xs
xsm
sm
md
lg

พท.เดินแผนบล็อกประชามติอ้างกม.ขัดรธน.จ่อยื่นตีความ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่ายในวันที่ 1 ต.ค.นี้ เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังคงมีความขัดแย้งกันอยู่ว่า กำลังรอให้นายชินวรณ์ บุญเกียรติ ประธานวิปรัฐบาลที่จะพูดคุยกับพรรคร่วมและฝ่ายค้านก่อน ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าจะสามารถนัดกับทางวุฒิสภาได้หรือยัง สำหรับตนนั้นยินดีที่จะพูดคุยในสัปดาห์นี้ได้เลย เพียงแต่รอให้ทุกฝ่ายพร้อมเท่านั้น
ส่วนกรณีที่สถาบันการเงินมูดดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส มองเศรษฐกิจไทยมีปัญหาจากการเมืองว่า นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าต้องอยู่ที่ทุกฝ่ายที่ไม่ทำให้การเมืองเป็นปัญหาหรืออุปสรรค ตนย้ำไปหลายครั้งว่า สิ่งที่รัฐบาลทำคือพยายามเดินหน้า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลๆ ก็พยายามเอาข้อเรียกร้อง ข้อห่วงใยมา เช่น เรื่องรัฐธรรมนูญ มาเดินหน้า อยากจะเห็นทุกคนให้ความร่วมมือให้ปัญหาต่างๆ เดินหน้าไปได้ จริงๆ แล้วการวิเคราะห์ หลายฝ่ายก็พูดมาตลอด ภาคธุรกิจไทยก็พูดว่า อยากให้การเมืองให้โอกาสแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องเรียกร้องกับทุกฝ่ายช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้

ปชป.หนุนทำประชามติแก้รธน.
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ที่ประชุมส.ส. พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับแนวทางการทำประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับความคิดของเสียงส่วนใหญ่ เพราะเห็นว่าหากให้มีการตั้ง ส.ส.ร. หรือคณะทำงานพิเศษขึ้นมาก็ต้องจบด้วยการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งเป็นโอกาสยากที่ทุกคนจะเข้ามามีส่วนร่วมทั้งหมด และสามารถนำไปสู่ข้อขัดแย้งได้ อีกทั้งการเปิดให้ทำประชามติเป็นการเปิดกว้างของระบอบประชาธิปไตยโดยตรง
ที่ผ่านมากลุ่มเสื้อแดงอ้างมาตลอดว่ารัฐธัฐธรรมนูญปี 50 ไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าสามารถทำประชามติได้ก็จะขับเคลื่อนให้ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้ อีกทั้งการทำประชามติในแต่ละประเด็นเป็นการตอบคำถามง่ายๆ ตรงไปมาที่สุด ส่วนจะให้คณะกรรมการสมานฉันท์เป็นผู้ร่างแบบสอบถาม หรือใครก็แล้วแต่ พรรคไม่ติดใจ แต่ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นหัวเรือใหญ่ชูธงประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยให้ประชาชาทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม
ส่วนที่ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีออกมาพูดถึงการทำประชามิตเป็นการชี้นำสังคมนั้น นพ.วรงค์กล่าวว่า ในทางการเมืองหากนายกฯไม่พูดอะไรเลยก็ถุกกล่าวหาว่าพยายามยืดเวลา แต่เมื่อพูดแล้วก็หาว่าชี้นำสังคม ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องถูกวิจารณ์อยู่แล้ว ดังนั้นการทำประชามติน่าจะเป็นทางออกที่ทุกคน มีส่วนเข้าร่วมได้ อย่างไรก็ตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะถ้าทำได้ง่ายคงจะแก้ไขได้ไปตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช แล้ว

เนวินเอาด้วยทำประชามติ
นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เห็นด้วยต้องมีการทำประชามติ เพราะอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ผ่านการ ทำประชามติ แต่ควรทำประชามติหลังจากที่ผ่านการพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 1 เพื่อให้เห็นตัวร่างที่จะแก้ไขก่อนว่ามีกรอบอย่างไร เพราะหากทำประชามติ ตามข้อเสนอทั้ง 6 ของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนคงไม่รู้ว่าแก้ตรงไหนบ้าง ส่วนการแก้ไขมาตรา 237 เห็นว่าต้องกำหนดให้ชัดว่าแก้แล้ว มีผลย้อนหลังกับคณะกรรมการบริหารพรรค ที่ถูกตัดสิทธิหรือไม่ เพราะจะได้ไม่ต้องมีปัญหาถกเถียงกันถึงตัวบุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองก่อนหน้านี้

พท.จ้อยื่นศาลรธน.ตีความกม.ประชามติ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังประชุมพรรคว่า ตนได้หารือในที่ประชุมพรรคถึงกรณีการลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการประชามติ ตามที่คณะกรรมาธิการร่วมสองสภาได้พิจารณานั้น เห็นว่าเป็นการลงมติที่ไม่ชอบโดยกระบวนการอาจขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาและขัดต่อรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากหลังจากที่มีการลงมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการประชามติเรียบร้อยแล้ว นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล ได้เสนอขอนับคะแนนใหม่เพราะเห็นว่า คะแนนก่ำกึ่ง ทำให้ตนและฝ่ายค้านท้วงติง อาจมีปัญหา แม้ว่านายชินวรณ์ ได้ขอถอนไป แต่นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ ซึ่งทำหน้าที่ประธานกลับให้มีการลงมติใหม่อีกครั้ง ซึ่งโดยข้อบังคับการประชุม หากลงมติใหม่จะต้องใช้วิธีการขานชื่อ ดังนั้น ที่ประชุมพรรคจึงมีมติมอบหมาย ให้ตนเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความเรื่องกระบวนการลงมติ พ.ร.บ.ประชามติ ประกบไปกับร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่จะมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอยู่แล้ว
เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหญ่กระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากรัฐบาล บอกว่าจะทำประชามติ จะต้องอาศัยกฎหมายประชามติในการรองรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และหากศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยว่ากระบวนการลงมติ พ.ร.บ.ประชามติ ไม่สมบูรณ์ องค์ประกอบของเสียงไม่ครบและไปขัดกับรัฐธรรมนูญ ม. 302 เนื่องจาก มติครั้งแรกได้เสียงเพียง 238 ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภา ศาลรัฐธรรมนูญก็จะยับยั้ง พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้เวลา 180 วัน ตรงนี้จะทำให้การแก้ไขจะยิ่งยืดเยื้อไปอีก

สมเกียรติ่ยื่นญัตติแก้รธน.6ประเด็น
นายสมเกีรยติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน แกนนำผลักดันญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอ กล่าวว่าขณะนี้เตรียมร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็นที่ได้แก้ไขปรับปรุงไว้เรียบร้อยแล้ว และรวบรวมรายชื่อ ส.ส. ไว้ 106 คนส่วน ส.ว. กำลังรวบรวมรายชื่อให้ได้ครบ 1 ใน 5 ทั้งนี้ขอรอดูผลการประชุมวิป3ฝ่ายในวันที่ 1 ต.ค.ก่อนถ้าได้ข้อยุติที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ก็จะเอาด้วย แต่ถ้าไม่มีข้อยุติอีกและมีการผลัดผ่อนไปเรื่อยๆ หรือไม่มีแนวทางตามที่ตกลงกันไว้พวกตนก็จะยื่นร่างนี้ให้นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาต่อไป เพราะถ้านายกฯทำไม่ได้ควรให้อิสระรัฐสภาที่จะทำ โดยนายกฯไม่ต้องกังวล ถ้าร่างญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพวกตนรัฐสภาไม่เอาด้วยนายกฯก็ไม่เสีย แต่ถ้าผ่านก็เดินต่อไปแก้เสร็จแล้วก็ไม่ต้องยุบสภาเพราะเรื่องแก้รัฐธรรมนูญกับ เรื่องยุบสภามันคนละเรื่องกันนายกฯอย่าเอามาปนกันเรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องส่วนรวมของประเทศ ส่วนเรื่องยุบสภาเป็นเรื่องฝ่าบริหารและนิติบัญญัติขัดแย้งกัน ซึ่งไม่มีข้อผูกพันใดว่าแก้แล้วต้องยุบ ถ้าประชาชนยังชอบรัฐบาลว่าแก้ปัญหาได้ และพรรคร่วมก็อยู่กันต่อไปได้ก็อยู่ต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลต้องการ 6 ร่างแต่ต้องทำประชามติก่อนส่วนฝ่ายค้าน ต้องการร่างเดียวและไม่ต้องการประชามติ ซึ่งเป็นเงื่อนที่ตกลงกันไม่ได้ นายสมเกียรติ กล่าวว่า ตนก็จะยื่นร่างเดียว 6 ประเด็นไม่ต้องทำประชามติ แต่แก้เสร็จแล้ว ไม่ต้องยุบสภาเดิมใจตนอยากให้ทำประชามติ แต่เมื่อตัวรัฐธรรมนูญเองไม่ได้กำหนด ให้การแก้รัฐธรรมนูญต้องผ่านประชามติ จึงทำไม่ได้ และ 6 ประเด็นที่จะแก้ไม่มีอะไรใหญ่โตเกินเลย เพราะในการทำประชามติจะต้องเสียเงิน 2 พันล้านบาท นายกฯ เอาเงื่อนไขประชามติเข้ามาเพราะกังวลว่าจะถูกบีบให้ยุบสภาหลังแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ ทางเลือกที่ตนเสนอก็น่าจะเป็นทางออกได้ เพราะเป็นเรื่องที่สภาทำกันเอง

ปชป.ปัดนายกฯชี้นำการเมือง
นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และสามารถอธิบายต่อทุกฝ่ายได้คือ การทำประชามติ แต่การที่นายวิทยา บูรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าการที่นายกฯเสนอให้ทำประชามติเป็นการชี้นำทางการเมมืองนั้น ตนขอเรียนว่านายกฯไม่ได้ชี้นำ แต่ต้องการแสดงจุดยืนให้สังคมเห็นว่าท่านมีความเห็นอย่างไร ถ้าคนส่วนใหญ่จะเห็นแตกต่างจากนายกฯก็เป็นสิทธิ แต่ท่าทีในฐานะผู้นำประเทศต้องชัดเจน มีจุดยืน ซึ่งนายกฯ ก็ไม่ได้ผูกขาดหรือปิดกั้นไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์คนที่เห็นแตกต่างกับนายกฯ ผมเห็นว่าการทำประชามติน่าจะเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนยอมรับได้ วันนี้ถ้าใคร ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ และหากจะรวบรัดการแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน หรือไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ก็เป็นความคิดที่สุดขั้วเกินไป
ส่วนที่พรรคเพื่อไทยออกมาระบุในลักษณะที่ว่า การทำประชามติอาจจะขัดรัฐธรรมนูญและจะมีการถอดถอนนายกฯ นั้น นายเทพไท กล่าวว่า ความจริงแล้วยังไม่มีกฎหมายมาตราใดที่จะถอดถอนนายกฯ ได้ เพราะเรื่องการทำประชามติ เป็นเรื่องที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ม.165 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่ ครม. เห็นว่า เรื่องใดที่อาจจะกระทบต่อผลประโยชน์ได้เสียของประเทศและประชาชน นายกฯ โดยความเห็นชอบของ ครม. ก็อาจจะปรึกษาสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีการออกเสียงประชามติได้ แต่เข้าใจว่า พรรคเพื่อไทยคงจะไปดูในวรรค 3 ที่บอกว่า การทำประชามติออกเสียงเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบในกิจการที่จัดให้ออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับตัวบุคคล หรือคณะบุคคลจะกระทำไม่ได้ แต่ตนขอเรียนว่า เรื่องการออกเสียงประชามติไม่ใช่เป็นเรื่องความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือต่อบุคคล แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องการฟังความเห็นของประชาชนว่าเป็นไปในแนวทางใด

ชี้แค่ฟันความเห็นปชช.หาข้อยุติไม่ได้
ส่วนที่มองกันว่าการทำประชามติจะสิ้นเปลืองโดยพรรคเพื่อไทยเสนอให้โหวต ความเห็นผ่านโทรทัศน์ หรือการแสดงความเห็นผ่านสมัชชาประชาชนนั้น นายเทพไท กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นแนวทางรับฟังความคิดเห็นแบบคร่าวๆ ซึ่งไม่สามารถหาข้อยุติ และข้อสรุปที่ชัดเจนได้ว่าประชาชนต้องการอะไร และวิธีการรับฟังความเห็นในลักษณะดังกล่าวเป็นการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งอาจมีข้อโต้แย้งจากบางฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าคำตอบที่ดีที่สุดและตรงที่สุดคือ การทำประชามติ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่ม 40 ส.ว.เป็นห่วงว่าการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจทำให้สังคมแตกแยกอีกครั้งหนึ่ง นายเทพไท กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังความเห็นของประชาชนก็อาจจะเป็นเงื่อนไขในการสร้างความขัดแย้งได้ แต่วันนี้ หากมีการทำประชามติและยึดผลจากการทำประชามติมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่า คนในสังคมยอมรับได้ ดังนั้น จึงไม่น่าจะเกิดความแตกแยก เพราะการทำประชามติ สามารถป้องกันความแตกแยกที่จะเกิดขึ้นในสังคมได้
เมื่อถามว่า มีการมองว่า 6 ประเด็นที่กำลังจะแก้เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง เช่น ม. 237 นายเทพไท กล่าวว่า หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า 6 ประเด็น ที่เสนอแก้เป็นประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง ประชาชนก็มีสิทธิลงประชามติ ไม่เห็นด้วย เมื่อเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น เรื่องดังกล่าวก็ตกไป และหากเห็นด้วยในประเด็นใดก็แก้ไขในประเด็นนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่จะรับฟังความเห็นจากประชาชนโดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น