xs
xsm
sm
md
lg

"ทักษิณ"มีดีอะไร?..ทำไมจับตัวกลับมารับโทษไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร
หลายคนคงเริ่มเบื่อหน่าย กับการต่อสายสั่งการข้ามประเทศทั้งในแบบโฟนอิน และวีดีโอลิงค์ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตผู้นำพลัดถิ่นผู้หลบหนีอาญาแผ่นดิน กลับมายังกลุ่มผู้สนับสนุน "คนเสื้อแดง" และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่กำลังเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภาฯ เป้าหมายเดียวคือล้มกระดานล้างไพ่ใหม่เพื่อให้นายใหญ่กลับประเทศแบบไม่ต้องรับโทษ

ช่วง 2-3 เดือนนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ โฟนอินถี่ขึ้นเรื่อยๆไม่ว่าจะบนเวทีปราศรัย วงเสวนาเล็กๆ หรือแม้กระทั่งร้านก๋วยเตี๋ยวจนกลายเป็นภาพชินตาคล้ายกับว่าอดีตผู้นำหน้าเหลี่ยมคนนี้ อยู่ใกล้ๆ ส่งผลด้านกำลังใจแก่ฝ่ายผู้สนับสนุนให้มีพลังในการเคลื่อนไหวปั่นป่วนสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวโดยตรง ในการล่าตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมารับโทษจำคุก 2 ปี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ อย่างกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานอัยการสูงสุด ทำได้แค่นั่งมองตาปริบๆ

พ.ต.ท.ทักษิณ มีดีอะไร ทำไมจับตัวกลับมารับโทษไม่ได้ แถมยังปล่อยให้ต่อสายโฟนอิน ส่งท่อน้ำเลี้ยงเข้ามาก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ?!?

นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการต่างประเทศ ระบุว่าอุปสรรคและข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้การตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมารับโทษไม่คืบหน้า เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้วิธีย้ายที่พักอาศัยไปตามประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาผู้ร้ายข้ามแดนกับรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็นเกาะฮ่องกง นิการากัว หรือแม้กระทั่งนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ทำให้กระบวนการการขอให้ส่งตัวกลับมาทำได้ยาก เพราะเราทำได้เพียงประสานขอตัวผ่านช่องทางการทูตโดยใช้หลักต่างตอบแทนเท่านั้น

"การยื่นคำร้องขอให้ตัวตามหลักต่างตอบแทน เราจะต้องติดตามหาข้อมูลให้ชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ที่ใดประเทศนั้น เพื่อจะนำมายืนยันประสานงานผ่านวิถีทางการทูตขอให้ทางการประเทศดังกล่าวจับกุมตัวไว้ก่อน ทางการไทยจึงจะขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนโดยวิธีการต่างตอบแทนได้ อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับประเทศนั้นๆ ด้วยว่าจะให้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน เช่น กรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุด เคยทำหนังสือให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการส่งต่อให้ทางการ UAE เมื่อ เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งทางการ UAE เคยแจ้งกลับมาว่าต้องการที่จะหารือกับอัยการไทย แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ "

นายศิริศักดิ์ กล่าวว่าที่ผ่านมาอัยการถูกมองว่าได้แค่เตรียมเอกสาร ทำงานล่าช้าปล่อยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ บินไปมาโฟนอิน หรือวิดีโอลิงก์ข้ามประเทศอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ความจริงคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ทำไว้เรียบร้อยแล้ว และมีการยื่นคำร้องประสานผ่านช่องทางการทูตไปยังประเทศอย่าง UAE ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พำนักอยู่ในปัจจุบันแต่ไม่มีการตอบรับกลับมา

นายศิริศักดิ์ กล่าวอีกว่าเมื่อไม่มีสนธิสัญญาผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันการจะประสานขอความร่วมมือก็เป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ดีเรายังมีโอกาสเพราะขณะนี้ ทางการไทย กับ UAE เริ่มหารือเรื่องการร่างสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน โดยอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการของทั้งสองฝ่าย ซึ่งอัยการมีส่วนในการดูแลตรงนี้ และเชื่อว่าหากไทยและ UAE มีสนธิสัญญาผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันได้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมารับโทษ

สาระสำคัญในร่างสนธิสัญญาความร่วมมือการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับ UAE นั้น น่าจะไม่แตกต่างกับที่ไทยเคยทำไว้กับประเทศอื่นๆ เช่น ความผิดที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้กระทำความผิดจะต้องเป็นมูลฐานความผิดที่มีโทษจำคุกทั้ง 2 ประเทศ และหากเป็นคดีการเมืองจะไม่อนุญาตให้ส่งผู้ต้องหาหรือจำเลยกลับประเทศ ซึ่งเป็นไปตามหลักการสากล ส่วนภายหน้าหากร่างสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายระหว่างไทยกับ UAE เสร็จสิ้นแล้วจะมีผลบังคับใช้ย้อนหลังในการติดตามจับกุม พ.ต.ท.ทักษิณ ที่กระทำความผิดก่อนที่สนธิสัญญามีผลบังคับใช้นั้น จะต้องเจรจาตกลงกันก่อนว่าจะกระทำได้หรือไม่ และยังมีอีกหลายประเด็นที่สองฝ่ายจะเจรจากัน

"ที่ผ่านมาบทบาทของอัยการอยู่ตรงกลางระหว่างตำรวจกับศาล แต่ในปัจจุบันอัยการก็มีหน้าที่จะต้องร่วมสอบสวนคดีอาญามากขึ้น ทั้งจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีความทันสมัยขึ้น และปัจจัยการกระทำความผิดของผู้ต้องหาซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร แต่สามารถใช้โทรศัพท์ หรือเทคโนโลยีสร้างความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่อยู่ในประเทศ ดังนั้น การพิจารณาคดีทางอาญาจึงเป็นงานหลักของอัยการที่จะต้องทำคดีให้มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ "

ส่วนหนึ่งจากถ้อยแถลงเปิดใจในวันรับตำแหน่ง อัยการสูงสุด (อสส.) คนใหม่ของ " นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ " ฉายภาพมิติใหม่ในการทำงานขององค์กรอัยการที่จะมุ่งหน้าตามล่าผู้บ่อนทำลายชาติจากภายนอกประเทศมารับโทษ ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปดูผลงานเก่าๆ ของ อสส.คนนี้ ที่เคยเป็นหัวหน้าถึงทีมไล่ล่าผู้ต้องหาหลบหนีอาญาแผ่นดินทั้ง “นายปิ่น จักกะพาก” อดีตผู้บริหารเอกธนกิจ ผู้ต้องหาคดียักอกทรัพย์ที่หลบหนีไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษ และ “นายราเกซ สักเสนา”อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหายักยอกทรัพย์แบงค์บีบีซี ที่หลบหนีไปอยู่ที่ประเทศแคนาดา แม้ดูเหมือนจะคว้าน้ำเหลวมาตลอด แต่ล่าสุดในคดีของนายราเกซ กลับมีลุ้น เล็กๆในช่วงปลายยกสุดท้ายว่าอัยการไทยอาจนำตัวกลับมาได้ก่อนคดีจะหมดอายุความ

ดังนั้น คงต้องฝากความหวังไว้กับ “อสส.คนใหม่” ที่มีความรู้ความเข้าใจเชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ให้ขับเคลื่อน “สำนักงานอัยการสูงสุด” กลับมาเป็นองค์กรที่ผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม ทำงานตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด เร่งรัดภารกิจยิ่งใหญ่ในการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมารับโทษ แม้จะรู้เป็นเรื่องยากแต่หากมีความตั้งใจ พลิกเกมปิดน่านฟ้าล่าตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเข้าคุกได้ จะเป็นการเรียกแรงศรัทธากลับมาสู่องค์กรอัยการไทย ประชาชนจะแส้ซ้องสรรเสริญ " ทนายแผ่นดิน"ไปอีกตราบนานเท่านาน
กำลังโหลดความคิดเห็น