xs
xsm
sm
md
lg

แขวงการทางฯเร่งวางแนวถนนใหม่ รับสะพานไทย-พม่า/ปั้นเขตเศรษฐกิจชายแดนตาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เมื่อครั้งเดินทางไปจ.ตาก ดูเรื่องการค้า การขนส่งสินค้า และเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีของพม่า
ตาก- แขวงการทางตากฯเร่งสำรวจ ออกแบบสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 พร้อมทำถนนใหม่รองรับ คาดหนุนแผนปรับปรุงถนนในพม่าช่วงที่ 2 ได้ภายในปีงบประมาณ 2553 นี้ด้วย เพื่อเชื่อมต่อโครงการขนส่งสินค้า-คนเข้าด้วยกัน พร้อมเร่งพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดนอีกทาง

นายจงจิตร เต็งยะ ผู้อำนวยการแขวงการทางตากที่ 2 (แม่สอด) กล่าวหลังเดินทางเข้าให้ข้อมูลกับ คณะรัฐมนตรี ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ในจังหวัดตาก ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า หลัง ครม.มีมติอนุมัติในหลักการให้ดำเนินโครงการการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 (ข้ามแม่น้ำเมย) ไปยังประเทศพม่า ได้มีการมอบหมายให้แขวงการทางตากที่ 2 (แม่สอด) กรมทางหลวง ได้เร่งดำเนินการ สำรวจ ออกแบบ และหาพื้นที่ที่เหมาะสม ในจุดที่จะดำเนินการก่อสร้าง

“นอกจากเรื่องสะพานมิตรภาพฯแห่งที่ 2 แล้ว ผมได้รับคำสั่งให้เร่งจัดหาแบบแนวทางการก่อสร้างถนนรองรับสะพานนี้ด้วย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในทันที เนื่องจาก รมต.ที่ดูแลได้สั่งกำชับให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว ซึ่งโครงการนี้อาจจะทำให้การก่อสร้างถนน แม่สอด-เมียวดี –กอกาเรกนั้น ดำเนินการได้ในงบปี 2553 นี้ได้ด้วย เนื่องจากเป็นหลักการที่เชื่อมต่อกับสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 2”

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เคยลงพื้นที่ที่ ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก และในเบื้องต้นได้ไปดูบริเวณจุดที่เหมาะสม ที่คาดว่าน่าจะเป็นจุดที่ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 ข้ามแม่น้ำเมย (แม่สอด-เมียวดี)มาแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะมีการนำเสนอ ครม.ให้พิจารณาอนุมัติเพื่อก่อสร้างในการประชุม ครม.วันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา

สำหรับโครงการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 นี้คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 400 ล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยเร่งรัดพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดน ที่จะประกอบด้วย โลจิสติกส์ พาร์ก นิคมอุตสาหกรรม เขตส่งเสริมนำเข้าและส่งออกครบวงจร ด่านศุลกากร และพื้นที่คลังสินค้าทัณฑ์บน บนพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 8,000 ไร่ ทั้งนี้ประเมินกันว่า หากมีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 2 และการก่อสร้างโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสำเร็จ จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าตามแนวชายแดนไทย-พม่า จาก 24,000 ล้านบาท ในปี 2552 เป็น 40,000 ล้านบาท/ปี

ในที่ประชุม ครม. 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา ก็ได้มอบหมายให้จัดตั้งคณะกรรมการธุรกิจไทย-พม่า โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินโครงการดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น