พิษณุโลก – จับชีพจร “สี่แยกอินโดจีน – พิษณุโลก” วันนี้ทั้งท้องถิ่น – จังหวัดถูกมองเป็น “ไม้หลักปักเลน” มีแค่แผนแต่ไร้ผลทางปฏิบัติ ขณะที่ภาพใหญ่ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้/ออก-ตก เริ่มปรากฏชัด หอฯไทยเตรียมตั้งโต๊ะค้ำขนส่งข้ามแดนแล้ว ส่วนเมืองสองแควยังนิ่งอยู่กับที่
12 กรกฎาคม 2552 กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถามกลางวงประชุมร่วมกับนักธุรกิจเมืองสองแคว – พิษณุโลก ว่า ภาคเอกชนต้องบอกให้ชัดเจนว่า จะให้รัฐทำอะไร !?
22 สิงหาคม 2552 กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ถึงกับต้องตั้งคำถามกลับไปถึงตัวแทนภาครัฐ-เอกชนเมืองสองแคว เมื่อคราวเดินทางมารับฟังปัญหา – แนวทางการพัฒนาจังหวัดพิษณุโลก ว่า Core Business ของพิษณุโลก คือ อะไร !?
เป็น 2 ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่เกิดคำถามขึ้นสำหรับเมืองสองแคว – พิษณุโลก ที่แม้ได้ชื่อ เป็นเมืองอกแตก แต่ตามภูมิศาสตร์ ที่ตั้ง เป็นเมืองศูนย์กลางภูมิภาคอินโดจีน เป็นจุดตัดผ่านระหว่างระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ , ตะวันออก-ตะวันตก (North – South / East – West Economic Corridor)
ประกอบกับ จีน มีนโยบาย Go West มุ่งเปิดเส้นทางออกสู่ทะเลให้แก่มณฑลทางตะวันตก ผ่านทั้งพม่า เวียดนาม และไทย ที่มีการพัฒนาเป็นรูปธรรมให้เห็นก็คือ การเปิดเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขงจากเชียงรุ่ง – เชียงราย เมื่อปี 2544 และเส้นทางคุน-มั่ง กงลู่ (ถนนคุนหมิง-กรุงเทพฯ) อันจะทำให้มีสินค้าสารพัดสัญชาติวิ่งผ่านขึ้น-ลงเส้นทางนี้อย่างหนาแน่น
ทำให้เมื่อปี 2540 หอการค้าจังหวัดพิษณุโลก ร่วมผลักดันจนทำให้ ครม.มีมติเห็นชอบให้พิษณุโลกเป็นศูนย์กลางสี่แยกอินโดจีน
นายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ รองเลขาธิการกรรมการหอการค้าไทย ,อดีตประธานหอฯพิษณุโลก เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ที่ร่วมขับเคลื่อนเรื่องนี้มากับมือ บอกว่า อนาคตสินค้าจากจีนตอนใต้จะไหลผ่านตอนเหนือของไทย ด้วยค่าขนส่งถูกและใช้เวลาไม่นาน ที่สำคัญ มีจุดแวะพักที่พิษณุโลกก่อนขนถ่ายสินค้าไปยังอีสาน กลาง ภาคใต้ และออกสู่ทะเล
ถ้านักธุรกิจจีนก่อตั้งศูนย์กระจายสินค้าในฝั่งสปป.ลาว จ่อทะลักเข้าประเทศไทย หากคนพิษณุโลกนิ่งเฉย ไม่คิดอะไรเลย ก็เสียโอกาส คำขวัญของพิษณุโลกที่ว่า เมืองบริการสี่แยกอินโดจีน คงไม่ต่างอะไรกับป้ายที่สี่แยกอินโดจีนที่ปรากฏทุกวันนี้
ดูเหมือน ความคิดของ “วิโรจน์” จะเป็นจริงแล้ว เพราะด้วยยุทธศาสตร์เมืองสี่แยกอินโดจีน วันนี้ หยุดนิ่ง และมีเพียงป้ายบอกทาง ที่กระตุกต่อมสงสัยให้นักท่องเที่ยวว่า จะไปคุนหมิง ย่างกุ้ง ดานัง ได้จริงหรือไม่ เท่านั้น !!
นายวิโรจน์ บอกว่า สี่แยกอินโดจีนหยุดนิ่งเฉพาะพิษณุโลก แต่ภาพในระดับประเทศหรืออาเซียน ไม่หยุดนิ่ง มีการเจรจาหลายระดับ เช่น การส่งสินค้าผ่านแดน การตรวจคนเข้าเมืองฯลฯ
นอกจากนี้ ในอนาคตสภาหอการค้าไทย จะเป็นองค์กรค้ำประกันภาษี กรณีส่งสินค้าจากไทยไปเวียดนามด้วยตู้คอนเทนเนอร์ จะไม่มีการเปิดตู้จนถึงปลายทาง แม้ผ่านสปป.ลาว ก็ไม่ต้องถูกเรียกเก็บภาษี แต่สินค้าจะไม่ถูกเปิดหรือสูญหายระหว่างทาง โดยที่สภาหอการค้าไทยทำหน้าที่ค้ำประกัน รถบรรทุกในแต่ละประเทศจะต้องขึ้นทะเบียนฝ่ายละ 400 คันเพื่อความสะดวกในเรื่องขนส่ง
ส่วนรถนักท่องเที่ยวอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อจะไม่ต้องจ่ายค่าประกันอุบัติเหตุในประเทศที่ผ่าน กรณีดังกล่าว สปป.ลาวกับเวียดนามผ่านข้อตกลง ทำให้รถส่วนตัวและรถบรรทุกวิ่งผ่านสะดวกขึ้น
ในส่วนภูมิภาคอย่างพิษณุโลกหรือเชียงราย หอการค้าจังหวัดนั้นๆ อาจได้รับมอบจากสภาหอการค้าไทย ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบในระดับองค์กรค้ำประกัน ย่อมเกิดขึ้นเร็วๆนี้ ขณะที่ภาคธุรกิจขนส่งของไทย อย่างนิ่มซี่เส็ง ก็เคยนำสินค้าการเกษตรผ่านขึ้นไปคุนหมิง ตามเส้นทาง R3a แทนการส่งไปยังทางเรือแหลมฉบัง เนื่องจากระยะทางและเวลาสั้นกว่า
นอกจากนี้ในภาพใหญ่ ของ East-West Economic Corridor ยังมีโครงการขยายถนนจาก 2 เป็น 4 เลน ในถนนเอเชียหมายเลข 12 สายพิษณุโลก-หล่มสัก ที่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว มูลค่า 3,500 ล้านบาท ระยะทาง 105 กิโลเมตรเพื่อรองรับการขนส่งขนาดใหญ่ จากฝั่งประเทศจีนตอนใต้ และพม่า ผ่านภาคอีสานของไทยก่อนไปท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม
แม้ไม่ได้รับเงินกู้จาก ADBแต่กรมทางหลวงให้งบประมาณปี 2553 จำนวน 900 ล้านบาท ขยายถนน 4 เลนจากอำเภอวังทอง จ.พิษณุโลกระยะทาง 20 กิโลเมตร และขยายถนน จาก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ระยะทาง 10 กิโลเมตร ส่วนถนนในช่วงตอนกลางๆ จะต้องรองบประมาณในปีต่อๆไป
ถนนตามแนว East-west Economic Corridor จากอำเภอแม่สอด จ.ตาก ถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ รวม 323 กิโลเมตร ดำเนินการขยายเป็น 4 เลนแล้วจำนวน 148 กิโลเมตร หรืออีก 175 กิโลเมตร
ล่าสุดงบไทยเข้มแข็งของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ปีงบประมาณ 2553-2555 ได้จัดสรรเม็ดเงินลงจังหวัดพิษณุโลกประมาณ 10,000 ล้านบาท แยกเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกือบ 4,000 ล้านบาท กระทรวงคมนาคม 2,000 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการประมาณ 2,000 ล้านบาท กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 34 ล้านบาท
ในส่วนของงบคมนาคมได้ขยายถนน 4 เลนจากงบกรมทางหลวงปกติเดิมออกไปใกล้เขตอ.นครไทย จ.พิษณุโลก บนเส้นทางถนน 12 พิษณุโลก-หล่มสัก มูลค่า 772 ล้านบาท
อปท.พิษณุโลกยังไม่ขยับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมองดูจังหวัดพิษณุโลกพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีกำลังงบประมาณ แต่กลับไม่มีความตื่นตัว ทั้งที่ผลการประชุมของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยกับกรรมการหอการค้าไทย เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2552 ระบุว่า พิษณุโลกควรเป็นเมืองที่เหมาะต่อการตั้งศูนย์กระจายสินค้า แต่ท้องถิ่นไม่รับรู้ ไม่ยอมสานต่อหรือเริ่มต้นโครงการ ก็ทำให้กระทรวงต่างๆของรัฐบาล ไม่รู้ว่าจะช่วยหรือสนับสนุนงบประมาณต่อได้อย่างไร
เขาบอกว่า ที่จริงแล้วศูนย์ถ่ายสินค้าหรือขนคนในระบบลอจิสติกส์ รัฐอาจเดินหน้าไปก่อน แม้งบประมาณ 10-20 ล้านบาทจะไม่พอ แต่สามารถนำเสนอรัฐบาลช่วยสนับสนุนผลักดัน เพราะลอจิสติกส์ไม่ใช่ดำเนินงานลำพังหน่วยงานเดียว จะต้องลงทุนหลายร้อยล้านบาท หลายหน่วยงาน เชิญผู้เกี่ยวข้องร่วมถกปัญหาและบูรณาการสี่แยกอินโดจีนที่ควรเป็น
ตามที่ ม.หอการค้าไทย ศึกษาวิจัย มองว่า อนาคตการตั้งศูนย์กระจายสินค้า เหนือสี่แยกอินโดจีนบนถนนหลวงหมายเลข(11) ผ่านขึ้นเหนือไปเชียงราย-เชียงใหม่ ลงทุนแล้วควรมีรายได้เกิดขึ้นในปีแรก ศูนย์กระจายสินค้า DC ควรอยู่สี่แยกอินโดจีน รถบรรทุกมาจากภาคอีสานผ่านไปทิศเหนือหรือตะวันตกได้สะดวก เนื้อที่รองรับไม่ต่ำกว่า 150 ไร่ สำหรับ จุดพักรถ
ขณะที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ระบุว่า การพัฒนารายได้และท่องเที่ยว ลำดับที่ 1.คือ ก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารและรับ-ส่งสินค้า บริเวณสี่แยกอินโดจีน ต.สมอแข อ.เมือง จ.พิษณุโลก เพื่อบริการประชาชนในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง งบประมาณ 80 ล้านบาท และศึกษาความเป็นไปได้ของระบบการขนส่งสินค้าและบริการลอจิสติกส์ เพื่อยกระดับเมืองพิษณุโลกรองรับการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน งบประมาณ 4 ล้านบาท
ทว่าโครงการศูนย์ลอจิสติกส์ ตามแผน 3 ปีของ อบจ.พิษณุโลก ศูนย์พักรถและกระจายสินค้า 4 จุดหรือ 4 มุมเมืองมูลค่าโครงการประมาณ 80 ล้านบาท ก็ถูกแช่แข็ง เพราะนายธวัชชัย กันนะพันธุ์ นายกอบจ.พิษณุโลกพ้นวาระไปก่อน
ขณะที่ นายทรงธรรม ฐิติปุญญา รองนายกอบจ.พิษณุโลก ซึ่งทำหน้าที่แทนนายก อบจ.พิษณุโลก (สุรินทร์ ฐิติปุญญา) นำทีมฝ่ายบริหารบรรจุแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว รอการผ่านสภาวาระ3 คือ การก่อสร้างพระพิฆเนศมูลค่า 20 ล้านบาท และก่อสร้างสนามฟุตซอล 40 แห่งๆละ1.9 ล้านบาท วงเงิน 80 ล้านบาท