพันธ์ และการค้าของ 2 ประเทศ ยังดีอยู่ยังที่เห็นจากการพบปะพูดคุยระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศในการประชุมครั้งล่าสุด

ทวิภาคีไทยญี่ปุ่น ริเริ่มพัฒนาลุ่มน้ำโขง

นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ผลการเจรจาทวิภาคี ระหว่างนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ของไทย กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น ว่า ทั้ง 2 ประเทศ ได้ริเริ่มในการทำความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง กับประเทศญี่ปุ่น โดยไทย เห็นว่า เป็นโครงการที่ดี ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการขนส่งลอจิสติกส์ การพัฒนา SME รวมทั้งอุตสาหกรรม โดยประเทศไทย ได้ขอให้ทางญี่ปุ่น สนับสนุนโครงการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ 7 โครงการภายใต้กรอบเจเทปา ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และเปิดโอกาสให้เยาวชนจากเอเชียตะวันออก 16 ประเทศ มีโอกาสได้ศึกษาดูงานจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนระหว่างกัน รวมทั้ง ให้ประเทศฐญี่ปุ่น มีการนำเข้าเอทานอลจากประเทศไทยมากขึ้น ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ขอให้ประเทศไทย สนับสนุนแนวคิดในเรื่องของการลดภาวะโลกร้อน

**‘ญี่ปุ่น’แข่ง‘ออสซี่’เสนอตั้งเขตเศรษฐกิจยักษ์

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวานนี้เป็นวันสุดท้ายของการประชุมซัมมิตอาเซียน มีรายการสำคัญอยู่ที่การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asian Summit) ปรากฏว่าทั้งผู้นำออสเตรเลียและญี่ปุ่น ต่างฝ่ายต่างแข่งขันเสนอรูปแบบการรวมกลุ่มประเทศในภูมิภาค เพื่อจัดตั้งเป็นเขตการค้าเสรีซึ่งจะมีขนาดมหึมาครอบคลุมประชากรกว่าครึ่งโลก

นายเควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้นำเสนอแนวคิดเรื่องประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Community) ซึ่งเขาได้เริ่มการเผยแพร่มาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว โดยนายรัดด์ย้ำว่าแผนการของเขามีศูนย์กลางอยู่ที่การเพิ่มความร่วมมือในภูมิภาค ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ, ความมั่นคง, และสิ่งแวดล้อม

“สิ่งที่ผมพบในทั่งทั้งภูมิภาคนี้ก็คือ ความเปิดกว้างต่อการแลกเปลี่ยนความเห็นกันในเรื่องที่ว่าเราจะพัฒนาโครงสร้างในระดับภูมิภาคของเราต่อไปอย่างไรในอนาคต” นายรัดด์ให้สัมภาษณ์ก่อนเสนอแผนการของเขาต่อเหล่าผู้นำเอเชียตะวันออก

“ผมไม่ได้กำหนดกรอบเวลาเร่งด่วนในเรื่องนี้ แต่อันที่จริง ผมอยากเสนอให้เป็นปี 2020” นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าว แต่ไม่ได้ระบุว่าแผนการของเขาจะเสนอให้มีการใช้สกุลเงินร่วมกันด้วยหรือไม่

ส่วนนายยูกิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้เสนอวิสัยทัศน์เรื่องประชาคมเอเชียตะวัน (East Asia Community) ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เขาเคยพูดเอาไว้ระหว่างช่วงหาเสียงเลือกตั้งสภาล่างญี่ปุ่น ก่อนที่พรรคของเขาจะชนะถล่มทลายและทำให้เขาได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเสียอีก ทั้งนี้เมื่อวันเสาร์ (24) เขายังได้ย้ำว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกควรตั้งเป้าหมายที่จะ “เป็นผู้นำโลก”

ทั้งแนวความคิดของผู้นำญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ต่างจะนำเอาญี่ปุ่น, จีน, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, และ 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน มารวมอยู่ในประชาคมที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่นี้ ทว่าความแตกต่างอยู่ตรงที่นายรัดด์ต้องการให้เอาสหรัฐฯเข้ามาร่วมด้วยโดยตรง ขณะที่นายฮาโตยามะไม่ใช่เช่นนั้น แม้เขากล่าวย้ำว่า ญี่ปุ่นยังคงถือว่าการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯคือเสาหลักในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของตน

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก นายฮาโตยามะได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เขาคิดว่าผู้เข้าร่วมการประชุมส่วนใหญ่ต้อนรับให้ความสนับสนุนแนวความคิดของเขา และบอกว่าคงต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปีจึงจะจัดตั้งประชาคมเช่นนี้ขึ้นมาได้ และน่าจะมีการใช้สกุลเงินตราของภูมิภาคกันในบางรูปแบบด้วย

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทยในฐานะเจ้าภาพ กล่าวว่า เห็นได้ชัดเจนว่าเอเชียจำเป็นต้องมีโมเดลการเจริญเติบโตแบบใหม่ โดยที่จะต้องพึ่งพาคู่ค้าที่เป็นประเทศตะวันตกรายใหญ่ๆ ลดน้อยลง และอาศัยข้อตกลงการค้าในแบบทั่วทั้งเอเชียกันมากขึ้น

นายอภิสิทธิ์บอกว่า บรรดาผู้นำ “รับฟังอย่างตั้งใจและระมัดระวัง” ต่อแผนการต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียและญี่ปุ่นริเริ่มขึ้น แต่ยังจะไม่ด่วนตัดสินใจใดๆ ในเรื่องนี้

“สิ่งที่เราเน้นก็คือว่าเรายังไม่จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกโครงสร้างรูปแบบใดให้ชัดเจนลงไปในขณะนี้ แต่เราต้องตระหนักรับรู้เรื่องโครงสร้างของกลุ่มภูมิภาคที่จะคลี่คลายคืบหน้าต่อไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายกรัฐมนตรีไทยชี้ว่าจะมีการประชุมที่ออสเตรเลียในเดือนธันวาคมเพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการของนายรัดด์ และแนวความคิดเรื่องประชาคมเอเชียตะวันออกก็กำลังเดินหน้าอย่างคู่ขนานไปกับแผนการต่างๆ สำหรับการจัดตั้งเขตการค้าเสรีในภูมิภาคนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น