xs
xsm
sm
md
lg

ความรุนแรงในวัยสนธยา เมื่อลูกหลานทำร้ายพ่อแม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันนี้เป็นวันผู้สูงอายุสากล-ความชรา ภาวะที่ถ้าไม่แตกดับเสียก่อน ทุกคนต้องพบเจอ และนี่คือเรื่องราวจากเวทีเสวนา ‘สังคมไทยกับความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ: มุมมองที่มากกว่าความสงสารและบริจาค’ …เรื่องราวจากใต้ถุนสังคมที่ขอนำมาเล่าสู่กันฟัง

ชีวิตคือความไม่แน่นอน แต่เมื่อใคร่ครวญดูให้ดีจะพบว่ามีความแน่นอนอยู่อย่างน้อย (เท่าที่นึกได้ตอนนี้) 2 อย่าง-แก่และตาย

คนเราแก่ขึ้นตามลำพัง หมายถึงไม่มีใครมาสามารถมาแบ่งเบาความชราไปจากเราได้ ความแก่เฒ่าเหมือนใบมีดของเวลา มันค่อยๆ เฉือนสิ่งต่างๆ ไปจากคนคนนั้น-พละกำลัง ความคมชัดของประสาทสัมผัส ความแข็งแกร่งของจิตใจ ฯลฯ เพราะความเปราะบาง จึงง่ายที่ผู้สูงอายุจะร้าว (ราน) จากผู้มาทีหลัง...

จากการสำรวจความเสี่ยงของผู้สูงอายุไทยทั่วประเทศ โดยศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ปี 2550 สำรวจผู้สูงอายุ 50,058 ราย พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เคยถูกกระทำรุนแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เป็นการกระทำรุนแรงด้านร่างกายโดยการบังคับขู่เข็ญ 46.9 เปอร์เซ็นต์ ฉุดกระชาก 21.1 เปอร์เซ็นต์ ทุบตี 11.7 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้รับประทานอาหาร 10.2 เปอร์เซ็นต์ และถูกกักขัง 9.2 เปอร์เซ็นต์ และคนที่ทำร้ายร่างกายผู้สูงอายุเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็คือ ‘บุตร’ ซึ่งรวมถึงการกระทำรุนแรงทางด้านจิตใจด้วย

งานวิจัยว่าด้วยความรุนแรงในผู้สูงอายุของ ผศ.ดร.สุวิณี วิวัฒน์วานิช จากคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าความรุนแรงในผู้สูงอายุสามารถสรุปได้ 5 ลักษณะ คือ

1. การกระทำรุนแรงด้านร่างกาย
2. การกระทำรุนแรงด้านอารมณ์จิตใจ
3. การหาประโยชน์ในทรัพย์สินและการเอาเปรียบทางกฎหมาย
4. การคุกคามทางเพศ
5. การละเลยทอดทิ้งหรือละเว้นการกระทำ

นอกจากนี้ ยังพบว่าความรุนแรงในผู้สูงอายุในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการถูกละเลย ทอดทิ้ง และถูกกระทำรุนแรงด้านจิตใจจากลูกหรือสมาชิกในครอบครัว

(ถ้าจะทำให้รู้สึกว่าสังคมไทยไม่ใช่แห่งเดียวในโลกที่หม่นหมองด้วยเรื่องแบบนี้ก็ขอบอกว่า ในต่างประเทศเอง ความรุนแรงในผู้สูงอายุก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน)

“มีผู้สูงอายุบางคน หลังจากยกทรัพย์สินให้ลูกไปหมดแล้ว ปรากฏว่าลูกไม่อยากให้อยู่บ้าน ก็เอาไปปล่อยไว้หน้าศูนย์สงเคราะห์ฯ พอเจ้าหน้าที่ไปสืบถามที่บ้าน ฝ่ายลูกก็บอกว่าไม่มีพ่อแม่ชื่อนี้ สิ่งหนึ่งที่นักสังคมสงเคราะห์พบและบอกกับเราคือ ถ้าผู้สูงอายุยังไม่ได้โอนทรัพย์สินมักจะมีคนมาเยี่ยม แต่ถ้าโอนทรัพย์สินไปแล้วเมื่อไหร่ คนมาเยี่ยมจะน้อยลง”

แน่นอน ความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ มีผลกระทบโดยตรงและเข้มข้นต่อโครงสร้างความสัมพันธ์ของคนในสังคมและคนในครอบครัวจนเกิดการสั่นคลอน ความเป็นชุมชน ถึงแม้จะมี แต่ก็ไม่แข็งแรงเท่าสมัยก่อน จากครอบครัวขยายกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว ความดิ้นรนด้านเศรษฐกิจ ความยากจน การกระจุกตัวของการพัฒนา และการแย่งชิงทรัพยากรจากชนบทสู่เมือง สิ่งเหล่านี้กระชากคนหนุ่มคนสาวออกจากแผ่นดินของตน พวกเขาฉีกขาดจากบ้านและผู้คน ผศ.ดร.สุวิณี เล่ากรณีหนึ่งไว้อย่างชวนคิดต่อว่า

“ลูกบางคนก็ไม่ได้ตั้งใจจะละเลยทอดทิ้งพ่อแม่ แต่ว่าตัวเองเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ก็ต้องปล่อยให้พ่อหรือแม่อยู่ตัวคนเดียว แรกๆ ก็มาเยี่ยม ส่งเงินมาให้ แต่พอนานเข้าก็ไม่กลับมา ทีนี้ พออายุมากเข้า ร่างกายก็ถดถอย ช่วยเหลือตัวเองลำบาก เพื่อนบ้านก็ต้องคอยช่วยเหลือ สุดท้ายก็ต้องให้สถานสงเคราะห์ฯ มารับตัวไป”

ยังไม่นับรวมว่าความเปลี่ยนแปลงก่อปฏิกิริยาต่อหัวใจผู้คนให้บิดเบี้ยวไปหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะชี้วัดได้ยาก

ด้าน จีราวัฒน์ จันทร์หอม หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ศูนย์ประชาบดี ซึ่งเป็นศูนย์ที่คอยรับเรื่องราวการกระทำรุนแรงและให้ความช่วยเหลือต่อเด็ก สตรี และคนชรา บอกว่า กรณีความรุนแรงในผู้สูงอายุ เมื่อเทียบกับกรณีของเด็กและผู้หญิงแล้วยังถือว่าน้อย อาจเป็นเพราะประชาชนยังไม่ทราบว่ามีศูนย์แห่งนี้ซึ่งดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุด้วย ถึงกระนั้น กรณีของผู้สูงอายุก็ยังมีแจ้งเข้าไปที่ศูนย์ทุกวัน แต่เขาตั้งข้อสังเกตว่า

“กรณีของผู้สูงอายุที่มีการแจ้งของความช่วยเหลือเข้ามาที่เรา เป็นญาติแจ้งเองมีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เพื่อนบ้านจะเป็นคนแจ้ง อาจเป็นไปได้ว่าเรื่องแบบนี้มักจะเป็นความลับ ไม่ค่อยถูกเปิด และในสังคมไทยการถูกต่อว่าว่าเป็นคนเนรคุณ อกตัญญู ถือว่าแรง คนจะรับไม่ได้ ก็เลยยิ่งทำให้เรื่องพวกนี้ไม่ปรากฏ”

มุมมองของผู้ปฏิบัติงานอย่างจีราวัฒน์เห็นว่า จุดหลักอยู่ที่ความสัมพันธ์ในครอบครัว ถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างน้อยก็สามารถประคับประคองกันไปได้ เขาเล่าว่าบางคนถูกแม่ทิ้งไปตั้งแต่อายุ 2 เดือน 20 ปีกลับมาเจอกัน ไม่มองหน้าแม่ด้วยซ้ำ ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาของ ผศ.ดร.สุวิณี ผ่านคำบอกเล่าของนักสังคมสงเคราะห์ที่ว่า ผู้สูงอายุชายที่เข้ามาอยู่ในบ้านพักคนชรา ตอนหนุ่มๆ มักมีหลายบ้าน

“ความรุนแรงเป็นสิ่งที่เรารังเกียจ” อรุณ อรชุน ประธานสหพันธ์ชมรมผู้สูงอายุ สะท้อนความรู้สึกหลังจากได้ยินกรณีตัวอย่างต่างๆ ที่ถูกพูดถึง “และเราก็กังวล หวาดกลัวว่าวันหนึ่งมันจะเกิดขึ้นกับเรา ขณะที่การดูแลก็ยังไม่เป็นรูปธรรม ถึงแม้ว่าเราจะมีปฏิญญาผู้สูงอายุมานานแล้วก็ตาม อย่างศูนย์ประชาบดีผมก็เพิ่งเคยได้ยินวันนี้แหละ”

ไม่มีสังคมอารยะแห่งใดต้องการให้มีความรุนแรงในผู้สูงอายุ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไปแล้ว การหวังพึ่งสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างความกตัญญูรู้คุณในจิตใจท่ามกลางความกดดันของสภาพแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง ยิ่งสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่นาน ความยุ่งยากซับซ้อนของปัญหาจึงยิ่งมีสูงขึ้นตามไปด้วย

ผศ.ดร.สุวิณี แสดงความคิดเห็นว่า สังคมไทยจำเป็นต้องร่วมกันหานิยามที่ชัดเจนให้ได้ก่อนว่าอะไรคือความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ เพราะจะทำให้มีเกณฑ์การประเมินและสามารถหาแนวทางป้องกันได้อย่างรัดกุม สร้างการทำงานแบบบูรณาการทั้งจากหน่วยงานของรัฐและภาคประชาสังคม มีการรณรงค์เพื่อสร้างค่านิยมและความเข้าใจแก่สังคมให้เคารพและตระหนักในคุณค่าของผู้สูงอายุ ส่งเสริมและให้ความรู้ด้านการดูแลผู้สูงอายุอย่างเข้าใจ และมีระบบรองรับในกรณีที่ครอบครัวหนึ่งๆ อาจมีข้อจำกัดในการดูแลผู้สูงอายุ

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในเวทีเสวนาคือการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น เพราะเป็นหน่วยที่ใกล้ชิดผู้สูงอายุที่สุด ทำให้ท้องถิ่นสามารถจัดระบบสวัสดิการเบื้องต้นแก่ผู้สูงอายุได้ การจัดระบบเฝ้าระวังและช่วยเหลือในชุมชน

ด้านอรุณบอกว่า ต้องมีการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ การมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ใช่การมีปัจจัย 4 เพียงอย่างเดียว เพราะผู้สูงอายุที่มีสถานะต่างกัน ความต้องการย่อมแตกต่าง แต่คุณภาพชีวิตเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการเหมือนกัน เช่น ด้านสุขภาพ การสร้างกิจกรรมกลุ่ม ไม่ว่าจะด้านการออกกำลังกาย ศาสนา การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เนื่องจากผู้สูงอายุที่อยู่แต่ในบ้าน ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมอะไร ร่างกายมักจะเสื่อมสภาพเร็วกว่า

“ผมว่ากระทรวงศึกษาฯ ต้องแก้ไขหลักสูตรการศึกษา เมื่อก่อนมีวิชาหน้าที่พลเมือง ศีลธรรม สมบัติผู้ดี เดี๋ยวนี้เลิกหมด”

ผู้เข้าร่วมเสวนาคนหนึ่งกล่าวว่าการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ไม่ใช่เริ่มต้นตอนแก่ แต่เป็นสิ่งที่ต้องกระทำต่อเนื่องตั้งแต่เด็ก การให้ความรู้ ความเข้าใจ ในแต่ละช่วงวัย

ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ต้องลงมาดูแลและสร้างระบบที่จะเป็นหลักประกันแก่ผู้สูงอายุในอนาคต เช่น ระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาล หรือระบบการออมสำหรับเป็นหลังพิงให้แก่ผู้สูงอายุในอนาคต

ด้านตัวผู้สูงอายุ (หรืออาจจะรวมคนทุกคนที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว) ก็ไม่ควรหวังพึ่งพาลูกหลานเพียงอย่างเดียว ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นความรู้ต่างๆ สภาพสังคม เทคโนโลยี การดูแลรักษาสุขภาพ หรือแม้แต่เรื่องการเงิน เพื่อให้ตัวเองมีภูมิคุ้มกันจากความร้ายกาจที่จะเข้ามา พูดแบบบ้านๆ ได้ว่าเราไม่ควรเติบโตเพราะกินข้าว แก่เฒ่าเพราะอยู่นาน แต่ควรใช้ชีวิตอย่างรอบคอบและแก่เฒ่าอย่างมีศักดิ์ศรี เพราะต้องยอมรับว่าหากจะมองในแนวพุทธศาสนาหลายกรณีเป็นเรื่องของกรรม ที่วัยหนุ่มสาวปฏิบัติตัวอย่างไรไว้ มันก็กลับมาทำร้ายเราในวัยชรา

มีคำแนะนำประการหนึ่งที่ปรากฏในเวทีสัมมนาฯ ซึ่งออกจะเป็นตลกร้าย-จงอย่าได้ยกทรัพย์สินให้ลูกหลานจนหมด โดยหวังว่าเขาจะเลี้ยงดูเรา-ก็เหมือนกับบทเพลงเก่าของวงคาราบาวที่ว่า ‘ผู้เฒ่าเอ๋ย ถึงเนื้อหนังหย่อนยาน ถ้าสมบัติมโหฬาร ลูกหลานมาเอาใจ...’

หากมันใช้ได้ผลจริงๆ เราก็ควรถามไถ่ตัวเองอย่างเอาจริงเอาจังได้แล้วกระมังว่า การพักพิงในสังคมที่คำแนะนำประเภทนี้สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ...

เราควรยินดีหรือเสียใจ?

************

เรื่อง : กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ภาพ : ทีมภาพ CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น