xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เวทีนโยบาย:‘ผู้สูงอายุ’ ดอกลำดวนในสายธารความรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

‘ไม้ใกล้ฝั่ง’ สำนวนที่มีความหมายถึงการแก่ใกล้จะตายอาจทำให้หลายคนขยาดครั่นคร้ามถึงวันวัยสนธยา หาได้ตระหนักว่าสักวันตนเองก็ต้องแก่เฒ่าร่วงโรยไม่แคล้วกัน อีกทั้งนับวันคนช่วงวัยนี้ก็จะทวีคูณขึ้นมหาศาลในทุกมุมโลกอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านจากเกิดมากตายมากมาเป็นเกิดน้อยตายน้อย โดยมีบทลงเอยที่สัดส่วนของประชาโลกกลายเป็นกลุ่มสูงอายุมากอย่างไม่เคยมาก่อน

การเปลี่ยนแปลงทางประชากร (Demographic transitions) จากสัดส่วน 1 ใน 10 ของประชากรโลกอายุเกิน 60 ปีหรือมากกว่านั้นในปัจจุบัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 5 ในปี 2050 และสูงถึง 1 ใน 3 ในปี 2150 กล่าวเฉพาะประเทศไทยวันนี้ก็มีประชากรสูงอายุมากกว่า 1 ใน 10 และภายในสองทศวรรษข้างหน้าหรือ พ.ศ. 2573 ประชากรสูงอายุก็จะทะยานมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรรวม

สัดส่วนผู้สูงอายุไทยที่ทวีต่อเนื่องสวนทางกับอัตราส่วนเกื้อหนุนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มลดลงเหลือแค่ 6 ในปี 2552 เช่นนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้สูงวัยในอนาคตอันใกล้ เนื่องด้วยผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานจะต้องรับภาระดูแลเลี้ยงดูผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งในที่สุดทั้งคู่จะอยู่ในสภาพอ่อนแอ โดยท้ายสุดผู้สูงอายุจะถูกทอดทิ้ง ยิ่งถึงปี 2573 ที่จะเหลือประชากรวัยแรงงานประมาณ 2 คนต่อประชากรวัยสูงอายุ 1 คนด้วยแล้ว ปรากฏการณ์ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งคงเต็มผืนแผ่นดินไทย

ไม่เท่านั้น ความรุนแรงจะทวีคูณขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังปัจจุบันนี้ที่สื่อมวลชนเผยแพร่เคสสุดเศร้าสะเทือนใจ ไม่ว่าจะเป็นยายเลื่อน ม่วงเขียว หญิงชราวัย 97 ปีที่ถูกลูกสาวในไส้ทำร้าย หรือยายมะลิ มะลิแย้ม แม่เฒ่าวัย 95 ปีที่ถูกลูกเขยทารุณ นอกเหนือจากการถูกทอดทิ้งหนึ่งในรูปแบบความรุนแรงที่เสนอสม่ำเสมอผ่านรายการวงเวียนชีวิตและสกู๊ปชีวิต

ความสลับซับซ้อนของปัญหาภายใต้การปัดปฏิเสธความจริงและซ่อนเร้นเหตุการณ์เพราะยึดติดมายาคติว่าเป็น ‘สังคมกตัญญูกตเวที’ ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุขยายขนาดความรุนแรง (Size) และขอบเขตความรุนแรง (Scope) แบบเข้มข้นและเงียบเชียบ ยิ่งถูกทุนนิยมถั่งโถมหนักหน่วงทั้งในเมืองและชนบท ความโดดเดี่ยวเดียวดายก็กลายเป็นเพื่อนมิตรผู้สูงวัยไร้ทรัพย์สมบัติ อันเนื่องมาจากลูกหลานไปทำงานต่างถิ่นแล้วขาดการติดต่อ หรืออยู่ใกล้แต่ไม่ใส่ใจ

โดยความรุนแรงต่อผู้สูงอายุในสังคมไทยมีตั้งแต่ 1) การกระทำรุนแรงด้านร่างกาย โดยการทุบตี เตะ กระแทก ผลัก ผูกมัด 2) การกระทำรุนแรงด้านอารมณ์ โดยการพูดก้าวร้าว เหยียดหยาม รังเกียจเดียดฉันท์ 3) การหาประโยชน์ในทรัพย์สินและเอาเปรียบทางกฎหมาย โดยการลักขโมย ขู่บังคับเอาประกันชีวิต หรือเปลี่ยนแปลงเอกสาร 4) การคุกคามทางเพศ โดยการใช้สายตา คำพูด กำลัง ทั้งล่วงละเมิดภายนอกหรือรุนแรงขั้นข่มขืน และ 5) การละเลยทอดทิ้ง โดยไม่ดูแลเลี้ยงดูแม้แต่ปัจจัย 4

ในกระแสเหตุปัจจัยความรุนแรงต่อผู้สูงอายุไทยหลากรูปแบบ พบว่าการถูกกระทำรุนแรงทางจิตใจจากบุตรหลานหรือบุคคลในครอบครัวโดยคำพูดไม่ให้เกียรติ แสดงอาการรังเกียจเดียดฉันท์ จนผู้สูงวัยสูญเสียกำลังใจจะพบสูงสุด รองลงมาคือการถูกทอดทิ้งละเลย ต้องหอบสังขารชราภาพไปปลูกเพิงพักตามใต้ถุนเมืองคอนกรีตเก็บของเก่าประทังชีวิต หรือไม่ก็อยู่โยงเฝ้าบ้านตามลำพังปราศจากการติดต่อจากลูกหลาน ตามมาด้วยการกระทำรุนแรงเอาเปรียบทรัพย์สิน ต้องระหกระเหินไปอยู่สถานสงเคราะห์คนชราหลังมอบทรัพย์สินแก่ลูกหมดสิ้นแล้ว หรือไม่ก็ถูกใช้ให้ไปเป็นขอทานเลี้ยงลูกหลาน

และน้อยสุดแต่มีจำนวนไม่น้อยคือผู้สูงอายุที่ถูกกระทำรุนแรงด้านร่างกาย ทั้งทุบตี ชกต่อย เตะ ผลัก ผูกมัด จากการเมาสุราหรือติดยาเสพติด และสุดท้ายการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยลูกที่ป่วยเป็นโรคจิต โดยผู้สูงอายุที่ถูกกระทำทั้งสองรูปแบบจะอับอายที่ถูกลูกทำร้ายล่วงเกิน เกิดอาการซึมเศร้า เก็บตัว เนื้อตัวบอบช้ำดำเขียว มีแผลจากของมีคมบาดและของแข็งกระแทก

ทั้งนี้ เศรษฐสถานะเป็นจุดร่วมสำคัญหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากน้ำมือลูกหลานหรือคนใกล้ชิดในครอบครัว เพราะยิ่งจนยิ่งถูกโขกสับ ว่ากล่าวด่าทอ ทอดทิ้ง ชาเฉย ไม่เหลียวแล เพราะแม้แต่ร่ำรวยก็ยังถูกละเลยหลังทรัพย์สินถ่ายโอนไปสู่ลูกหลานจนหมดสิ้นได้ไม่ต่างกัน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การมีเงินทองของผู้สูงวัยไม่ได้เป็นดัชนีชี้ขาดว่าจะไม่เกิดความรุนแรงต่อตนเอง ถึงไม่ถูกทอดทิ้ง ทว่าก็เสี่ยงถูกล่อลวง ข่มขู่ บีบบังคับ ปลอมแปลงเอกสารหรือพินัยกรรม

แนวทางป้องกันความรุนแรงต่อผู้สูงอายุจึงไม่เพียงเรียกร้อง ‘ความกตัญญูกตเวที’ ของบุตรต่อบุพการี และ ‘ความเอื้ออาทร’ ของสังคมต่อบรรพบุรุษเท่านั้น หากยังต้องการมาตรการกฎหมายและแนวนโยบายรัฐด้วย ดังข้อเสนอในงานวิจัยเรื่องความรุนแรงต่อผู้สูงอายุไทย : การทบทวนองค์ความรู้และสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ที่ชี้ชัดว่าการกำหนดกฎหมายที่มุ่งลงโทษกว่าแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด หรือคุ้มครองผู้สูงอายุที่ถูกกระทำรุนแรง ทำให้ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ไม่ดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดที่ส่วนมากเป็นญาติ เพราะยังต้องพึ่งพาพวกเขาอยู่

ยิ่งกว่านั้น กฎหมายและนโยบายไทยไม่ได้มุ่งคุ้มครองเฉพาะเจาะจงที่ผู้สูงอายุ ทว่าผนวกไว้ในกลุ่มเดียวกับเด็ก สตรี และผู้พิการ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 292, 307 และ 398 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ทั้งๆ ปัญหาความรุนแรงต่อผู้สูงอายุมีลักษณะเฉพาะ เพราะผู้กระทำมักเป็นญาติและลูกหลาน รวมทั้งสภาพร่างกายก็ทรุดโทรมเสื่อมถอยจนต้องพึ่งพิงผู้อื่นมากขึ้นทุกๆ วันผันผ่าน ความเครียดจึงพอกพูนในผู้ดูแลหรือครอบครัว

ต่างจากต่างประเทศที่กำหนดกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ อาทิ อเมริกามีศูนย์บริการคุ้มครองช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับความรุนแรง Adult Protective Service และอังกฤษมี Nation Care Standards Commission ศูนย์รับรายงานข้อร้องเรียนการกระทำรุนแรงต่อผู้สูงอายุ

กระนั้นการผสานกฎหมาย พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ที่มีเจตนารมณ์คุ้มครอง ส่งเสริม สนับสนุนต่อสิทธิและประโยชน์ของผู้สูงอายุให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เข้ากับยุทธศาสตร์แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ (พ.ศ.2545-2564) ที่เน้นเสริมสร้างความมั่นคงและยกระดับความเป็นอยู่ผู้สูงอายุ ท่ามกลางบริบทระดับโลกของวันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons) ที่ครบรอบ 10 ปีในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ก็น่าจะกระตุกสังคมไทยใส่ใจแก้ไขความรุนแรงต่อผู้สูงอายุอย่างจริงจังได้

เพื่อให้ผู้สูงวัยได้เป็นหลักชัยของครอบครัวและสังคมต่อไป ปกป้องไม่ให้ผู้สูงอายุที่ประดุจ ‘ดอกลำดวน’ กลิ่นหอมเย็นชื่นฉ่ำ กลีบแข็งไม่ร่วงง่าย และอายุยืน ร่วงโรยราไปกว่านี้

ด้วยถึงที่สุดแล้วร่องรอยบอบช้ำบนกลีบดอกลำดวนหรือฟกช้ำดำเขียวบนเนื้อตัวผู้สูงอายุก็คือความเจ็บไข้ได้ป่วยของสังคมไทยที่ได้ชื่อเอื้ออารีและกตัญญูกตเวทิตา แต่กลับลงแส้โบยตีผู้มีพระคุณต่อครอบครัวและประเทศชาติอย่างทารุณโหดร้ายโดยสองมือของลูกหลานที่พวกเขาเฝ้าฟูมฟักบนการหลิ่วตาข้างหนึ่งของสังคมส่วนใหญ่ที่ให้ค่าแค่ปัญหาภายในครอบครัวคนอื่นไม่เกี่ยวกับตนเอง

เมื่อสังคมไทยปัจจุบันก้าวไม่เท่าทันพลวัตปรากฏการณ์ที่อนาคตจักเข้มข้นขึ้น การคิดเชิงปฏิวัติ (Revolutionary thinking) ด้านนโยบายสาธารณะเพื่อพิชิตวิกฤตความรุนแรงผ่านการสร้างหลักประกันรายได้ให้ผู้สูงอายุจึงน่าจับตามอง ด้วยผู้สูงวัยจะได้ไม่จำนนต่อลูกหลานอกตัญญูใจไม้ไส้ระกำที่ทำร้ายร่างกายและจิตใจเพราะไร้ที่พึ่งพิงจนไม่กล้าดำเนินคดีอาญา หรือให้อภัยเพราะความรัก

ตรงข้าม หากไม่ปฏิวัตินโยบายรัฐด้านหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ และขาดการขับเคลื่อนเชิงรุกด้วยองค์กรมุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุต่างๆ อย่าง มส.ผส. ดอกลำดวนก็คงปลิดร่วงหล่นแล้วล่องลอยไปตามสายธารความรุนแรงไม่สุดสิ้น ซึ่งสักวันหนึ่ง ‘ดอกลำดวนในอนาคต’ หรือผู้ใหญ่ในปัจจุบันคงไม่แคล้วลอยล่องไปในกระแสธารเดียวกันนี้เมื่อแก่เฒ่า ต่างกันก็เพียงแต่จำนวนมหาศาลของไม้ใกล้ฝั่ง.

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น