xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง(ย่าน)สรรพสัตว์ สืบประวัติอดีต กทม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ท่าช้าง ปัจจุบันเป็นท่าเรือที่มีผู้คนพลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่ง
ชื่อย่านบ้านเมืองไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีที่มา โดยเฉพาะเมืองเก่าแก่มีประวัติศาสตร์ควบคู่กันมาอย่างกรุงเทพมหานครของเราก็ยิ่งเล่าประวัติกันได้สนุก มีหลายๆย่าน หลายถนน หลายสะพาน รวมไปถึงสี่แยกในกรุงเทพฯ หลายแห่งทีเดียวที่ฉันสังเกตว่ามีชื่อของบรรดาสิงสาราสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่มาของชื่อแต่ละแห่งนั้นจะไปเกี่ยวข้องกับสัตว์เหล่านี้ได้อย่างไร ฉันได้ไปสืบค้นข้อมูลมา เพื่อจะบอกเล่าแก่แฟนานุแฟนถึงชื่อบ้านนามเมืองที่มีส่วนเกี่ยวพันกับสิงสาราสัตว์เหล่านั้น

มาเริ่มกันที่สัตว์ชนิดแรก อย่าง "ช้าง" สำหรับที่แรก "ท่าช้าง" หรือชื่อเต็มว่า ท่าช้างวังหลวงนั้น ก็มีความเกี่ยวข้องกับช้างตรงที่ ช่วงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 นั้น บริเวณนี้เป็นบริเวณประตูเมืองที่นำช้างซึ่งเลี้ยงไว้ในพระบรมมหาราชวังลงอาบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณนี้จึงเรียกกันต่อมาว่า "ท่าช้างวังหลวง"
สะพานช้างโรงสี แต่มีหัวสุนัขอยู่ที่เสาสะพาน
แต่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 นี้ ท่าช้างก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ท่าพระ" เนื่องจากในขณะนั้นได้มีการอัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย ล่องแพมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อมาประดิษฐานในพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม และได้มีการพักแพที่ท่าช้างวังหลวงเพื่อประกอบพระราชพิธีสมโภชพระพุทธรูปเป็นเวลา 3 วัน แต่เนื่องจากพระศรีศากยมุนีนั้นมีขนาดใหญ่โตจนไม่สามารถผ่านประตูเมืองเข้าไปได้ จึงต้องมีการรื้อประตูและกำแพงบางส่วนออกเพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปได้ และหลังจากนั้นก็ได้สร้างประตูเมืองขึ้นใหม่ โดยรัชกาลที่ 1 พระราชทานนามไว้ว่าประตูท่าพระ แต่ก็ไม่ค่อยมีคนนิยมเรียก ยังคงติดเรียกแบบเก่าว่าท่าช้างอยู่เช่นเดิมจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งก็เหลือเพียงชื่อ ไม่มีช้างลงอาบน้ำให้เห็นอีกแล้ว

มาดูช้างเชือกที่สอง ก็คือ "สะพานช้างโรงสี" สะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม หน้ากระทรวงมหาดไทย ที่หลายๆคนอาจเคยอ่านผิดเป็นสะพานข้างโรงสี แต่แท้จริงแล้วนี่คือสะพานช้างโรงสี แต่มองไปมองมาไม่เห็นมีช้าง เห็นมีแต่หัวสุนัขยื่นออกมาจากเสาสะพานทั้งสี่เสารวมทั้งหมดแปดหัว เอ๊ะ... มันยังไงกันล่ะนี่
สะพานหัวช้าง หรือสะพานเฉลิมหล้า 56
แต่พอได้ทราบถึงประวัติของสะพานนี้แล้วฉันจึงได้เข้าใจ โดยสะพานช้างโรงสีนี้เป็นสะพานเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่เดิมนั้นตัวสะพานเป็นตอม่อก่อด้วยอิฐ และปูพื้นด้วยไม้ซุงเหลี่ยม มีความแข็งแรงมากขนาดที่ช้างสามารถเดินข้ามได้ ซึ่งในช่วงนั้นก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้ช้างในการสร้างบ้านเมืองอยู่ จึงมีสะพานข้ามคลองหลายแห่งด้วยกันที่สร้างอย่างแข็งแรงให้ช้างเดินข้ามได้ ส่วนสะพานช้างแห่งนี้นั้นก็ตั้งอยู่ข้างโรงสีข้าวของฉางหลวง ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า "สะพานช้างโรงสี" ด้วยประการฉะนี้

หน้าตาของสะพานช้างโรงสีเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จนในตอนนี้ก็กลายเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ราวสะพานทั้งสองข้างทำเป็นลูกกรงปูนปั้น มีเสาที่ปลายสะพานทั้งสี่ด้าน บนเสามีชื่อสะพานช้างโรงสี บรรทัดถัดมาเขียนไว้ว่า ศก ๑๒๙ อยู่เหนือหัวสุนัขทั้งแปดหัวนั้น ส่วนเหตุผลที่ทำไมจึงเป็นหัวสุนัขโผล่ยื่นออกมาแทนที่จะเป็นหัวช้างนั้นก็เพราะเป็นที่ระลึกถึงปีจอ หรือ ศก ๑๒๙ หรือ พ.ศ.2453 อันเป็นปีที่มีการซ่อมแซมสะพานนั่นเอง
สะพานควาย ไม่เหลือร่องรอยของควายและทุ่งนาอีกแล้ว
ไปทั้งท่าช้าง ทั้งสะพานช้างโรงสี ก็ยังไม่เห็นช้างแม้แต่เงา แต่คราวนี้ไม่พลาดแน่ เพราะฉันมาที่ "สะพานหัวช้าง" หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สะพานเฉลิมหล้า 56" แถวๆ สยามสแควร์ เห็นชื่อสะพานขึ้นต้นว่าเฉลิม ลงท้ายด้วยตัวเลขอย่างนี้ ก็เป็นอันเข้าใจว่าสะพานนี้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 56 พรรษา โดยสะพานเฉลิมหล้า 56 ซึ่งสร้างข้ามคลองแสนแสบนี้ เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก คานเป็นคอนกรีตรูปโค้ง มีรายละเอียดงดงาม แต่ที่สำคัญก็คือเสาหัวสะพานทั้งสี่เสานี้มีหัวช้างประดับไว้ทั้ง 4 ด้าน รวมแล้วทั้งสะพานก็มีหัวช้างอยู่ 16 หัวพอดี

เหตุที่มีช้างประดับอยู่ก็เนื่องจากรัชกาลที่ 5 เสด็จมาทรงประกอบพิธีเปิดสะพานเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2452 ซึ่งในปีนี้พระองค์ทรงมีพระชนมพรรษาเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมอัยกาธิราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดงานพระราชพิธีพระชนมายุมงคลเสมอรัชกาลที่ 2 และฉลองวัดอรุณราชวรารามด้วย และเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีช้างเผือกในแผ่นดินถึง 4 เชือก จึงพระราชทานนามสะพานนี้ว่าสะพานเฉลิมหล้า ซึ่งมาจากพระนามของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และหัวเสาสะพานจึงได้ออกแบบเป็นหัวช้างเผือก 4 หัวอย่างที่เราเห็นกัน
สี่แยกคอกวัว เมื่อก่อนเคยเป็นที่ตั้งของคอกวัวมาก่อน
หมดจากเรื่องช้าง คราวนี้เราไปตามควายกันบ้างดีกว่า ควายใครหายก็ไปตามหาเอาได้ที่ "สะพานควาย" สถานที่ซึ่งในอดีตเคยเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ที่พ่อค้าควาย หรือ "นายฮ้อย" จะนำฝูงควายจากภาคอีสานเดินทางมาขายยังภาคกลาง และมาไกลถึงยังทุ่งนากว้างใหญ่แห่งนี้ด้วย โดยที่กลางทุ่งนานั้นจะมีสะพานไม้สร้างไว้เพื่อให้ฝูงควายเดินข้ามคูลองส่งน้ำได้สะดวก ผู้คนจึงเรียกบริเวณนี้กันต่อมาว่า "สะพานควาย"

พูดถึงสะพานควายแล้วก็ต้องไม่พลาดที่จะเอ่ยถึง "บางกระบือ" เพราะเป็นพื้นที่เกี่ยวเนื่องกัน เพราะเมื่อขบวนคนและควายเดินทางมาจนถึงสะพานควายแล้ว ก็จะเดินลัดเลาะหาสถานที่ที่เหมาะจะพักขบวน และเป็นที่ซื้อขายตกลงราคากัน สถานที่นั้นก็คือ "บางกระบือ" ซึ่งอยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยานั่นเอง

มีควายแล้วก็ต้องมีวัวคู่กันถึงจะสมบูรณ์ มาต่อกันที่ "สี่แยกคอกวัว" ที่ในอดีตนั้นเคยมีการเลี้ยงวัวหลวงพันธุ์ให้น้ำนมอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อผลิตน้ำนมส่งเป็นของเสวยสำหรับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทุกๆ เช้าจะมีแขกนุ่งห่มเหมือนอย่างพราหมณ์นำขวดนมจากคอกวัวหลวงนี้มาส่งที่ประตูสนามราชกิจในพระบรมมหาราชวังทุกวัน และนมวัวนี้ก็จะต้องนำไปตั้งไว้ให้กับพระราชาคณะไว้ฉันรองท้องก่อนเพลเสมออีกด้วย
สี่แยกพรานนก ตั้งชื่อเป็นที่ระลึกถึงบ้านพรานนกในอยุธยา
คอกวัวหลวงที่ว่านี้ก็อยู่ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวังมากนัก ก็คือตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัวในปัจจุบันนั่นเอง แต่พอถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงปรับพื้นที่ในเขตพระนครเพื่อที่จะรับกับแผนการขยายเมือง คอกวัวจึงถูกรื้อไป เหลือแต่ชื่อไว้เป็นอนุสรณ์เท่านั้น

คราวนี้มาดูจำพวกสัตว์ปีกกันบ้าง มากันแถวฝั่งธนที่ย่าน "พรานนก" ที่มาของชื่อย่านนี้แปลกตรงที่เรื่องราวเกี่ยวกับพรานนกนั้นไม่ได้เกิดในสถานที่แห่งนี้ แต่กลับมีจุดเกิดเหตุอยู่ไกลถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยานู่น

ชื่อนี้มีที่มาจากเหตุการณ์ในช่วงก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตก สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือพระยาวชิรปราการ พระยศในขณะนั้น ได้ตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าออกมาทางทิศตะวันออกเพื่อรวบรวมกำลังพลมากอบกู้เอกราชในภายหลัง

เมื่อเดินทางมาถึงบ้านพรานนก (ปัจจุบันอยู่ในอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ก็ได้เจอกับพรานล่านกที่ชื่อว่าเฒ่าคำคอยช่วยเหลือทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่บ้านพรานนกนี้ทหารพม่าตามมาทัน เกิดการสู้รบกันขึ้น แต่กองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินก็สามารถเอาชนะข้าศึกได้ แม้จะมีกำลังน้อยกว่าก็ตาม
ขลุ่ยบ้านลาว หนึ่งในอาชีพเก่าแก่ของคนในชุมชนบางไส้ไก่
เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ ทางราชการจึงนำชื่อบ้านพรานนกมาตั้งเป็นชื่อถนนในแขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย ว่า "พรานนก" นั่นเอง

ยังคงอยู่ที่ฝั่งธนเช่นเดิม แต่จากนก คราวนี้มาเป็นไก่กันบ้าง ที่ "บางไส้ไก่" อันเป็นชื่อของคลองบางไส้ไก่ วัดบางไส้ไก่ และชุมชนบางไส้ไก่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน

ชื่อบางไส้ไก่นี้พอสืบค้นประวัติไปแล้วฉันก็พบว่า ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับไก่เลยแม้แต่น้อย!! แต่เป็นการเรียกที่ผิดเพี้ยนไปจากชื่อเดิม โดยแต่ก่อนนั้นมี "คลองสาวกลาย" เป็นคลองขุดมาแต่เดิม ต่อมาชื่อคลองสาวกลายก็ถูกเรียกเพี้ยนไปเป็นคลองสาวไก่ และสุดท้ายก็เพี้ยนมาเป็นชื่อเรียกในปัจจุบันว่าคลองบางไส้ไก่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าในอนาคตข้างหน้าอาจจะเพี้ยนไปเป็นอะไรอย่างอื่นอีกก็ได้

ในแถบชุมชนบางไส้ไก่นี้ ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่าชุมชนบ้านลาว เพราะบรรพบุรุษของคนในชุมชนเป็นชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองเวียงจันทน์ มาตั้งถิ่นฐานกันอยู่ที่นี่ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี วัดบางไส้ไก่ก็ยังเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดลาว เนื่องจากพุทธศาสนิกชนชาวลาวได้ร่วมกันสร้างขึ้นไว้ในชุมชนของตน ในชุมชนนี้มีอาชีพเก่าแก่ เป็นงานฝีมือที่ชาวลาวนำติดตัวมาด้วยก็คือการทำขลุ่ยและแคนซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของตัวเอง จนกลายมาเป็นอาชีพเก่าแก่ที่สืบทอดกันในชุมชน และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "ขลุ่ยบ้านลาว" นั่นเอง
พระประธานในพระอุโบสถวัดหมู หรือวัดอัปสรสวรรค์
ขอปิดท้ายเรื่องราวของสารพัดสัตว์ในเมืองกรุงกันด้วย "หมู" เพราะมีวัดถึงสองวัดทีเดียวที่มีความเกี่ยวข้องกับหมู เช่น "วัดหมู" หรือวัดอัปสรสวรรค์ เขตภาษีเจริญ ที่มีเรื่องเล่ากันว่าผู้สร้างวัดแห่งนี้เป็นชาวจีนชื่ออู๋ มีอาชีพเลี้ยงหมู เมื่อสร้างวัดแล้วเจ้าหมูเหล่านั้นก็ออกมาเดินเพ่นพ่านเต็มลานวัด ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดหมูกันมาตั้งแต่นั้น

ส่วน "วัดคอกหมู" หรือวัดสิตาราม ใกล้ๆ กับวัดสระเกศฯ ที่แต่เดิมเคยเป็นคอกหมู อยู่คู่กับคอกวัว หรือสี่แยกคอกวัวในปัจจุบัน คนแขกเลี้ยงวัว ส่วนคนจีนเลี้ยงหมูอยู่บริเวณนี้ จนเมื่อร่ำรวยจากการเลี้ยงหมูแล้วจึงได้มีศรัทธาถวายที่ดินเพื่อสร้างวัด ชื่อว่าวัดคอกหมูนั่นเอง

และนั่นก็เป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งของชื่อย่านนามเมืองที่เกี่ยวพันกับบรรดาสิงสาราสัตว์(เพราะในกรุงเทพฯยังมีอีกหลายแห่ง) ซึ่งหากเราสืบค้นให้ลึกลงไปก็จะพบเรื่องราวอันหลากหลายทั้งสภาพสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ เป็นรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมไทยที่น่าเสียดายว่า ในยุคนี้ พ.ศ. นี้ หลายคนได้หลงลืม ละเลย วัฒนธรรมอันดีงามของสยามประเทศไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น