xs
xsm
sm
md
lg

ค้านอุทธรณ์มาบตาพุด ปูนฯ ยอมรับบกพร่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ยื่นค้านการอุทธรณ์คดีมาบตาพุดร้องศาลคงคำสั่งเดิม ยกเหตุมลพิษรุนแรงเกินเยียวยา วันนี้เดินสายบุก สตช.-ป.ป.ช.-สตง.สอบ“อภิสิทธิ์-ชาญชัย-จักรมณฑ์” ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เวทีดีเบตตัวแทนชุมชน-กลุ่มทุน ปตท.โอ่ทำดีสุดแล้ว ส่วนปูนใหญ่ยอมรับบกพร่องเรื่องรับฟังความเห็น พร้อมแก้ไขให้ทุกฝ่ายยอมรับได้

วานนี้ (15 ต.ค.) เมื่อเวลา 14.00น. ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ นาย ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก พร้อมด้วยประชาชนผู้เดือดร้อนจำนวน 43 คน(ผู้ฟ้อง) ได้ยื่นคัดค้านคำอุทธรณ์ ของอัยการที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้อง) ที่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 52 ที่สั่งให้รัฐบาลระงับโครงการหรือกิจกรรม ทั้ง 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงใน จ.ระยอง ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ยกคำอุทธรณ์ของรัฐบาลและคณะกรรมกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

นายศรีสุวรรณ เปิดเผยว่า ในการยื่นคัดค้านคำอุทธรณ์ของรัฐบาลครั้งนี้ ตนได้รวบรวมเอกสารงานวิจัยของภาครัฐ เช่น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ทำการวิจัยในปี พ.ศ.2550 - 2552 ระบุว่า ในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงยังมีมลพิษอยู่หลายชนิด เช่น สารอินทรีย์ระเหย สารก่อมะเร็ง รวมถึงคำสั่งศาลปกครองกลาง และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2552 ลงวันที่ 18 มี.ค.พ.ศ.2550 ที่วินิจฉัยไว้แล้วว่ารัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสอง มีผลบังคับใช้ทันทีโดยไม่รอการแก้ไขหรือออกกฎหมายลูกมารองรับ โดยส่งให้ศาลปกครองสูงสุดเพื่อพิจารณาให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อไป

“ผมเห็นว่าการที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 29 ก.ย.52 นั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีต่างหากที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จะต้องมาสร้างภาระและความยุ่งยากให้กับตุลาการศาลปกครองสูงสุดในการอุทธรณ์คำสั่งในครั้งนี้ สถานการณ์ก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางและพื้นที่ใกล้เคียง มีสภาพความรุนแรงที่ยากจะเกินแก้ไขได้แล้ว” นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวต่อว่า การเพิ่มโครงการหรือกิจกรรมเพิ่มเข้าไปในพื้นที่โดยที่ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรค 2 ให้ครบถ้วนเสียก่อน ย่อมจะเป็นการสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง การชุมนุมประท้วงบานปลายอย่างรุนแรงระหว่างชาวบ้าน คนงาน ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ในพื้นที่ได้

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าการดำเนินการของรัฐบาลที่เดินหน้าอนุญาตให้โครงการ 76 โครงการได้ดำเนินกิจการไปบ้างแล้วนั้น ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และขัดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน ในวันที่16 ต.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม และนาย จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โทษฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่

ในวันเดียวกันนี้ กลุ่มผู้ฟ้องคดียังจะไปยื่นเรื่องต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐในการลดและขจัดมลพิษ ในปี พ.ศ. 2550-2554 ที่ใช้งบประมาณไปกว่า 2 พันล้านบาทใน 144 โครงการ ซึ่งเป็นการตรวจสอบของหน่วยงานที่ประเมินเรื่องมลพิษทางสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีผลงานให้ปรากฏว่าเป็นการใช้เงินของรัฐผิดวัตถุประสงค์หรือไม่

ด้านนายสุทธิ กล่าวว่า ตนได้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับคำสั่งจากศาลปกครองกลาง ให้ระงับการดำเนินโครงการทั้ง 76 โครงการ แต่ยังมีการก่อสร้างและดำเนินการตามปกติ ตนเห็นว่าอาจจะเป็นการละเมิดคำสั่งศาลและถือเป็นความผิดทางอาญา จึงได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมด เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมระงับการดำเนินโครงการ

นายสุทธิ ยังกล่าวว่า เวลา 09.00 น. วันนี้ (16 ต.ค.) ตนและเครือข่ายประชาชน จะยื่นหนังสือแจ้งความให้ดำเนินคดีกับนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง ต่อพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร. ด้วย

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งระงับโครงการอุตสาหกรรม 76 โครงการ แต่หน่วยงานที่ถูกฟ้องคดี 9 หน่วยงาน ได้ยื่นคำอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว เพื่อให้มีการดำเนินการต่อไปได้

**ปูนใหญ่รับพร้อมแก้ไขปัญหา

ในวันเดียวกันนี้ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนา เรื่อง “มาตรา 67 ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม” มีตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) และบริษัท ปตท.จำกัด กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมรู้ดีว่า จะเกิดปัญหาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 แต่ยังเข้าไปลงทุน โดยไม่ยอมทำรายงานเรื่องสุขภาพ (HIA) และรับฟังความเห็นของชุมชนก่อน ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีกลุ่มทุนกลุ่มไหน ออกมารับผิดชอบเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น

นายชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการผู้จัดการไทย ปตท.อะโรเมติกส์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2550 ได้ออกมาตรการ 80:20 ซึ่งเป็นมาตรการลดมลพิษที่ทุกโรงงานจะต้องปฏิบัติตาม โดยหากจะสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่จะต้องลดมลพิษของโรงงานเก่าให้หมดก่อน และโรงงานใหม่จะต้องลดมลพิษจากเดิมลงอีกร้อยละ 20 ของมลพิษเดิมที่โรงงานเก่าสร้างไว้ รวมกับ EIA เดิมที่ปฏิบัติมาโดยตลอด อีกทั้งใน EIAนั้นก็ยังมีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่ระบุไว้ว่า จะต้องทำทุกปีด้วย ซึ่งการลดมลพิษตามมาตรการดังกล่าวนั้น แม้ว่าจะกำหนดไว้แค่ซัลเฟอร์ไดออกไซด์กับไนโตรเจนไดออกไซด์ ไม่ได้รวมสารระเหยอินทรีย์ น้ำเสีย และขยะอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่บริษัทฯก็ไม่ได้ละเลยเรื่องดังกล่าว

ด้านนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย กล่าวว่า เชื่อว่าการทำให้อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สามารถพัฒนาควบคู่กันไปได้ แต่ยอมรับว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมบางรูปแบบ อาจจะมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ขึ้นอยู่กับว่า ทำอย่างไรให้ลดผลกระทบ และลดความรุนแรงดังกล่าวให้ทุกฝ่ายยอมรับให้ได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับกฏหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ได้ปฏิบัติมาโดยตลอด แต่อาจจะมีความบกพร่องบ้างในเรื่องการของการรับฟังความคิดเห็นซึ่งก็พร้อมที่จะแก้ไขและปฏิบัติ

นายยงยุทธ ทองสุข รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นในขณะนี้ อาจทำให้คนกลางทำงานลำบาก แต่ก็มั่นใจว่าโรงงานที่ผ่าน EIA แล้ว มักเป็นโรงงานที่ทำงานได้ตามมาตรฐาน ซึ่งเชื่อว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการที่เป็นผู้พิจารณาEIA ในแต่ละชุด แต่ละโรงงานไม่มีทางที่จะปล่อยให้ EIA ผ่านไปง่ายๆ โดยไม่ได้มาตรฐาน และขณะนี้เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ต่างคนก็ต่างออกมาพูด เพื่อต้องการเอาชนะกัน แต่ไม่มองความเป็นจริง ที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาเหมือนกันหมดทุกส่วน

**ประกาศ ก.อุตฯ จุดชนวนขัดแย้ง

ส่วนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อมและเครือข่ายนักกฎหมาย 8 องค์กร ประกอบด้วย โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) โครงการติดตามการเมืองภาคประชาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มพลังไท มูลนิธิบูรณะนิเวศ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) มูลนิธินโยบายสุขภาวะ เครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดเสวนา“วิพากษ์ประกาศโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 : บทพิสูจน์สิทธิชุมชน”

ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มนักวิชาการที่ศึกษาด้านผลกระทบจากอุตสาหกรรม เช่น กรณีเหมืองใต้ดินและเหมืองทองคำ, กรณีอุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งตัวแทนชุมชนที่ถูกมองข้ามจากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น พื้นที่โครงการโรงถลุงเหล็ก อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง อ.หนองแซง จ.สระบุรี โครงการขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด และกรณีเหมืองทองพิจิตร และกรณีเหมืองใต้ดินโปแตซ ต่างเห็นพ้องกันว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ออกมาไม่ครอบคลุมถึง

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกประกาศเรื่อง โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โดยกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมจำนวน 8 ประเภท ให้เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

ตัวแทนชุมชนที่เข้าร่วมเสวนา ชี้ว่า โครงการขนาดใหญ่ซึ่งอาจมีผลกระทบรุนแรงที่กำลังมีแผนการลงทุนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งและมีการคัดค้านจากประชาชนในหลายพื้นที่ ทั้งในประเด็นเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อชุมชน และความกังวลด้านผลกระทบทางสุขภาพ ซึ่งประชาชนในพื้นที่มีความประสงค์ให้โครงการต่างๆ ปฏิบัติตามมาตรา 67 ให้ครบถ้วนก่อนที่จะได้รับอนุมัติ อนุญาตให้ประกอบกิจการ แต่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับนี้กลับไม่ครอบคลุมถึงโครงการเหล่านั้น

นอกจากนั้น ยังพบว่า มีข้อมูลทางวิชาการที่แสดงให้เห็นว่าโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีอีกจำนวนมากที่ประกาศฉบับนี้ไม่ครอบคลุมถึงตัวแทนชุมชนและเครือข่ายสิ่งแวดล้อม ยังชี้ว่า ภายใต้สถานการณ์แนวโน้มการพัฒนาที่มุ่งเน้นในด้านส่งเสริมอุตสาหกรรม อันก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในพื้นที่ต่าง ๆ ในขอบเขตทั่วประเทศ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับนี้นอกจากจะไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังเป็นสิ่งตอกย้ำที่ทำให้ประชาชนตั้งคำถามกับหน่วยงานรัฐและรัฐบาลว่า ได้ใช้หลักเกณฑ์ใดมาพิจารณากำหนดว่าโครงการหรือกิจกรรมใดจะมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงหรือไม่รุนแรง และการกำหนดนี้เป็นไปเพื่อการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและชุมชนตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ หรือเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับการลงทุนอุตสาหกรรมแต่เพียงด้านเดียว

**ต่างชาติหนีลงทุนไทย

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรณีที่ศาลปกครองกลางสั่งระงับ 76 โครงการในมาบตาพุดเป็นการชั่วคราว ได้สร้างความแปลกใจต่อนักลงทุน ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ไม่ทราบทิศทาง เกิดการชะลอการลงทุนรวมทั้งทบทวนนโยบายการลงทุนในไทย อาจทำให้หันไปลงทุนในต่างประเทศแทน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และอินเดีย ซึ่งเป็นคู่แข่งดึงดูดการลงทุน จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาว่าการประกาศหรือดำเนินมาตรการใดๆ ควรทำอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ทำแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“กรณีมาบตาพุด หากเป็นนักลงทุนที่ลงทุนในมาบตาพุดอยู่แล้ว ไม่รู้สึกตกใจมากนัก เพราะทราบดีว่า อาจต้องเกิดปัญหาตามมา แต่หากมองในภาพรวม โครงการที่ถูกระงับบางโครงการไม่ได้สร้างปัญหามลพิษ แต่ได้รับผลกระทบไปด้วย” นายวิกรม กล่าว

**ชี้สิ่งแวดล้อมปัจจัยนำธุรกิจ

นายปีเตอร์ วอล์คเกอร์ กรรมการอาวุโส บริษัท แกรนท์ธอร์นตัน ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจและจัดอันดับทางธุรกิจในการผลสำรวจธุรกิจนานาชาติปี 2009 จากกลุ่มตัวอย่างธุรกิจ 300 แห่งในประเทศไทย เปิดเผยว่า นักธุรกิจในไทยมีความรู้สึกด้านเศรษฐกิจติดลบถึงร้อยละ 20 เทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกติดลบที่ร้อยละ 5 และในเอเซียแปซิฟิก ติดลบร้อยละ 6

ส่วนกรณีมาบตาพุด พบว่า บริษัทต่างชาติให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วแต่ยังมีความกังวลจากรัฐบาลที่ไม่มีความชัดเจนในการจัดการทำให้นักลงทุนไม่สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ในอนาคตได้ และคาดว่าในอีก 10-20 ปี เรื่องสิ่งแวดล้อมจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นผู้ประกอบการควรมีการตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้นซึ่งจากผลการสำรวจเรื่องของนักธุรกิจไทยด้านสิ่งแวดล้อมพบว่าร้อยละ 68 ได้มุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม และร้อยละ 99 เต็มใจรักษาสิ่งแวดล้อมแม้จะกระทบต่อรายได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น