xs
xsm
sm
md
lg

พท.กลับลำร่วมแก้รธน. "วิทยา-เหลิม"งัดกันเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิป3 ฝ่ายมีมติตั้งฝ่ายกม. 2 สภา ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2 แนวทาง ก่อนนำกลับหารือ 22 ต.ค. ด้านฝ่ายค้านกลับลำร่วมสังฆกรรมอีกรอบ อ้างยึกยัก ชักเข้าชักออก เป็นแค่"เทคนิก" กดดันรัฐบาล "มาร์ค" ยอมรับใจจริงไม่อยากแก้ แต่ถูกข้ออ้าง"สมานฉันท์" เลยต้องคล้อยตาม แต่ถ้าจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ก็ไม่ต้องแก้ "แม้ว" ทวิตเตอร์เย้ย แก้รธน. ก็ไม่สมานฉันท์ นอกจากเอาฉบับปี 40 กลับมา "เพื่อไทย"แฉ"เหลิม" งัดข้อ"วิทยา" ชิงกันใหญ่

จากกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกมาประกาศว่าพรรคมีมติจะถอนตัว ไม่เข้าร่วมแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 หลังพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โฟนอิน ส่งสัญญาณมาที่ที่ประชุมพรรค โดยอ้างว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจ เป็นเพียงเกมการเมืองโดยหวังจะใช้การทำประชามติ มายื้อเวลาในการอยู่ในอำนาจของรัฐบาลต่อไป
เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (8 ต.ค.) ได้มีการประชุมวิป 3 ฝ่าย ประกอบด้วย วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน วิปวุฒิสภา ร่วมกับฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยมีตัวแทนจากทุกฝ่ายเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง อาทิ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน นายไพจิต ศรีวรขาน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ตัวแทนวิปฝ่ายค้าน นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรฯ จากพรรคภูมิใจไทย นพ. อลงกต มณีกาศ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อแผ่นดิน นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ส.ส.พิจิตร พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา นายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม เลขานุการวิปวุฒิสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา พร้อมด้วย รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ ผอ.สำนักกฎหมายของทั้ง 2 สภา
ทั้งนี้นายชินวรณ์ กล่าวเปิดประชุมว่า หลังจากที่ฝ่ายค้านแถลงว่า จะไม่เข้าร่วมประชุมด้วย หลายคนสงสัยว่าวันนี้จะมีประชุมหรือไม่ สุดท้ายก็มีซึ่งก็ถือว่าเป็นก้าวย่างต่อไปของการสมานฉันท์ ที่จะร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปการเมืองต่อไป จึงขอหยิบยกประเด็นร้อน กรณีที่พรรคเพื่อไทย จะถอนตัวจากการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาหารือก่อน
นายประเกียรติ กล่าวชี้แจงว่า ฝ่ายค้านสนับสนุนข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ แต่ที่พรรคเพื่อไทย แถลงเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ว่าจะไม่ร่วมกับวิป 3 ฝ่ายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะวิเคราะห์แล้วเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ก็เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนในเวลาอันใกล้ คือ แก้แล้วยุบสภา มีรัฐบาลใหม่ จากนั้นแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ทั้งฉบับ ทั้งหมดจะต้องมีกรอบเวลาให้ชัด แต่ที่วิป 3 ฝ่ายกำลังทำกันอยู่นั้น ไม่มีความชัดเจน ไม่สอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ รวมถึงการใช้เงิน 2 พันล้านบาท เพื่อทำประชามติ ซึ่งพรรคเห็นว่ายังไม่สมควรที่จะดำเนินการ และ การที่พรรคเพื่อไทยเข้ามาร่วมประชุมกับวิป 3 ฝ่าย ก็เพื่อมาติดตามผลการประชุมว่าจะมีมติอย่างไร
นายวิทยา กล่าวว่าที่ตัวแทนวิปวุฒิสภา เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ยังยืนยันว่ามาเพียงสังเกตการณ์ว่ามีอะไรบ้างที่ฝ่ายค้าน และรัฐบาลเสนอเพื่อนำไปรายงานให้ส.ว.ทราบ เพราะเราไม่มีอำนาจตัดสินใจแทน ส.ว.ทั้ง 149 คน ไม่สามารถประสานกันได้ทุกคน แต่อะไรที่เป็นทางออกของประเทศ ที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ ความสามัคคี วุฒิสภาก็ยินดีสนับสนุน

**ฝ่ายค้านกลับลำร่วมแก้ รธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่ายซึ่งใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล พร้อมด้วยนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ได้ร่วมกันแถลงข่าว
นายชินวรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้ทำหนังสือถึงประธานรัฐสภา แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักกฎหมายทั้ง 2 สภา เป็นกรรมการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ยกร่าง ตามข้อเสนอของคณะกรรมสมานฉันท์ฯ ใน 2 แนวทาง คือฉบับละประเด็น 6 ฉบับ และ ฉบับเดียวทั้ง 6 ประเด็น โดยให้กำหนดหลักการของกฎหมายอย่างกว้าง
จากนั้นให้ดำเนินการจัดทำโครงร่างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งข้อดี ข้อเสียของรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 พร้อมเหตุผล ข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ จากนั้นวิป 3 ฝ่าย จะนำมาหารือกันอีกครั้งในวันที่ 22 ต.ค. เวลา 10.00 น.
นายชินวรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังหารือถึงการจัดทำประชามติ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอให้ทำก่อนผ่านวาระแรก ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า สามารถดำเนินการได้ แต่ได้มอบให้แต่ละพรรคไปหารือให้ได้ข้อสรุป และนำกลับเข้าที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 22 ต.ค.เช่นกัน
ทั้งนี้ กระบวนการในการยกร่าง คาดจะใช้เวลาภายใน 30 วัน และฝ่ายกฎหมาย จะยกร่างญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วให้นำกลับมาหารือวิปทั้ง 3 ฝ่าย ในวันที่ 5 พ.ย. การประชุมวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปฎิรูปการเมืองและสมานฉันท์ต่อไป แต่การดำเนินการก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่วิปทั้ง 3 ฝ่ายยอมรับ คือกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ส่วนการทำประชามติ ต้องเป็นไปตาม มาตรา165

**ขู่ไม่ร่วมแก้ รธน.แค่ "เทคนิก"
ด้านนายวิทยา บุรณศิริ กล่าวว่า ก่อนจะเข้าร่วมประชุมวิป 3 ฝ่าย วิปฝ่ายค้านได้หารือกับผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคแล้วจึงมายืนยันในวิป 3 ฝ่าย ให้สบายใจว่า ฝ่ายค้านยังยืนยันที่จะสนับสนุนมติของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น และคิดว่าต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน แต่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายถึง 2 พันล้านบาท แต่ต้องการเห็นว่า ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ดังนั้นกระบวนการนี้ ก็ต้องไปว่ากันอีกทีหลังการยกร่างเสร็จ
ส่วนที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประกาศถอนตัวจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ประเด็นนี้หารือและพูดคุยกับ ร.ต.อ.เฉลิมแล้ว ซึ่งร.ต.อ.เฉลิม เกรงกลัวว่าการดำเนินการจะไม่เร่งรัด เกรงว่ารัฐบาลไม่ดำเนินการ ดังนั้นเทคนิกทางการเมือง ก็เป็นอย่างที่รับทราบกัน
"เรียนตามตรงว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจหลายวันที่ผ่านมา ซึ่งเกรงว่าจะเป็นอย่างโน้น อย่างนี้ การเมืองก็เป็นเรื่องธรรมดา ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็มีความเป็นห่วง ก็เป็นเรื่องธรรมดา" ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิทยากล่าวว่า ยังอยู่ในเส้นทาง ในเงื่อนเวลาที่เรากำลังดำเนินการ ซึ่งนายกฯให้ความสำคัญอยู่ และทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันเหมือนเดิม
เมื่อถามว่า ขณะนี้ในฝ่ายค้าน ใครมีอำนาจที่จะให้ความชัดเจนเป็นรูปธรรม เพราะพูดกลับไป กลับมาตลอด นายวิทยา กล่าวว่า ที่นั่งอยู่นี้ยังเป็นประธานวิปอยู่ มีอำนาจดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้
เมื่อถามย้ำว่าต้องฟังประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทยด้วยหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า ท่านห่วงใย และวิตก อาจเป็นการกระตุ้นอย่างหนึ่งเพื่อเป็นแรงผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญเร็วขึ้น ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิมอาจห่วงว่าชักช้าเกินไปหรือเปล่า แต่ยืนยันว่าไม่ได้ชักช้า

**ให้เวลา 1 เดือนยกร่างแก้ไข รธน.
ด้านนายวิทยา อินาลา เลขานุการวิปวุฒิสภา กล่าวว่า การออกมาให้ข่าวของร.ต.อ.เฉลิม คงเป็นเรื่องการสร้างข่าวกดดัน เพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความมั่นใจว่า จะรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งวันนี้วิปรัฐบาลยังให้ความมั่นใจ ในการเดินหน้าแก้ไข คาดว่าจะใช้เวลาอยู่ที่ 9 เดือน มากที่สุดไม่เกิน 1 ปี สำหรับผลการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย กับฝ่ายกฎหมายของ 2 สภา ก็จะเสนอให้นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งได้ในวันที่ 9 ต.ค.โดยให้ยกร่าง 2 แบบ พร้อมให้ทำข้อสังเกตมาด้วยว่า ประเด็นที่จะแก้กระทบกฎหมายลูกฉบับไหน อย่างไรบ้าง ซึ่งวันที่ 22 ต.ค. ฝ่ายกฎหมายของ 2 สภา จะนำร่างมาให้วิป 3 ฝ่ายดู เพื่อพิจารณาปรับแก้ จากนั้นจะส่งกลับให้ฝ่ายกฎหมาย 2 สภา กลับไปจัดทำร่างที่สมบูรณ์แบบมาให้พิจารณาอีกครั้งว่า วิป 3 ฝ่าย จะเอาแบบร่างเดียว 6 ประเด็น หรือ แยก 6 ร่าง จากนั้นจะให้ ส.ส.- ส.ว. ร่วมกันเข้าชื่อเสนอญัตติร่าง แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อไป
เมื่อถามถึงท่าทีของฝ่ายค้านที่กลับลำอีกรอบ นายวิทยา กล่าวว่า ตอนแรกฝ่ายค้านยังยืนยันว่า ไม่ต้องทำประชามติ เพราะกลัวรัฐบาลดึงเวลา และกลัวว่าจะมีการแก้แค่ 2-3 ประเด็น แต่เมื่อประธานวิปฝ่ายค้านที่เข้ามาประชุมในภายหลัง แจ้งว่ายังให้การสนับสนุนต่อไป โดยยืนยันเห็นด้วยกับการแก้ไข 6 ประเด็น ทำให้ที่ประชุมเดินหน้าได้

**"ประชามติ" ยังไม่ได้ข้อยุติ
ส่วนเรื่องประชามติ ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่เบื้องต้นก็ยึดตามคำแนะนำของกฤษฎีกา ซึ่งทุกพรรคจะกลับไปพิจารณา รวมถึงพรรคเพื่อไทย ส่วนประเด็นว่าจะยุบสภาหรือไม่หลังจากแก้ไขเสร็จ ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุป ส่วนตัวเห็นว่าถึงอย่างไรก็ต้องทำประชามติ เพราะจะได้เห็นว่าประชาชนเสียงข้างมากต้องการอะไร และจะทำให้ฝ่ายคัดค้านอย่างกลุ่ม 40 ส.ว. คงต้องยอมตามเสียงประชาชน
ทั้งนี้ เมื่อกรอบค่อนข้างชัดเจนว่า มีเวลายกร่างประมาณ 1 เดือน ก็น่าจะทำให้ฝ่าย ส.ว.พอใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ ได้ให้เหตุผลว่าควรให้เหตุผลชัดเจน นายชินวรณ์ จึงฝากเป็นการบ้านกับทุกฝ่ายไปหาคำตอบมา 4 ข้อคือ 1. กระบวนการมีส่วนร่วมกระบวนการใด ที่สามารถควบคุมได้ และครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม 2. เป็นการรวบรวมความเห็นจากทุกฝ่าย และนำไปสู่ความเห็นพ้องสู่ความสมานฉันท์ 3. มีกรอบเวลาที่ชัดเจน และ 4. เป็นกระบวนการที่สามารถหาข้อยุติได้

**"เพื่อไทย" เสียงแตกแก้-ไม่แก้รธน.
หลังการประชุมวิป 3 ฝ่าย ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย หลายคน ซึ่งความคิดเห็นยังแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ 1.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และทำประชามติ 6 ประเด็น และ 2.เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ
ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มติพรรคเพื่อไทย สวนทางกับมติวิป 3 ฝ่าย โดยกล่าวเพียงว่า ไม่ขอพูด เดี๋ยวจะมีความขัดแย้ง และที่ได้แถลงไปเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็พูดไปตามมติพรรค และทางเลขานุการวิปฝ่ายค้านได้มาขอให้แถลง เพื่อให้เป็นประเด็นข่าว ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้น ต้องไปถามเขา
ด้านนพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่ามติพรรคเพื่อไทยชัดเจนว่า จะไม่ร่วมสังฆกรรมแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเด็ดขาด ส่วนมติวิป 3 ฝ่ายเป็นอย่างไรนั้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตัวแทนวิปฝ่ายค้าน 4 คน
ขณะที่นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอยืนยันว่าพรรคไม่ได้ขัดแย้งในเรื่องนี้ โดยมติที่ประชุมพรรค ต้องการให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาเป็นร่าง และแก้ไขในประเด็นที่เห็นว่ามีปัญหา ก่อนร่วมลงชื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาได้พิจารณา และเมื่อแก้ไขเสร็จ ต้องยุบสภาทันที ส่วนกรณีที่วิป 3 ฝ่ายมีมติเดินหน้ายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น และทำประชามตินั้นเป็นเพียงกลลวงของรัฐบาลเพื่อยืดอายุรัฐบาลให้แบ่งเค้กกันมากขึ้น
ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรายืนยันที่จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น แต่คัดค้านการทำประชามติ อย่างไรก็ตาม เราพร้อมที่จะลงชื่อเพื่อเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากมีการทำประชามติ เรายืนยันว่า จะไม่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคิดว่าคงไม่ถึงขั้นนั้น เนื่องจากทุกฝ่ายต้องการให้เกิดความสมานฉันท์ คงมีทางที่จะประนีประนอมกันได้

**แฉ "วิทยา-เหลิม" ชิงกันเด่น
แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า สำหรับกรณีที่นายวิทยา บุรณศิริ ออกมาแถลงหลังประชุมร่วมวิป 3 ฝ่ายว่ายังเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็นแต่ค้านการทำประชามติ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ออกมาแถลงถอนตัวจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งกันเองขึ้นนั้น เนื่องจากที่ผ่านมา การทำงานของนายวิทยา ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน เน้นการประสานงานมากเกินไป อีกทั้งการต่อรองเรื่องต่างๆของนายวิทยา มักจะเสียเปรียบรัฐบาลอยู่ตลอด และการแก้เกมทางการเมืองในฐานะประธานวิปฝ่ายค้านก็ล่าช้า ไม่ทันเหตุการณ์ ทำให้ ส.ส.ในพรรคส่วนใหญ่ไม่พอใจการทำหน้าที่ของนายวิทยา
นอกจากนี้ การที่ร.ต.อ.เฉลิม อ้างมใติพรรคไม่ร่วมแก้รัฐธรรมนูญนั้น ถือว่าเป็นการฉีกหน้านายวิทยา เพราะนายวิทยา ผลักดันประสานงานเรื่องนี้มาตลอด แต่ร.ต.อ.เฉลิม ชิงจังหวะหลังจากได้รับสัญญาณจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ในการโฟนอิน มายังที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ว่า อย่าไปเล่นตามเกมพรรคประชาธิปัตย์ จึงออกมาแถลงถอนตัวจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่หน้าที่นี้ควรเป็นของประธานวิปฝ่ายค้าน
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ทั้งสองคนยังมีปัญหาส่วนตัวคือ เรื่องการชิงการนำในพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นที่รู้กันในพรรคว่า พรรคเพื่อไทย จะต้องมีการปรับโครงสร้างพรรคใหม่แน่นอนก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งนายวิทยา ต้องการที่จะขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค จึงต้องเร่งสร้างผลงานให้พ.ต.ท.ทักษิณเห็น ขณะที่ร.ต.อ.เฉลิม ก็พยายามสร้างผลงานสร้างความไว้วางใจให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อหวังตำแหน่งสำคัญในอนาคต และอาศัยจังหวะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งสัญญาณเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร.ต.อ.เฉลิม จับสัญญาณนั้นได้ จึงชิงออกมาแถลงตัดหน้านายวิทยา ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน เมื่อนายวิทยา ถูกหักหน้า จึงแก้เกมด้วยการออกเป็นมติวิปฝ่ายค้าน สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป แต่ยังไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ ตามที่พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งสัญญาณมา

**"มาร์ค" รับจุดยื่น ปชป.ไม่อยากแก้
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาณ์ในช่วงเช้าวานนี้ ก่อนที่จะมีการประชุมวิป 3 ฝ่าย ถึงกรณีพรรคเพื่อไทยประกาศถอนตัวไม่ขอร่วมในขบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ความจริงทางฝ่ายรัฐบาลเอง โดยเฉพาะในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้นจริงๆ แล้วก็ไม่ได้สนับสนุนที่จะให้มีการแก้ไข แต่เห็นว่าเมื่อเป็นประเด็นขึ้นมา ก็ได้ให้คณะกรรมการประสานงานที่มีจาก ทุกฝ่าย มาหาข้อสรุป ก็มีการสรุปมา 6 ประเด็น แม้เราจะไม่เห็นด้วย แต่เราก็คิดว่าต้องเดินหน้าเพื่อสมานฉันท์ ถ้าทุกคนยึดแต่เพียงว่าตัวเองต้องการอะไร มันก็เดินหน้าไม่ได้ ส่วนที่ฝ่ายค้านอ้างเหตุผลที่ถอนตัวเพราะเห็นว่ารัฐบาลเล่นเกม และเสียดายงบ 2 พันล้านบาทในการทำประชามตินั้น น่าจะเสียดายโอกาสของประเทศมากกว่า ถ้าหากไม่หาทางออกร่วมกัน ซึ่งจะแพงกว่า 2 พันล้านบาทแน่นอน "ต้องตั้งคำถามว่า ถ้าบอกว่าสิ่งที่เห็นตรงนี้ไม่จริงใจ แล้ววิธีไหนที่ได้แสดงออกถึงความจริงใจในการที่จะสมานฉันท์ และเดินหน้าไปด้วยกัน" นายอภิสิทธิ์กล่าว

**หากแก้แล้วขัดแย้งก็ไม่แก้
เมื่อถามว่าเหตุผลในการแก้รัฐธรรมนูนก็เพื่อความสมานฉันท์ แต่ตอนนี้มันจะกลายเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง แล้วจะเกิดประโยชน์อะไร ที่จะเดินหน้าต่อไป นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า "ถ้าเป็นชนวนความขัดแย้งก็ไม่แก้ครับ"
เมื่อถามว่า กกต.บอกว่าการแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นข้อเสนอที่ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ได้ส่งตัวแทนไปหาข้อสรุปมาเอง ถามว่าพรรครัฐบาลเห็นด้วยกับข้อสรุปทั้งหมดหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ เช่นเดียวกับฝ่ายค้านและฝ่ายวุฒิสภา ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับข้อสรุปทั้งหมด มันเป็นข้อตกลงร่วมกัน การที่จะสมานฉันท์ได้ทุกฝ่ายก็ต้องยอมในบางประเด็นบ้าง แต่ถ้าทุกคนยืนอยู่ที่เดิมทั้งหมด มันก็เดินไม่ได้ ดังนั้นถ้าบอกว่าแก้แล้วจะเกิดความขัดแย้งก็ไม่ต้องแก้
"แต่ผมยังยืนยันว่าโอกาสในการที่จะแก้ตรงนี้ทำมาได้ดีที่สุดแล้ว ก็อยู่ที่ว่าพรรคเพื่อไทยต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญจริงหรือเปล่า หรือเพียงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาแล้วก็เป็นปมความขัดแย้งไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนกลุ่มพันธมิตรฯก็คัดค้านไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนเห็นว่าถ้าในที่สุดมีการทำประชามติ ทุกคนก็ต้องเคารพ

**จี้ ปชป.ประกาศจุดยืนให้ชัด
นายนิพนธ์ วิศิษฐ์ยุทธศาสตร์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการเสียงข้างน้อย อดีตคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า หลังมีปัญหาความไม่ชัดเจนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และฝ่ายค้านก็ชักเข้าชักออก จึงเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ ควรจะมีการกำหนดจุดยืนเรื่องนี้ให้ชัดเจนอีกครั้ง ว่าจะแก้ หรือไม่ หรือจะแก้เฉพาะบางมาตราเท่านั้น ซึ่งในการประชุมส.ส. และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ วันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วน ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค เห็นว่า ที่ผ่านมาพรรคได้ประกาศจุดยืนมาตลอดว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข แต่เมื่อมติจากการหารือของวิป 3 ฝ่าย ร่วมกับนายกฯเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ ดังนั้นจึงเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ควรจะมีการประกาศจุดยืน และแนวทางว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายนิพนธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ก็เห็นด้วยแนวทางของนายบัญญัติ ที่พรรคควรจะมีมติ และหาจุดยืนร่วมกันว่าจะทำอย่างไร เพราะพรรคไม่ได้เป็นพรรคที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปตรงกันว่า จะมีการนัดประชุมเพื่อกำหนดจุดยืนของพรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งในการประชุมส.ส. และกรรมการบริหารพรรคในสัปดาห์หน้า

**"แม้ว" ร้องจะเอา รธน.40
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.00 น. วานนี้ (8 ต.ค.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เขียนข้อความลงบนเว็บไซต์ twitter.com ถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีใจความว่า "ฝากถามรัฐบาลว่าแก้รัฐธรรมนูญ 6 มาตรา จากฉบับปี 50 ประชาชนได้สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมเพิ่มขึ้นไหม มีแต่ให้ประโยชน์กับนักการเมือง และพรรคการเมือง ในระบอบประชาธิปไตย การกระทำและไม่กระทำใดๆ ต้องยึดโยงกลับไปที่ผลประโยชน์ของประชาชน ถ้าจะใช้เงิน 2,000 ล้าน ทำประชามติยามนี้ ถามว่าประชาชนได้อะไร นักการเมืองที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ยังเห็นดีงามกับรัฐธรรมนูญเผด็จการ และไม่พยายามนำฉบับประชาธิปไตยมาใช้ ก็เศร้า บ้านเมืองปรองดองไม่ได้ เพราะนักการเมืองอาชีพชิงความได้เปรียบ เสียเปรียบของกติกา มากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน ใช้ประชาชนเป็นตรายาง เพื่อความชอบธรรม"

**พธม.ค้านแก้ รธน.ไม่มีเงื่อนไข
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) กล่าวยืนยันจุดยืนของพันธมิตรฯ และพรรคการเมืองใหม่ คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง ไม่ใช่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง หากมีการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พันธมิตรฯจะประชุมแกนนำทันที เพื่อกำหนดมาตรการการเคลื่อนไหวคัดค้าน ซึ่งอาจต้องชุมนุมใหญ่เหมือนที่ผ่านมา
สำหรับแนวทางประชามติของนายกรัฐมนตรีนั้น คงเป็นเรื่องยาก เพราะพรรคเพื่อไทย ประกาศชัดเจนว่า จะให้ประชามติในประเด็นเอารัฐธรรมนูญ 2540 คืนมา ซึ่งเป็นคนละแนวทางกับนายกฯ ฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นเกมการต่อรองทางการเมือง ของนักเลือกตั้งไปแล้ว ไม่ได้เอาการปฏิรูปการเมืองเป็นตัวตั้งแต่อย่างใด จึงไม่มีความหมาย และไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำประชามติ และคนที่คิดแก้รัฐธรรมนูญในขณะนี้ ควรล้มเลิกความตั้งใจได้แล้ว
ส่วนนักการเมืองบางคนออกมาคัดค้านบทบาทของพันธมิตรฯ นอกสภาเพราะเป็นพรรคการเมืองแล้วนั้น ถือเป็นความไม่เข้าใจของนักการเมืองหัวเก่า ที่เคยชินกับการผูกขาดประเทศไทย ความคิดแบบนี้เป็นตัวแทนความคิดของการเมืองระบบเก่า
พรรคการเมืองทั่วโลกปรับตัวเข้าหาประชาชนกันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป โดยเฉพาะพรรคกรีน ที่มีบทบาทโดดเด่นก็โตและดำรงอยู่ได้จากเคลื่อนไหวภาคประชาชนนอกสภา ในละตินอเมริกา หลายประเทศพรรคการเมืองก็เริ่มยึดโยงกับฐานมวลชนมากขึ้น โดยเฉพาะพรรคแรงงาน
มีแต่พรรคการเมืองในไทยที่กำลังจะเป็นผู้รับเหมาทำแทนประชาชน วิธีคิดแบบนี้เองที่เปิดช่องให้การเมืองกลายเป็นเรื่องของคนจำนวนน้อยไม่กี่ตระกูลที่ผลัดกันมาผูกขาดและทุจริตคอร์รัปชัน จนทำให้ประเทศไทยพัฒนาช้ากว่าที่ควรจะเป็น.
กำลังโหลดความคิดเห็น