xs
xsm
sm
md
lg

ซัด"เทือก"ห่วงแต่พรรคร่วม "บัญญัติ"ลั่นไม่ลงชื่อแก้รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมส.ส.และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาหารือ หลังจากที่พรรคเพื่อไทยประกาศถอนตัวไม่เข้าร่วม โดยในช่วงหนึ่ง นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วน ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาการแก้ไขรธน.ของพรรคได้วิเคราะห์สถานการณ์ในเรื่องนี้ว่า เมื่อพรรคเพื่อไทย ประกาศถอนตัวแล้ว จะส่งผลกระทบต่อการทำประชามติ โดยเฉพาะในภาคอีสาน และภาคเหนือ ที่เชื่อตามแนวทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้เรียกร้องให้นำรธน.ปี40 มาใช้
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ไม่เห็นด้วย เมื่อทำประชามติไปแล้ว มีแนวโน้มสูงที่ประชาชนจะไม่เห็นด้วย แถมยังสิ้นเปลืองงบประมาณร่วม 2 พันล้านบาท และเมื่อประชามติไม่ผ่าน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล จะตกเป็นเป้าโจมตีจากสังคม มากกว่าพรรคร่วมอื่นๆ
รายงานข่าวแจ้งว่า นายบัญญัติ ยังได้บอกกับที่ประชุมพรรคว่า "เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสุดท้ายต้องขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกทั้งสองสภา ให้ได้ 311 เสียง ผมคงไม่สามารถที่ร่วมลงชื่อได้ เพราะผมเป็นคนที่ประกาศตั้งแต่ต้นว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรธน.ปี 50 ผมไม่อยากต้องมาเสียคนตอนแก่"
รายงานข่าวแจ้งว่า ในระหว่างที่นายบัญญัติ แจ้งจุดยืนให้ที่ประชุมพรรคได้รับทราบ ปรากฏว่าแกนนำพรรคที่อยู่ในห้องประชุม ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรค รวมทั้งนายชวน หลีกภัย ส.ส.สัดส่วน ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ทุกคนต่างเงียบกริบ และไม่แสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด
นายบัญญัติ ได้ชี้แจงต่อว่าการแก้รธน.ครั้งนี้ เริ่มถูกต่อต้านจากสังคม พรรคจึงควรรักษาจุดยืนในช่วงที่เป็นฝ่ายค้าน ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรธน. และเมื่อพรรคเพื่อไทย ประกาศถอนตัว พรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่จำเป็นต้องเดือดร้อนอะไรอีก อยู่เฉยๆจะดีกว่า
รายงานข่าวแจ้งว่า ส.ส.สายทศวรรษใหม่ ต่างเห็นด้วยกับจุดยืนของนายบัญญัติ ที่จะไม่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรธน. ถึงขนาดเสนอให้มีการฟรีโหวต จนทำให้สมาชิกพรรคไม่ว่าจะเป็นสายใกล้ชิดนายชวน และสายใกล้ชิดพันธมิตรฯ ต่างเห็นด้วยที่จะไม่ร่วมลงชื่อด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ แตกต่างจากจุดยืนของนายสุเทพ ที่ได้ไปตกลงกับพรรคร่วมรัฐบาลในการเดินหน้าแก้ไขรธน. โดยนายสุเทพ ให้เหตุผลว่า เมื่อแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมีมติเดินหน้าไปแล้ว จึงไม่อยากให้พรรคกลายเป็นตัวปัญหาให้กับพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนจะแก้รธน.ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนจะเป็นผู้ชี้ขาด จนทำให้สมาชิกพรรคไม่พอใจท่าทีของนายสุเทพ ที่เอาใจพรรคร่วมรัฐบาลมากเกินไป จนลืมจุดยืนของพรรค

**แฉแผน"เพื่อไทย" กดดันยุบสภา
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวถึงที่ฝ่ายค้านประกาศถอนตัวไม่เข้าร่วมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ว่า ตนเห็นว่าทุกฝ่ายควรยุติเรื่องการแก้ไขรธน. โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ควรยุติเรื่องนี้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่นายกฯ เคยประกาศในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่ระบุว่า หากทุกฝ่ายเห็นพ้องในการแก้ไข ก็จะเดินหน้าให้มีการแก้ไข แต่มาวันนี้พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยกับ 6 ประเด็น ที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ศึกษามา จึงไม่มีประโยชน์ที่จะเดินหน้าต่อไป แต่นายกฯกลับประกาศยืนยันจะเดินหน้าแก้ไขต่อไป ดังนั้น ตนขอตั้งข้อสังเกตว่า การที่นายกฯ ยังยืนยันเดินหน้าต่อ เป็นเพราะถูกพรรคร่วมรัฐบาลต้องการให้มีการแก้ไขในประเด็นเกี่ยวกับเขตเลือกตั้ง เป็นเขตเดียวเบอร์เดียวหรือไม่ ซึ่งนายกฯจะต้องตอบเรื่องนี้ให้ได้ เพราะหากยังดื้อดึง ก็ไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์ได้อย่างแน่นอน
นายคำนูณ กล่าวว่า การที่พรรคเพื่อไทยกลับลำไม่เข้าร่วมแก้ไขรธน. เพราะต้องการให้มีการยุบสภามากกว่า ซึ่งพรรคเพื่อไทยคงมีความมั่นใจว่า หากมียุบสภา แล้วมีการเลือกตั้งใหม่ ก็จะได้กลับมาเป็นรัฐบาลเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แล้วค่อยมาผลักดันใช้ รธน. ฉบับปี 40 ได้ตามความต้องการ แต่หากเข้าร่วมแก้ไขรธน. ตามวิป 3 ฝ่าย ก็ไม่มั่นใจว่าจะมีการยุบสภาหลังการแก้ไขหรือไม่ เพราะระหว่างการแก้ไข ต้องใช้เวลาถึง 9 เดือน รัฐบาลอาจจะอ้างได้ว่าไม่มีความขัดแย้ง และหาความชอบธรรมในการต่ออายุรัฐบาลต่อไป ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน ดังนั้นเชื่อว่าพรรคเพื่อไทย จะทำทุกวิถีทางในการกดดันให้มีการยุบสภาโดยเร็วที่สุด เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลก็มีช่องโหว่เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ของโครงการชุมชนพอเพียง และโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งล้วนแต่ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล จึงอาจทำให้ต้องยุบสภาก่อน 9 เดือน

**ขอรธน.40 เท่ากับยุให้รัฐประหาร
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ และเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ กล่าวว่า นายกฯควรยุติแนวความคิดการแก้ไขรธน.ได้แล้ว เพราะวันนี้ชัดเจนแล้วว่าการแก้ไขรธน.เป็นเพียงเกมการเมืองของนักเลือกตั้งเท่านั้น ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร
แต่ก็น่าแปลกใจท่าทีของนายกฯ ที่ยังเดินหน้าสนับสนุนการแก้ไขรธน. ทั้งๆ ที่พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย ทำให้เชื่อได้ว่านายกฯเองก็ไม่ได้จริงใจ เป็นเพียงการเล่นเกมชิงความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลเท่านั้น
ก่อนหน้านี้นายกฯเคยบอกว่า ถ้าทุกฝ่ายไม่เห็นด้วยก็จะไม่แก้ และจะรับฟังทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง แต่มาวันนี้ดูเหมือนพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น ที่ลุกลี้ลุกลนอยากแก้รธน. ทำให้เห็นว่า สิ่งที่นายกฯ พยายามพูด และวางหลักการไว้ มักไม่เป็นอย่างที่พูด เช่นเดียวกับกรณีมาบตาพุด หลายๆ ครั้งนายกฯ มักพูดอย่าง แต่พอประชุมกับพรรคร่วมเสร็จ ก็พูดไปอีกอย่าง จนกลายเป็นโฆษกพรรคร่วมรัฐบาลไปแล้ว
ส่วนข้อเสนอพรรคเพื่อไทย ให้เอารธน. 40 คืนมานั้น เป็นเพียงความพยายามสร้างความปั่นป่วน เพื่อให้เกิดวิกฤติรธน.อีกรอบเท่านั้น เพราะเป็นข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ จะทำได้วิธีเดียวคือ การรัฐประหาร และออกประกาศคณะรัฐประหาร เอารัฐธรรมนูญ 40 กลับมาใช้เท่านั้น
แกนนำ นปช.และพรรคเพื่อไทย ก็รู้ดีว่าต้องรัฐประหารเท่านั้นถึงจะทำได้ ก็เลยเป็นเหตุผลให้นปช.งัดแผนเคลื่อนไหวสารพัด ทั้งใต้ดินบนดิน เพื่อทำให้สังคมการเมืองเปราะบาง และนำไปสู่การรัฐประหาร จากนั้นนปช.และ เพื่อไทย ก็จะต่อรองกับคณะรัฐประหาร เพื่อให้เอารธน.40 กลับมาใช้ แลกกับการสนับสนุนการทำรัฐประหาร เพื่อเอา พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาครองอำนาจอีกครั้ง ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด

**"ชัย"เดินหน้าต่อไม่ง้อฝ่ายค้าน
นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงมติพรรคเพื่อไทย ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรธน.ใน 6 ประเด็น ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ แต่ต้องการให้นำรธน.ปี40 มาใช้ว่า เขาก็พูดในส่วนของเขา แต่ทุกอย่างตามระบอบประชาธิปไตยต้องใช้เสียงข้างมาก โดยใช้เสียง 311 เสียงในสภาก็ทำได้แล้ว ส่วนที่มองว่ารัฐสภาไม่เป็นเอกภาพนั้น จะทำอย่างไรได้ ตอนประชามติได้ 14 ล้านเสียง มันก็ไม่เป็นเอกภาพ ตนก็อยากจะให้รวมกัน
ส่วนความคืบหน้าในการตั้งคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย 2 สภา ขึ้นมายกร่างแก้ไขรธน.50 นั้น นายชัยกล่าวว่า ตนได้รับหนังสือจากนายกฯ เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา จึงสั่งการให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปดำเนินการแล้ว
สำหรับการเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการให้นำรธน.40 กลับมาใช้นั้นนายชัย กล่าวว่า คงไม่ขอร้องใคร แต่ขอร้องผู้แทนปวงชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ส่วนแรงต่อต้านจากภายนอกนั้น ก็ขึ้นอยู่ที่วิปทั้ง 3 ฝ่ายจะเอาอย่างไร แต่ถ้าพรรคเพื่อไทย ถอนตัวจริงๆ ก็ห้ามไม่ได้ กระบวนการก็จะต้องเดินหน้าต่อไป เหมือนคนตั้งท้องมา 9 เดือน ก็ต้องคลอด ห้ามกันไม่ได้ ส่วนจะสง่างามหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสื่อว่าจะมองอย่างไร
"ในสภามีทั้งหมด 600 กว่าเสียง ใช้จริงๆ 311 เสียง แต่ถ้าเสียงไม่พอก็ตกไป แต่ยังเก็บไว้เพื่อนำมาพิจารณาใหม่ได้" นายชัย กล่าว
ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่านายชัย ชิดชอบ ประธานสภา ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งฝ่ายกฎหมาย 2 สภา จำนวน 9 คน เพื่อเป็นคณะกรรมการยกร่างแก้ไขรธน. 50 ตามข้อเสนอของ วิป 3 ฝ่ายแล้ว โดยมีนายจเร พันธุ์เปลื่อง รองเลขาธิการสภาฯ เป็นประธานคณะทำงาน และจะมีการประชุมนัดแรกในวันศุกร์ที่ 16 ต.ค.นี้ เวลา 10.00 น.
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากคณะกรรมการยกร่างฯ เปิดเผยว่าไม่หนักใจในการทำงานครั้งนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้นำข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ มาศึกษาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งจะยกร่าง 2 แนวทาง คือ 6 ร่าง 6 ประเด็น และ 1 ร่าง 6 ประเด็น คาดว่าน่าจะร่างเสร็จก่อนวันที่ 1 พ.ย.นี้

**ปชป.ยืนกรานต้องประชามติ
ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า การที่พรรคเพื่อไทยจะนำรธน. 40 มาใช้นั้น อยากรู้ว่าจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะรธน. มาตรา 291 ไม่ได้กำหนดไว้ ซึ่งชัดเจนว่าเป้าหมายที่พรรคเพื่อไทยต้องการนำรธน. 40 มาใช้ เพราะต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นคดีทุจริต เพราะในรธน. 40 ไม่มีมาตรา 309 ที่ให้อำนาจ คตส. ตรวจสอบไต่สวนฝ่ายบริหารที่ทุจริต อย่างไรก็ตาม วิปรัฐบาลจะรอความชัดเจนจากฝ่ายค้าน เพื่อหาผลสรุปร่วมกัน
ส่วนหากวิปฝ่ายค้านมีแนวทางในการแก้ไขรธน. 6 ประเด็น ตามคณะกรรมการสมานฉันท์ฯโดยยึดรธน.ปี 40 มาเป็นหลักในการพิจารณานั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ไม่ขัดข้อง แต่ทั้งหมดต้องมีการทำประชามติ ถามความเห็นชอบจากประชาชนก่อน
**ฝ่ายค้านไม่ร่วมมือก็ล้ม
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะถอนตัวจากการร่วมแก้ไขรธน.หรือไม่ ยังไม่ชัดเจน เพราเขาตัดสินใจกลับไปกลับมาหลายครั้ง ถ้าเขาไม่เอาจริง ก็เดินหน้าไม่ได้ เพราะนายกฯ ก็ประกาศเอาไว้ว่า การแก้ไขรธน. ต้องแก้ไขด้วยกันทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน วุฒิสภา แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถอนตัวไปเหลือแค่ 2 ฝ่าย ก็ไม่สมานฉันท์ แต่ตนยังไม่ฟันธงไปถึงขนาดนั้น

**"วิทยา"ยังกั๊กร่วมประชุมวิป 3 ฝ่าย
นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณี นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา จะเดินหน้าแก้ไขรธน.ใน 6 ประเด็น แม้พรรคเพื่อไทยจะไม่ร่วมดำเนินการด้วย ว่า ฝ่ายค้านยินดีที่จะดำเนินการตามระบบของรัฐสภา แต่ขอฝากไปยังนายกฯ ว่าไม่ต้องกังวล อย่านำฝ่ายค้านไปเป็นข้ออ้าง หรือเหตุผลที่ทำให้การแก้ไขรธน. ล่าช้า เพราะเสียงของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้ง ส.ว. เพียงพออยู่แล้ว และไม่ต้องกังวลว่าฝ่ายค้านจะไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯ หรือตีรวน เพราะถึงแม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขใน 6 ประเด็น แต่เราก็มีวิธีดำเนินการภายใต้กระบวนการของสภาผู้แทนราษฎร โดยจะนำรธน.40 มาเทียบเคียงกับรธน. 50 ว่ามีจุดบกพร่อง หรือมีข้อแตกต่างกันอย่างไร สำหรับการประชุมวิป 3 ฝ่าย ในวันที่ 22 ต.ค.นี้ วิปฝ่ายค้านจะเข้าร่วมประชุมด้วยหรือไม่นั้น คงต้องไปหารือกันภายในพรรคก่อน แต่ยืนยันในจุดเดิมว่า เราจะใช้ธงของรธน.40 เป็นหลักในการพิจารณา

**หากนำรธน.40 มาใช้ถือว่าแรง
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ตนไม่ได้ดูแลเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะมีแกนนำอีกชุดหนึ่งที่เขาดูแลอยู่ ตนไม่ได้เข้าไปยุ่ง ส่วนเรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่าต้องการให้นำ รธน.40 กลับมาใช้นั้น ตนเห็นว่า รุนแรงเกินไป อาจจะแก้ยาก การที่พรรคเพื่อไทยไม่ยอมที่จะแก้ใน 6 ประเด็น ก็ต้องเจรจากันไป แต่ตนไม่ทราบว่าจะเจรจากันได้หรือไม่ เพราะตนไม่ใช่ทีมเจรจา

**แนะใช้ความขัดแย้งแก้รธน.เป็นบทเรียน
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า แม้จะยังมีความเห็นแตกต่าง ไม่ลงตัว แต่ส่วนใหญ่มีข้อสรุปว่าต้องแก้รธน.ฉบับปัจจุบัน และถ้ามีการผลักดันให้มีการนำเอารธน.40 มาเป็นหลักในการแก้ไข โดยมีการรณรงค์ต่อเนื่องไปจนถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคต ก็จะยิ่งช่วยแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ ทำให้สังคมมีกติกาที่เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรมขึ้นมาได้
นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ขึ้นอยู่ที่ท่าทีของนายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาลว่า จะเดินหน้าทำในสิ่งที่ตนเองเห็นว่าควรทำต่อไปหรือไม่ หรือจะอาศัยการเปลี่ยนท่าทีของพรรคฝ่ายค้าน มาเป็นข้ออ้างเพื่อจะได้ไม่ต้องทำอะไร ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ยืนยันว่าจริงๆแล้วรัฐบาลไม่อยากแก้รธน.มาตั้งแต่ต้น ส่วนการทำประชามตินั้น หากรัฐบาลคิดจะทำจริงๆ ตนขอเสนอให้เพิ่มประเด็นเรื่องการแก้ทั้งฉบับโดยจะเอารธน.40 หรือรธน. 50 เป็นหลัก ประชาชนจะได้ช่วยกันแก้ปัญหาความขัดแย้ง แตกต่างทางความคิดเห็นได้เป็นอย่างดี
----------------
กำลังโหลดความคิดเห็น