xs
xsm
sm
md
lg

เทรดทองบาทเดียว ชงTFEXลดโกลดฟิวเจอร์ส อ้างอินเดีย-สะเทือนเยาวราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ชมรมผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ขานรับกระแสราคาทองคำพุ่ง เล็งเสนอตลาดอนุพันธ์ เปิดเทรดโกลด์ฟิวเจอร์สน้ำหนักเพียง 1 บาท/สัญญา ชี้จูงใจนักลงทุนง่ายกว่าด้วยต้นทุนที่สุดน้อย อ้างอินเดียนิยมมากเทรดกันแค่ 8 กรัม ดันเงินไหลมาเทมาเข้าบริษัท ส่วนน้ำหนัก 10 บาท/สัญญาคาดได้เห็นภายในไตรมาสนี้ แต่ต้องปรับเพิ่มเงินวางประกันจาก10%แน่ ประเมินทั้ง 2รูปแบบสร้างผลกระทบร้านทองอย่างหนีไม่พ้น ด้านก.ล.ต.ขอเอาอย่างแดนภารตะด้วย เตรียมชงฟิวเจอร์สดอลลาร์-บาท ช่วยผู้ส่งออก แต่ปิดกั้นต่างชาติ หวั่นโดนทุบหัว

นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ทรีนีตี้ จำกัด และในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) เปิดเผยว่า ทางชมรมผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(เอฟไอคลับ) เตรียมจะเสนอให้บริษัท ตลาดอนุพันธ์(ประเทศไทย) หรือTFEX มีการเปิดซื้อขายสัญญาชื้อขายทองคำล่วงหน้า(โกลด์ฟิวเจอร์ส) อ้างอิงน้ำหนักทองคำ 1 บาทหรือเท่ากับทองคำ 15.244 กรัม ต่อสัญญา เพราะจะสนับสนุนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น เนื่องจากใช้เม็ดเงินลงทุนที่น้อย จากขนาดสัญญาลดลงและจะทำให้สภาพคล่องการซื้อขายมากขึ้น จากปัจจุบันโกลด์ฟิวเจอร์สซื้อขายมีน้ำหนัก 50 บาท หรือ 762.2 กรัม ต่อสัญญา

โดยสาเหตุที่จะเสนอเรื่องดังลก่าว มาจากเมื่อปลายสิงหาคมได้เชิญนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต. ) ตลาดอนุพันธ์ และชมรมผู้ค้าทองคำ ไป ดูการซื้อขายตลาดอนุพันธ์ของอินเดีย ซึ่งพบว่าที่นั่นเปิดให้มีการซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สอ้างอิงทองคำน้ำหนัก 8 กรัมต่อสัญญาเท่านั้น และนักลงทุนให้ความสนใจเข้าไปซื้อขายจำนวนมาก จากที่มีขนาดที่เล็กสามารถซื้อได้สะดวก
นอกจากนี้ ยังพบว่าตลาดอนุพันธ์อินเดียได้มีการเปิดซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินรูเปียด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ทางก.ล.ต.มีแนวคิดจะอนุญาตให้มีการซื้อขายล่วงหน้าอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินระหว่างดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทมาแล้ว ในปีนี้ โดยห้ามไม่ให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาซื้อขายด้วย

อย่างไรก็ตามหากมีการเปิดให้มีการซื้อขาย ล่วงหน้าอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินระหว่างดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทจริงจะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจไทยที่มีการทำธุรกิจนำเข้าและส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ มีความสะดวกมากขึ้น ในการป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน จากปัจจุบันที่จะต้องมีการทำที่ธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งคาดว่าก.ล.ต.น่าจะมีการนำเรื่องนี้ไปหารือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เร็วๆนี้

นอกจากนี้ แหล่งข่าวรายหนึ่ง กล่าวถึงปัญหาเรื่องน้ำหนักทองคำต่อ 1 สัญญาซื้อขายโกลด์ ฟิวเจอร์ส ที่เคยมีการเสนอให้ลดน้ำหนักลงเหลือ 10 บาท/สัญญาว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการตัดสินใจของตลาดหลักทรัพย์ฯ และ บมจ.ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) (TFEX) โดยคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปออกมาในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้แน่ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นสัญญาซื้อขายทองคำในน้ำหนัก 10 บาท/สัญญา ออกมานำเสนอต่อนักลงทุนตามที่หลายฝ่ายต้องการ อย่างไรก็ตาม สัญญาโกลด์ฟิวเจอร์สในน้ำหนักเดิม (ทองคำ 50 บาท/สัญญา) จะไม่ถูกเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกไป โดยสัญญาซื้อขายใหม่นี้จะเปรียบเสมือนเป็นสินค้าใหม่ที่เข้ามาเสริม เพื่อเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนมากกว่า

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวจะเกี่ยวพันไปถึงการวางเงินหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) ซึ่งแต่เดิมในน้ำหนักทองคำ 50 บาท/สัญญา ผู้ลงทุนต้องวางเงินขั้นต่ำ 10% แต่เมื่อสินค้าใหม่มีการปรับลดน้ำหนัก เชื่อว่าการวางเงินหลักประกันขั้นต้นต่อ 1สัญญา TFEX น่าจะปรับให้สูงขึ้นแต่ไม่เกิน 20% เพื่อป้องกันปัญหาในด้านผลกระทบต่อทองคำแท่งในน้ำหนักเท่ากัน หรือน้อยกว่า

“มีความเป็นไปได้สูงที่เรื่องดังกล่าวจะลงเอยในลักษณะนี้ ซึ่งจะมีการเพิ่มเงินหลักประกันจริง แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบรรดาร้านทองนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ทุกวันนี้ปริมาณการซื้อขายทองคำรูปพรรณลดลงไปถึง 40% ส่วนฟากการซื้อทองคำเพื่อลงทุนก็โตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นหากคิดได้ว่า โกลด์ ฟิวเจอร์สจะเป็นช่องทางสร้างรายได้ชดเชยได้ ก็จะถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะช่วยตอบสนองพฤติกรรมของลักลงทุนไทยที่ชอบระยะสั้นด้วย”

ยืนยันพร้อมเปิดเทรด24ชม.

ส่วนกรณีการเปิดให้มีการซื้อขายโกลด์ ฟิวเจอร์สตลอด 24 ชม.นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า เรื่องตรงนี้หลายแห่งมีความพร้อมและสนใจที่ตะเปิดให้บริการอยู่แล้ว แต่ข่าวที่เคยออกมาส่วนมาจะพบว่าต้องขอศึกษาความทุนสำหรับการลงทุนใหม่ที่จะมีเพิ่มขึ้นมาก่อน ตรงจุดนี้เชื่อว่าไม่ใช่ความคุ้มทุนในส่วนของโบรกเกอร์ เพราะโบรกเกอร์เล็งเห็นถึงความเสี่ยงด้านความผันผวนต่อราคาทองคำของลูกค้า และพร้อมจะให้บริการ แต่เรื่องดังกล่าวมันเป็นเรื่องของระบบตลาดหลักทรัพย์ฯและTFEXมากกว่า เนื่องจากเป็นระบบใหญ่ เรื่องต้นทุนจึงมีมาก ซึ่งจุดนี้ในต่างประเทศเขาแบ่งตลาดออกมาอย่างชัดเจน เช่นสหรัฐฯ ก็มีตลาด COMEX ออกมารองรับปัญหาดังกล่าวโดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น