xs
xsm
sm
md
lg

จาก"บ้านบุ"ถึง "บ้านพานถม" ซอกแซกชุมชนอาชีพ นามนี้มีที่มา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ไฟในเตาหลอมโลหะยังลุกโชนในชุมชนบ้านบุ
เมื่อครั้งที่ฉันได้พาไปส่องย่านสรรพสัตว์ รู้จักสถานที่หลายๆแห่งในกรุงเทพฯที่มีความเกี่ยวข้องกับสัตว์ต่างๆแล้ว ฉันเคยบอกไว้ว่า ชื่อย่านบ้านเมืองไม่ว่าที่ไหนก็ตามล้วนแล้วแต่มีที่มา ในครั้งนี้ก็เช่นกัน ฉันจะพาไปสืบเสาะความเป็นมาของหลายๆ ย่าน ที่มีชื่อบ่งบอกถึงอาชีพที่คนในชุมชนได้ทำสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน จนกลายเป็นชื่อชุมชนไปในที่สุด

เริ่มกันที่ "บ้านบุ" ชุมชนเล็กๆ ริมคลองบางกอกน้อย ใกล้กับสถานีรถไฟธนบุรี เป็นชุมชนหนึ่งที่มีชื่อบ่งบอกถึงอาชีพของการทำ "ขันลงหิน" หรือภาชนะโลหะชนิดหนึ่ง เพราะคำว่า "บุ" นั้นหมายถึงการตีให้เข้ารูป ใช้กับงานโลหะ
ขันลงหินบ้านบุ
การทำขันลงหินของชาวบ้านบุนั้นเล่าสืบเนื่องกันมาว่า บรรพบุรุษของชาวบ้านบุเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาที่อพยพมาตั้งหมู่บ้านในราชธานีใหม่ ภายหลังจากเสียกรุงเมื่อพุทธศักราช 2310 ชาวบ้านที่เคยประกอบอาชีพช่างบุทำเครื่องทองลงหินหรือเครื่องทองสัมฤทธิ์ได้รวมกลุ่มกันเลือกที่ตั้งบ้านเรือนขึ้นในทำเลนอกคลองคูเมืองราชธานี บริเวณปากคลองบางกอกน้อย โดยมีวัดอมรินทราราม (วัดบางหว้าน้อย) และวัดสุวรรณาราม (วัดทอง) วัดโบราณสมัยอยุธยาตั้งอยู่เป็นศูนย์กลางของชุมชน และชาวบ้านก็ดำรงชีพด้วยการทำภาชนะเครื่องทองลงหินอยู่เช่นเดิมอันเป็นวิชาความรู้ที่ติดตัวมาแต่เดิม และสืบเชื้อสายถ่ายทอดวิชาช่างบุต่อเนื่องกันมาในชุมชนหลายชั่วอายุคน

ในอดีตคนในชุมชนบ้านบุแทบทุกครัวเรือนจะทำขันลงหินกันเป็นอาชีพ แต่ละบ้านจะมีเตาหลอมโลหะ มีเสียงตีเหล็กดังอยู่ทั่วทั้งชุมชน แต่มาจนถึงวันนี้คงหลงเหลือบ้านเพียงหลังเดียวในชุมชนบ้านบุที่ยังประกอบอาชีพทำขันลงหินอยู่ นั่นก็คือ "ขันลงหินบ้านบุ เจียม แสงสัจจา" ที่หากใครอยากแวะเวียนไปชมหรือสนใจอยากจะรู้รายละเอียดของงานประณีตศิลป์ที่สืบทอดกันมายาวนาน ก็สามารถมาชมกันได้ในชุมชนบ้านบุแห่งนี้
ยังคงพบเห็นคนในชุมชนทำบาตรกันอยู่ที่บ้านบาตร
"บ้านบาตร" ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ยังคงมีการสืบทอดอาชีพตามชื่อชุมชนอยู่ แม้จะเหลือผู้ที่ยังคงประกอบอาชีพการทำบาตรอยู่เพียงไม่กี่รายแล้วก็ตาม

ชุมชนบ้านบาตรนั้นตั้งอยู่ใกล้กับประตูผี บนถนนบริพัตร ไม่ไกลจากวัดสระเกศฯ เท่าไรนัก หากเดินเข้ามาในชุมชนช่วงกลางวันก็จะได้ยินเสียงตีเหล็กดังแว่วๆมาให้ได้ยิน

ที่มาของชื่อชุมชนบ้านบาตรนั้นก็มีความเป็นมาคล้ายกับที่ชุมชนบ้านบุ นั่นก็คือเมื่อมีการย้ายราชธานีมายังกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้มีการกวาดต้อนประชาชนลงมาตั้งถิ่นฐานที่ราชธานีใหม่นี้ ผู้คนในชุมชนเดิมๆ ก็ยังคงเกาะกลุ่มกันประกอบอาชีพแบบเดิมที่เคยทำมา รวมไปถึงชุมชนบ้านบาตรนี้ก็เช่นกัน
ยังคงมีการประกอบอาชีพการทำบาตรอยู่ในชุมชนบ้านบาตร
บาตรถือเป็นหนึ่งในเครื่องอัฐบริขารของพระสงฆ์ แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า โรงงานสามารถปั๊มบาตรได้รวดเร็วกว่าการทำบาตรด้วยมือ ดังนั้นคนที่ประกอบอาชีพทำบาตรในชุมชนจึงลดน้อยลง ส่วนที่ยังเหลือก็ต้องปรับตัว ทำบาตรขนาดเล็กๆ สำหรับเป็นที่ระลึกขายนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มเติมไปจากการทำบาตรสำหรับพระตามแต่จะมีคนมาสั่งทำเพียงอย่างเดียว

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ไม่เหลือเพียงแต่ชื่อ แต่ยังมีการสืบทอดอาชีพอันเป็นที่มาของชื่อชุมชนเอาไว้ได้ แม้ผู้สืบทอดนั้นจะลดน้อยลงไปทุกทีๆ

ทีนี้เรามาเที่ยวชมชุมชนที่เป็น "ย่านอาชีพ" ที่เหลือเพียงแต่ชื่อกันบ้างดีกว่า
ย่านบ้านหม้อ
เหมือนอย่างชื่อย่าน "บ้านหม้อ" ใกล้กับดิโอลด์สยามพลาซ่า ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าต้องประกอบอาชีพอะไรเกี่ยวกับหม้อสักอย่างหนึ่งแน่นอน ซึ่งก็ถูกต้อง เพราะชุมชนในบริเวณนี้ในอดีตนั้นเคยเป็นแหล่งที่อยู่ของชุมชนชาวญวนที่อพยพมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และได้ประกอบอาชีพทำหม้อและภาชนะหุงต้มต่างๆขายมาก่อน แต่ต่อมาก็ได้เลิกอาชีพนี้กันไปตามเวลาที่ผ่านไป

บ้านหม้อในสมัยหลังๆนี้ไม่ได้เป็นที่รู้จักกันในชื่อของการเป็นสถานที่ขายหม้อไห แต่กลับกลายเป็นแหล่งขายเครื่องเพชร อัญมณี และเครื่องประดับไปแทน แต่ในตอนนี้หากบอกว่าจะไปบ้านหม้อ ก็คงต้องถามกันต่อว่าจะไปซื้อเครื่องเสียงซื้อลำโพงหรืออย่างไร เพราะตอนนี้บ้านหม้อถือเป็นแหล่งขายอุปกรณ์เครื่องเสียงทั้งถูกทั้งแพง ทั้งใหญ่ทั้งเล็ก วางขายโชว์พลังเสียงกันเต็มทางเท้า ไม่หลงเหลือที่มาของชื่อบ้านหม้อไว้ให้เห็นอีกเลย นอกจากจะมองดูขึ้นไปที่หน้าจั่วของตึกแถวในย่านบ้านหม้อ ที่ยังคงมีลายปูนปั้นเป็นรูปหม้อดินอยู่บนหน้าจั่วของตึกนั่นเอง
บ้านหม้อปัจจุบันเป็นแหล่งขายเครื่องเสียง
คราวนี้มาที่ "บ้านช่างหล่อ" ย่านฝั่งธนฯ ใกล้โรงพยาบาลศิริราชกันบ้าง ชาวบ้านช่างหล่อแต่เดิมนั้นมีอาชีพหล่อพระพุทธรูปกันมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา และเมื่ออพยพถิ่นฐานมาที่บ้านเมืองใหม่ก็ได้นำวิชาติดตัวมาประกอบอาชีพต่อไป

แต่ก็เช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆ ที่เหลือแต่ชื่อ บ้านช่างหล่อเองก็ประสบปัญหาในเรื่องของความปลอดภัยต่อชุมชน เพราะโรงหล่อนั้นจะต้องมีการเผาหุ่น เททองพระพุทธรูป ดังนั้นจึงอาจมีขี้เถ้าและเปลวไฟจากโรงหล่อกระเด็นไปตกในบ้านเรือนผู้อื่น ซึ่งต่อมาก็มีกฎหมายให้พื้นที่บริเวณบ้านช่างหล่อเป็นเขตพื้นที่อยู่อาศัย ห้ามทำโรงงานอุตสาหกรรม หรือหากทำก็ต้องก่อกำแพงให้มิดชิด ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นโรงหล่อพระจึงต้องปิดกิจการลง หรือหากใครไม่ปิดก็ต้องย้ายออกไปทำที่อื่น ทำให้บ้านช่างหล่อในวันนี้ไม่มีคนหล่ออยู่อีกต่อไป
บ้านช่างหล่อวันนี้กลายเป็นชุมชนธรรมดาๆ
ส่วนที่ "บ้านตีทอง" ข้างวัดสุทัศนเทพวราราม ก็เคยเป็นแหล่งตีทองคำเปลวที่ใช้ปิดทองพระพุทธรูป รวมทั้งใช้ในการตกแต่งงานศิลปะไทยในวัดวาอาราม เช่นการลงรักปิดทองหน้าบันหรือประตูอุโบสถ การเขียนลายรดน้ำ เป็นต้น เล่ากันว่าบรรพบุรุษของชาวชุมชนตีทองนี้เป็นชาวลาวจากเวียงจันทน์และหลวงพระบาง อพยพมาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์

การตีทองนั้นต้องนำเอาทองคำแท่งมารีดให้เป็นแผ่นบางเหมือนแผ่นตะกั่ว แล้วช่างตีทองสองคนต้องใช้ค้อนขนาดใหญ่ช่วยกันตีให้แผ่นทองกลายเป็นแผ่นบาง แต่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งก็ต้องใช้แรงและเวลามากทีเดียว

เสียงตีทองในบ้านตีทองปัจจุบันนี้ไม่มีอีกแล้ว เพราะช่างตีทองได้แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพอยู่ที่อื่น อีกทั้งสมัยนี้มีทองวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่ทองคำเปลวแท้ในราคาที่ถูกกว่ามาก บ้านตีทองจึงเหลือไว้แต่เพียงชื่อเสียงเรียงนาม
บ้านพานถมที่เหลือเพียงชื่อ
มาปิดท้ายกันที่ "บ้านพานถม" ใกล้กับแยกวิสุทธิกษัตริย์ ที่นี่ในอดีตได้ชื่อว่าเป็นบ้านพานถมก็เพราะในชุมชนสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้นมีการทำเครื่องถม พาน ขัน ผอบ ทำด้วยเงินหรือทองเป็นอาชีพ โดยได้รับเอารูปแบบมาจากเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีเครื่องถม "ถมนคร" เป็นชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว

แต่ปัจจุบัน เครื่องถมไม่ได้รับความนิยมเหมือนในอดีต ช่างฝีมือดีที่ล้มหายตายจากไปกับกาลเวลา ทำให้บ้านพานถมทุกวันนี้ไม่มีเครื่องถมหรือพานแม้สักใบให้เห็นกันอีกแล้ว

น่าเสียดายที่หลายชุมชนไม่มีการสืบต่ออาชีพที่เคยทำกันมายาวนาน แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาเพราะเมื่อเวลาผ่านไป สิ่งต่างๆ ก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับชุมชนที่ยังคงสืบต่อผลงานหัตถศิลป์กันอยู่ ก็ขอยกย่องชื่นชมในความอุตสาหะ และความตั้งใจอันดีในการอนุรักษ์ความเป็นมาของชุมชนให้มีอยู่สืบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น