xs
xsm
sm
md
lg

มาร์คต้องใช้ความสงบสยบพลังมาร!

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

ปัญหาการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกลับมาฮือฮาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้แสดงท่าทีกดดันนายกรัฐมนตรีอย่างหนักหน่วง จนกระทั่งสื่อมวลชนต้องรายงานว่านายกรัฐมนตรีมีอาการเครียดจากท่าทีดังกล่าวนั้น

ถึงขนาดที่ต้องสั่งให้นักการเมืองคนหนึ่งไปถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า ได้พูดแสดงท่าทีเช่นนั้นจริงหรือไม่ แต่ผลประการใดกลับไม่ปรากฏ แต่เป็นที่รู้กันว่าคงเป็นดังที่สื่อมวลชนรายงานนั่นเอง

น่าสงสารนายกรัฐมนตรีหนุ่มแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ผู้คนในรัฐบาลพยายามครอบงำกดดันและทำให้คล้ายประหนึ่งว่าเป็นเด็กอมมือ หรือไม่ก็เป็นหุ่นที่สุดแท้แต่กลุ่มตนจะบงการให้เป็นไป อันเป็นความอัปยศอดสูอย่างยิ่งของประชาชนชาวไทยทั้งมวล

ทว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีก็หาใช่คนตัวคนเดียวเปลี่ยวเปล่าแต่ประการใดไม่ ประชาชนจำนวนมากยังคงวางใจว่าเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความจริงใจในการสนองคุณชาติบ้านเมือง

ดังนั้นพลังหนุนจากภาคประชาชนจึงหนุนเนื่องไม่ขาดสาย ให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจทำการในสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่ยำเกรงต่อพลังมารหรืออำนาจอธรรมใดๆ ซึ่งได้แต่หวังว่านายกรัฐมนตรีจะคิดเป็น และคิดได้

คือคิดและตัดสินใจว่าจะตัดสินใจทำการตามพลังมารที่กดดัน ซึ่งจะมีผลต่อการทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านเมือง และจะพาชาติบ้านเมืองไปสู่สภาพสิ้นชาติ สิ้นแผ่นดิน สิ้นกษัตริย์ในสักวันหนึ่ง หรือว่าจะตัดสินใจในทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะมีผลต่อการทำนุบำรุงแผ่นดินให้มีความมั่นคงสถาพร ให้อาณาราษฎรมีความร่มเย็นเป็นสุขสืบไป

การตัดสินใจดังกล่าวจะเป็นเครื่องชี้ภาวะความเป็นผู้นำว่าสมกับที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นเครื่องชี้ถึงความคิดจิตใจของนายกรัฐมนตรีเอง ว่ามีความเป็นอิสระ เป็นไทแก่ตน หรือว่าจะยอมทนเป็นแค่หุ่นเชิดเพียงเพื่อให้ได้มีฐานะว่าเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

แต่ถึงวันนี้ปัญหานี้ก็ดูเหมือนว่ายังไม่สร่างคลายหายไป ยังคงรุมเร้ากวนใจนายกรัฐมนตรีและสร้างความไม่สบายใจให้กับบุคลากรทั้งปวงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย

ความจริงการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงของนายกรัฐมนตรี ไม่แตกต่างอันใดกับการตั้งปลัดกระทรวงหรืออธิบดีในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ซึ่งกระทำกันอยู่เป็นปกติ แต่นายกรัฐมนตรีกลับมีปัญหา แม้เพียงการตั้งระดับปลัดกระทรวงในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จนปัญหาคาราคาซัง กระทั่งถึงวันนี้

นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ และต้องรับผิดชอบต่อประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งโดยชอบโดยควรแล้ว บรรดาผู้คนในรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มีหน้าที่ต้องสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีได้กระทำและได้แสดงในสิ่งที่รับผิดชอบนั้นอย่างเต็มที่

แต่ที่มีปัญหาคาราคาซังกันก็เพราะมีไอ้โม่งที่มิรู้จักฟ้าสูงดินต่ำ ไม่คำนึงถึงความมั่นคงสถาพรแห่งราชอาณาจักร แอบอ้างอิงเบื้องสูง เข้าแทรกแซงและแย่งชิงอำนาจในการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาไว้กับพวกตัวเสียเอง

มีความพยายามให้ข่าวแก่สื่อมวลชนทั้งทางตรงและทางอ้อม และปล่อยข่าวอย่างกว้างขวางว่ามีอำนาจพิเศษต้องการหรือสนับสนุนให้คนนั้นคนนี้ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งๆ ที่รู้กระจ่างใจว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่มีมูลความเป็นจริง และเป็นสิ่งที่จะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและราชบัลลังก์

แต่คนเหล่านั้นกลับไม่ยั้งมือ และใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนผลักดันอย่างกว้างขวางและหนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้น จนข่าวร้ายแผ่กระจายไปทั่ว ทำความเสื่อมเสียให้เกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวงในประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์

ได้สร้างความเดือดร้อนทุกข์ทรมานจิตใจให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจนสุดจะทนทาน และเป็นเหตุให้มีการเชิญความจริงบางอย่างแจ้งให้นายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องรับทราบว่าการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ไม่มีผู้ใดแทรกแซงแย่งชิงหรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ ดังที่มีการปล่อยข่าวเล่าขานกันนั้นเลย

มีการยืนยันอย่างขันแข็งว่านอกจากจะไม่มีผู้ใดยุ่งเกี่ยวแทรกแซงหรือแสดงความประสงค์สนับสนุนคนใดขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว การจะตัดสินใจแต่งตั้งผู้ใดย่อมเป็นอำนาจโดยเฉพาะของนายกรัฐมนตรี ที่เห็นใครเหมาะสมและเป็นคนดีมีฝีมือก็ชอบที่จะแต่งตั้งได้ตามอำนาจหน้าที่

นายกรัฐมนตรีที่ได้รับทราบความจริงแก่หูแก่ตาตนกระจ่างแจ้งก็ได้ใช้ความพยายามทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นกับบ้านเมือง และเพื่อให้การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินไปตามอำนาจหน้าที่

แต่คนเหล่านั้นยังคงดึงดันเดินหน้าตามความคิดและความต้องการของตนต่อไป

จนเป็นผลให้การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องติดกึกอยู่กับที่ แม้กระทั่งเมื่อพลตำรวจเอกธานี สมบูรณ์ทรัพย์ เกษียณอายุจากราชการแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งผู้รักษาการแทนใหม่ และนายกรัฐมนตรีก็ได้แต่งตั้งพลตำรวจเอกปทีป ตันประเสริฐ เข้ารักษาการแทน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม มาจนกระทั่งถึงวันนี้

คนทั้งปวงต่างก็มีความยินดีว่าในเมื่อโครงสร้างเดิมของ กตช. ไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ การที่นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจทางบริหารตั้งผู้รักษาการแทนเพื่อยุติปัญหานี้ก็เป็นสิ่งที่พึงและจำเป็นต้องกระทำ

ถ้าหากนายกรัฐมนตรีมีความมั่นคงต่อการตัดสินใจดังกล่าว สงบนิ่งต่อแรงกดดันที่แม้ขับเคลื่อนตัวอยู่สักปานใด แต่ในที่สุดเมื่อเวลาล่วงไป เรื่องนี้ก็จะคลี่คลายไปโดยตัวของมันเอง จะเรียกว่าเป็นการอาศัยปัจจัยแห่งเวลาในการแก้ไขปัญหาและทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็กก็ได้

แต่ทว่าคนอีกพวกหนึ่งไม่ยอมหยุด ยังคงเดินหน้ากดดันนายกรัฐมนตรีต่อไป ด้วยการประสานรับกันเป็นหลายขบวน พวกหนึ่งก็ให้ข่าวแก่สื่อมวลชนว่าในขณะที่มีการรักษาการจะไม่มีการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ

ซึ่งหมายความว่าจะจับเอาตำรวจทั้งประเทศกว่า 200,000 คน เป็นตัวประกัน บีบบังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องยอมตามความต้องการของพวกตน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วแม้จะเป็นแค่การรักษาการ แต่ก็มีอำนาจเต็มตามกฎหมายที่จะแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจได้ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

หากใครยังเพิกเฉย นายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจที่จะใช้อำนาจประธาน กตร. เรียกประชุมเพื่อการแต่งตั้งโยกย้ายได้ตามอำนาจหน้าที่ โดยไม่ยินยอมให้ใครไหนจับเอาตำรวจกว่า 200,000 คน เป็นตัวประกันเป็นอันขาด ซึ่งจะต้องติดตามดูกันต่อไปว่านายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจในทางใด

อีกพวกหนึ่งก็ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนกดดันต่อนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้เรียกประชุม กตช. เพื่อแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อไปอีก ทั้งยังได้แสดงท่าทีที่สวนทางกับนายกรัฐมนตรีอย่างแข็งกร้าว

ก็รู้กันอยู่ว่าคนที่ออกหน้าแสดงท่าทีเช่นนี้ไม่ใช่ตัวจริง แต่เป็นแค่หุ่นเชิดที่ถูกชักเข้าชนกับนายกรัฐมนตรี เพื่อทำให้นายกรัฐมนตรีกลายเป็นเด็กไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมหรือเป็นแค่หุ่นเชิดเท่านั้น

ดังนั้นต่อหน้าสถานการณ์เช่นนี้ นายกรัฐมนตรีจึงมีทางเลือกอยู่ 3 ทาง

หนึ่ง
ยึดมั่นในความถูกต้องและอำนาจหน้าที่ ภายใต้ความจำกัดของโครงสร้าง กตช. ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว สนับสนุนให้ผู้รักษาการทำงานอย่างเต็มที่ต่อไปจนกว่าทุกอย่างจะลงตัว

สอง ยอมจำนน ยอมเป็นหุ่นเชิด หรือเป็นเจว็ด ให้แก่พลังมาร ดำเนินการตามความต้องการเยี่ยงเชลยศึกที่กระทำต่อประเทศที่เป็นเจ้าเข้าครอง

สาม ใช้อาญาสิทธิ์ในมือโดยอำนาจของนายกรัฐมนตรีปลดผู้ที่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างในการบริหารราชการแผ่นดินสืบไป

นายกรัฐมนตรีจะเลือกทำอย่างไหน ก็คือเลือกเป็นอย่างไหนนั่นเอง!
กำลังโหลดความคิดเห็น