xs
xsm
sm
md
lg

วิป3ฝ่ายแก้รธน.6ประเด็น พันธมิตรฯยันถอดถอน สภาผ่านกม.ประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 12.00 น. วานนี้ (23 ก.ย.) ที่รัฐสภา นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล พร้อมด้วย นายประเกียรติ นาสิมมา ตัวแทนวิปฝ่ายค้าน และ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ตัวแทนวิปวุฒิฯ ร่วมแถลงข่าวหลังการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย โดย นายชินวรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามกรอบข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น
ส่วนกรอบการดำเนินการ และรายละเอียดในการแก้ไขนั้น ให้แต่ละฝ่ายกลับไปหารือก่อนที่จะกลับมาหารือนอกรอบกันอีกครั้ง ในวันที่ 24 ก.ย. เวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา จากนั้นจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ภายหลังกลับจากสหรัฐอเมริกา

**ไม่พูดถึงการตั้ง ส.ส.ร.3
ด้านพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กล่าวว่า ความคิดของนายกรัฐมนตรี กรณีการตั้งส.ส.ร.นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเหมือน ส.ส.ร.1 หรือ ส.ส.ร. 2 แต่หมายถึงการดำเนินการแบบ ส.ส.ร.เร่งด่วน ที่อยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่ประกอบด้วย ส.ส. ส.ว. นักวิชาการ ตัวแทน ส.ส.ร. 40 และ ส.ส.ร.50 ที่จะดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ
ส่วนการแก้ไข มาตรา 291 เพื่อให้เกิด ส.ส.ร.3 นั้นไม่มีการพูดถึงแต่จะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อบรรยากาศทางการเมืองเอื้ออำนวยเท่านั้น เช่น หากสภาหมดอายุ หรือมีการเลือกตั้งใหม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเห็นของ พล.อ.เลิศรัตน์ ถือเป็นมติร่วมหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว การตั้ง ส.ส.ร.3 นั้นยังไม่มีการหารือกัน ในที่ประชุมมีข้อเสนอเรื่องการทำประชามติ และการตั้งคณะกรรมการอิสระ เพื่อยกร่างกฎหมาย แต่จะมีความชัดเจนอีกครั้ง ในการประชุมนอกรอบวันที่ 24 ก.ย.
ส่วนจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ส.ส. และส.ว.จะร่วมมือดำเนินการตามมติของวิป 3 ฝ่าย นายชินวรณ์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างให้การบ้านพรรคการเมืองไปทำ ส่วนการดูว่า จะมีความร่วมมือแค่ไหนนั้น ต้องดูรายชื่อ ส.ส.และส.ว. ที่มาร่วมลงชื่อเพื่อยื่นญัตติด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าวิป 3 ฝ่าย จะใช้กลไกสภาในการแก้ไข โดยปฏิเสธที่จะใช้ ส.ส.ร.ใช่หรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ตรงนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุป ในส่วนของประเด็น ส.ส.ร. หรือคณะกรรมการอิสระนั้น จะให้แต่ละฝ่ายไปหารือกันอีกครั้งเพื่อความรอบครอบ

**รวบรัดทำร่างเดียว 6 ประเด็น
ขณะที่นายประเกียรติ นาสิมมา กล่าวว่า ที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เห็นตรงกันว่า ต้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ทุกฝ่ายจะลงชื่อร่วมกันเพื่อเสนอ ส่วนประเด็นอื่น หรือกระบวนการต่างๆ นั้นให้แต่ละฝ่ายไปหารือกันอีกครั้ง ในส่วนของการทำประชามติ ที่นายกรัฐมนตรีพูดนั้น เป็นเพียงความคิดเท่านั้น ยังไม่มีอะไรแน่ชัด สำหรับการตั้ง ส.ส.ร. 3 นั้นที่ประชุมไม่ได้มีการหารือกัน
สำหรับกระบวนการ หรือวิธีการในการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายประเกียรติกล่าวว่า เมื่อวิป 3 ฝ่ายเห็นพ้องกันแล้วว่าจะแก้ไขใน 6 ประเด็น วิปฝ่ายค้าน ก็ได้เสนอแนวทางการแก้ไข คือ จะทำร่างแก้ไขทั้ง 6 ประเด็น ให้เป็นร่างเดียว แล้วให้ทุกฝ่ายร่วมลงชื่อเห็นด้วย จากนั้นจะใช้เสียงของสมาชิกรัฐสภาจำนวน 1 ใน 5 เสนอเข้าสู่การพิจารณาในสภา คิดว่าหากทำแบบนี้จะดีกว่าการที่วิปรัฐบาลเสนอการแก้ไขแบบเป็น 6 ประเด็น 6 ร่าง เพราะเมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องกันแล้วว่าจะแก้ทั้ง 6 ประเด็น ก็ไม่ควรที่จะแยกเป็น 6 ร่าง เมื่อทำอย่างนี้แล้วปัญหาทุกอย่างก็จะจบได้

**ยันฝ่ายค้านไม่เอา ส.ส.ร.3
นายประเกียรติ กล่าวอีกว่า เราไม่กลัวว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็นที่จะทำเป็นร่างเดียวนั้น จะถูกตีตกในการประชุมสภา เพราะหากทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล และวุฒิสภาสามารถคุมเสียงได้ ก็ไม่มีปัญหา แต่อย่าปล่อยให้ฟรีโหวตก็แล้วกัน ทุกอย่างก็จะจบได้ ใครไม่เห็นด้วยในมาตราไหน ประเด็นไหน ก็แก้ไขในชั้นแปรญัตติได้ นอกจากนี้ ที่เราจะเสนอในการประชุมวิป 3 ฝ่ายครั้งต่อไปคือ เมื่อมีการแก้ไขทั้ง 6 ประเด็นแล้วจะต้องยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ทันที แต่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นข้อเสนอที่สวนทางกับฝ่ายรัฐบาลอย่างแน่นอน ซึ่งถ้าหากรัฐบาลไม่เอาด้วย แล้วเราจะร่วมด้วยต่อไปหรือไม่นั้นคงต้องหารือกันอีกครั้ง ส่วนเรื่องการตั้ง ส.ส.ร.3 เราไม่ร่วมด้วยอย่างแน่นอน

**ส.ว.อัดวิปวุฒิด่วนสรุปความเห็น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่าย ได้มีการประชุมวิปวุฒิฯเพื่อแจ้งให้ทราบถึงมติของวิป3 ฝ่ายที่จะเสนอแก้ไขรธน.ใน 6 ประเด็น ทำให้ส.ว.บางส่วนเสนอความเห็นคัดค้านกับแนวทางดังกล่าว ในที่สุดได้ข้อยุติว่า จะส่งเอสเอ็มเอสให้ ส.ว. รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ระดมโทรศัพท์ไปแจ้ง เพื่อสอบถามใน 3ประเด็น ว่า 1.เห็นด้วยหรือไม่ว่าจะแก้ 6 ประเด็น 2.ให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเป็นผู้ยกร่างหรือไม่ และ 3. เห็นด้วยว่า จะให้ทำประชามติด้วยหรือไม่ โดยให้ตอบกลับมาก่อนเที่ยงวันที่ 24 ก.ย. เพื่อให้ตัวแทนวิปวุฒิ ไปแจ้งกับวิป 3 ฝ่าย ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ใครไม่ตอบกลับมาถือว่า เห็นด้วย

**ประชามติเป็นคำตอบสุดท้าย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามในเว็บไซต์ นายกรัฐมนตรีไทย(www.pm.go.th ) ที่ประชาชนโพสต์ตั้งคำถาม และไม่เห็นด้วยที่จะมีการแก้รัฐธรรมนูญปี 50 ที่เอื้อประโยชน์แก่ประชาชน ไม่ให้ถูกนักการเมืองโกงกิน อีกทั้งยังมีคนแค่ไม่กี่คนมาแก้ แต่อยากให้แก้ที่คุณธรรม กับจริยธรรมนักการเมืองดีกว่า ว่า ยืนยันว่าตนเห็นด้วยในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมว่าทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองด้วยกันเอง จะปรับปรุงสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร เพื่อให้ระบบการเมืองเป็นระบบที่ดี มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี การแก้รัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าก็มีเหตุมีผลในบางประเด็น อีกทั้งมีหลายฝ่ายเรียกร้อง และมีการศึกษามา ฉะนั้นข้อเสนอของตนที่เป็นทางออกขณะนี้ คือ ตั้งคณะกรรมการไปศึกษามากี่ประเด็นก็แล้วแต่ ก็ให้เสนอไปแก้ไข แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า เป็นการแก้ไขที่ประชาชนเห็นด้วยจริงๆ ก็นำไปสู่การทำประชามติ หมายความว่า ถ้าประชาชนอยากให้แก้จริง ก็แก้ได้ แต่ถ้าประชาชนไม่อยากให้แก้ การแก้ไข ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เชื่อว่าน่าจะเป็นทางออกและคำตอบที่ดีที่สุด
**แก้เมื่อไรเจอยื่นถอดถอนทันที
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้ ส.ส.-ส.ว.ควรล้มเลิกความคิดในการแก้ไขรธน.ได้แล้ว เพราะสังคมไม่เชื่อ และไม่มั่นใจว่าการแก้ไขรธน.โดยสภาชุดนี้ จะเป็นทางออกให้กับปัญหาบ้านเมือง เพราะรัฐสภาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง และแตกแยกอย่างปฏิเสธไม่ได้
"ต้นทุนความน่าเชื่อถือของสภาชุดนี้ ต่ำเกินกว่าจะเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรธน. และผมเชื่อว่ากระบวนการแก้ไขรธน.โดยสภาชุดนี้ จะไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในวงกว้าง และจะกลายเป็นสายล่อฟ้า ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนมากขึ้นไปอีก"
นายสุริยะใส ยังคงยืนยันจุดยืนของพันธมิตรฯว่า ยังเป็นจุดยืนเดิม คือคัดค้านการแก้ไขรธน. โดยเฉพาะการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง และหากมีการยื่นญัตติแก้ไขใน 6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เราจะริเริ่มเข้าชื่อถอดถอนทันที
"หาก ส.ส.-สว. กล้าจริงไม่กลัวถูกถอดถอน ครั้งนี้ก็อย่าถอนชื่อออกจากญัตติ" นายสุริยะใสกล่าว และว่าปัญหาเรื่องนี้ อยู่ที่นักการเมืองไม่ยอมปฏิรูปตัวเอง มีแต่จะรื้อระบบให้เข้ากับตัวเอง ไม่คิดปรับตัวเองให้เข้ากับระบบ

**สภาผ่านร่างกม.ประชามติ
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวานนี้(23 ก.ย.) มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับการไปยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2541 แล้วมาออกกฎหมายใหม่ในลักษณะเดียวกันอีก ขณะที่กมธ. ชี้แจงว่า เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่แล้ว กฎหมายประกอบฯ เดิมที่มีอยู่ ต้องถูกยกเลิกไปด้วย
น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กมธ.มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ และการแก้ไข มาตรา 4 ที่ กมธ.ร่วมฯ ตัด "หน่วยงานของรัฐ" ออกไป ที่ทั้งสองสภาไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีสิทธิไปแก้ไขหรือไม่ รวมถึง 7 ประเด็น ที่กมธ.ร่วมกัน ไปเห็นชอบกับการแก้ไขของวุฒิสภา แล้วนำมาเป็นร่างร่วม อาทิ คำปรารภ วุฒิสภาแก้ไขให้เป็น ให้มี พ.ร.บ.ประกอบฯ ว่า ด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 18 ในร่างเดิม ไม่ได้ห้ามผู้ขัดขวางการออกเสียงออกจากหน่วยเลือกตั้ง แต่ร่างที่แก้ไขเขียนไว้แคบเกินไป โดยให้กรรมการประจำหน่วย ออกเสียงมีอำนาจสั่งให้ผู้ขัดขวางนั้นออกไปจากที่ออกเสียงได้ ส่วนในมาตรา 37 ร่าง เดิมระบุว่า หากพบว่าการออกเสียงในหน่วยเลือกตั้งนั้นไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้ กกต.มีคำสั่งให้ดำเนินการออกเสียงใหม่ไม่ช้ากว่า 60 วัน แต่ในร่าง ของ กมธ. แก้ไขเหลือเพียง 30 วัน แล้ว กกต. สามารถทำได้ทันหรือไม่ การเขียนกฎหมายอย่างนี้ เป็นการล็อกเวลาเกินไปหรือไม่ เพราะการดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัยต้องใช้เวลา
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ประธาน กมธ. ชี้แจงว่า การตัดมาตรา 3 ออก กมธ.พูดคุยประเด็นนี้กันนาน แต่รัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 302 ระบุไว้เพียง 4 กฎหมายประกอบฯ ที่ให้คงไว้หลังการประกาศใช้รธน. 50 คือ พ.ร.บ.ประกอบฯ ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542 , พ.ร.บ.ประกอบฯ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 , พ.ร.บ.ประกอบฯ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 และพ.ร.บ.ประกอบฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ส่วนวรรคท้ายของมาตรานี้ ได้เขียนให้กกต.ดำเนินการจัดทำกฎหมายประกอบฯ ว่า ด้วยการออกเสียงประชามติ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้
นายประกอบ รัตนพันธุ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กมธ.ชี้แจงว่า กมธ.ร่วมกันจำเป็นต้องดูกฎหมายทั้งฉบับ เพื่อให้มีข้อความสอดคล้องกัน และได้พิจารณาเห็นตรงกันว่า กมธ.มีอำนาจแก้ไขในประเด็นไที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ไม่ได้แก้ไขหรือไม่ ซึ่งพบว่า ไม่มีกฎหมายใดห้ามไว้
ทั้งนี้หลังจากได้เปิดโอกาสให้สมาชิกแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ที่กมธ.ร่วมกันของทั้งสองสภาฯได้แก้ไขอย่างกว้างขวาง ในที่สุดที่ประชุมก็มีมติให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 238 ต่อ 55 งดออกเสียง 6 ไม่ลงคะแนน 4
โดยนายชัย ชิดชอบ ประธานสภา กล่าวต่อที่ประชุมว่า จากนี้ก็จะส่งร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อมีการประกาศผลคะแนนซึ่งเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งมาเพียงเสียงเดียว ทำให้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ได้ทักท้วงให้มีการนับคะแนนใหม่ โดยอ้างว่า เกิดความสับสนในการลงคะแนน ที่มีสมาชิกขอเพิ่มชื่อ ทำให้ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย พากัน ประท้วงว่าการกระทำดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญที่ระบุชัดให้การลงคะแนนสำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในครั้งที่สอง จะต้องทำโดยวิธีขานชื่อเท่านั้น แต่นายชัย ยังคงยืนยันว่า พร้อมรับผิดชอบเองในฐานะประธานที่ประชุม
ถึงช่วงนี้ น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นประท้วงว่าตนได้เตือนประธานแล้วว่า ไม่ควรสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ เพราะการลงมติครั้งแรกเป็นความสับสน ถือว่าเป็นโมฆะ จึงสามารถสั่งให้มีการลงคะแนนใหม่อีกครั้งหนึ่งได้ โดยไม่ต้องเสนอญัตติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายชัย รู้ว่าตัวเองดำเนินการผิดพลาด และอาจส่งผลให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ตก เป็นโมฆะได้ จึงได้ขอร้องให้ นายชินวรณ์ ถอนการเสนอญัตตินับคะแนนใหม่ ซึ่งนายชินวรณ์ ก็ยอมปฏิบัติตามแต่โดยดี
ในที่สุดที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 243 ต่อ 23 งดออกเสียง 7 ไม่ลงคะแนน 2
กำลังโหลดความคิดเห็น