เรื่องโดย...พงศ์เมธ ล่องเซ่ง
ภายหลังการประกาศเดินหน้าสู่ทศวรรษใหม่แห่งการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ชื่อของ “สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ” ก็ผุดขึ้น ท่ามกลางประเด็นร้อนที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าบทบาท หน้าที่ กรอบการทำงาน จะเอากันอย่างไร จนนำไปสู่ข้อถกเถียงต่างๆ นานา
แต่หากมองตามภารกิจที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รมว.ศธ. วางไว้ สถาบันคุรุศึกษาฯจะ เป็นตัวกำหนดมาตรฐานการผลิต พัฒนาครูเพียง ไม่ใช่ผลิตนักศึกษาปริญญาตรีมาเป็นครู แต่เป็นตัวกำหนดหลักสูตรการพัฒนาครูของครูในระดับปริญญาโท- เอก โดยย้ำว่าจะไม่แย่งงานของสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอน คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หรือสถาบันพัฒนาครูต่างๆ เช่น สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) อย่างแน่นอน
แต่ปัญหาคือเสียงไม่เอาด้วยส่วนใหญ่กลับมาจากองค์กรครูเอง ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายสหภาพครูแห่งชาติ(ส.ค.ช.) สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย(ส.ค.ท.) และ เครือข่ายพัฒนาชีวิตครูแห่งประเทศไทย โดยประเด็นข้อคัดค้านถูกโยนไปที่ความ “ซ้ำซ้อน” มากที่สุด เพราะภาระงานในการผลิตครูเป็นของคุรุสภา และสถาบันผลิตครูกว่า 90 แห่งทั่วประเทศที่ทำอยู่แล้ว จึงไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะตั้งหน่วยงานอื่นขึ้นมาอีก
“รศ.สมบัติ นพรัก” ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กลัวว่าการตั้งสถาบันคุรุศึกษาฯ จะทำให้มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพครูเกิดความซ้ำซ้อนกันกับคุรุสภา แต่ก็ชี้ให้เห็นด้วยว่า จะดีอย่างยิ่งถ้าการตั้งขึ้นของสถาบันคุรุศึกษาฯ เพื่อพัฒนาครูของครูที่มีวุฒิป.โท ให้ได้ป.เอก อย่างมีคุณภาพ พร้อมหนุนครูของครูให้มีตำแหน่งวิชาการสูงขึ้น โดยเฉพาะตำแหน่งศาสตราจารย์ และเป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหาครูทั้งระบบจะดีกว่า
ด้านหัวเรือใหญ่ของคุรุสภาอย่าง “องค์กร อมรสิรินันท์” ก็มองว่า การปฏิรูปฯ รอบแรกที่เห็นกันว่าล้มเหลวก็โยนความผิดมาที่ครู ครูจึงตกเป็นจำเลยซ้ำซาก จึงยกการตั้งสถาบันคุรุศึกษาฯ มาเป็นทางออก นำไปผูกติดกับการเมืองเอานายกรัฐมนตรีเป็นตัวประกัน เอารัฐมนตรีมาขับเคลื่อน หากวันนี้คนในวงการศึกษาอิงกับการเมืองมากไปแสดงว่าใช้ไม่ได้ ที่สำคัญการปฏิรูปฯ จะไม่สำเร็จหากมีบรรยากาศของความแตกแยก ขณะนี้ประเทศต้องกู้เงินจำนวนมาก อยากให้ไตร่ตรองว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะเอาเงินกว่า 2,000 ล้านบาท มาตั้งสถาบันใหม่ เอาเงินไปพัฒนาองค์กรที่มีอยู่และเติมเต็มส่วนที่ขาดน่าจะดีกว่า
ฝั่ง ม.ราชภัฏ ที่เหมือนจะดูงานผลิตครูโดยตรงก็ไม่เห็นด้วย โดย “รศ.ศิโรจน์ ผลพันธิน” อธิการบดี มรภ.สวนดุสิต เห็นว่า หากตั้งสถาบันคุรุศึกษาฯ ขึ้นโครงการครูพันธุ์ใหม่จะถูกโอนไปอยู่ในความดูแลของสถาบันนี้ทันที มองว่าเป็นอำนาจแฝง แทนที่จะเป็นหน้าที่ของสถาบันที่ผลิตครูอยู่แล้ว อีกทั้งสถาบันคุรุศึกษาฯ จะทำหน้าที่รองรับวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยที่ผลิตครูทั้งที่มีหน่วยงานอื่นทำแล้ว เช่น คุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) แต่ถ้าจะให้สถาบันคุรุศึกษาฯ ซึ่งตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเหมือนกันมารับรองวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยด้วยกันก็เชื่อว่าคงไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งไหนยอม
เช่นเดียวกับ “รศ.สมพงษ์ จิตระดับ” คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ที่เกรงกว่า การจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาฯ อาจเป็นการล็อบบี้ตั้งขึ้นของรัฐมนตรีเอง หากการจัดตั้งไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง ซึ่งหากจะปฏิรูปฯ รอบสอง แล้วมีปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้น ก็คงเดินต่อยาก อีกทั้งการปฏิรูปฯ รอบสอง ทุกฝ่ายเห็นด้วยว่าครูเป็นหัวใจสำคัญ แต่ไม่ใช่การจัดการโดยตั้งองค์กรมหาชนขึ้นมาใหม่เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพครู
ขณะเดียวกันหากมองไปที่งบการบริหารจัดการกว่า 2,000 ล้านบาทนั้นถือว่าเป็นขุมทรัพย์ของใครบางคน เพราะเมื่อพิจารณาจากเงินเดือนของอธิการบดีสถาบันคุรุศึกษาฯ ที่มีสถานะเป็นองค์การมหาชนที่จะได้รับอีกหลายแสนบาท/เดือน ยังไม่รวมเบี้ยประชุมครั้งละกว่าหมื่นบาท จึงน่าจับตาอย่างยิ่งว่านี่จะเป็นแหล่งดูดเงินชั้นดีโดยไม่ต้องสงสัย เป็นไปได้หรือไม่ที่กลุ่มคนบางกลุ่มพยายามผลักดันให้สถาบันนี้เกิดขึ้น
นี้จึงสอดรับกับหลายกระแสที่มองว่าสถาบันแห่งนี้ตั้งขึ้นเพื่อรอให้ผู้ที่หมดวาระ จากที่อื่นมานั่งเก้าอี้ตัวใหม่นี้ จน รศ.สมพงษ์ เปรียบสถาบันคุรุศึกษาฯ นี้ว่า “สุสาน” ของคนที่หลุดจากตำแหน่งใหญ่ๆ หรืออาจารย์เกษียณ เลยทีเดียว
หลายข้อถกเถียง เสียงคัดค้านที่เกิดขึ้นส่งผลให้ล่าสุดสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) เปิดเวทีถกเรื่องการตั้งสถาบันคุรุศึกษาฯ เป็นการใหญ่ ซึ่ง “ธงทอง จันทรางศุ” เลขาฯ สกศ.นั่งหัวโต๊ะ พร้อมรับปากจะรับข้อมูลทุกด้าน
อย่างไรก็ตามทุกเสียงความเห็นทั้งหมดก็จะถูกโยนไปยัง ฯพณฯ จุรินทร์ ซึ่งถืออำนาจการตัดสินใจในฐานะประธานเรื่องนี้ คงต้องตามดูกันต่อไปว่าอำนาจการตัดสินใจที่ออกมานั้นจะ เอาแบบ “หัวชนฝา” โดยไม่ฟังเสียงครู หรือยอม “ปรับแก้” ตามเสียงค้านแบบถึงไหนถึงกัน...
ก็อยู่ที่ ฯพณฯ จุรินทร์ แล้วว่าจะคลอดสถาบันคุรุศึกษาฯ ให้ออกมาวิน วินได้อย่างไร?