xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” สุนทรพจน์ฟื้นเชื่อมั่นไทย-จีน หวังเรียกคืนนักท่องเที่ยวเข้าไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ อภิสิทธิ์ สุนทรพจน์ในงานอะเมซิ่งไทยแลนด์ อะเมซิ่งวาร์รูล ที่ประเทศจีน ลั่นหวังเรียกคืนความเชื่อมั่นนักธุรกิจ ชี้ สัมพันธ์ไทย-จีน ลึกซึ้งแนบแน่นฉันท์พี่น้องยาวนาน ทั้งทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม เชื่อทำให้การร่วมลงทุนทางเศรษฐกิจไม่มีปัญหา ย้ำพร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ

วันนี้ (25 มิ.ย.) เมื่อเวลา 12.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม เจดับบลิว แมริออท นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงาน Lunch Talk “Amazing Thailand, Amazing Value” โดยแสดงความยินดีในการเยือนจีนครั้งนี้ และได้มากล่าวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจชั้นนำชาวจีน ผู้ประกอบการ นักลงทุน

ซึ่งประเทศจีนเป็นประเทศแรกๆ ที่นายกรัฐมนตรีประสงค์ที่จะมาเยือนตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ซึ่งการมาเยือนในครั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มาพร้อมกับคณะทางการคณะใหญ่ ประกอบไปด้วย รัฐมนตรี ข้าราชการจากหลายกระทรวง รวมถึงภาคเอกชน แสดงถึงความสำคัญที่ไทยให้กับจีน และขอขอบคุณการต้อนรับที่อบอุ่นจากรัฐบาลและประชาชนชาวจีนไทย และจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ตั้งแต่เดือน ก.ค ปี 1975 และกำลังจะร่วมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 34 ปี ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ไทย-จีน ต่างมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรที่ดีระหว่างกันมาเป็นเวลายาวนาน เป็นเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดกันทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ ความลึกซึ้งทางวัฒนธรรม ความใกล้ชิดทางเชื้อชาติ
 แม้ว่าแท้จริงแล้วเรามีการติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และราชวงศ์หมิงของจีนแล้วก็ตาม ทำให้คนทั้งสองประเทศเชื่อมต่อกันผ่านการเดินทางติดต่อกัน การแต่งงาน จนหลอมรวมกันจนแทบจะแยกกันไม่ออก

ในสังคมสมัยใหม่ ความสัมพันธ์ไทย-จีน ได้ถูกทำให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นโดยการแรกเปลี่ยนในหลายระดับชั้น ทั้งระดับรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแลกเปลี่ยนกันในระดับราชวงค์ โดยเฉพาะการเสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในปี 2000 ในฐานะตัวแทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งการเสด็จพระราชดำเนินเยือนของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯในหลายโอกาส

โดยอดีตประธานาธิบดีจีนเอง ก็ได้เดินทางมาเยือนไทยในหลายโอกาสเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศจีนและไทยได้มีการทำงานร่วมกันในหลายระดับและในหลายสาขา อาทิ ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วัฒนธรรม สาธารณสุข การศึกษา กีฬา กฎหมายและทางการทหาร และความร่วมมือเหล่านี้ ไม่เพียงแต่เพื่อประโยชน์รวมกันของประชาชนชาวไทยและชาวจีนเท่านั้น แต่ยังประโยชน์ต่อความสงบสุข เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอาเซียนนี้ด้วย

ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศในยุคปัจจุบันนี้ มีการพัฒนามายาวนาน และนับตั้งแต่ไทยและจีนมีการค้าขายระหว่างกัน นับแต่นั้นเป็นต้นมา จีนได้เป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2004-2008) มูลค่าทางการค้าไทย-จีน มีจำนวนถึง 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 25 ต่อปี ในปี 2008 มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17 จากปีก่อนและคิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ในปีที่ผ่านมาจีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยและเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับสามของการส่งออกสินค้าไทยทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ปริมาณการนำเข้าของไทยจากจีนใหญ่เป็นอันดับสองเมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าจากประเทศอื่น

นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนปริมาณการค้าระหว่างกัน ทั้งสองประเทศให้เห็นพ้องในแผนปฏิบัติการร่วมยุทธศาสตร์ความร่วมมือไทย-จีน 2007-2011 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเท่ากับ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2010 ซึ่งเมื่อวานนี้ได้มีการลงนามในความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้าในเชิงกว้างและลึก เพื่อขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งจะครอบคลุมในหลายสาขาซึ่งเป็นความสนใจร่วมกันของทั้งสองฝ่าย อาทิ การเกษตร อาหาร พลังงาน โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว ร้านอาหาร และ SMEs

ในด้านการลงทุน ระหว่างปี 1970-2008 มูลค่าการลงทุนของจีนในไทยผ่านการอำนวยความสะดวกของ BOI มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2007 ปีเดียวมีมูลค่าถึง 442 ล้านเหรียญ สำหรับการลงทุนจากประเทศไทยมีคนไทยเข้าไปลงทุนในจีนถึง 56 โครงการในปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนในปีก่อน

นายกรัฐมนตรีจึงสามารถกล่าวได้ว่า ไทยและจีนมีการค้าการลงทุนที่ดีและเพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่า เรายังสามารถขยายการค้าการลงทุนระหว่างกันได้อีก และเชื่อมั่นว่า การเดินทางมาเยือนจีนในครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศไทยและจะทำให้ทุกคนทราบว่า ทำไมประเทศไทยยังเป็นโอกาสที่ดีที่ไม่น่าพลาดสำหรับทุกท่าน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมากเดินทางมายังประเทศไทยเพราะประเทศไทยมีหลายอย่างที่น่าสนใจ ทั้ง อาหารไทย วัดวาอารามที่สวยงาม หาดทรายและภูเขา ซึ่งให้ประสบการณ์ที่หลายหลาย งดงาม ทั้งที่น่าตื่นเต้นและผ่อนคลาย ประเทศไทยมีวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ไม่เหมือนใคร มีประวัติศาสตร์ที่เราภูมิใจและเป็นเอกลักษณ์ ในขณะเดียวกันก็ดึงดูดผู้ที่ชื่นชอบชีวิตทันสมัย ประเทศไทยยังเป็นสวรรค์ของนักช๊อปปิ้ง มีการจัดให้มีการลดราคาสินค้าสม่ำเสมอ สามารถต่อรองราคาได้ทั้งในร้านค้าและตามท้องถนนทั่วไป

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยมีทุกอย่างที่ทุกคนต้องการ ในแต่ละปี ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 1 ล้าน มาท่องเที่ยวในประเทศไทย ในปี 2007 ปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยมีจำนวนมากเป็นอันดับ 4 จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมด โดยสถานทีที่นักท่องเที่ยวจีนชื่นชอบที่จะเดินทางมา ก็คือ กรุงเทพฯ พัทยา และกาญจนบุรี และเริ่มที่จะขยายการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอื่นๆ เช่น หัวหิน ภูเก็ต สมุย และกระบี่ เป็นต้น

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากใครมีกำหนดการเดินทางมาประเทศไทยในช่วงปลายปีนี้ จะมีโอกาสได้ใช้ airport link ที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมกับการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างเมืองและสถานบินได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น และยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าทำให้สามารถเดินทางไปยังส่วนต่างๆ ของกรุงเทพฯ ได้อย่างทั่วถึง
 ซึ่งการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทยช่วยสร้างงานและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนมากกว่า 4 ล้านคน จากในเมืองไปยังชนบท ซึ่งรวมถึงธุรกิจ SMEs ของประเทศอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลไทยได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไทย อาทิ การยกเลิกค่าธรรมเนียม วีซ่า ตั้งแต่ เดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน และจะขยายเวลาต่อไปอีกจนถึงเดือนมีนาคมในปีหน้า การลดค่าธรรมเนียมค่าลงจอดของเครื่องบิน ลดราคาค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวและสวนสาธารณะของรัฐลงร้อยละ 50 รวมทั้งการให้ความมั่นใจด้านความปลอดภัยสำหรับการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีจะออกมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมการท่องเที่ยวไทย-จีน เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบมีคุณภาพ สอดรับกับกฎระเบียบใหม่ด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลจีน รวมทั้งไทยยังมีการขยายอุตสาหกรรมให้มีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ ธุรกิจสปา การท่องเที่ยวเชิงกีฬา ด้านดูแลสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งไม่ต้องกล่าวถึงในแง่ความคุ้มค่าทางการเงิน เพราะเป็นที่รู้ดีว่า ประเทศไทยได้รับการจัดให้เป็นประเทศที่มีความคุ้มค้าสำหรับการเดินทางมาท่องเที่ยวและได้รับรางวัลนี้ในปี 2008 ในงาน World Travel Mart ด้วย

ในด้านการลงทุนประเทศไทยก็มีความพร้อมในทุกด้านสำหรับความสำเร็จทางธุรกิจ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาลง ที่บริษัทใหญ่ของโลกต้องปิดตัวลงและเลิกจ้าง แต่ บริษัทใหญ่อย่าง General Motor ยังคงมุ่งหน้าตามแผนการขยายโรงงานในประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และนักธุรกิจจากตะวันออกกลางยังคงขยายการธุรกิจในประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีแรงงานที่มีทักษะและมีความสามารถในการปรับตัว นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเปิดกว้างให้สามารถขยายการลงทุนไปยังประเทศในอาเซียนและยังเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ รวมทั้งอินโดจีน

การพักอาศัยในประเทศไทยก็มีความสะดวกสบาย มีโรงเรียนนานาชาติหลายแห่งสำหรับเด็กๆ มีโรงพยาบาลมาตรฐานระดับโลก อาหารอร่อยและมีสถานบันเทิงเพื่อรองรับเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่ที่เหมาะสมทั้งในแง่การทำงานและใช้ชีวิตที่สะดวกสบายในเวลาเดียวกัน

รัฐบาลไทยมีนโยบายที่เปิดกว้างและเป็นมิตรต่อนักลงทุน ซึ่งไม่กระทบกระเทือนต่อสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งจะมีการตั้งศูนย์ One Start One Stop Center (OSOS) เพื่อให้การบริการและการติดต่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในจุดเดียว เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจในประเทศและรับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากภาครัฐได้อย่างเต็มที่ อาทิ สิทธิในการถือครองที่ดินและการยกเว้นภาษีมากที่สุด 13 ปี

จากที่แจ้งเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนและการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว มีความตระหนักดีว่าสิ่งที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้ลงทุนก็คือความสงบและมั่นคงทางการเมืองและสภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย

หลังจากที่เข้าดำรงตำแหน่งได้ 6 เดือน ได้ตั้งเป้าหมายหลัก 2 อย่างสำหรับรัฐบาล ได้แก่ การประนีประนอมทางการเมืองและการนำประเทศให้พ้นวิกฤตเศรษฐกิจ โดยจะเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักและนำทางด้วยหลักประชาธิปไตย ไม่แบ่งแยก ความยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้และธรรมาภิบาล ในขณะเดียวกันก็ยึดหลักกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนและอิสระขั้นพื้นฐาน ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

สำหรับการประนีประนอมทางการเมือง ยินดีที่การดำเนินการมีความคืบหน้า หลังจากเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสองชุดเพื่อหาทางแก้ไขทางการเมือง และปูทางไปสู่การประนีประนอมอย่างยั่งยืน ด้วยการมีส่วนร่วมของรัฐบาล สส. ฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิก และประชาชน สำหรับการนำประเทศให้พ้นวิกฤตเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีความท้าทายทางด้านการเมืองแต่จะนำประชาชนให้ฝ่าวิกฤตครั้งนี้

แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น รวมเอามาตรการระยะสั้นที่จะช่วยบรรเทาภาระของคนจน และได้ถูกดำเนินการตามแผนและทันท่วงที แผนการแจกเงินทางตรงได้ช่วยผู้มีรายได้น้อย และผู้สูงอายุให้ได้รับเงินช่วยเหลือประจำปี ตลอดจนแผนการให้การศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี 15 ปี ได้ถูกดำเนินการและเริ่มจะเห็นผล ซึ่งตอนนี้เงินได้กระจายไปถึงร้อยละ 70-80 แล้ว หากจะเปรียบวิกฤตครั้งนี้เหมือนกับสถานการณ์ไฟไหม้บนตึก คิดว่า รัฐบาลได้ช่วยประชาชนที่ติดอยู่บนตึกได้แล้ว เงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มจะดีขึ้น และจะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นเริ่มจะฟื้นตัวถึงร้อยละ 30 จากต้นปี สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการออกแบบและสร้างตึกขึ้นใหม่

การออกแบบและสร้างตึกขึ้นใหม่ จะออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่ 2 วงเงิน 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มุ่งที่จะสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศและประชาชน เน้นการลงทุนระยะยาวในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาระบบจัดการน้ำ ขยายระบบรถไฟรางคู่ และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกของศูนย์สาธารณสุขตลอดจนสถาบันการศึกษาให้ดีขึ้น นอกจากนี้ จะนำไปลงทุนในสาขาพลังงาน การส่งเสริมการท่องเที่ยงแล้วพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะด้านบริการ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และผลิตภาพในสาขาเกษตรกรรม โดยเงินทุนนี้จะมาจากการกู้ยืมภายในประเทศ ซึ่งรัฐสภาเพิ่งเห็นชอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องเมื่อสองวันที่ผ่านมา นอกจากนี้ จะดูการจับคู่ภาครัฐบาล-เอกชน สิ่งที่ตามมาคือโอกาสของการลงทุนจากต่างชาติในโครงการต่างๆ ซึ่งในปี 2008-2009 ได้ถูกวางให้เป็นปีแห่งการลงทุนของไทย (Thailand Investment Years) ซึ่งมีการเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่นักลงทุน จึงขอให้ผู้ลงทุนจีนใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าจะสามารถทำให้เศรษฐกิจกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงต้นปี 2010

ดังนั้น สิ่งที่นายกรัฐมนตรีเน้น คือ การสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและฟื้นฟูเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างความพร้อมให้แก่ประเทศและประชาชนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกผ่านพ้นไป นอกจากนั้น ในฐานะประธานอาเซียน นายกรัฐมนตรีจะนำพาอาเซียนภายใต้กฎบัตรอาเซียนใหม่ในการสร้างประชาคมอาเซียนให้สามารถบรรลุเป้าหมายในปี 2015 ประเทศไทยจะทำงานในเชิงลึก และกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เนื่องจากจีนเป็นหนึ่งในประเทศคู่เจรจาที่สำคัญของอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการค้าและการลงทุน กรอบความตกลงด้านความร่วมมือทางเศรษกิจระหว่างอาเซียนและจีนที่ได้ข้อสรุปตั้งแต่ปี 2002 ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างจีนและอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ในปี 2008 การค้าอาเซียน-จีน เพิ่มขึ้นเป็น 231,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอีกไม่ช้านี้ก็จะมีการลงนามข้อตกลงการลงทุนอาเซียน-จีน ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการลงทุนในภูมิภาคได้อีกมหาศาล

อาเซียนและประเทศจีนไม่เพียงแต่เป็นคู่ค้าที่สำคัญต่อกัน แต่ยังร่วมกันรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ เช่น การแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ (H1N1) ด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความดีใจที่การจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุข อาเซียน+3 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2009 เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดแล้ว อาเซียนและประเทศคู่เจรจาได้แสดงถึงความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ด้วย

อีกความร่วมมือที่สำคัญระหว่างอาเซียนกับจีน คือ ความร่วมมือในการต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทั้งอาเซียนและจีนได้ร่วมกันแสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการการปกป้องการค้าในเวที จี 20 ที่กรุงลอนดอน และสนับสนุนการเจรจาของโดฮา ราวนด์ (Doha Round) ภายใต้กรอบอาเซียนบวก 3 ทั้งอาเซียนและจีนเห็นพ้องที่จะสนับสนุนความร่วมมือไตรภาคี และขยาย Chiang Mai Initiative ซึ่งเป็นการสำรองเงินทุนในภูมิภาคเพื่อเป็นกลไกปกป้องการขาดแคลนสภาพคล่องและสร้างเสถียรภาพให้แก่ภูมิภาคนี้





กำลังโหลดความคิดเห็น