xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเดินหน้าแก้รธน.พท.ลงมติไม่ร่วมด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าว วานนี้ (13 ต.ค.) ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยประกาศถอนตัว ขณะเดียวกันกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ออกมาคัดค้านว่า หลักสำคัญที่เราพูดตั้งแต่ต้นว่าเราอยากจะใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขปัญหา เรื่องการปรองดองสมานฉันท์ คิดว่าในส่วนของประชาชนหากทำประชามติทุกอย่างจบ ตนเชื่อว่าทุกฝ่ายเคารพกระบวนการทำประชามติและเสียงส่วนใหญ่ แต่ถ้าพรรคการเมืองด้วยกันเอง ยังไม่ยอมตกลงด้วยกัน จะเกิดคำถามว่า จะเกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีกหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการแก้ไขเพิ่มเติม
ผมยืนยันว่า เราทำงานกันมาถึงขั้นนี้ มีตัวแทนทุกพรรคตกลงพูดคุยกันระหว่างวิป 3 ฝ่าย ผมยืนยันปฏิบัติตามข้อตกลงเดิมทุกประการ แต่ต้องการให้ทุกฝ่าย ปฏิบัติตามข้อตกลง ถ้าบางฝ่ายปฏิบัติแล้วอีกฝ่ายนำไปหยิบยกไปสู่ความขัดแย้งใหม่ ก็ต้องมาทบทวนเป็นเรื่องปกติธรรมดา
ส่วนที่ฝ่ายค้านอ้างว่าเป็นข้อตกลงของพรรคร่วมรัฐบาลก่อนจัดตั้งรัฐบาลนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อตกลงตอนที่จัดตั้งรัฐบาลก็ดี หารือกับพรรคร่วมก็ดี ก็ตรงกัน ว่าแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นความขัดแย้ง ถ้าเป็นความขัดแย้งก็ไม่มีใครอยากทำ เพราะจะทำให้ประเทศย้อนกลับไปสู่ปีที่แล้ว
นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่าขณะนี้ไม่มีความขัดแย้งในพรรคร่วมรัรฐบาล แต่อาจจะมีความหวั่นไหวนิดหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะกระบวนการไม่เป็นไปตามที่คุยทุกฝ่าย ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์ว่า 6 ประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอ และรัฐบาลนำมาแก้ไขไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชนนั้น ก็ให้ประชาชนทำประชามติถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และเชื่อว่าคนที่ไม่เห็นด้วยคงจะเคารพมติของประชาชน ส่วนที่พรรคเพื่อไทยออกมาระบุว่า การทำประชามติจะขัด รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 นั้น นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่าตนไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย

แกนนำพรรคร่วมเดินหน้าแก้รธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงเย็นวันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ ได้เชิญแกนนำ พรรคร่วมรัฐบาลเข้าหารือเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่บ้านพิษณุโลก โดยมีนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรครวมใจไทย นายพินิจ จารุสมบัติ นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ แกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน นายเนวิน ชิดชอบ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสรอรรถ กลิ่นประทุม แกนนำพรรคภูมิใจไทย และนายสุธรรม ลิ้มเกษมสุวรรณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ร่วมหารือ นานประมาณ 1 ชั่วโมง โดยไม่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมหารือแต่อย่างใด
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล กล่าวภายหลังการหารือว่า พรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกันว่าควรเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่วิป 3 ฝ่ายตกลงกัน โดยให้แก้ไข 6 ประเด็นตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอ และให้ตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ประธานรัฐสภาแต่งตั้งขึ้นเพื่อร่างเค้าโครงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นแล้วเสนอต่อที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ในวันที่ 22 ต.ค.นี้ เพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนพรรคเพื่อไทยจะเอาอย่างไรเราไม่ทราบ แต่สิ่งที่หารือกันเป็นการร่วมกันทำซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์
แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า การหารือของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลครั้งนี้ เป็นการหารือต่อเนื่องจากการหารือเมื่อครั้งที่ผ่านมา ที่เห็นด้วยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ทำประชามติก่อนร่างรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ถือเป็นข้อตกลงร่วมกัน

พท.ชูรธน.40ปัดร่วมแก้รธน.50
ด้านพรรคเพื่อไทย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมส.ส.พรรคว่าการหารือภายในพรรคได้ข้อสรุปตรงกันว่า พรรคเพื่อไทยไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2550 มาตั้งแต่ต้น เนื่องจากเห็นว่า หากบ้านเมืองต้องการ ให้ความสมานฉันท์กลับคืนมาต้องนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาเท่านั้น
ด้านร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้เคยรณรงค์ให้ประชาชนโนโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตั้งแต่ต้น และวันนี้ก็เห็นชัดอีกว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหา ความขัดแย้ง ดังนั้นพรรคเพื่อไทยเห็นว่าหากต้องการให้บ้านเมือง เกิดความสมานฉันท์ เป็นประชาธิปไตยต้องยืนยันจุดยืนคือ เอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับคืนมา

วิทยาบ่นหนักใจแจงมติวิป3ฝ่าย
ขณะที่นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อสรุปของที่ประชุมคือ พรรคมีความชัดเจนมาตั้งแต่แรกว่า โดยแนวทางของรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นพรรคไม่เห็นด้วย และตนก็ยืนยันตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตั้งแต่ต้น ในฐานะวิปฝ่ายค้านซึ่งเป็นตัวแทนพรรคนั้น เมื่อพรรคส่งสัญญานมาเช่นนี้ก็ต้องทำตาม แต่ยอมรับว่าเป็นงานที่ยากลำบาก
หน้าที่ของผมหลังจากนี้คือ ในวันที่ 22 ต.ค.จะเป็นตัวแทนพรรคเข้าไปหารือ เพื่อแจ้งจุดยืนของพรรคต่อที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายก่อน ซึ่งถือเป็นงานที่ยาก เป็นการบ้านที่ต้องไปคิด ส่วนเงื่อนไขที่จะไปยื่นต่อที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายนั้นจะคุยกันภายในวิปฝ่ายค้านอีกครั้ง แต่เมื่อพรรคส่งสัญญานยึดหลักรัฐธรรมนูญ 2540 มาเช่นนี้ก็ต้องทำตาม ส่วนข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ 6 ประเด็น ที่ก่อนหน้านี้วิปฝ่ายค้านเห็นชอบร่วมกันนั้น ตรงนี้ตนมองว่าเป็นการบ้านที่ยาก แต่หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงก็มีช่องทางที่ทำได้คือ เอารัฐธรรมนูญ 2540 มาเป็นตัวตั้ง
นายพิษณุ หัตถสงเคราะห์ ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าหลังจากนี้พรรคจะส่งนายวิทยาไปแจ้งที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายเพื่อเสนอเงื่อนไขคือ ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ และไม่เอาประชามติ ซึ่งหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขนี้ก็เลิกคุยกัน

อ้างรธน.40ไม่ช่วยปิดคดีทักษิณ
ก่อนหน้านี้ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวถึงกรณีที่ นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯระบุว่า หากจะนำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ได้ต้องปฏิวัติเท่านั้น ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า การมีรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะมีการปฏิวัติใช่หรือไม่ ขณะที่จะร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ตน บอกนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นเองว่าให้ตั้งส.ส.ร.1 แล้วที่พูด ว่า ต้องปฏิวัติก่อนนั้นอย่างนี้มันชวนทะเลาะกัน พูดไม่รับผิดชอบ อย่าคิดว่า สิ่งที่คิด ถูกต้องเสมอไป เดี๋ยวจะทำให้ดูเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาโดยไม่ต้องปฏิวัติ
พวกนักวิเคราะห์ทั้งหลายที่ออกมาบอกว่า ที่พรรคเพื่อไทยต้องการรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้อีกเพื่อต้องการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดีทุจริตต่างๆ นั้นก็ไม่จริง ลองไปเปิดดูว่ามีมาตราไหนที่ระบุว่าถ้านำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้แล้วคดีต่างๆ จะจบ ไม่มีเลย มีแต่ตอนนี้ตะโกนกันปาวๆ พ.ต.ท.ทักษิณ ทุจริต พวกที่พูดอย่างนี้ต้องช่วยกันตบปาก มันไม่มี แต่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าหาก พรรคอนุมัติแคมเปญหาเสียงนิรโทษ-อภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ถ้าได้รับเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งจะเดินหน้าทำทันที รวมทั้งคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ยังค้าง 4 คดีจะนิรโทษให้หมด
สำหรับแนวความคิดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคนั้น จะต้องอิงกับแนวความคิดของพ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่นั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้มายุ่ง ท่านแนะนำประเด็นเศรษฐกิจเฉยๆ แต่ยังมองไม่ออกว่าแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นจะสมานฉันท์ตรงไหน ดูแต่ละมาตราล้วนเกี่ยวกับนักการเมืองทั้งสิ้น หากจะให้สมานฉันท์จริงๆ หลังเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกภาคส่วนต้องนิรโทษอภัยโทษให้หมดถึงจะเป็นการสมานฉันท์ที่แท้จริง ส่วนกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศจะชุมนุมทันทีหากรัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญนั้น เรื่องนี้ต้องไปถามนายสนธิ ลิ้มทองกุล ตนไม่ขอยุ่งด้วย

ปชป.ชี้แก้รธน.ต้องไม่สร้างปัญหาสังคม
น.พ.วรงค์ เดชวิกรม ส.ส.รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุม ส.ส.พรรคว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีจุดอ่อนให้แก้ไข เพียงแต่การแก้ไขต้องไม่สร้างปัญหาให้สังคม ต้องได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน ต้องไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์คนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จุดยืนของพรรคจึงอยู่ที่ประชาชน และพรรคพร้อม ไปทำความเข้าใจกับประชาชนทั้ง 6 ประเด็น หากประชาชนเห็นด้วยก็พร้อมจะนำหน้าไปสู่การแก้ไข หากไม่เห็นด้วยก็พร้อมจะแก้ไขกระบวนการประชามติจึงเป็นกระบวนที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็นกระบวนการที่สามารถทำความเข้าใจกับทุกกลุ่มได้
รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ในการประชุม ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฯเป็นประธาน ที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากที่ พรรคเพื่อไทยประกาศถอนตัวไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข โดยที่ประชุมได้หยิบยกข้อสรุป ของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯมาหารือเป็นรายประเด็น

พท.กลับลำเพราะแม้วไม่ได้ประโยชน์
โดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ได้วิเคราะห์ว่าขณะนี้ ฝ่ายค้านกลับลำไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญรวมทั้งไม่เอาประชามติ แม้ประธานวิปฝ่ายค้านจะยอมแก้ก็ต้านทานไม่อยู่ เพราะนายใหญ่จากต่างประเทศ สั่งตรงมาว่าไม่เอา ไม่แก้ ไม่ทำประชามติ
นายบัญญัติ ยังได้วิเคราะห์ด้วยว่า สาเหตุที่พรรคเพื่อไทยไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นเพราะพรรคเพื่อไทยไม่ได้ประโยชน์ ส่วนพรรคที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือพรรคภูมิใจไทย กับพรรคชาติไทยพัฒนา แต่ นายใหญ่ไม่ได้ประโยชน์เพราะเจตนา ต้องการให้แก้เฉพาะมาตรา 309 เรื่องการนิรโทษกรรมเท่านั้น เมื่อนายใหญ่ไม่ได้ประโยชน์จึงไม่จำเป็นต้องแก้
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญสังคมส่วนใหญ่ยังมีความเห็น แตกต่างกัน พรรคจึงให้เป็นดุลพินิจของส.ส.แต่ละคนจะตัดสินใจเพราะถือว่า เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิก และหากเสียงส่วนใหญ่ในสภาเห็นสมควรแก้ไข ก็ต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยทุกอย่างก็จบ

ชทพ.เชื่อนายกฯลุยแก้รธน.
นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา แสดงความเชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรี คงไม่ล้มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้พรรคเพื่อไทยถอนตัว เพราะเป็นเรื่องที่เราได้คุยกันมาแล้ว ส่วนพรรคเพื่อไทยก็เป็นเพียงแนวร่วมเท่านั้น หากร่วมด้วยก็ดี แต่ถ้าไม่ร่วมด้วยก็อีกเรื่อง อีกทั้งตอนนี้ยังต้องให้เวลากับฝ่ายกฎหมายสองสภาไปยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเสนอต่อวิป 3 ฝ่าย
ผู้สื่อข่าวถามว่ามองอย่างไรที่พรรคเพื่อไทยเห็นว่าควรนำรัฐธรรมนูญ2540 มาใช้ใหม่ นายชุมพล กล่าวว่า แล้วแต่พรรคเพื่อไทย ถ้าเราตกลงกันได้ก็อาจพ่วงท้าย เป็นอีกเป็นประเด็นว่าจะเอารัฐธรรมนูญ 2540 หรือไม่ แต่เราต้องคุยในวิป 3 ฝ่ายก่อนว่าจะพ่วงอีกประเด็นหรือไม่ ถ้าพ่วงแล้วกระเทือนต่อ 6 ประเด็น เราก็ไม่ต้องพ่วงประเด็นรัฐธรรมนูญ2540 ดังนั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเพิ่มให้พรรคเพื่อไทยได้อีกกี่ประเด็น แต่ถ้าพ่วงไปแล้วกระทบก็ไม่ควร แต่หากให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาแล้วอีก 6 ประเด็นจะทำอย่างไร ถ้าผลออกมาไม่เอารัฐธรรมนูญปี 2540 แล้วที่เสนอไว้ 6 ประเด็นจะว่าอย่างไร แต่คิดว่าตอนนี้น่าจะเอาแค่ 6 ประเด็นก่อน

ตุ๊ดตู่รับเมื่อแม้วไม่แก้ก็ต้องไม่แก้
นายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง กล่าวว่า กลุ่มคนเสื้อแดงมีความชัดเจนว่าต้องการรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550 การเสนอแก้ไขใน 6 ประเด็นนั้นประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เป็นการทำตามข้อตกลงของพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้ไว้กับพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น และประเด็นที่จะแก้ไขนั้นล้วนเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลทั้งสิ้น ขณะเดียวกันก็มีหลายประเด็นเป็นสิ่งที่รับไม่ได้เลย เช่น การต่ออายุให้ส.ว. ส่วนการทำประชามตินั้นเป็นเพียง การซื้อเวลา เป็นมารยาของพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนที่อ้างว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ให้ความร่วมมือจนทำให้แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้นั้นก็เป็นความเท็จ เป็นข้ออ้างที่ พรรคประชาธิปัตย์ใช้หลีกเลี่ยงแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยที่เปลี่ยนไปนั้นเพราะได้รับสัญญาณจากพ.ต.ท.ทักษิณใช่หรือไม่ นายจตุพรกล่าวว่า เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณพูดอย่างนั้นคนเสื้อแดงและส.ส.ส่วนใหญ่ก็เห็นแบบนั้น คนที่มีหูก็ควรฟัง ไม่ใช่เอาแต่ตัวเองรอด คนอื่นหรือหัวหน้าจะเป็นอย่างไรช่างหัวมัน เชื่อว่าทุกคน ในพรรคคิดเหมือนกันว่าต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แต่ถ้าใครคิดเหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ก็ขอให้ย้ายไปอยู่ด้วยกันเลยดีกว่า

ขึงขังหากพท.หนุนแก้ขอลาออก
อยากฝากให้พรรคเพื่อไทยตัดสินใจเรื่องนี้ให้ดี เพราะอาจเสียการใหญ่ ควรรอการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าได้รับการเลือกตั้งเกินครึ่งก็นำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ทันที แต่ถ้าหากพรรคเพื่อไทยไปร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นด้วย ก็หมายความว่าละทิ้งประชาชน ผมจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับพรรคนี้อีก
ส่วนจะลาออกจากพรรคเพื่อไทยทันทีหรือไม่นั้น นายจตุพรกล่าวว่า ไม่ต้องหรอก ถ้าทำแบบนั้นพรรคก็เจ๊งอยู่แล้ว สำหรับการทำงานของวิปฝ่ายค้านนั้นจะต้องฟังพรรคต้องฟังสมาชิกด้วย พรรคว่าอย่างไรค่อยไปแจ้งกับวิปอีก 2 ฝ่าย ตอนนี้นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้านคงเข้าใจแล้ว ถ้าไปเอาด้วยกับพรรคประชาธิปัตย์แก้ไข 6 ประเด็นก็จะต้องเจอกับการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่องผัวเมียเขาจะว่ากันเราไปยุ่งอะไรกับเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น