xs
xsm
sm
md
lg

ลัทธิทหารนิยม หรือการเมืองสายกลาง (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

กองทัพเป็นสถาบันชาติตามนัยเชิงรัฐศาสตร์อยู่แล้ว ซึ่งอังตวน อังรี โจมินี (Antoine-Henri Jomini) ค.ศ. 1779-1869 นักการทหารรัฐศาสตร์ชาวสวิตเซอร์แลนด์ พูดถึงพื้นฐานความมั่นคงของชาติขึ้นอยู่กับความสามารถของกองทัพ และทัพเป็นกลไกของรัฐ ต่อมาในปี 1948 เอดเวิร์ด มีดเอิร์ล (Edward Mead Earle) เขียนตำราเรื่อง The Makers of Modern Strategy พูดถึงพลังอำนาจแห่งชาติ ได้แก่ พลังอำนาจทางการเมือง การเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีและการทหาร และพลังอำนาจทางการทหารที่นักสังคมศาสตร์สมัยใหม่จะมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระและสิ้นเปลือง เพราะมนุษย์ไม่ควรรบกัน แต่ในนัยความเป็นจริงแล้ว มนุษย์ทุกชาติยังอยู่ในอาณัติของกิเลส 10 อยู่ และกิเลส 10 ประการนี้เองก็คือตัวก่อสงคราม ซึ่งโลกใบนี้ไม่เคยมีเวลายุติสงครามได้เลยแม้แต่ปีเดียว

นี่คือจุดเกิดลัทธิทหารนิยมที่ฝ่ายทหารมองแบบหนึ่ง เสรีนิยมมองแบบหนึ่งและมีแนวคิดหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนคิด ถ้าหากว่าเป็นนักรัฐศาสตร์ ก็จะมีแง่คิดหลายขั้ว เช่น ปรัชญาที่ว่า “สันติภาพเกิดจากความเข้มแข็งของกองทัพ” หรือเป็น “แนวโน้มสู่เผด็จการทหาร” หรือหากเป็นนักสังคมศาสตร์มองแง่ของความสิ้นเปลือง เพราะคนจนยังต้องการปัจจัย 4 อีกจำนวนมากมายมหาศาล และส่วนนักเศรษฐศาสตร์มองว่า การจัดกองทัพใหญ่เกินตัว ทำให้งบประมาณไม่สมดุล และอาจจะก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ เช่น การล่มสลายของอดีตโซเวียต

แต่โดยนัยสำคัญแล้ว ทุกคนจะต้องรู้ว่า รากแก้วของชาติคืออะไร บทเรียนความล่มสลายของอาณาจักรมีมากมาย แต่ควรจะต้องจับประเด็นของบทเรียนไหนมาเป็นแบบสร้างมิติความคิด หากมองเหตุการณ์ใกล้ตัวแล้วพบว่า “ทุ่งสังหาร” เป็นบทเรียนที่ต้องศึกษาเป็นอย่างสูง เมื่อคนชาติเดียวกัน ฆ่ากันประมาณ 3 ล้านคน ทั้งๆ ที่ชนในชาติมีเพียงประมาณ 10 ล้านคน ใน ค.ศ. 1975 เมื่อ “เขมรแดง” นำโดยพอลพต หัวหน้าพรรคมาร์กซิสต์เขมร มีชัยต่อรัฐบาลทหารลอนนอล และด้วยความเป็นอนาธิปไตยของพอลพต ทำให้เวียดนามต้องโค่นอำนาจใน พ.ศ. 1978 มิฉะนั้น อนาธิปไตยเวียดนามก็จะได้ใจ ทำการต่อต้านพรรคกู้ชาติเวียดมินห์

กองทัพไทยมีทหารที่เดินสายกลาง และเป็นทหารประชาธิปไตยอยู่มากมาย ทั้งที่เป็นเพราะอุดมการณ์และอยู่ในสายเลือด หรือที่ได้เรียนรู้จากบทเรียนทางประวัติศาสตร์ และทหารกลุ่มนี้ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ประเทศไทย ยอมเจรจาและเข้ามาร่วมพัฒนาชาติไทย แต่อนาธิปไตยคตินิยมที่ฝังอยู่ในตัวคนนั้น ยากที่จะหยั่งถึงได้ จึงจำเป็นต้องมีกลุ่มทหารประชาธิปไตยหรือพวกเดินสายกลางเข้ามามีบทบาทในการรักษาดุลนี้ มิฉะนั้นแล้ว ความผาสุกแบบไทยอาจจะไม่เกิดขึ้น

หากจะมองว่า ทหารที่เกษียณอายุราชการ แต่ยังมีความรับผิดชอบต่อแผ่นดินในฐานะคนไทย ซึ่งมีความรู้ความชำนาญด้านการรักษาความมั่นคงของชาติ อันเป็นส่วนหนึ่งของพลังอำนาจของชาติแล้ว คนจะไม่ต้อนรับทัศนคติของท่านเหล่านั้นเชียวหรือ เพราะขณะนี้มีภัยคุกคามความเป็นไทยอยู่รอบด้านทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะสงครามยุคที่สี่ที่มีความละเอียดอ่อนมาก จนรัฐบาลนายทุนที่แล้วบริหารสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ล้มเหลว

สงครามยุคที่ 1 คือ ยุคการใช้ทหารมากๆ รบกันหรือนัยหนึ่ง คือ ต้องการกำลังพลเป็นหลัก สงครามยุคที่ 2 ได้แก่ อำนาจการทำลาย เช่น การค้นหาดินปืน การใช้ปืนใหญ่ สงครามยุคที่ 3 คือ กองทัพต้องเคลื่อนที่เร็วด้วยยานพาหนะทุกมิติทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ส่วนสงครามยุคที่ 4 คือ สงครามกองโจรก่อการร้าย เช่น ในอิรัก อัฟกานิสถาน และบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานยุทธศาสตร์ไว้ 3 ประการ คือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา และยุทธศาสตร์นี้มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว ผู้บริหารจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาทุกมิติ เข้าถึงปัญหาทุกมิติ แล้วจะสามารถพัฒนาให้สังคมเกิดความผาสุกได้ เรื่องเหล่านี้เป็นความสามารถ ความมุ่งมั่นตั้งใจ และต้องอดทน

ปัญหาการเมืองของชาติขณะนี้เป็นเรื่องของบุคคล เป็นเรื่องของคนคนเดียวที่เสียประโยชน์ จึงดิ้นรนที่จะรักษาผลประโยชน์ของตัวเองไว้ให้ได้

กองทัพยอมรับมีผู้ที่เคยได้รับประโยชน์จากอำนาจของทักษิณ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น บางคนไม่น่าจะมีโอกาสที่จะได้ตำแหน่งที่สำคัญ แต่เผอิญเป็นเพื่อนรุ่นของทักษิณ และทักษิณสามารถใช้งานทุกชนิดได้อย่างเต็มที่ ทำให้ในช่วงอำนาจของทักษิณ มีเพื่อนรุ่นของทักษิณ ได้รับการแต่งตั้งข้ามหัวอาวุโสหลายช่วง แต่มิได้หมายความว่าเพื่อนรุ่นของทักษิณจะยินดีกับทักษิณไปหมดทุกคน มีส่วนมากที่ต่อต้านระบอบทักษิณ

กองทัพ ผู้นำกองทัพ รัฐบาล และประชาชน เป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง เพราะไม่ว่าปกติหรือสงคราม กองทัพก็ยังเป็นที่พึ่งของประชาชนและรัฐบาลเสมอ ความเข้าใจในบทบาทของกันและกัน ยอมสร้างสรรค์พื้นฐานความมั่นคงของชาติ เมื่อนายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น ดูเหมือนว่าจะเกิดช่องว่างระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ แต่ความจริงแล้ว ความเข้าใจบทบาทของกองทัพ ทำให้นายชวน สามารถบริหารกระทรวงกลาโหมได้อย่างราบเรียบ ทั้งๆ ที่อยู่ในห้วงวิกฤตเศรษฐกิจไอเอ็มเอฟอย่างรุนแรง เป็นห้วงที่งบประมาณกลาโหม ถูกตัดลงอย่างน่ากลัว แต่ทุกอย่างมีตรรกะ และนายชวน พิจารณาในเรื่องความมั่นคงจึงอนุมัติซื้อเครื่องบินโจมตีราคาถูกจากเยอรมนี และเข้าใจว่าขวัญทหารเป็นเรื่องสำคัญและตลอดเวลาที่เป็น รมว.กห.นั้น นายชวนไม่เคยใช้งบลับของทางราชการซึ่งเป็นเรื่องที่ทหารและประชาชนต้องจดจำ

ขณะนี้มีเรื่องไร้สาระเรื่องหนึ่งที่พูดกันว่ารัฐบาลอนุมัติงบประมาณหลายหมื่นล้านบาทในกระทรวงกลาโหมจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อแลกกับการไม่ปฏิวัติ คนเหล่านั้นเอาปัญญาไหนคิด รัฐบาลจะให้งบประมาณซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์หรือไม่นั้นเป็นเรื่องของรัฐบาลและรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบหากกองทัพไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญได้ครบถ้วน ขออย่าได้ดูถูกทหารเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น