xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกลโกงขบวนการฮุบป่าเชียงราย (จบ) - เดิมพันสูง-คดีมีตอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การรื้อฟื้นเอาผิดกับขบวนการทุจริตฮุบป่าเชียงราย ทั้งที่สวนป่ากิ่วทัพยั้ง และที่ออกโฉนดทับซ้อนพื้นที่สวนป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลองกำลังดำเนินอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกำลังจะมีการเข้าแจ้งความเอาผิดกับผู้กระทำผิดทั้งสองคดี โดยเฉพาะกรณีป่าแม่สลองนั้นมีทั้งข้าราชการระดับสูงในกรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ กรมที่ดิน รวมทั้งบริษัทเอกชนที่ครอบครองโฉนด
การบุกรุกป่าแม่สลอง มีทั้งชาวบ้านที่ปลูกพืชไร่ และกลุ่มนายทุนใหญ่ ที่ใช้วิธีแยบยล ในการให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่มีการทำเป็นขบวนการ
อย่างไรก็ตามในเวลาเดียวกัน ก็ปรากฏร่องรอยว่าการเอาผิดกับผู้สร้างความเสียหายให้ทรัพยากรของชาติคดีดังกล่าวอาจจะไม่ราบรื่นทีเดียวนัก เพราะนอกจากมูลค่าของที่ดินและป่าไม้อันมหาศาลแล้ว ยังหมายถึงเกียรติยศชื่อเสียงและตำแหน่งของผู้เกี่ยวข้องที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในวงราชการ

กรณีสวนหัวหน้าเอี้ยง ที่รุกเขตป่าสงวน ป่าดังกล่าวถูกกันออกมาเป็นสวนป่ากิ่วทัพยั้งอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ไม่ใช่กรมอุทยานฯ น่าสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมป่าไม้ที่รู้เรื่องนี้ดีโดยตลอดไม่ได้เข้าแจ้งความเอาผิดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี

ในพื้นที่กว่า 49 ไร่ของสวนหัวหน้าเอี้ยง มีการปลูกสร้างอาคารหลังใหม่เพิ่มเติมกลายเป็น 5 หลัง ที่แปลงดังกล่าวยังคงประกาศโดยติดป้ายด้านหน้าว่าผู้ที่ครอบครองคือ นายเป็ง คำวัง และยังใส่ชื่อนายเป็งในการตรวจสอบรอบแรกว่าเป็นเจ้าของเอกสาร น.ส.3

แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ลงลึกในรายละเอียดพบว่านายเป็งเอง แม้กระทั่งบ้านที่ซุกหัวก็ยังหาแทบไม่ได้ ไม่มีงานการเป็นหลักแหล่ง แต่ก็มีเงินปลูกสร้างอาคารและสวนใหญ่โตมาเป็นลำดับ จึงน่าเชื่อว่านายเป็งถูกอุปโลกน์ขึ้นมาครอบครองที่ดินแทนผู้อื่น

ที่สำคัญยังพบว่าที่สวนดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวข้องโดยตรงกับสวนป่ากิ่วทัพยั้งดูแลอยู่

เท่ากับว่าข้าราชการไปดูแลสมบัติของผู้บุกรุกที่ป่าของรัฐเสียเอง คณะกรรมการสืบสวนของตำรวจภูธรภาค 5 จึงปักใจว่ามีคนของรัฐที่คอยช่วยเหลือผู้กระทำผิดรายนี้ จึงต้องใช้วิธีแจ้งความดำเนินคดีเองโดยไม่พึ่งพากรมป่าไม้

ขณะที่กรณีขบวนการออกโฉนดทับซ้อนพื้นที่สวนป่าแม่สลองยิ่งซับซ้อนขึ้น เพราะรายชื่อผู้ถือครองโฉนดในนามบริษัทเอกชนนั้นล้วนแต่เป็นผู้มีชื่อเสียง เคยเป็นนักการเมืองใหญ่ระดับชาติมาก่อน ขบวนการทุจริตที่เริ่มจากการออกโฉนดทับที่ป่าของรัฐเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินโดยตรง

การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ได้เชิญผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ต.ป่าซาง อ.แม่จันรายหนึ่งมาให้ปากคำพบหลักฐานชัดเจนว่ามีการทำเอกสารปลอมว่าสภาตำบลป่าซางมีมติให้รับรองรายชื่อผู้ขอออกโฉนด 47 คนเมื่อปี 2534 เพราะสภาตำบลป่าซางเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อปี 2539

มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในยุคนั้นร่วมทุจริตโดยทำเอกสารรับรองแนวเขตไปประกอบการออกโฉนด ซึ่งต่อมามีการตรวจพบและสำนักงานป่าไม้จังหวัดได้มีหนังสือแจ้งกรมที่ดินเรื่องเอกสารปลอมไปแล้วเมื่อปี 2536

ทั้งสองกรณีชัดเจนว่าการออกโฉนดแปลงใหญ่ขนาดกว่า 5 พันไร่ในเขตดังกล่าวมีพิรุธแต่เจ้าพนักงานที่ดินในพื้นที่แต่ละยุคสมัยเพิกเฉยมาโดยตลอด

สำหรับกรมป่าไม้ ที่ต่อมาแยกเป็นกรมอุทยานฯ ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตสืบเนื่องกันมาโดยเฉพาะการรับรองการขออนุญาตขึ้นทะเบียนสวนป่าเอกชนและรับรองราษฎรในโครงการปลูกป่าเศรษฐกิจในปี 2540 ตรงกับที่ นายดำรงค์ พิเดช เป็นป่าไม้จังหวัดเชียงราย เพราะหากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ยึดหนังสือ 10 มิถุนายน 2536 ส่งไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาแม่จันเรื่องพบเอกสารปลอม เป็นท่าทีแสดงชัดเจนว่ากรมป่าไม่ไม่ยอมรับการออกโฉนดทับที่สวนป่าของรัฐ แต่กลับมีการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนสวนป่าได้ ทำให้เอกชนได้ประโยชน์จากเงินอุดหนุนของรัฐเพิ่มขึ้นอีก

การที่มีข้าราชการระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีนี้จำนวนมาก หลายรายเติบโตในหน้าที่ตำแหน่งการงานและเกี่ยวข้องกับผู้มีตำแหน่งทางการเมืองทำให้คดีนี้ถูกทำให้ชะงักงันมาหลายรอบ แม้ล่าสุดมีความพยายามชงเรื่องขึ้นใหม่รับจากปี 2551 เป็นต้นมา ก็ยังไม่ลื่นไหลมากนัก

นายวรวิทย์ เชื้อสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) ซึ่งเคยได้รับแต่งตั้งเป็นร่วมคณะกรรมการสอบเรื่องนี้เมื่อปี 2551 เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนหน้านี้ว่า ตนเชื่อว่ามีการดึงเรื่องไม่ให้ถึงมือปลัดกระทรวงฯ

หากเป็นดังคำที่นายวรวิทย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ก็น่าเชื่อว่ามีขบวนการช่วยเหลือผู้กระทำผิดอยู่ภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจริง

เมื่อสอบปมของป่าแม่สลองลึกลงไปยิ่งพบว่า มีความเกี่ยวข้องกับนักการเมืองระดับนโยบายและข้าราชการที่สูงกว่าอธิบดี ที่พยายามจะทำให้สภาพปัญหาซับซ้อนขึ้น พยายามโยนเรื่องไปยังหน่วยงานที่ไม่รู้ที่มาที่ไปของปัญหา

ในสมัยของ นายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้อ้างมติครม.3 มีนาคม 2534 โอนแปลงปลูกป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลอง ไปให้กับ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ผู้ที่ดำเนินการเรื่องนี้มีตำแหน่งสูงกว่าอธิบดีในกรมทรัพยากรธรรมชาติฯ

นี่เป็นเหตุบังเอิญหรือไม่ยากพิสูจน์ได้ เพราะการโอนปัญหาเรื้อรังที่คนในวงการป่าไม้เชียงรายและกรมที่ดินรู้กันดีไปให้หน่วยงานใหม่รับต่อ กว่าที่หน่วยงานใหม่จะสะสางข้อมูลมีความเป็นไปได้สูงมากที่การกระทำผิดบางอย่างจะหมดอายุความลง

แต่ที่สุดแล้ว อ.อ.ป.ก็ไหวตัวทันไม่สามารถจะรับมอบแปลงปลูกป่า 6,650ไร่ ที่มีเอกชนถือโฉนดครอบทับถึง 5,481 ไร่ได้ แต่เมื่อส่งคืนกลับมาให้กรมป่าไม้ดังเดิมทางกรมป่าไม้ก็ไม่ได้ขยับตัวเพื่อจะแก้ปัญหาหรือเพื่อดำเนินคดีกับผู้บุกรุกแต่อย่างใด

ล่าสุดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 จะให้ผู้สืบสวนข้อเท็จจริงกล่าวโทษดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด ณ สถานีตำรวจภูธรท้องที่ที่พบการทุจริต

กรณีขบวนการออกโฉนดในแปลงส่วนป่าแม่สลอง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 มีความเห็นให้ดำเนินคดีกับ

1.บริษัทไฮแลนด์รีสอร์ท จำกัดและบริษัท ไพน์เลคฮิลล์ จำกัด
2.นายบุญเลิศ เคลื่อนเพชร เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายสาขาแม่จัน กับพวก
3. นายดำรงค์ พิเดช ป่าไม้จังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2540
4. นายพินิจ บัวแดง ป่าไม้อำเภอแม่จัน พ.ศ. 2541
5. นายวิสุทธิ์ ถาวร ป่าไม้อำเภอแม่จัน
6.นายสุเทพ ไชยนิลวงศ์ ป่าไม้อำเภอแม่จัน

หากมีการแจ้งความเอาผิดจริง น่าจะถือว่าการดำเนินคดีรอบนี้เป็นรอบที่ 2 ที่เจ้าพนักงานตรวจพบการกระทำผิดใหม่และกระทำผิดต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

อนึ่ง การปลอมแปลงโฉนดทับที่สวนป่าราชการแม่สลองบางส่วนบางแปลง เคยมีการดำเนินคดีไปแล้วรอบหนึ่งจากฝ่ายปฏิบัติการ 3 ส่วนปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ตามคดีที่ 6/2540 แต่เจ้าพนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายสั่งไม่ฟ้อง และยุติการดำเนินคดี เพราะผู้ต้องหาบางคนเสียชีวิต และยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาบางรายเพราะขาดอายุความ และสั่งไม่ฟ้องกับผู้ต้อง 4 ราย

แต่สำหรับรอบนี้คณะกรรมการสืบสวนได้พยานหลักฐานใหม่ ๆ และการกระทำผิดที่ต่างไปจากเดิม เช่น การพบว่ามีการสร้างหลักฐานเท็จกรณีมติที่ประชุมสภาตำบลฯ และยังพบว่าการตั้งคณะกรรมการสอบในบางยุคบิดเบือนข้อเท็จจริงช่วยเหลือพวกพ้อง เช่นวิเคราะห์ว่าที่ดินอยู่นอกเขตป่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ถูกกล่าวหา ดังตัวอย่างการตั้งกรรมการสอบบังหน้าเพื่อฟอกผิดให้พวกพ้องขนาดที่เอาคนตายมาสมอ้างเป็นผู้บุกรุกก็ได้รับการพิสูจน์แล้ว
นี่คือมรณะบัตรของผู้ที่เสียชีวิตเมื่อปี 2540 แต่ถูกเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติใช้เล่ห์กลเข้าช่วยเหลือ ข้าราชการพวกเดียวกันที่กระทำผิด ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของความยากในคดี
กำลังโหลดความคิดเห็น