xs
xsm
sm
md
lg

จุดจบคดีหวยบนดิน อาจตามรอยกล้ายาง อัยการเป็นพยานซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัยเกษม นิติสิริ
ASTVผู้จัดการรายวัน - คำพิพากษายกฟ้อง 44 จำเลย คดีทุจิตกล้ายางพารา 90 ล้านต้น ขององค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อบ่ายวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า และเป็นกรณีศึกษาชิ้นใหม่ของคนในกระบวนการยุติธรรม

มติ 8 : 1 ยกฟ้อง “ เนวิน ชิดชอบ ” อดีตนักการเมืองดาวร้ายเมืองบุรีรัมย์ ฐานเป็นผู้ริเริ่มเสนอโครงการปลูกยางพารา 90 ล้านต้น ขัดต่อระเบียบและกฎหมายโดยมีเจตนาให้มีการใช้เงินรายได้จากค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง (CESS) และเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยมิชอบ ทำเอาเจ้าตัวถึงกับปากคอสั่นน้ำตาคลอเบ้า ประกาศยืนยันความบริสุทธิ์ พร้อมย้ำว่า น้ำยางพาราจากต้นยาง 90 ล้านต้น จะเป็นดอกผลรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกร ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า

ขณะที่ “อดีตรัฐมนตรี” จำเลยในกลุ่มกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ทั้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ , นายวราเทพ รัตนากร , นายสรอรรถ กลิ่นปทุม และนายอดิศัย โพธารามิก ต่างรอดตัวกันทั่วหน้า เมื่อศาลเห็นว่า มีมติ คชก.ที่อนุมัติให้ใช้เงินทุนหมุนเวียนปลอดดอกเบี้ยของกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรวงเงิน 1,440 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหากล้ายาง อยู่ในวัตถุประสงค์ของระเบียบว่าด้วยกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรฯ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำพิพากษายกฟ้องในทุจริตกล้ายาง กลายเป็นการเปิดโอกาสให้นักการเมืองหลายคนได้กลับมาเกิดใหม่อย่างเต็มตัว แม้การพิจารณาคดีของศาลจะเป็นอิสระจากการครอบงำใด ๆโดยเฉพาะศาลฎีกาฯ ซึ่งประกอบด้วยองค์คณะผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือ แต่เมื่อผลของคำพิพากษาออกมาในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง คนที่ได้ประโยชน์ก็มักจะถือโอกาสนำเอาผลคำพิพากษานั้นมาใช้เพื่อตัวเอง

สิ้นเสียงศาลอ่านคำพิพากษาไม่ทันไร “ยอดน้องชาย” นายพายัพ ชินวัตร ก็ออกมาฉกฉวยโอกาสหยิบเอาคำพิพากษามาหาผลประโยชน์ทันที โดยอ้างเอาแบบง่าย ๆ ว่า เมื่อศาลยกฟ้องย่อมแสดงว่าการบริหารงานของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายผู้ไร้แผ่นดินอยู่นั้นไม่มีการคอรัปชั่น แถมยัง "จับแพะชนแกะ” ขอให้คืนทรัพย์สิน 7.6 หมื่นล้านที่ได้จากการทุจริตแก่ครอบครัวชินวัตร ส่วนขาประจำ “ เฉลิม อยู่บำรุง” ก็คอยประสานเสียงอ้างว่าคำพิพากษาเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เจ้านายผู้เป็นที่รัก

แต่ที่สร้างความฮือฮาที่สุด ต้องยกให้ “ ธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ ”โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว “เหยียบซ้ำ” คณะกรรมการ คตส.ว่า ไม่ยอมฟังเสียงทักท้วงจากคณะทำงานอัยการที่ชี้ข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดี ใจร้อนยื่นฟ้องเองทั้งที่ไม่สอบสวนพยานเพิ่มเติม เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน เป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐที่จะต้องเสียเงินว่าจ้างทนายความ และจำเลยบางคนที่ไม่ควรถูกฟ้องต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติประวัติ

ถ้อยแถลงดังกล่าว ทำเอา อดีต กรรมการ คตส.ถึงกับนั่งไม่ติด ดาหน้าออกมาตอบโต้โดยยืนยันว่าทำสำนวนคดีตามอำนาจหน้าที่ และอยู่บนพื้นฐานของพยานหลักฐาน ปราศจากอคติ และสั่งฟ้องเมื่อเห็นว่าสำนวนมีความสมบูรณ์ ไม่ใช่ไม่ยอมฟังจุดบกพร่องที่อัยการสูงสุดชี้แนะ และตอกกลับว่าการออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าวของโฆษกอัยการ ถือว่าไม่เหมาะสมเพราะไม่ใช่หน้าที่

ปมความขัดแย้งในอดีตของ อัยการ กับ คตส. ที่ถูกนำมาฟื้นฝอยกันอีกครั้ง ทำให้หลายคนมองข้ามชอตไปถึงคดีคดีทุจริตออกสลากเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (หวยบนดิน) ที่ศาลฎีกาฯ เตรียมอ่านคำพิพากษาในวันที่ 30 กันยายน เพราะเมื่อครั้งที่ทั้งสองฝ่ายตั้งคณะทำงานร่วมกันทำสำนวนคดี ฝ่ายอัยการเคยชี้ถึงข้อไม่สมบูรณ์ในหลายจุด จน คตส.ต้องแต่งตั้งทนายความฟ้องคดีต่อศาลเอง เช่นเดียวกับคดีทุจริตกล้ายาง

มิหนำซ้ำ การออกมาระบุถึงข้อไม่สมบูรณ์ ในสำนวนคดีของอัยการ ในครั้งนั้นยังกลายเป็นเหมือน “ ชี้โพรงให้กระรอก ” เพราะกลับกลายมาเป็นข้อมูลสำคัญของฝ่ายจำเลยที่นำมาต่อสู้คดีในศาล โดยทนายจำเลยนำ "นายชัยเกษม นิติสิริ" อัยการสูงสุด และ"นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล" รองอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะทำงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีที่เกี่ยวกับ คตส.ขึ้นเบิกความเป็นพยานระบุว่าคณะทำงานอัยการพบข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนรวม 5 ข้อ ประกอบด้วย

1.เรียกพยานมาให้การหรือรับรองเอกสารคำเบิกความในชั้นไต่สวนอนุ คตส.

2.สอบพยานผู้เชี่ยวชาญให้ชัดเจนว่าหวย 2-3 ตัว เป็นสลากกินแบ่งหรือกินรวบ หรือเป็นการพนันประเภทใด ซึ่งจะมีผลต่อการคำนวณภาษี

3.กองทัพอากาศเคยขอ ครม.ชุดก่อนๆ อนุมัติอออกสลากการกุศล ก่อสร้าง รพ.ภูมิพล ซึ่งต้องสอบให้ชัดเจนว่า ครม.ชุดนั้นมีหลักการอนุมัติอย่างไรและงดเว้นการเก็บภาษีด้วยหรือไม่

4.การนำเงินรายได้ไปใช้ผิดถูกวัตถุประสงค์อย่างไร

และ 5.หลังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินรัฐสภา ตรวจสอบรายรับรายจ่ายกองสลากฯแล้วมีข้อท้วงติงหรือไม่อย่างไร โดยอัยการได้แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ดังกล่าวแล้ว แต่ปรากฏว่า คตส.ไม่สอบเพิ่มเติม กลับจ้างทนายความฟ้องคดีเอง

เมื่อฟังจากพยานจำเลย ซึ่งมีดีกรีเป็นถึง ผู้นำสูงสุดของทนายแผ่นดินให้การเป็นพยานฝ่ายจำเลยในส่วนนี้ ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้ว"คดีหวยบนดิน"อาจจบลงคล้ายกับ"คดีทุจริตกล้ายาง" อย่างไรก็ตามผลคำพิพากษาจะออกมาในทิศทางไหนทุกฝ่ายคนต้องยอมรับ เพราะสถาบันตุลาการเป็นเสาหลักเดียวที่เหลืออยู่ในยุคที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย

ใครที่กำลังรอลุ้นฟังผลคำพิพากษาคดีหวยบนดิน เวลา 14.00 น.วันที่ 30 กันยายนนี้ ขอย้ำคงต้องทำใจไว้ก่อนเพราะยังไม่แน่นอนว่าศาลจะอ่านคำพิพากษาได้ตามวันนัดหรือไม่ เนื่องจากเป็นไปได้ว่ากลุ่มจำเลยจะใช้แท็กติกเดิม คือยื่นคำร้องขอเลื่อนนัด ยื้อเวลาออกไปอีก 30 วัน เพื่อหวังโอกาสในการวิ่งเต้นเช็คผลคำพิพากษา อีกทั้งจนถึงนาทีนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าจำเลยคนสำคัญอย่าง “พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ”อดีต ผอ.สำนักงานสลากฯ ที่ยอมลงทุนลาออกจากราชการ อ้างไปทำธุรกิจส่วนตัวที่ต่างประเทศจะกลับมาฟังคำพิพากษาหรือไม่
รายงานพิเศษ : “อัยการ” ไม่ทำหน้าที่ แล้วยังมีหน้ามาว่า “คตส.”!?!
รายงานพิเศษ : “อัยการ” ไม่ทำหน้าที่ แล้วยังมีหน้ามาว่า “คตส.”!?!
การยกฟ้องคดีทุจริตกล้ายางฯ ของศาลฎีกาฯ นอกจากสะท้อนว่า การจะจับทุจริตเชิงนโยบายของเหล่านักการเมืองไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว ยังทำให้สังคมได้เห็น “ธาตุแท้ตัวตน”ของบางบุคคลที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมบางองค์กรด้วย เพราะนอกจากจะใช้คำพิพากษามาเป็นเครื่องมือโจมตีบุคคลอื่น เพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกแล้ว ยังพยายามนำผลแห่งคำพิพากษาคดีกล้ายางฯ ไปชี้นำให้ศาลฯ ยกฟ้องคดีทุจริตโครงการหวยบนดินในวันที่ 30 ก.ย.ที่จะถึงนี้ด้วย ทำไมบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ต้องมีพฤติกรรมเยี่ยงนี้?
กำลังโหลดความคิดเห็น