xs
xsm
sm
md
lg

ของดี“อ่างศิลา” ทรงคุณค่าคู่เมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครกหินสัญลักษณ์แห่งอ่างศิลา
หากเอ่ยถึงแหล่งผลิต “ครกหิน” ที่ขึ้นชื่อที่สุดในบ้านเรา ทอดตาทั้งแผ่นดินคงไม่มีที่ใดเกิน “อ่างศิลา” (ต.อ่างศิลา) อ.เมือง จ.ชลบุรี

อ่างศิลา มีลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาประกอบด้วยหินแกรนิตเป็นหลัก ซึ่งเมื่อนำมาทำครกหินจะมีคุณภาพดี แข็งแกร่ง คงทน สวยงามด้วยสีขาวนวลหรือสีเหลืองอ่อน อีกทั้งชาวบ้านในพื้นที่ยังสั่งสมภูมิปัญญาอาชีพการทำครกหินมาช้านาน
ปัจจุบันชาวบ้านอ่างศิลาได้ดัดแปลงนำหินไปทำเป็นผลิตภัณฑ์อีกหลากหลายตามสมัยนิยม ไม่ว่าจะเป็น ตุ๊กตาหินตกแต่งบ้าน-สวน ที่ทับกระดาษ โคมไฟ ครกหินขนาดเล็กที่ระลึก เป็นต้น

นอกจากความโดดเด่นในเรื่องครกหินแล้ว อ่างศิลา เป็นชุมชนเก่าแก่อายุ 100 กว่าปี ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และมีสถานที่น่าสนใจให้เที่ยวชมอยู่หลายจุดด้วยกัน
ตึกราชินี
อ่างศิลา 133 ปี

ด้วยสภาพพื้นที่ที่มีหินแกรนิตจำนวนมาก คนพื้นที่ดั้งเดิมในอดีตจึงเรียกขานดินแดนแถบนี้ว่า “อ่างหิน”

กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวตะวันตกและคนบางกอกมาพักตากอากาศกันมาก ชื่ออ่างหินได้เปลี่ยนเป็น “อ่างศิลา” เพื่อให้ดูเป็นสากลมากขึ้น โดยมีหลักฐานคือลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จฯประพาสจังหวัดชลบุรี และได้ประทับแรมที่อ่างศิลา เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2419 ว่า

“...เรียกชื่อว่าอ่างศิลานั้น เพราะมีแผ่นดินสูงเป็นลูกเนิน มีศิลาก้อนใหญ่ๆเป็นศิลาดาด และเป็นสระยาวรีอยู่ 2 แห่ง แห่งหนึ่งลึก 7 ศอก กว้าง 7 ศอก ยาว 10 วา แห่งหนึ่งลึก 6 ศอก กว้าง 1 วา 2 ศอก ยาว 7 วา เป็นที่ขังน้ำฝน น้ำฝนไม่รั่วซึมไปได้ ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี เห็นว่าเป็นประโยชน์กับคนทั้งปวงจึงให้หลวงฤทธิ์ศักดิ์ชลเขตร ปลัดเมืองชลบุรี เป็นนายงานก่อเสริมปากบ่อกั้นน้ำ มิให้น้ำที่โสโครกไหลกลับลงไปในบ่อได้ ราษฎร ชาวบ้านและชาวเรือไปมาได้อาศัยใช้น้ำฝนในอ่างศิลานั้น บางปีถ้าฝนตกมาก ถ้าน้ำแต่ลำพังชาวบ้านก็ได้ใช้น้ำทั้งสองแห่งและบ่ออื่นๆบ้างพอตลอดปีไปได้ บางปีฝนน้อย ราษฎรได้อาศัยใช้แต่เพียง 5 เดือน 6 เดือน ก็พอหมดน้ำในอ่างศิลา แต่น้ำในบ่ออื่นๆที่ราษฎรขุดขังน้ำฝนไว้ใช้นั้น มีอยู่หลายแห่งหลายตำบล ถึงน้ำในอ่างศิลา สองตำบลนี้แห้งไปหมดแล้ว ราษฎรก็ใช้น้ำบ่อแห่งอื่นๆได้ จึงได้เรียกว่า “บ้านอ่างศิลา” มาจนถึงวันนี้...”
ตลาดเก่าอ่างศิลาที่รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่
วัดอ่างศิลา

ปัจจุบันอ่างศิลามีอายุ 133 ปี แต่ว่าก่อนที่จะเป็นบ้านอ่างศิลานั้น ได้มีชุมชนตั้งอยู่ที่นี่นานแล้ว ดังดูได้จาก “วัดอ่างศิลา” วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในชลบุรีที่ตามหลักฐานระบุว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2243 ในรัชสมัยของพระเพทราชา สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายพร้อมๆกับการก่อตั้งชุมชน

เดิมวัดอ่างศิลาแบ่งเป็น 2 วัด คือ วัดอ่างนอก (อ่างศิลานอก)และวัดอ่างใน (อ่างศิลาใน) จนถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้รวมวัดทั้งสองเป็นวัดอ่างศิลาวัดเดียว

วัดอ่างศิลา จึงมี 2 โบสถ์ ตามเหตุผลข้างต้น นับเป็นไม่กี่วัดในเมืองไทยที่มีเช่นนี้ ซึ่งทั้ง 2 โบสถ์ต่างก็มีลักษณะเด่นที่แตกต่างกันออกไป

โบสถ์ใน(วัดใน) มีหมู่เจดีย์ 3 องค์ ตั้งอยู่ด้านหน้าโบสถ์ เจดีย์ทั้ง 3 มีลักษณะแตกต่างกัน องค์กลางหรือองค์ที่ 2 มีอายุเก่าแก่ที่สุด โบสถ์ในเป็นที่ประชุมสงฆ์และที่ประกอบศาสนกิจอื่นๆตามพระธรรมวินัย

โบสถ์นอก(วัดนอก) สร้างขึ้นหลังโบสถ์ใน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวๆปี พ.ศ. 2360 ถึง 2362 ในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังคาโบสถ์ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ด้านหลังโบสถ์ประดิษฐาน หลวงพ่อหิน พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอ่างศิลาที่ตามประวัติเล่าว่าลอยน้ำมาพร้อมๆกับหลวงพ่อโสธร
จิตรกรรมฝาผนังวัดอ่างศิลา
โบสถ์นอก มีความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คืองานจิตรกรรมฝาผนังอันวิจิตรสวยงาม เป็นศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 3 เขียนโดยนายปลื้มและนายแดง 2 ช่างจากวัดสามปลื้ม(วัดจักรวรรดิ) ในปี พ.ศ.2368 เป็นเรื่องพุทธประวัติจากพระปฐมโพธิกถา เน้นสีสันสดใสและใช้พู่กันหางหนูตัดเส้นอย่างประณีตสวยงามมาก

นอกจากโบสถ์ทั้ง 2 แล้ว วัดอ่างศิลายังมี มณฑปพระพุทธบาท ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองพร้อมด้วยพระพุทธรูปปางต่างๆและจิตรกรรมพระพุทธรูป และวิหารท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิสมาจารอดีตเจ้าอาวาสวัดอ่างศิลา อดีตเจ้าคณะชลบุรี อันเป็นที่เคารพยิ่งของชาวอ่างศิลา เป็นอีก 2 จุดน่าสนใจให้เข้าไปเที่ยวชมและสักการบูชา

อาศัยสถาน : ตึกมหาราช-ตึกราชินี

อ่างศิลาสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นหนึ่งในสถานตากอากาศ และแหล่งพักฟื้นของเจ้านายชั้นสูง จึงมีการก่อสร้างอาคารก่ออิฐถือปูน(ตึก)ไว้เป็นที่พักฟื้นผู้ป่วยและให้ชาวต่างประเทศได้พักอาศัย 2 หลัง เรียกกันในสมัยนั้นว่า “อาศัยสถาน”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 สมเด็จพระนางเจ้าศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์พระราชทานซ่อมแซมอาคารทั้ง 2 หลัง พร้อมสร้างเครื่องเรือนประจำอาคารในระหว่างที่ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จประพาสยุโรป พระบรมราชินีนาถได้พระราชทานนามอาศัยสถานทั้ง 2 หลัง หลังใหญ่เรียก “ตึกมหาราช” หลังเล็กเรียก “ตึกราชินี” ตึกทั้ง 2 หลัง เป็นอาคารรูปแบบผสมตะวันตก ทรงปั้นหยา สูง 2 ชั้น ตึกทั้งสอง ปัจจุบันจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ เปิดให้ผู้สนใจเข้าเที่ยวชมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อกับมังกร สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีมากถึง 2,840 ตัว
ตึกมหาราช ภายในได้จัดพิพิธภัณฑ์สำหรับการศึกษาค้นคว้าประวัติอ่างศิลาและท้องถิ่นอื่นๆ ของชลบุรี

ตึกราชินี หันหน้าออกทะเล ภายนอกทาสีแดงทั้งตึก ตึกราชินี พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เคยเสด็จมาทรงประทับรักษาพระองค์ที่นี่ในปี พ.ศ. 2449 ปัจจุบันทำเป็นห้องนิทรรศการภูมิปัญญาชาวบ้านและจัดแสดงภาพเก่าของอ่างศิลา บริเวณด้านนอกเป็นเนินหินธรรมชาติมีบ่อหินสูง บ่อน้ำจืดธรรมชาติบนโขดหิน ซึ่งชาวอ่างศิลาใช้ในการดื่มกินมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และหินรอยพระพุทธบาท อันเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านอ่างศิลา

ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ : วิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม

อ่างศิลาเป็นชุมชนที่มีชาวจีนอาศัยอยู่ไม่น้อยมานับตั้งแต่อดีต จึงมีการสร้างศาลเจ้าจีนขึ้นในชุมชนหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ศาลเจ้าปุนเถ้ากง ศาลเจ้าปุนเถ้าม่า ศาลเจ้าแม่หินเขา ศาลเจ้าแม่รำไพ และศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ อันงดงามวิจิตรตระการตา

ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ สร้างขึ้นในปี 2534 บนพื้นที่ศาลเจ้าเดิมที่มีขนาดเล็กหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ(ใช้เวลากว่า 4 ปี) สมเด็จพระสังฆราชฯได้พระราชทานนามศาลเจ้าแห่งนี้ว่า "วิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม" ซึ่งมีความหมายว่าเป็นที่สถิตของทวยเทพเจ้าทั้งหลาย
หลวงปู่หิน
ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ งดงามไปด้วยงานศิลปะสถาปัตยกรรมอันวิจิตรตระการตา มีสิ่งโดดเด่นเป็นไฮไลท์ให้สักการะและชวนชมนั่นก็คือ วิหารเทพสถิตฯ มี 4 ชั้น แต่ละชั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เด่นๆอย่างแตกต่างกันออกไป

ชั้น 1 ประดิษฐานรูปองค์พระกษิติครรภโพธิสัตว์ ชั้น 2 ประดิษฐานรูปองค์เทพเจ้าหน่าจาซาไทจื้อ(องค์พระจตุรพิธพรชัยเทพ) เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ทั้ง 3 ปาง ที่จำลองมาจากมณฑลเสฉวนประเทศจีน ต่างๆได้ ชั้น 3 มีองค์เง็กเซียนฮ่องเต้ ผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ และชั้น 4 ประดิษฐานองค์พระประธานหรือองค์พระศรีอริยเมตตรัย และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีก 5 พระองค์ ใน 5 ทิศ

นอกจากนี้ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ ยังมีความเป็นที่สุดในโลกหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็น มังกร สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีมากถึง 2,840 ตัว กระถางธูปศักดิ์สิทธิ์ เสาฟ้าดิน ซึ่งศาลเจ้าแห่งนี้นับเป็นศาลเจ้าที่มีความงามติดอันดับต้นๆของโลกเลยทีเดียว
ที่ตลาดอ่างศิลาอาหารการกินสมบูรณ์
ตลาดอ่างศิลา

การเกิดขึ้นของชุมชนบ้านอ่างศิลา ทำให้เกิดตลาดอ่างศิลาตามมา แต่เมื่อสภาพสังคมเศรษฐกิจเปลี่ยนไป แม่ค้า พ่อค้า ต่างพากันย้ายออกจากพื้นที่เพื่อไปตั้งร้านอยู่ภายนอก เหลือเพียงอาคารบ้านเรือนแบบเก่ากับชาวบ้านที่ดำเนินการค้าขายแบบเล็กๆน้อยๆ ทำให้บรรยากาศตลาดอ่างศิลาดูเงียบเหงาแทบไม่ต่างจากตลาดร้าง

จนกระทั่งทางจังหวัดชลบุรี ได้ร่วมมือกับชาวตลาดและอีกหลายหน่วยงานรื้อฟื้นตลาด(เก่า)อ่างศิลาขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมืองชลบุรี ซึ่งได้ทำการเปิดตัวตลาดเก่าอ่างศิลาไปในวันที่ 1 พ.ค. 52 ที่ผ่านมา

“ชุมชนที่ตลาดเก่า แต่ก่อนแบ่งเป็นบ้านจีน บ้านไทย และบ้านกลาง ถนนสัญจรในชุมชนถือเป็นถนนคอนกรีตสายแรกในประเทศไทย” น.ส.เสาวลักษณ์ สุริยาทิพย์ อดีต ส.ส. ชลบุรี เล่าถึงความโดดเด่นของตลาดเก่าอ่างศิลา ซึ่งยังคงมีบ้านเรือนแบบเก่าปรากฏให้เห็นอยู่หลายหลัง
รอยยิ้ม ของกิน พบเจอได้ในตลาดอ่างศิลา
สำหรับตลาดเก่าที่เปิดใหม่แห่งนี้มีของขายสารพัด ทั้งสินค้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์แปรรูป ครกหิน อาหารการกิน ขนม อาหารทะเลทั้งสดและแห้ง ตลาดแห่งนี้จะเปิดทำการค้าขายในทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น.

อนึ่งนอกจากการชม ชิม ช้อป ที่ตลาดเก่าอ่างศิลาแล้ว รอบๆบริเวณตลาดยังมีสิ่งน่าสนใจให้เที่ยวชมกันอีกหลากหลาย ซึ่งนอกจาก วัดอ่างศิลา ตึกมหาราช ตึกราชินี ดังที่กล่าวมาในข้างต้นแล้ว อ่างศิลายังมีสถานที่น่าสนใจอย่าง สะพานปลาอ่างศิลา ป่าชายเลน จุดแวะชมค้างคาวแม่ไก่ที่มีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ฟาร์มหอยนางรม ฟาร์มหอยแมลงภู่ รวมถึงผ้าทออ่างศิลาสินค้าพื้นเมืองอันขึ้นชื่อ

และนี่เป็นเสน่ห์ของอ่างศิลา ที่ไม่ได้มีดีแค่ครกหิน หากแต่ยังมีของดีและสิ่งน่าสนใจอีกหลากหลายซ่อนเร้นอยู่ นับได้ว่า“อ่างศิลา”เป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ทางการท่องเที่ยวใกล้กรุงฯในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่น่าสนใจไม่น้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น