xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์ของบเพิ่ม1.3หมื่นล. ดันส่งออก-กระตุ้นกำลังซื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พาณิชย์” อ้างกระตุ้นส่งออก เล็งของบปี 53 เพิ่มอีก 1.3 หมื่นล้านบาท จากงบปกติที่ได้ประมาณ 6 พันล้านบาท หวังเพิ่มยอดส่งออกและฟื้นกำลังซื้อภายในประเทศ ตั้งเป้าปีหน้าส่งออกโต 10% จากปีนี้ พร้อมอ้อน “มาร์ค” ไฟเขียวมาตรการเสริมกระตุ้นส่งออกปีนี้ ด้านนายกฯเผยบรรลุข้อตกลงร่วมยุทธศาสตร์ไทย-จีน ภายใน 5 ปี มูลค่าการค้าเพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านเหรียญฯ แจงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แนะนักลงทุนจีนมาใช้โอกาสร่วมลงทุนกับไทย

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ จัดทำยุทธศาสตร์และการใช้งบประมาณปี 2553 เพิ่มเติม จากงบประมาณปกติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ โดยจะเป็นการขอใช้เงินจากงบกลาง เพื่อผลักดันการส่งออกปีหน้าให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% และกระตุ้นกำลังซื้อภายใน แก้ปัญหาค่าครองชีพสูง ซึ่งในสัปดาห์หน้า นายศิริพลจะชี้แจงต่อกรรมาธิการงบประมาณ
  “ในปีนี้ ยอมรับว่าตัวเลขการส่งออกไทยอาจติดลบ แต่จะพยายามไม่ให้ติดลบถึง 15-19% โดยมองตัวเลขติดลบที่ 10% หากมาตรการช่วยเหลือภาคส่งออกได้ดำเนินการภายในไตรมาส 3  แผนงานการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในต่างประเทศไปได้ดี รวมถึงการค้าโลกเริ่มฟื้นตัว เชื่อว่ายอดการส่งออกจะกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2553” นางพรทิวากล่าวและว่า
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า กระทรวงพาณิชย์จะทวงถามถึงความคืบหน้าการพิจารณาการคืนภาษีมุมน้ำเงินให้กับผู้ส่งออก มาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้แก่ประเทศคู่ค้าที่สั่งซื้อสินค้าไทย (บายเออร์เครดิต) และการลดดอกเบี้ยแพ็กกิ้งเครดิตแก่ผู้ส่งออกไทยไปตลาดใหม่เป้าหมาย 25 ประเทศทั่วโลก เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ผู้ส่งออก เพราะขณะนี้รัฐบาลจีนใช้มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการวงเงิน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากเอกชนไทยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ จะช่วยพยุงธุรกิจให้ฟื้นตัวไปพร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งจะสอบถามความชัดเจนการระบายข้าวที่กำลังเป็นปัญหาในขณะนี้ด้วย
  นายศิริพล กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมของบประมาณในปี 2553 เพิ่มเติมอีก 13,000 ล้านบาท จากงบปกติที่คาดว่ากระทรวงพาณิชย์จะได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจภายใน และกระตุ้นการส่งออก โดย 60% ของงบประมาณเพิ่มเติมจะใช้เพื่อกระตุ้นการส่งออกให้เติบโต 10%  ในปีหน้าตามนโยบายรมว.พาณิชย์ ซึ่งจะเน้นจัดกิจกรรมเชิงรุกในตลาดใหม่ เพื่อขยายสัดส่วนการส่งออกจาก 50% เป็น 55% โดยตลาดที่มีศักยภาพที่จะขยายตัวได้มากในปีหน้า เช่น อาเซียน แอฟริกา ตะวันออกกลาง จีน  เป็นต้น นอกจากนี้ จะส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ และรายเล็กไปต่างประเทศให้มากขึ้น ส่วนอีก 40% จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านโครงการสีฟ้าและธงฟ้า และเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่ตลาดโลก ( โลคอล ทู โกลบอล)

เป้า5ปีมูลค่าไทย-จีน 5 หมื่นล้านเหรียญ
สำหรับการเดินทางไปเยือนประเทศจีนของรัฐบาลไทย โดยการนำของนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พร้อมด้วยข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจ เป้าหมายหลักเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีและหารือเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศมากยิ่งขึ้นไปอีก
โดยเมื่อเวลา 12.00 น. วานนี้ (26 มิ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม เจดับบลิว แมริออท นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงาน Lunch Talk “ Amazing Thailand, Amazing Value ” ว่า ประเทศจีนเป็นประเทศแรกๆที่นายกรัฐมนตรีมาเยือนตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ซึ่งไทยและจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ตั้งแต่เดือนก.ค. ปี 2518 (ปี 1975) และกำลังจะร่วมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 34 ปี
“ ในสังคมสมัยใหม่ ความสัมพันธ์ไทย-จีน ได้ถูกทำให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นโดยการแรกเปลี่ยนในหลายระดับชั้น ทั้งระดับรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแลกเปลี่ยนกันในระดับราชวงศ์ โดยเฉพาะการเสด็จพระราชดำเนินเยือนจีน ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในปี 2543 ในฐานะตัวแทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้ง การเสด็จพระราชดำเนินเยือนของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในหลายโอกาส โดยอดีตประธานาธิบดีจีน ก็ได้เดินทางมาเยือนไทยในหลายโอกาสเช่นกัน ”
ด้านความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศ จีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2004-2008) มูลค่าทางการค้าไทย-จีน มีจำนวนถึง 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 25 % ต่อปี ในปี 2551 มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17 % จากปีก่อน และคิดเป็น 10 % ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยในปีที่ผ่านมา จีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยและเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับสามของการส่งออกสินค้าไทยทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ปริมาณการนำเข้าของไทยจากจีนใหญ่เป็นอันดับสองเมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าจากประเทศอื่น
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนปริมาณการค้าระหว่างกัน ทั้งสองประเทศได้เห็นพ้องในแผนปฏิบัติการร่วมยุทธศาสตร์ความร่วมมือไทย-จีน 2550-2554 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ เท่ากับ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี2553 และล่าสุด ได้มีการลงนามในความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจ และการค้าในเชิงกว้างและลึก เพื่อขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ครอบคลุมในหลายสาขา เช่น การเกษตร อาหาร พลังงาน โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว ร้านอาหาร และอุตสาหกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม( SMEs )
ในด้านการลงทุน ระหว่างปี 2513-2551 มูลค่าการลงทุนของจีนในไทยที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน ( บีโอไอ ) มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เฉพาะในปี 2550 มีมูลค่าถึง 442 ล้านเหรียญ สำหรับการลงทุนจากประเทศไทย มีคนไทยเข้าไปลงทุนในจีนถึง 56 โครงการในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นถึง 44 % เมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนในปีก่อน

กระตุ้นคนจีนเที่ยวไทย-ปลอดภัย
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวว่า ประเทศไทยยังเป็นสวรรค์ของนักช้อปปิ้ง มีการจัดให้มีการลดราคาสินค้าสม่ำเสมอ สามารถต่อรองราคาได้ ทั้งในร้านค้าและตามท้องถนนทั่วไป และในแต่ละปี ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 1 ล้านคนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ตัวเลขในปี 2550 ปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยมีจำนวนมากเป็นอันดับ 4 จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมด โดยสถานทีที่นักท่องเที่ยวจีนชื่นชอบที่จะเดินทางมาก็คือ กรุงเทพฯ พัทยาและกาญจนบุรี และเริ่มที่จะขยายการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอื่นๆ เช่น หัวหิน ภูเก็ต สมุย และ กระบี่ เป็นต้น
“ การท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทยช่วยสร้างงาน และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่คนมากกว่า 4 ล้านคน จากในเมืองไปยังชนบท ซึ่งรวมถึงธุรกิจSMEs ของประเทศอีกด้วย อีกทั้ง รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ทั้งการขยายเวลาการยกเลิกค่าธรรมเนียมวีซ่าไปสิ้นสุดเดือนมี.ค.ปี 53 การลดค่าธรรมเนียมค่าลงจอดของเครื่องบิน ลดราคาค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวและสวนสาธารณะของรัฐลง 50 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งการให้ความมั่นใจด้านความปลอดภัย สำหรับการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศ โดยรัฐบาลจะออกมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย ”นายกรัฐมนตรีฯกล่าว

แจงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่
ในส่วนของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นการนำมาตรการระยะสั้นที่จะช่วยบรรเทาภาระของคนจน และได้ถูกดำเนินการตามแผนและทันท่วงที แผนการแจกเงินทางตรงได้ช่วยผู้มีรายได้น้อย และผู้สูงอายุให้ได้รับเงินช่วยเหลือประจำปี ตลอดจนแผนการให้การศึกษาขึ้นพื้นฐานฟรี 15 ปี ได้ถูกดำเนินการและเริ่มจะเห็นผล ซึ่งตอนนี้ปริมาณเงินได้กระจายไปถึง 70-80 % แล้ว
“ หากจะเปรียบวิกฤตครั้งนี้เหมือนกับสถานการณ์ไฟไหม้บนตึก คิดว่ารัฐบาลได้ช่วยประชาชนที่ติดอยู่บนตึกได้แล้ว เงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มจะดีขึ้น และจะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นเริ่มจะฟื้นตัวถึงร้อยละ 30 จากต้นปี สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการออกแบบและสร้างตึกขึ้นใหม่ ผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่ 2 วงเงิน 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศและประชาชน เน้นการลงทุนระยะยาวในโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกของศูนย์สาธารณสุข ตลอดจนสถาบันการศึกษาให้ดีขึ้น โดยเงินทุนที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจ จะมาจากการกู้ยืมภายในประเทศ ซึ่งรัฐสภาเพิ่งเห็นชอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องเมื่อสองวันที่ผ่านมา ”
นอกจากนี้ จะพิจารณาการจับคู่ภาครัฐบาลและเอกชน โดยผลที่จะตามมา คือ โอกาสของการลงทุนจากต่างชาติในโครงการต่างๆ ซึ่งในปี 2551-2552 ได้ถูกวางให้เป็นปีแห่งการลงทุนของไทย ( Thailand Investment Years ) มีการเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆให้แก่นักลงทุน ดังนั้น จึงขอให้ผู้ลงทุนจีนใช้ประโยชน์จากโอกาสจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และมาตรการต่างๆจะส่งให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงต้นปี 53

ตั้งกองทุนอาเซียนรับมือวิกฤต
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวในฐานะประธานอาเซียนว่า นายกรัฐมนตรีจะนำพาอาเซียนภายใต้กฎบัตรอาเซียนใหม่ ในการสร้างประชาคมอาเซียนให้สามารถบรรลุเป้าหมายในปี 2558 โดยประเทศไทยจะทำงานในเชิงลึกและร่วมมือกับประเทศจีนให้มากขึ้น เนื่องจากจีนเป็นประเทศคู่เจรจาที่สำคัญของอาเซียน และตั้งแต่กรอบความตกลงด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและจีนที่ได้ข้อสรุปเมื่อปี 2545 มูลค่าการค้าระหว่างจีนและอาเซียนในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 231,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อีกความร่วมมือที่สำคัญระหว่างอาเซียนกับจีน คือ ความร่วมมือในการต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทั้งอาเซียนและจีนได้ร่วมกันแสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการการปกป้องการค้าในเวที จี 20 ที่กรุงลอนดอน และสนับสนุนการเจรจาของโดฮา ราวนด์ (Doha Round) ภายใต้กรอบอาเซียนบวก 3 ทั้งอาเซียนและจีนเห็นพ้องที่จะสนับสนุนความร่วมมือไตรภาคีและขยาย Chiang Mai Initiative ซึ่งเป็นการสำรองเงินทุนในภูมิภาคเพื่อเป็นกลไกปกป้องการขาดแคลนสภาพคล่องและสร้างเสถียรภาพให้แก่ภูมิภาคนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น