โฆษกรัฐแจงคิว “อภิสิทธิ์” หารือจีน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์แบบทวิภาคี นายกฯ ทั้งสามประเทศสนับสนุนไทยในการจัดประชุมและชื่นชมความสำเร็จ แต่ไม่มีแผนหารือกับ “ฮุนเซน” ปฏิเสธการประชุมไม่ได้สร้างรอยร้าวด้านความสัมพันธ์ในอาเซียน โดยเฉพาะระหว่างไทย-กัมพูชา
วันนี้ (25 ต.ค.) นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงผลการหารือแบบทวิภาคีระหว่างไทย-จีน ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ในการประชุมอาเซียนซัมมิทว่า เช้าวันนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯได้พบกับนายกฯ จีน นายกฯ ออสเตรเลียและนายกฯ นิวซีแลนด์แบบทวิภาคี โดย การพบนายกฯ จีนนั้นมีการยืนยันความสัมพันธ์ที่ดีและจะเพิ่มเติมการเสนอแผนการลงทุนในระบบรางของไทย และจะแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ระดับสูงและคณะกรรมการที่จะมาดูแลการลงทุนในครั้งนี้
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ได้เชิญนายกฯ จีนมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพราะปี 2553 จะเป็นปีครบรอบ 35ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน โดยนายกฯ จีนรับทราบและกำลังพิจารณาความเหมาะสมต่อไป ส่วนการพบนายกฯ ออสเตรเลียนั้น นายกฯ ยืนยันความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-ออสเตรเลียในหลายด้าน เช่น การค้า การลงทุน การศึกษาและภาษา การพัฒนาขีดความสามารถด้านต่างๆ ทั้งนี้นายกฯทั้งสามประเทศสนับสนุนไทยในการจัดประชุมและชื่นชมความสำเร็จในการประชุมครั้งนี้ และยังย้ำการสร้างความเข้มแข็งในเอเชียตะวันออกและความร่วมมือรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจร่วมกัน
นายปณิธานกล่าวว่า ส่วนการประชุมแบบทวิภาคีไทย-กัมพูชานั้น นายปณิธานกล่าวว่า ไม่ มีการวางกำหนดการนี้ไว้ในกำหนดการเพราะกำหนดการของนายอภิสิทธิ์ในการประชุม ครั้งนี้ค่อนข้างแน่นและเวลาไม่พอ ยืนยันเรื่องนี้ไม่มีปัญหาและไม่ล่มตามที่มีกระแสข่าวออกมา
เมื่อถามว่า สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ว่าการประชุมครั้งนี้จะสร้างรอยร้าวด้านความสัมพันธ์ในอาเซียน โดยเฉพาะระหว่างไทย-กัมพูชามากกว่า นายปณิธานกล่าวว่า ความเห็นนั้นแตกต่างกันได้ ไม่มีปัญหา แต่การประชุมประสบความสำเร็จด้วยดีเพราะผู้นำชาติต่างๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ขอบคุณสิ่งที่รัฐบาลจัดการประชุมครั้งนี้ และการประชุมวาระสำคัญ เช่น การสร้างอาเซียนให้เป็นปึกแผ่นและเข้มแข็ง โดยยึดอาเซียนเป็นศูนย์กลางประสานงานนั้นก็เป็นไปด้วยดี รวมทั้งกำหนดบทบาทให้อาเซียนกับกลุ่มประเทศ G-20 ทำงานร่วมกัน และยังมีการพบปะกันของผู้นำชาติต่างๆในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะวันนี้ผู้นำในกลุ่มประเทศ G-20 มาประชุมที่นี่ถึง6ประเทศ โดยในปีหน้าเกาหลีใต้จะเป็นประธานจัดการประชุมกลุ่มประเทศ G-20 จะมีการผลักดันอาเซียนเข้าระบบและร่วมประชุมในเวทีดังกล่าวให้มากขึ้น เพราะอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญกลุ่มหนึ่งในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจโลกร่วมกับประเทศมหาอำนาจ และยังมีการประชุมทวิภาคีแบบคู่ขนานหลายครั้งในการประชุมครั้งนี้ด้วย
นายปณิธานกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้อาเซียนปรับกลไกหลายอย่าง เช่น ด้านสิทธิมนุษยชน การร่วมมือด้านเศรษฐกิจและเขตการค้าเสรี การยกนะดับการศึกษา การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การดำเนินการโทรทัศน์อาเซียนเป็นจุดศูนย์รวมแลกเปลี่ยนข่าวสาร รวมทั้งการผลักดันให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการประชุมด้วย แม้ยอมรับว่ามันค่อนข้างยากก็ตาม ทั้งนี้ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนระบุว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าภาคเยาวชนจะเข้าพบผู้นำการ ประชุมและก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอาเซียนและจะมาร่วมประชุมที่นี่แทนพวกเรา
“ย้ำว่าที่ประชุมไม่มีการพูดเรื่องความขัดแย้งไทย-กัมพูชาเลย และชัดเจนว่ามันเป็นเรื่องของสองประเทศที่มีความเห็นแตกต่างบ้างในบางประเด็นเท่านั้น และในทางกลับกันนายอภิสิทธิ์กับสมเด็จฮุน เซน นายกฯกัมพุชาได้เสนอความเห็นสอดคล้องและสนับสนุนกันหลายเรื่อง เช่นโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียนเพื่อนำเงินจากจีนและญี่ปุ่นมาลงทุนและพัฒนาภูมิภาค” นายปณิธานกล่าว และว่า ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าในปี 2553 นั้น ที่ประชุมรับทราบรายงานว่าสถานการณ์ ในพม่าคลี่คลายตามลำดับและเตรียมจัดการเลือกตั้งแล้ว นายกฯเสนอว่าหากพม่าต้องการให้อาเซียนช่วยประสานในเรื่องใดๆ และการเลือกตั้งนั้นก็ยินดี แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับพม่า เพราะเป็นกระบวนการภายในประเทศ