ASTV ผู้จัดการรายวัน - ลุ้นศาลฎีกานักการเมืองอ่านคำพิพากษาคดี ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง “ยุทธ ตู้เย็น” ปกปิดบัญชีทรัพย์สิน กรณีขายหุ้นบริษัท “มิติฟู้ด โปรดักส์” ให้น้องภรรยา มูลค่า 2.45 ล้านบาทวันนี้ เจ้าตัวไม่เครียดพร้อมเข้าฟังคำพิพากษา ด้าน ป.ป.ช.ประสานเสียงให้เป็นไปตามดุลพินิจของศาล “กล้านรงค์” ยันยื่นบัญชีไม่ถูกต้องจริงๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (28 ก.ย.) ในเวลา 13.30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายศิริชัย จิระบุณศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน นัดฟังคำพิพากษาคดี หมายเลขดำ อม.2/2552 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยกรณีที่ นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จต่อ ป.ป.ช. หลังจากพ้นจากตำแหน่ง ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 263
คดีนี้ ป.ป.ช.ยื่นคำร้องสรุปว่า ผู้ถูกร้องอ้างว่าขายหุ้นบริษัท มิติฟู้ด โปรดักส์ จำนวน 24,500 หุ้น ให้แก่ พ.ต.ท.นัฎฐวุฒิ ยุววรรณ ซึ่งเป็นน้องภรรยา เป็นเงิน 2.45 ล้านบาท แต่ พ.ต.ท.นัฎฐวุฒิ ชำระเป็นเงินสดจำนวน 8.5 แสนบาท ส่วนที่ค้างชำระอีก 1.6 ล้านบาท ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ไว้ แต่จากการที่ผู้ร้องได้ตรวจสอบกลับพบว่า นับตั้งแต่วันจดทะเบียนจนถึงปัจจุบันรวม 18 ปีเศษ
บริษัทดังกล่าวไม่ได้ประกอบกิจการค้าแต่อย่างใด และ พ.ต.ท.นัฎฐวุฒิ ไม่มีฐานะการเงินเพียงพอที่จะชำระเงินค่าหุ้นเป็นเงินสดได้ถึง 8.5 แสนบาท จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าไม่มีการซื้อขายหุ้นกันจริง และไม่มีเงินให้กู้ยืมตามที่ได้แสดงบัญชีไว้
ขณะที่ในชั้นไต่สวน นายยงยุทธเบิกความยืนยันว่า บริษัท มิติฟู้ด โปรดักส์ จำกัด ของตนเองมีการประกอบกิจการและมีเครื่องจักรอุปกรณ์จริง ซึ่งการขายหุ้นบริษัทดังกล่าวให้กับน้องของภรรยาตนเองนั้นได้มีการยื่นเอกสารต่างๆ ต่อกระทรวงพาณิชย์อย่างถูกต้อง ซึ่ง ป.ป.ช.เองไม่เคยเข้าไปตรวจสอบที่บริษัทว่ามีทรัพย์สินจริงหรือไม่ พร้อมยืนยันว่าตนเองไม่เคยถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ หรือคดีการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่แต่อย่างใด
สำหรับคดีนี้ ศาลฎีกาฯ ได้รับคำร้องไว้เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2552 และนัดสอบคำให้การผู้คัดค้านครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2552 โดย ป.ป.ช.ผู้ร้อง ยื่นบัญชีพยานเข้าไต่สวนเพียงปากเดียว ขณะที่ทนายความนายยงยุทธ ผู้คัดค้าน ได้ยื่นบัญชีพยานเข้าไต่สวน รวมทั้งสิ้น 7 ปาก อย่างไรก็ตาม คดีนี้หากศาลฎีกาฯพิพากษาว่านายยงยุทธ ติยะไพรัช จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 263 ก็จะถูกเว้นวรรคทางการเมือง เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลวินิจฉัย
ป.ป.ช. มั่นใจ “ยุทธ ตู้เย็น” ไม่รอด
นายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงคดีดังกล่าวว่า ทุกอย่างอยู่ที่ศาลจะเป็นผู้ตัดสิน ป.ป.ช.ไม่เข้าไปก้าวล่วงอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาอย่างคดีของนายสมบัติ อุทัยสาง ป.ป.ช.ก็ชนะ เนื่องจากเห็นว่าผิดจริง และศาลท่านก็วินิจฉัยว่ามีความผิดตามนั้น
“ครั้งนี้เราไม่วิตก ใครจะไปวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะไปซ้ำรอยกับคดีกล้ายาง หรืออะไรก็ตามก็ช่างเขา เพราะในความเป็นจริงนั้น ทุกคดีต้องชนะหมดมันก็ไม่ใช่ มันก็ต้องแล้วแต่ศาลเป็นผู้ตัดสิน แต่ครั้งนี้ที่เราส่งคำร้องคดีคุณยงยุทธ เพราะเราเห็นว่ามีการยื่นบัญชีที่ไม่ถูกต้องจริงๆ” นายกล้านรงค์ กล่าว
ด้าน นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวเสริมว่า ใครจะวิจารณ์อะไรไว้ล่วงหน้าก็ไม่เป็นไร เราพร้อมที่จะน้อมรับคำตัดสินของศาลอยู่แล้ว ขอย้ำว่าทุกอย่างเป็นไปตามดุลพินิจของศาล เพราะเราถือว่าทำตามหน้าที่ของเราดีที่สุดแล้ว ส่วนวันฟังคำพิพากษา ทางคณะกรรมการป.ป.ช. ไม่ได้ไปฟังด้วยตนเอง แต่จะส่งเจ้าหน้าที่ไป ผลออกมาอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น
“ยุทธ ตู้เย็น” ยันไม่หนี
แหล่งข่าวคนสนิทของนายยงยุทธ เปิดเผยว่า ในวันนี้ นายยงยุทธจะเดินทางไปฟังคำพิพากษาด้วยตัวเอง และพร้อมน้อมรับคำพิพากษา ทั้งนี้หากพ้นผิดทุกคดี ก็จะใช้ความรู้ที่มีอยู่กลับไปช่วยเหลือประชาชนที่บ้านเกิด จ.เชียงราย ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่านายยงยุทธ ตอนนี้ไม่ได้มีอาการเครียด หรือวิตกกังวลแต่อย่างใด
วิบากกรรม “ยุทธ ตู้เย็น” กับคดีซุกหุ้น
สำหรับ นายยงยุทธ ติยะไพรัช หลังจากยุบพรรคไทยรัก จะต้องผจญวิบากกรรมระลอกใหม่ จากกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้รับคำร้องที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นขอให้วินิจฉัยกรณีที่ นายยงยุทธ จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ จากการขายหุ้นบริษัท นิติฟู้ดโปรดักส์ ให้กับ พ.ต.ท.นัฎฐวุฒิ ยุววรรณ ซึ่งเป็นน้องภรรยา เป็นเงิน 2.45 ล้านบาท
ทั้งนี้ ป.ป.ช.พบว่า พ.ต.ท.นัฎฐวุฒิ ชำระเป็นเงินสดจำนวน 8.5 แสนบาท ส่วนที่ค้างชำระอีก 1.6 ล้านบาท ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ไว้ แต่จากการตรวจสอบพบว่า นับตั้งแต่วันจดทะเบียนจนถึงปัจจุบันรวม 18 ปีเศษ บริษัทดังกล่าวไม่ได้ประกอบกิจการค้าแต่อย่างใด และ พ.ต.ท.นัฎฐวุฒิ ไม่มีฐานะการเงินเพียงพอที่จะชำระเงินค่าหุ้นเป็นเงินสดได้ถึง 8.5 แสนบาท จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่า ไม่มีการซื้อขายหุ้นกันจริง และไม่มีเงินให้กู้ยืมตามที่ได้แสดงบัญชีไว้ โดยศาลได้นัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 16 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อสอบปากคำให้การของผู้คัดค้าน
มิติฟู้ด โปรดักส์ ต้นตอวิบากกรรม
นายยงยุทธเริ่มก่อตั้งกิจการแห่งแรกขึ้นมาในปี 2530 ชื่อว่าบริษัท มิติฟู้ด โปรดักส์ จำกัด ถือเป็นกิจการที่เขาริเริ่มตั้ง และเป็นเจ้าของกิจการโดยตรง ดังจะเห็นจากใช้ชื่อ มิติ อันเป็นชื่อลูกชายมาตั้งเป็นชื่อบริษัท และเขายังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด
บริษัท มิติฟู้ด โปรดักส์ จำกัด เริ่มขอจดทะเบียนเมื่อ 3 มีนาคม 2530 หลักฐานตามหนังสือบริคณฑ์สนธิ มีทุน 2 หมื่นหุ้น มูลค่าหุ้นละ100 บาท รวมทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท
วัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นวัตถุประสงค์หลักรองลงมา คือ ประกอบกิจการอาหารสด อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูป เครื่องกระป๋อง เครื่องปรุงรส อาหาร เครื่องดื่ม สุรา เบียร์ บุหรี่ และเครื่องอุปโภคอื่นๆ ตั้งกิจการที่บ้านเลขที่ 81 หมู่ 7 ต.สันทราย อ.แม่จัน จ.เชียงราย
นายยงยุทธ ซึ่งเวลานั้นอายุ 26 ปี ดึงญาติพี่น้องสนิททั้งหมดมีชื่อร่วมก่อตั้ง แต่ทั้งหมดถือหุ้นส่วนน้อยเท่าๆกันหมดคือ 200 หุ้น ประกอบด้วย น.ส.บุษกร ติยะไพรัช, นางสลักจิตร ติยะไพรัช, น.ส.ละออง ติยะไพรัช, นายสมชาย จารุวรานนท์ (เพื่อน), นางจม แซ่เตีย (มาตรดา) , นางพิมทอง ยุววรรณ (ยายของภรรยา), และนางฉวีวรรณ ประมวลทรัพย์ (ป้า) ส่วนตัวของนายยงยุทธ ถือ 18,600 หุ้น คิดเป็น 93 % ของทุนจดทะเบียน
กรรมการผู้มีอำนาจมี 2 คน คือ ตัวของนายยงยุทธ และนางจม แซ่เตีย มารดาซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว นางจมผู้ซึ่งเขียนชื่อสกุลตัวเองยังโย้ไปเย้มา จึงเป็นกรรมการแต่ในนาม ในฐานะตัวแทนของญาติพี่น้องทั้งหมดเท่านั้น
ปี 2531 ซึ่งเป็นช่วงที่ จ.เชียงราย กำลังเริ่มบูมในเรื่องที่ดิน และเริ่มมีทุนภายนอกเข้ามากว้านซื้อ บริษัทมิติฟู้ดส์โปรดักส์ จำกัด ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 1.5 ล้านบาท รวมของเดิมเป็น 3.5 ล้านบาท
ผู้ถือหุ้นใหญ่จากที่เพิ่มมา ก็ยังคงเป็น นายยงยุทธ กับมารดา (นายยงยุทธเพิ่ม 5,900 เป็น 24,500 หุ้น นางจม เพิ่ม 8,200 หุ้น เป็น 8,400 หุ้น ) ส่วนคนอื่นๆถือคนละ 150 หุ้น
และในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนหน้าเพิ่มทุนได้กู้เงินจาก บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) จำนวน 3 ล้านบาท กับกองทุนประกันสินเชื่อขนาดย่อม (ก.ส.ย.) จำนวน 1 ล้านบาท
เงิน 4 ล้านบาทที่กู้มาในรอบนี้ ถือเป็นเงินกู้ก้อนใหญ่ครั้งแรกของนายยงยุทธ ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการเพิ่มทุนบริษัทเท่านั้น ยังสอดคล้องกับกระแสการบูมของธุรกิจที่ดินของ จ.เชียงรายด้วย
ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามกอล์ฟ 9 หลุม บนดอยศรีแก้ว ต. ป่าสัก อ.เชียงแสน ซึ่งชาวบ้านระบุว่า เป็นของนายยงยุทธ ปัจจุบันถือในนามพี่สาว ก็น่าจะซื้อมาในช่วงนั้น หากแต่ยังสืบค้นไม่ได้ว่ามีการขยายพื้นที่ออกมาในช่วงที่มีตำแหน่งทางการเมืองแค่ไหน อย่างไร
ปริศนาเงินกู้ 4 ล้านเอาไปไหน
เอกสารของผู้สอบบัญชีแจ้งต่อสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ที่สืบค้นได้ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ผู้สอบบัญชีแจ้งว่าบริษัทได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อ 15 พ.ค.30 จนถึงบัดนี้เป็นเวลา 17 ปีเศษ ไม่ได้ประกอบกิจการค้าแต่อย่างใด
เอกสารที่ปรากฏสืบย้อนหลังไปได้แค่ปี 2544 (เก่ากว่านี้ไม่มี) โดยทั้งหมด แจ้งต่อนายทะเบียนว่า ไม่ได้ประกอบกิจการ
คำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ เอกสารที่รายงานต่อนายทะเบียน แจ้งว่า ได้กู้เงินจากแหล่งเงินกู้มา 4 ล้านบาท ในปี 2531 แต่ในเมื่อ ผู้สอบบัญชีแจ้งยืนยันว่า ไม่ได้ประกอบกิจการมาตังแต่ต้น
เงินดังกล่าว เอาไปใช้ในกิจการใด?
ประกอบกิจการ แต่ไม่แจ้งเป็นรายได้ หรือไม่?
ได้แจ้งเสียภาษีจากเงินที่กู้ไปลงทุน หรือไม่-อย่างไร?
คายหุ้น-ให้น้องเมียเป็นนอมินีถือแทน
ปี 2544 หลักฐานการจดทะเบียน ยังคงมีชื่อของนายยงยุทธ ถือหุ้นในบริษัท มิติฟู้ดส์โปรดักส์ จำกัด เท่าเดิมคือ 24,500 หุ้น
จนกระทั่งปี 2548 หลังจากที่ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว นายยงยุทธ จึง (เริ่มคิด) และโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทแห่งนี้ทั้งหมด ให้กับ พ.ต.ต.นัฏฐวุฒิ ยุววรรรณ ตามหลักฐานวันโอนลงทะเบียนลงวันที่ 11 มีนาคม 2548
วันที่ 11 มีนาคม 2548 เป็นวันเดียวกับที่นายยงยุทธ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นั่นหมายความว่า นายยงยุทธ มีเจตนาจะซุกซ่อนทรัพย์สมบัติ แจ้งทรัพย์สินเท็จ หรือเจตนาใช้กิจการตัวเองที่ทับซ้อนผลประโยชน์กับอำนาจบริหารมาตั้งแต่วันที่ได้รับทราบว่า ตนได้เป็นรัฐมนตรีฯ หรือมิฉะนั้นก็เป็นการบังเอิญอย่างยิ่ง ที่การโอนหุ้นครั้งนี้ ตรงกับวันที่ได้เป็นรัฐมนตรีพอดี
นี่เป็นร่องรอยที่เป็นพิรุธ ร่องรอยแรกของนายยงยุทธ ติยะไพรัช
เพราะในเมื่อบริษัทไม่ดำเนินการใดๆ มาตั้งแต่เริ่มเปิดกิจการ เหตุใดต้องรีบร้อนโอนหุ้นให้ผู้อื่น ก่อนที่ตัวจะเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
และร่องรอยดังกล่าวนี่เองที่ทำให้ ป.ป.ช.ติดตามตรวจสอบ จนถึงมือศาลในที่สุด