ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- รัฐบาลกัมพูชาได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่ง ในวันศุกร์นี้ ระบุว่า จะไม่ส่งตัวนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ให้แก่รัฐบาลไทย ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน โดยอ้างว่าสัญญากับไทยมีข้อยกเว้น กรณีที่ “ผู้ร้าย” ดังกล่าวตกเป็น “เหยื่อ” ทางการเมือง หรือ ผู้ร้องขอมีจุดประสงค์จะนำไปลงโทษทางการเมือง
กัมพูชาได้ประกาศเรื่องนี้ผ่านคำแถลงฉบับหนึ่งที่ออกในนามโฆษกรัฐบาล ลงวันที่ 23 ต.ค.2552
คำแถลงดังกล่าวเป็นการตอบโต้การให้สัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อวันพุธ ที่ระบุว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางเข้ากัมพูชา ไทยจะขอให้รัฐบาลของสมเด็จฯ ฮุนเซน ส่งนักโทษชายให้แก่ไทยในภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าว
"หลังจากท่านนายกรัฐมนตรีฮุนเซนกล่าวในวันที่ 21 ตุลาคม 2552 เกี่ยวกับการจัดเตรียมที่พักสำหรับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ถ้าหากต้องการจะไปพำนักในกัมพูชา ผู้นำของไทยได้แสดงความเห็นต่อมา โดยปรารถนาจะแสดงจุดยืนของไทยที่ว่า ถ้าหากนายทักษิณจะเดินทางเข้ากัมพูชา รัฐบาลไทยจะขอตัวนายทักษิณไปยังประเทศไทย โดยใช้สนธิสัญญาสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่รัฐบาลสองฝ่าร่วมกันลงนามในปี 2541..."
"โฆษกรัฐบาลขอยืนยันว่า ตามมาตรา 3 ของสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ที่ประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติหมายเลข CS/RKM/0799/08 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2544 ได้ระบุว่า ฝ่ายที่ถูกร้องขอมีสิทธิที่จะปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง คำร้องขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน โดยเงื่อนไขดังต่อไปนี้..."
"(1). ฝ่ายที่ถูกร้องขอพิจารณาเห็นว่า การร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฝ่ายที่ร้องขอนั้น เป็นไปเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง (2.) ฝ่ายที่ถูกร้องขอมีเหตุผลที่มีข้อมูลสนับสนุนที่แสดงให้เห็นว่า คำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยฝ่ายที่ร้องขอนั้น มีจุดประสงค์ เพื่อการดำเนินคดีอาญาต่อ หรือ เพื่อให้มีการลงโทษต่อบุคคลที่กำลังต้องการ ด้วยข้อกล่าวหาเกี่ยวกับเชื้อชาติ การนับถือศาสนาสัญชาติ หรือ ความคิดเห็นทางการเมืองของบุคคลผู้นั้นหรือ เป็นเพราะเห็นว่า ฐานะของผู้ที่ถูกขอให้ส่งตัวไปดำเนินคดีนั้น กำลังจะได้รับโทษโดยที่มีการตรึกตรองเอาไว้ก่อน.."
"รัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชา โดยอาศัยบทบัญญัติในมาตรา 3 ทวิ และ มาตรา 3 ตรี มีสิทธิ์ทุกประการที่จะตีความว่า กรณีของ ฯพณฯ ทักษิณ นั้นเป็นกรณีเกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่.."
สำนักข่าวเอเคพี ซึ่งเป็นสำนักข่าวของรัฐบาลรายงานโดยอ้างข้อความส่วนหนึ่งในคำแถลงที่ออกในวันศุกร์
คำแถลงของโฆษกรัฐบาลยังระบุอีกว่า การอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าอาศัยอยู่ในกัมพูชานั้น ได้สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมอันดีงามของสมเด็จฯ ฮุนเซน เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นเป็น "เพื่อนแท้และเพื่อนตาย" "ทัศนคติอันดีงามนี้ ไม่ควรจะถูกตีความหมาย เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย"
"โฆษกรัฐบาลขอยืนยันว่า จุดยืนของกัมพูชานั้นมั่นคงและจะไม่ยอม ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดก็ตาม ส่งตัวข้ามแดนตามคำร้องขอของรัฐบาลไทย ในกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ (มุ่งที่) จะมาพำนักในกัมพูชา.."
"และรัฐบาลราชแห่งอาณาจักรกัมพูชา ยังคงจะรักษาความสัมพันธ์กับความร่วมมือด้านต่างๆ กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างไม่เปลี่ยนแปลง" คำแถลงระบุ
สมเด็จฯ ฮุนเซนได้บอกกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ที่ไปเยือนเมื่อวันพุธ ว่า นช.ทักษิณ "เป็นเพื่อนชั่วนิรันดร์" และ สามารถเดินทางเข้ากัมพูชาได้ทุกเมื่อ โดยจะจัดบ้านพักให้อย่างสมเกียรติ
สถานีโทรทัศน์กัมพูชา (TVK) ได้รายงานเรื่องนี้อย่างละเอียดในวันพุธ เช่นเดียวกันกับสื่อต่างๆ ในประเทศไทยที่รายงานจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ชวลิต
อย่างไรตาม สำนักข่าวดีพีเอ (Deutsche Presse-Agentur) ของเยอรมนี รายงานในวันพฤหัสบดี อ้างคำกล่าวของนายเขียว กัญฤทธิ์ โฆษกรัฐบาล ที่ระบุว่า สมเด็จฯ ฮุนเซนได้ไม่ได้พูดเช่นนั้นกับ พล.อ.ชวลิต ทั้งหมดเกิดจากการอ้างผิดๆ ของสื่อ และ ถ้าหาก พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางเข้ากัมพูชาจริงก็จะส่งตัวกัมพูชาจะส่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ให้แก่ฝ่่ายไทย
คำแถลงของโฆษกรัฐบาลฉบับที่ออกเมื่อวันศุกร์นี้ เป็นเรื่องตรงข้ามกับข่าวดังกล่าว.