ปิดฉากอาเซียน 15 ยินดีต้อนรับ เวียดนาม 2010 ทวิภาคีไทย-ญี่ปุ่น ริเริ่มพัฒนาลุ่มน้ำโขง สรุปสุดยอดอาเซียนเอเชียตะวันออกเชียงใต้ ลดกำแพงภาษี EAFTA ก่อนปี2015
วันนี้ (25 ต.ค.) พิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่เกิดขึ้นตลอด 5 วัน ในพื้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ที่เป็นไปอย่างเรียบง่าย หลังการประชุมสุดยอดอาเซียนเอเชียตะวันออกเชียงใต้ (EAS) ครั้งที่ 4 โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นกล่าวถึงผลสรุปต่างๆ ในการประชุม ก่อนที่จะกล่าวมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้กับผู้นำเวียดนาม
ขณะที่ นายเหวียน เติน สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ซึ่งจะเป็นประธานคนต่อไป ได้กล่าวสุนทรพจน์การจัดตั้งประชุมอาเซียนที่จะมีความชัดเจนขึ้น
ส่วนภาพในพิธีปิดซึ่งเป็นบทสรุปสุดท้าย นายอภิสิทธิ์ได้จับมือกับนายเหวียน โดยมีข้อความสีขาวบนวิดีทัศน์บนพื้นที่แดง แปลได้ว่า “ยินดีต้อนรับ เวียดนาม 2010” ก่อนที่ผู้นำทั้ง 10 คน จะขึ้นบนเวทีเพื่อจับมือแสดงความยินดี เป็นสัญลักษณ์ของความประสบความสำเร็จ โดยมีการร้องเพลงประจำอาเซียนครั้งที่ 15 ก่อนที่ผู้นำทั้ง 10 ประเทศ จะเดินทางกลับประเทศ
ทั้งนี้ บทสรุปของการประชุมอาเซียน ครั้งที่ 15 บรรดาผู้นำชาติสมาชิกสมาคมอาเซียนได้ให้คำมั่นเพื่อเอาชนะความขัดแย้ง และผลักดันการสถาปนาประชาคมแบบเดียวกับสหภาพยุโรป (อียู) ระหว่างพิธีปิดการประชุมสุดยอดประจำปีที่ประเทศไทย โดยเฉพาะความสำเร็จในการจัดตั้งกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ขณะที่ผู้นำประเทศบวก 6 ได้ร่วมให้สัตยาบันรับรองข้อตกลงส่งเสริมเศรษฐกิจ การรวมกลุ่มทางการเมืองและความร่วมมือในประเด็นต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศโลก และการจัดการด้านภัยพิบัติ
ขณะที่การประชุมครั้งสุดท้ายที่นายอภิสิทธิ์จะนั่งเป็นประธานอาเซียนอีกครั้ง คือ การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ที่ประเทศสิงคโปร์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้
นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยผลการเจรจาทวิภาคี ระหว่าง นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ของไทย กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น ว่า ทั้ง 2 ประเทศ ได้ริเริ่มในการทำความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง กับประเทศญี่ปุ่น โดยไทย เห็นว่า เป็นโครงการที่ดี ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการขนส่งโลจิสติกส์ การพัฒนา SME รวมทั้งอุตสาหกรรม โดยประเทศไทย ได้ขอให้ทางญี่ปุ่น สนับสนุนโครงการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ 7 โครงการภายใต้กรอบเจเทปา ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และเปิดโอกาสให้เยาวชนจากเอเชียตะวันออก 16 ประเทศ มีโอกาสได้ศึกษาดูงานจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนระหว่างกัน รวมทั้ง ให้ประเทศฐญี่ปุ่น มีการนำเข้าเอทานอลจากประเทศไทยมากขึ้น ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ขอให้ประเทศไทย สนับสนุนแนวคิดในเรื่องของการลดภาวะโลกร้อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ผลสรุปการประชุมสุดยอดอาเซียนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (EAS) ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นกรอบหนึ่งของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 นายกรัฐมนตรีไทย ในฐานะประธานการประชุม กับผู้นำ 10 ประเทศ จากจีน ญี่ป่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเลขาธิการอาเซียนได้มีการทบทวนทิศทางความร่วมมือ และเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อรับมือกับสิ่งท้าทายต่างๆ ในด้านเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมถึงติดตามผลแถลงการณ์ร่วมของการประชุมอีเอส ว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนและประเทศผู้ประสานงานอีเอส
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือและรับทราบถึงข้อเสนอแนะจากการประชุมเชิงปฏิบัติว่าด้วยการเงินสำหรับการค้า และผู้นำยังได้รับทราบรายงานผลการศึกษาการเปิดการค้าเสรีและการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดียออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (EAFTA) รวมถึงแนวทางการเชื่อมโยงการสื่อสารโทรคมนาคม ภูมิปัญหาและประชาชนในภูมิภาคเข้าด้วยกัน
ที่ประชุมยังรับรองแถลงการณ์ว่าด้วยการการจัดการภัยพิบัติ ที่จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้จากผลกระทบจากพายุกฤษณา และป้าหม่า และเหตุการณ์แผ่ดินไหวในอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะได้เรียบรู้การให้ความช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัยจากประเทศคู่เจรจา อย่าง ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์
ขณะที่ นายคาซูโฮะ โคดามะ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ได้แถลงผลการประชุมอาเซียนกับ 3 ประเทศคู่ค้าคู่เจรจา มีการหารือในหลายๆ ประเด็น เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ การทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ สำหรับความร่วมมือระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ซึ่ง นายฮาโตยามะ คาดหวังว่า จะมีการลงมือปฏิบัติในเรื่อง การละเมิดลิขสิทธิ์ การพัฒนาทางระบบการเงิน เรื่องระบบการศึกษา และตอกย้ำความสำคัญของการลดกำแพงการค้า EAFTA ให้หมดก่อนปี 2015 ด้วย ซึ่งญี่ปุ่นจะเข้ามาร่วมช่วยเหลือจัดการปัญหานี้ให้ได้มากที่สุด
สำหรับจุดยืนของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของพม่า ญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนจุดยืนของอาเซียนในทุกๆ เรื่อง และก็หวังว่าการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า และอยากให้ประชาชนทุกภาคส่วนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างเป็นอิสระ ส่วนเรื่องของสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นยังได้ใช้เวทีอาเซียนประกาศเป้าหมายในการลดปัญหาภาวะเรือนกระจกลงจากปี 1990 ให้ได้ร้อยละ 25 ก่อนถึงปี 2020 ซึ่ง นายฮาโตยามะ ก็รู้ดีว่า ปริมาณดังกล่าว ความเป็นจริงแล้วทำได้ยากทีเดียว
ข้อถามว่า การที่ญี่ปุ่นกับจีนเป็นสองประเทศเร่งกันให้ความช่วยเหลืออาเซียนนั้น เป็นในเชิงการแข่งขันทางการค้าการลงทุนหรือไม่ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นยืนยันว่าญี่ปุ่นกับจีนที่สนุบสนุนอาเซียนด้วยเม็ดเงินมหาศาลนั้นถือเป็นเรื่องที่ดีกับอาเซียน และ ยืนยันว่าความสัมพันธ์ และการค้าของ 2 ประเทศ ยังดีอยู่ยังที่เห็นจากการพบปะพูดคุยระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศในการประชุมครั้งล่าสุด