xs
xsm
sm
md
lg

ตามหาชื่อหมี นี่คือ ‘วาระแห่งชาติ’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กว่า 6 ปีมาแล้วที่คนไทยได้มีโอกาสชื่นชมความน่ารักของ ‘ช่วงช่วง’ และ ‘หลินฮุ่ย’ ทูตสันถวไมตรีจากประเทศจีน และเกือบ 3 ปีกับความพยายามที่จะทำให้ทั้งสองจู๋จี๋ดู๋ดี๋กัน เพื่อให้กำเนิดทายาทหมีแพนด้าน้อยบนแผ่นดินไทย

เปิดหนังโป๊แพนด้าให้ดูก็แล้ว สร้างบรรยากาศรังรักก็แล้ว แต่ว่าทั้งช่วงช่วงและหลินฮุ่ยก็ดูจะสนใจกิจกรรมอื่นๆ มากกว่าการมุ่งมั่นผลิตทายาท จนแล้วจนรอดก็มีแค่ได้ลุ้นตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

สุดท้ายหน่วยแพทย์ประจำตัวของท่านทูตก็ต้องใช้ไม้ตาย ในเมื่อท่านทูตทั้งสองท่านผสมพันธุ์กันแบบแท้ๆ ไม่ได้ ก็คงต้องใช้วิธีผสมเทียม!!

ทดลองทำอยู่ถึงสามครั้งสามครากว่าจะประสบความสำเร็จ ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 กองเชียร์ทั้งชาวไทยชาวจีนก็ได้เฮกันลั่นสนาม หลังจากติดตามสถานการณ์ผสมพันธุ์ของท่านทูตมาอย่างใกล้ชิด ช่วงสายของวันนั้น ลูกแพนด้าน้อยก็ได้เดินทางออกมาลืมตาดูโลกในห้องแอร์

เมื่อเสียงเชียร์และชื่นชมจางลง คำถามต่อมาก็คือ เราจะตั้ง ‘ชื่อ’ เจ้าแพนด้าน้อยนี้ว่าอะไรดี ครั้นจะให้เรียกว่าแพนด้าน้อยไปเรื่อยๆ ก็คงจะไม่ควร ถ้าเป็นเป็นสัตว์ประเภทอื่นที่พบเห็นกันได้ทั่วไป บรรดาหมอๆ ที่ทำคลอดก็คงตั้งชื่อให้ตั้งแต่โผล่ออกมาแค่หัวแล้ว

แต่นี่เป็นถึงลูกของทูตสันถวไมตรี ดังนั้น กระบวนการตั้งชื่อชิงเงินรางวัลหลักล้าน ตั๋วเครื่องบินและรถจึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อให้คนทั้งประเทศได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความแน่นแฟ้นของความสัมพันธ์ไทย-จีน

ว่าแต่ท่านผู้อ่านได้ส่งชื่อเข้าประกวดกันบ้างหรือเปล่า?


เรื่องชื่อ เรื่องสำคัญ

"ขวัญไทย, หลินปิง, ไทจีน และหญิงหญิง" คือ 4 ชื่อที่เข้ารอบสุดท้ายในการประกวดตั้งชื่อลูกแพนด้า

โดยชื่อทั้งสี่นั้นคัดเลือกมาจากผู้ร่วมสนุกทาง SMS และไปรษณียบัตรกว่าห้าแสนสามหมื่นราย

เมื่อมีการแข่งขันขึ้นมา เพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากที่สุด จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากหลากหลายอาชีพ ทั้งข้าราชการ นักธุรกิจ นักข่าว ดารา นักแสดง นักเขียน ฯลฯ จำนวน 28 คน มาช่วยกันคัดเลือกและพิจารณา
ศุภณัฐ เฉลิมชัยเจริญกิจ หรือ อ๊อฟ AF2 หนึ่งในคณะกรรมการ ซึ่งมาเข้าร่วมคัดเลือกในฐานะของตัวแทนวัยรุ่น เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการประกวดครั้งนี้ ให้ ‘ปริทรรศน์’ ฟังว่า กว่าจะได้ชื่อของเจ้าแพนด้าน้อยมา ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เนื่องจากคณะกรรมการต้องใช้ความถี่ถ้วนและระมัดระวังอย่างมาก เพราะทุกคนต่างก็จับตาการคัดเลือกครั้งนี้อยู่ ชนิดไม่กะพริบตากันเลยทีเดียว

“เรามีประชุมกันตั้งแต่เช้า เรียกว่าจัดประชุมจริงจังเหมือนประชุมรัฐสภาเลย มีขั้นตอนต่างๆ มากมาย เช่นเก็บตัวเพื่อเตรียมความพร้อม มีการวางนโยบายการคัดเลือกให้ดูเด็ดขาดน่าเชื่อถือที่สุด หลังจากนั้นก็มีการทดลอง ซ้อมคัดเลือกเสมือนจริง คือต้องเข้าใจก่อนนะครับว่างานนี้เป็นงานระดับชาติ เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรผิดพลาดขึ้นมา ทุกคนต้องรับผิดชอบ”

สำหรับขั้นตอนการเลือกจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

ขั้นแรก บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ระดมเจ้าหน้าที่คัดเลือกชื่อยอดฮิตที่ส่งเข้ามาทั้งหมดให้เหลือ 300 ชื่อ และคณะกรรมการทั้ง 28 คน จะคัดจาก 300 ชื่อให้เหลือเพียง 10 ชื่อ เพราะหากจะดูหมดจริงๆ ก็คงไม่ไหว เนื่องจากมีคนส่งไปรษณียบัตรและ sms จากโทรศัพท์มือถือมาร่วมสนุกถึง 530,000 คน

ขณะเดียวกันอีกปัญหาหนึ่งที่พบมากระหว่างการคัดเลือกก็คือมีบางชื่อที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก มีคนส่งมาซ้ำหลายคน อย่าง ‘ไทจีน’ มีคนส่งมากว่า 2,000 คน ซึ่งคณะกรรมการก็เลือกการแก้ปัญหาด้วยการกดสุ่มเลือกผู้โชคดีจากคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เหลือเจ้าของชื่อเพียงชื่อเดียวเท่านั้น และที่สำคัญเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาตามมาด้วย

สำหรับแนวทางในการคัดเลือก อ๊อฟกล่าวว่า ทางผู้จัดได้วางหลักการในการคัดเลือกใหญ่ไว้ 2 อย่างคือ ควรเป็นชื่อที่แสดงความสมานฉันท์ระหว่างไทย-จีน และนอกจากนี้ ก็ควรจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ความรักระหว่างแม่-ลูกด้วย และเพื่อความสะดวกในการคัดเลือก ทางคณะผู้กลั่นกรองจึงได้ทำหนังสือ รวบรวมความหมายของชื่อแต่ละชื่อ มาให้กรรมการรับทราบ

“ผมรู้สึกเหมือนประกวดอะคาเดมี่เลย แต่นี่เป็นประกวดชื่อหมีแพนด้า จำได้ว่าตอนนั้น ผมเลือกชื่อ ‘ชิว ชิว’ ไป เพราะมันฟังดูกลางๆ ดี ไม่ได้เอาใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้ก็ยังเรียกง่าย วัยรุ่นน่าจะชอบ ที่สำคัญความหมายก็ค่อนข้างดีด้วย แต่ว่าสุดท้ายชื่อนี้ไม่ผ่านการคัดเลือกนะครับ”

สำหรับชื่อที่คณะกรรมการได้คัดเลือกมาทั้ง 10 ชื่อนั้น ประกอบไปด้วย
‘หญิงหญิง’ หมายถึงเต็มเปี่ยม อุดมสมบูรณ์ ‘เข่ออ้าย’ หมายถึง น่ารัก ‘ปิงปิง’ หมายถึง น้ำแข็ง ‘ไทจีน’ หมายถึง ความสัมพันธ์ไทย-จีน ‘ไท่ผิง’ หมายถึงมหาสันติหรือสันติภาพที่ยิ่งใหญ่ ‘ผิงผิง’ หมายถึงสันติภาพ ‘หลินปิง’ หมายถึงป่าน้ำแข็ง หรือป่าแม่น้ำปิง ‘เอื้องหลิน’ หมายถึงหลิน เป็นชื่อแรกของหลินฮุ่ย และเอื้องเป็นภาษาเหนือ ‘ขวัญไทย’ มีความหมายตรงตัวว่าเป็นขวัญใจคนไทย และ ‘หยวนหยวน’ หมายถึง ลูกคนหัวปี หรือลูกคนแรก หรือสกุลเงินของจีน


ส่วนในขั้นที่ 2 ก็มีวิธีการคัดเลือก เหมือนรอบแรก แต่จะเลือกจาก 10 ชื่อ ให้เลือกเพียง 4 ชื่อเท่านั้น
สำหรับความเห็นต่อการจัดกิจกรรมนี้ อ๊อฟ กล่าวว่าการประกวดครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมที่มีความเหมาะสมกับช่วงเวลาอย่างมาก เพราะปัจจุบันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่กำลังอยู่ในภาวะเครียดจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพราะฉะนั้นเมื่อมีกิจกรรมนี้ขึ้นมา ก็ทำให้บรรยากาศความตึงเครียดบรรเทาลง ขณะเดียวกันหลายๆ คนก็มีความสุข และสนุกสนาน โดยสังเกตได้จากจำนวนของผู้ส่งชื่อเข้าประกวด และที่สำคัญไปกว่านั้นกิจกรรมนี้ ยังถือเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนอีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่อยากให้ทุกคนมองว่ากิจกรรมนี้เป็นเรื่องไร้สาระ
 
โหรทำนาย หลินปิง ชื่อดีที่สุด แต่คนโหวต ขวัญไทย มากกว่า

กรหริศ บัวสรวง ผู้เชี่ยวชาญในการตั้งชื่อ กล่าวถึงการตั้งชื่อสัตว์ในวัฒนธรรมของบ้านเราว่า จะมีการตั้งชื่อสัตว์คู่บ้านคู่เมืองเป็นหลัก ตามตำราการตั้งชื่อโบราณ เช่น ช้างที่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง มีความสำคัญในการทำสงคราม รบทัพจับศึก ต้องตั้งชื่อให้สอดคล้องมีพลัง ส่วนการตั้งชื่อสัตว์ที่เลี้ยงตามบ้านก็สำคัญเหมือนกัน เพราะชื่อจะบอกลักษณะบุคลิก นิสัยของสัตว์ว่าเป็นอย่างไร

“สำหรับแพนด้าตัวนี้ เป็นตัวแรกที่เกิดในประเทศไทย ถือเป็นมงคลกับประเทศ เพราะแพนด้าเป็นสัตว์ที่เกิดยาก ดังนั้นการตั้งชื่อ ต้องตั้งชื่อให้สอดคล้องกัน”
ผู้เชี่ยวชาญในการตั้งชื่อ บอกว่าลูกหมีแพนด้า เกิดวันที่ 27 พฤษภาคม ซึ่งตามหลักโหราศาสตร์นั้น เลข 27 เป็นเลขแห่งการพลัดพราก อาจจะพลัดจากถิ่นที่เกิด หรือต้องพลัดพรากจากแม่ไป ส่วนชื่อที่ตั้ง ก็ต้องตั้งชื่อที่จะส่งผลดี ต่อนิสัยใจคอ และสุขภาพของแพนด้า


“มีการคัดเลือกชื่อมาทั้งหมด 4 ชื่อ คือ หญิงหญิง ขวัญไทย ไทยจีน และหลินปิง หากมองตามลักษณะการตั้งชื่อตามวันเกิด คือวันที่ 27 หากว่ามีอักษร จ ฉ ช ซ ฌ ญ จะเป็นอักษรกาลกิณี ไม่เป็นมงคล อย่างชื่อ หญิงหญิง มี ญ.หญิง อยู่ อาจทำให้การเลี้ยงดูนั้นค่อนข้างยาก ส่วนชื่อขวัญไทย ก็มี ญ.หญิง เช่นกันซึ่งก็ไม่ดี สำหรับชื่อไทยจีนนั้น ตัวอักษรไม่ขัดข้อง แต่ชื่อเริ่มต้นด้วย สระ ไอ เป็นดาวอาทิตย์ ส่วน ท.ทหาร เป็นอักษรของดาวเสาร์ ที่ไม่ค่อยดี จะส่งผลต่อสุขภาพความแข็งแรงในอนาคต

“แต่อักษรสำคัญ ที่ควรใช้ตั้งชื่อลูกแพนด้าที่เป็นเพศเมีย คือ ย ร ล ว ซึ่งชื่อ หลินปิง นั้นมี ล.ลิง และ ห.หีบ ซึ่งเป็นอักษรของดาวศุกร์ ถือว่าใช้ได้ หมายถึงความสวยงาม น่ารัก มีเสน่ห์ ส่วน ป.ปลา เป็นดาวพฤหัส ก็บ่งบอกถึงความน่ารัก

“นอกจากนี้ยังมีการบวกเลขศาสตร์ ตามหลักของโหราศาสตร์ตะวันตก ผมเห็นว่าทั้ง 4 ชื่อ ล้วนมีเลขศาสตร์ไม่ดี เนื่องจากชื่อ หญิงหญิงมี เลขศาสตร์ 30 คือ ถ้าเลี้ยงดูต่อไป เมื่อโตขึ้นหมีจะค่อนข้างมีอารมณ์ เกรี้ยวกราด ส่วนขวัญไทย เลขศาสตร์ 34 ซึ่งก็ไม่ค่อยดีเช่นกัน ส่วนหลินปิงนั้น ถือเป็นชื่อที่ถูกต้องตามหลักโหราศาสตร์ไทย แต่เลขศาสตร์เป็น 28 ไม่ค่อยต่าง จากเลขวันเกิดคือ 27 นัก ผลคือต้องพลัดพรากจากถิ่นเกิด ซึ่งก็เป็นไปตามข้อสัญญาตกลงอยู่แล้ว ส่วนชื่อไทยจีน เลขศาสตร์ 28 ไม่ค่อยดี ค่อนข้างเกิดการสูญเสีย พลัดพราก

“ส่วนชื่อที่มองดูดีที่สุด ในแง่ของความหมาย ก็คือ หลินปิง เหตุผลก็คือมีชื่อของแม่ อยู่ด้วย และ มีคำว่า ปิง หมายถึงแม่น้ำปิง”

กรหริศ กล่าวอีกว่า หากมองผ่านจากเลขศาสตร์ ในวิชาของการตั้งชื่อ จะต้องถอดกำลังดาวออกมาด้วย เพราะว่าอักษรแต่ละตัว จะมีกำลังดาวของเขาอยู่ เช่นคำว่า หญิงหญิง มีกำลังดาวเป็น 100 ถือว่าดี แต่เนื่องจากมีอักษร กาลกิณี จึงไม่ควรใช้ ชื่อขวัญไทย มีกำลังดาว 63 และชื่อนี้คนไทยอาจจะชอบ ถ้ามีการโหวตคงจะโหวตกันมาก แต่ตัวอักษร ข.ไข่ เป็นดาวจันทร์ ว.แหวน เป็นดาวราหู เมื่อราหูอยู่กับจันทร์ จะทำให้สุขภาพไม่แข็งแรง เครียดง่าย ส่วนชื่อหลินปิง มีกำลังดาว 89 จะต้องไปอยู่ประเทศอื่น อาจจะกลายเป็นแม่พันธุ์ ส่วนชื่อไทยจีน มีกำลังดาวเป็น 40 จะมีความฉลาด สติปัญญาดี เป็นตัวประชาสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี

“ส่วนตัวผมคิดว่า ชื่อหลินปิง น่าจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งหากใช้ชื่อนี้ แม้จะมีการพลัดพราก แต่ในข้างหน้าอนาคต อาจจะได้กลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้ง หากใช้ชื่ออื่น หมีตัวนี้อาจจะไม่กลับมาที่ประเทศไทยอีกเลย แต่ถ้าหากมองถึงการโหวต ผมก็เชื่อว่า คนไทยจะเทใจให้แก่ชื่อ ขวัญไทย มากที่สุด”


เรื่องของชื่อเรื่องของภาษา

ในทางโหราศาสตร์ ชื่อ หลินปิง เป็นชื่อที่ดีที่สุด แล้วในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาจะมีความคิดเห็นอย่างไร? ปริทรรศน์ จึงติดต่อไปยัง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีศรีรัตนโกสินทร์ เพื่อถามความเห็นเกี่ยวกับชื่อของแพนด้าน้อย
เพราะคงไม่ใครที่จะพูดถึงเรื่องราวของสุนทรียะในภาษาได้ดีเท่ากับกวี

โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ถูกใจผมเลยสักชื่อ แต่ในขั้นสุดท้ายของการคัดเลือกจะเป็นการส่งไปรษณียบัตรเข้ามาโหวต ดังนั้นก็ต้องแล้วแต่มติของคนส่วนใหญ่ แต่ผมมีข้อสังเกตอยู่นิดหนึ่งว่า ชื่อที่ตั้งนั้นมันควรจะมีที่มาที่ไป มีความหมายโยงใยอยู่กับพื้นถิ่นพื้นฐานได้จะดีมาก ต้องมีความหมายสาวโยงไปถึงถิ่นกำเนิด และไม่ควรจะตรงเกินไป มันต้องมีชั้นเชิงทางภาษา

“ถ้าถามความเห็นส่วนตัวของผมคนเดียว ผมฟันธงเลยว่าชื่อหลินปิง เป็นชื่อที่ดีที่สุด เพราะหลินนี่มาจากชื่อแม่ของแพนด้า ส่วนปิงนั้นก็มาจากแม่ปิงซึ่งเป็นแม่น้ำในเชียงใหม่ และความหมายโดยนัยนั้น แม่น้ำในทางเหนือก็หมายถึงแม่ด้วยเช่นกัน อีกอย่าง ถ้าฟังให้ดี คำว่า ‘หลินปิง’ ก็อาจจะออกเสียงกระเดียดไปเป็นคำว่า ‘ริมปิง’ ก็ได้

“ชื่ออื่นๆ ในความเห็นส่วนตัวนั้น ผมว่า ขวัญไทยก็ไทยจ๋าเกินไป หญิงหญิงกับไทยจีนก็มีความหมายที่ตรงเกินไป ดังนั้นชื่อหลินปิง น่าจะดีที่สุด”

ส่วนในมุมมองของคนรู้ภาษาจีนนั้นก็น่าสนใจไม่แพ้กัน จิตรา ก่อนันทเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมไทย-จีน ให้ความเห็นถึงการเลือกชื่อลูกแพนด้าไว้ว่า

“พี่คิดว่าคนเลือกก็อึดอัดพอประมาน เพราะเขาต้องคำนึงว่าจะเลือกอย่างไรให้คนส่วนมากพอใจ ดังนั้นมันจึงมีทั้งชื่อที่ไทยจ๋าและชื่อที่จีนจ๋า

“จริงแล้วในมุมมองของพี่ ควรจะเลือกชื่อที่คนไทยออกเสียงได้ คนจีนออกเสียงได้ และต้อง Good meaning เพราะบั้นปลายแล้วลูกแพนด้าตัวนี้ก็จะต้องไปอยู่ที่เมืองจีน มันจะต้องให้คนจีนออกเสียงเรียกชื่อได้ด้วย ถ้าใช้ชื่ออย่างขวัญไทยคนจีนก็จะออกเสียงกันไม่ได้ แต่ถ้าชื่อที่เข้ารอบนั้นไม่มีชื่อไทยเลยมันก็ไม่ได้ ดังนั้นต้องมีให้เลือกทุกแบบ ทั้งชื่อไทยจ๋า จีนจ๋า และชื่อไทยที่คนจีนออกเสียงได้ อย่างเช่นชื่อ หญิงหญิง


“คนที่ส่งชื่อที่เป็นไทยจ๋าเข้ามา เขาน่าจะไม่ได้รู้เรื่องของการออกเสียงภาษาจีน คนไทยคนจีนนั้นมีลิ้นที่ต่างกัน ดังนั้นชื่อที่ทั้งคนไทยและคนจีนออกเสียงได้และมีความหมายดี ก็น่าจะเป็นชื่อ หญิงหญิง เพราะมันสื่อความหมายได้ดี เวลาที่คนจีนสงสัยว่าทำไมถึงชื่อนี้ เขาก็จะสืบสาวมาได้ว่า คำว่าหญิงนั้นแปลว่าเพศหญิงในภาษาไทย ส่วนในภาษาจีนเองก็มีความหมาย

“สำหรับพี่นั้น ชื่อ ’หญิงหญิง’ เป็นชื่อที่ดีที่สุด เพราะไม่เฉพาะคนไทยและคนจีนเท่านั้นที่ออกเสียงได้ แต่ยังรวมไปถึงชาวตะวันตกด้วย”

แล้วเด็กๆ ล่ะว่ายังไง

หากพูดถึงเจ้าแพนด้าน้อยแล้ว ก็คงอดพูดถึงเด็กๆ ไม่ได้ เพราะโดยความเข้าใจของคนทั่วไปแล้ว สัตว์น่ารักๆ แบบนี้ ก็ต้องคู่กับเด็กน่ารักๆ เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นในโอกาสนี้ ปริทรรศน์จึงไปสอบถามความเห็นจากบรรดาพวกเขาว่า อยากจะให้อาหมวยน้อย สมาชิกของสวนสัตว์เชียงใหม่ มีชื่อว่าอะไร

เริ่มต้นที่ น้องณัฏฐิตา คล่องพานิชภักดิ์ วัย 12 ปี จากประสบการณ์ที่เคยไปเห็นแพนด้าตัวเป็นๆ มาแล้ว และชื่นชอบในความน่ารัก น่าเอ็นดูของมันเป็นพิเศษ เธอจึงคิดว่าชื่อ ‘ขวัญไทย’ น่าจะเหมาะกับลูกสาวของช่วงช่วงและหลินฮุ่ยมากที่สุด

“ชื่อนี้มันดูน่ารักดีค่ะ แล้วเจ้าแพนด้าที่เกิดใหม่ ก็ถือเป็นขวัญใจตัวใหม่ของคนไทยทั้งชาติ แล้วยังดูเป็นไทยๆ ดีด้วย แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด ก็น่าจะใช้ชื่อของพ่อและแม่มาผสมกันเลยดีกว่า จะได้เรียกง่าย จำง่าย แถมยังคล่องจองกันอีกด้วย”

ขณะที่น้องธนวิชญ์ มรุธราเลิศ วัย 11 ปี มองว่าชื่อ ‘ไทจีน’ น่าจะเหมาะสมกว่า เพราะชื่อมันแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ดูอบอุ่นดี และที่สำคัญเจ้าหมีแพนด้าตัวพ่อแม่ ก็มาจากประเทศจีนด้วย เพราะฉะนั้นหากตั้งชื่อนี้ คนอื่นๆ ก็จะได้รู้ว่าแพนด้านั้นมาจากที่ไหน

ไม่ว่าชื่อของเจ้าแพนด้าน้อยจะออกมาอย่างไร จะถูกใจใคร หรือไม่ถูกใจใคร ก็คงไม่สำคัญเท่าใดนัก เพราะถึงยังไงชื่อหมีก็คงไม่สามารถทำลายความน่ารักของอาหมวยน้อยตัวดีลงไปได้อย่างแน่นอน

สุดท้ายนี้ ขอฝากคำเตือน ไปยังผู้ที่กำลังจะส่งโหวตชื่อสักนิดหน่อยว่า

เรื่องนี้.... อย่าซีเรียส!!!!

***************
เรื่อง-ทีมข่าวปริทรรศน์



ศุภณัฐ เฉลิมชัยเจริญกิจ (อ๊อฟ AF2)
กำลังโหลดความคิดเห็น