xs
xsm
sm
md
lg

"วัดราชโอรสฯ" ต้นแบบวัดไทยสไตล์จีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
พระอุโบสถของวัดราชโอรสตั้งอยู่ริมคลองด่าน
หลายๆ วัดในกรุงเทพฯที่ฉันเคยเห็นนั้น มีส่วนผสมของความเป็นศิลปะจีนสอดแทรกอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวัดกัลยาณมิตร วัดเทพธิดาราม วัดพิชัยญาติ ฯลฯ ซึ่งแต่ก่อนก็เคยแปลกใจที่ได้เห็น แต่เมื่อทราบประวัติว่ารูปแบบของวัดที่เป็นเช่นนี้ถือเป็น "พระราชนิยม" ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่ทรงโปรดสไตล์แบบจีนและนิยมนำมาผสมผสานกับวัดไทยเสมอๆ ดังนั้นหากเห็นวัดที่มีกลิ่นอายแบบจีนๆ เมื่อไร ก็เชื่อได้เลยว่าย่อมต้องเกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งกับรัชกาลที่ 3 แน่นอน
ซุ้มประตูให้บรรยากาศแบบจีน
แต่หากอยากจะดูต้นแบบของวัดไทยสไตล์จีนแล้วล่ะก็ ต้องมาที่ "วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร" วัดประจำรัชกาลที่ 3 ตัว ซึ่งวัดเป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมมีชื่อว่า "วัดจอมทอง" แต่ได้เปลี่ยนมาเป็นวัดราชโอรสฯ อย่างในปัจจุบันในสมัยรัชกาลที่ 2 ของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระองค์ได้ทรงเป็นแม่ทัพคุมทหารไปสกัดทัพพม่าที่เมืองกาญจนบุรีโดยทางเรือ เส้นทางเดินทัพในวันแรกนั้นเสด็จผ่านคลองบางกอกใหญ่ และคลองด่าน และทัพของพระองค์ได้หยุดประทับแรมที่หน้าวัดจอมทอง และได้ทรงประกอบพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสงคราม
ทวารบาลทำจากกระเบื้องเคลือบอยู่หน้าพระอุโบสถ
เจ้าอาวาสวัดจอมทองในขณะนั้นได้ถวายคำพยากรณ์แด่พระองค์ว่ากิจของพระองค์นั้นจะประสบความสำเร็จและจะเสด็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ พระองค์จึงตรัสว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงจะกลับมาสร้างวัดถวายให้ใหม่ ดังนั้นหลังจากเลิกทัพเสด็จกลับมาพระนครโดยปลอดภัยแล้ว พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นใหม่ทั้งวัดตามที่ตรัสไว้ และต่อมาเมื่อปฏิสังขรณ์วัดเสร็จพระองค์ก็ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงแด่พระราชบิดา รัชกาลที่ 2 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดให้ใหม่ว่า “วัดราชโอรส” หมายถึง วัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนานั่นเอง
พระประธานในพระอุโบสถ
สิ่งที่โดดเด่นของวัดนี้ก็อยู่ที่ศิลปะและสถาปัตยกรรมภายในวัด ที่มีการก่อสร้างตามแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3 ดังที่กล่าวไปแล้วว่าทรงโปรดศิลปะแบบจีน พระอุโบสถและพระวิหารต่างๆไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าชำรุดเสียหายได้ง่ายและเปลืองเวลาในการทำ หน้าบันจึงเป็นแบบเรียบๆ มีการประดับหน้าบันด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นลวดลายดอกไม้ หรือสัตว์ต่างๆ เช่นหงส์ หรือมังกรตามแบบจีน โดยวัดราชโอรสฯ นั้นถือเป็นวัดแรกที่ทรงนำเอาศิลปะแบบจีนมาประยุกต์ให้เข้ากับวัดไทย ซึ่งก็ออกมางดงามเสียด้วย

คราวนี้มาชมสิ่งต่างๆ ภายในวัดกันดีกว่า เริ่มต้นกันที่พระอุโบสถซึ่งตั้งหันหน้าไปทางคลองด่าน มองเห็นการผสมผสานระหว่างศิลปะจีนและไทยได้ตั้งแต่ซุ้มประตูทางเข้าสู่ตัวพระอุโบสถซึ่งเป็นซุ้มประตูแบบจีน มีสิงโตหินยืนเฝ้าอยู่ด้านหน้าทางเข้าทั้งสองด้าน
แท่นประทับใต้ต้นพิกุลของรัชกาลที่ 3
ลอดซุ้มประตูเข้าไปมองเห็นหน้าบันของพระอุโบสถเป็นลักษณะตามแบบพระราชนิยม ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นรูปแจกันดอกเบญจมาศ ล้อมรอบด้วยมังกร หงส์ และนกยูง ซึ่งเป็นสัตว์มงคลของจีน และพอเดินเข้าไปถึงประตูพระอุโบสถก็ต้องตกใจเมื่อเจอทวารบาลหน้าตาถมึงทึงยืนเฝ้าอยู่หน้าประตูที่ประดับมุกเป็นลวดลายมังกรดั้นเมฆ ส่วนทวารบาลนั้นทำด้วยกระเบื้องเคลือบขนาดใหญ่กว่าคนจริง ดูน่าเกรงขามไม่น้อยพอเข้ามาภายในพระอุโบสถก็ยังมีกลิ่นอายของความเป็นจีนอยู่ตรงภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่เขียนเป็นลายเครื่องบูชาและสิ่งมงคลแบบจีน แต่พระประธานในอุโบสถนั้นยังคงเป็นพระพุทธรูปแบบไทยแท้ปางสมาธิ มีพระนามว่า "พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร" ซึ่งที่ใต้ฐานพระพุทธรูปก็มีพระบรมราชสรีรังคารของรัชกาลที่ 3 บรรจุไว้ด้วย

ในบริเวณพระอุโบสถนั้นยังมีพระแท่นที่ประทับอยู่ใต้ต้นพิกุล ซึ่งพระองค์ใช้เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จมาทรงคุมงานและตรวจการก่อสร้างนั่นเอง
พระวิหารพระนอน
จากพระอุโบสถ คราวนี้ไปดูพระวิหารต่างๆ ของวัดกันต่อ ซึ่งความน่าสนใจก็คือที่วัดราชโอรสฯ นี้มีทั้งพระวิหารพระนั่ง พระวิหารพระนอน และพระวิหารพระยืน ครบทั้งสามอิริยาบถเลยทีเดียว

สำหรับพระวิหารพระนอน หรือพระวิหารพระพุทธไสยาสน์นั้น ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ตัววิหารมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีนเช่นเดียวกัน ประตูทางเข้าสู่พระวิหารนั้นเป็นประตูกลมแบบจีน เชื่อกันว่าจะนำสิ่งดีงามให้แก่ผู้ที่ผ่านประตูนี้เข้ามา สำหรับพระประธานในพระวิหารนั้นก็คือ "พระพุทธไสยาสน์นารถชนินทร์ ชินศากยบรมสมเด็จ สรรเพชญพุทธบพิตร" วัดความยาวจากพระบาทถึงเปลวพระรัศมีได้ 20 เมตร สูง 6 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นพระนอนที่องค์ใหญ่ไม่น้อย
พระยืนปางห้ามญาติในพระวิหารพระยืน
นอกจากนั้นบริเวณรอบลานพระวิหารก็ยังมีหมู่พระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองประดิษฐานอยู่ 32 องค์ด้วยกัน และที่ผนังด้านนอกพระระเบียงของพระวิหารพระนอนก็ยังมีแผ่นหินอ่อนจารึกตำรายาแผนโบราณและตำราหมอนวด ติดไว้รอบพระระเบียงทั้งสี่ด้าน จำนวน 92 แผ่น คล้ายกับที่วัดโพธิ์

ส่วนพระวิหารพระยืนนั้น ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของพระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนอีกเช่นเคย ภายในพระวิหารหลังนี้แบ่งออกเป็นสองห้องคือห้องตอนหน้าและตอนหลัง ตอนหน้านั้นประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ส่วนตอนหลังเป็นที่ประดิษฐานหมู่พระพุทธรูปหลายปางหลายขนาด มีพระประธานองค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะแบบอยุธยา สำหรับพระวิหารหลังนี้สันนิษฐานว่าเคยเป็นพระอุโบสถเก่าของวัดมาก่อน ส่วนพระพุทธรูปยืนนั้นก็คงจะเป็นพระประธานในพระอุโบสถหลังเดิมด้วยเช่นกัน
พระวิหารพระยืน
ด้านหน้าพระวิหารมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสององค์ใหญ่ ซึ่งเป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของราชสกุลลดาวัลย์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระองค์เจ้าชายลดาวัลย์) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 นั่นเอง

มาถึงพระวิหารพระนั่ง หรือศาลาการเปรียญ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านขวาของพระอุโบสถ เป็นอาคารที่มีลักษณะผสมทางศิลปกรรมระหว่างไทยและจีนเช่นเดียวกัน พระประธานในพระวิหารนี้เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานพระธรรมเทศนา ถือตาลปัตร ดังนั้นหากนั่งกราบพระพุทธรูปทางด้านหน้าก็จะมองไม่เห็นพระพักตร์ของพระพุทธรูป หากอยากมองหน้าท่านก็ต้องเขยิบมาข้างๆ จึงจะเห็น
พระพุทธรูปปางแสดงธรรมเทศนาในพระวิหารพระนั่ง
ภายในพระวิหารยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานไว้ และบริเวณด้านหน้าพระวิหารก็จะมี "ถะ" หรือเจดีย์หินแบบจีนองค์เล็กๆ ตั้งอยู่ ซึ่งนั่นก็เป็นที่บรรจุอัฐิของอดีตเจ้าอาวาสวัดราชโอรสฯ

ด้วยศิลปกรรมที่งดงามแปลกตา แต่ก็ยังคงครบถ้วนด้วยความเป็นวัดแห่งพระพุทธศาสนา ก็ทำให้วัดนี้เป็นอีกหนึ่งวัดที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ดังนั้นในวันวิสาขบูชาที่ใกล้จะถึงนี้ (8 พ.ค.) หากไม่มีธุระที่ใดก็ขอเชิญทุกท่านมาสวดมนต์ไหว้พระและชมความงดงามทางสถาปัตยกรรมกันได้ที่ "วัดราชโอรสฯ" แห่งนี้
ด้านหน้าพระวิหารพระนั่งหรือศาลาการเปรียญ
*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ 258 ซอยเอกชัย 4 ถนนเอกชัย แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพฯ 10150 มีรถประจำทางสาย 43, 120 ผ่าน สอบถามรายละเอียดโทร.0-2415-2286, 0-2893-7274

กำลังโหลดความคิดเห็น