xs
xsm
sm
md
lg

รมต.พรทิวา พยายามล้างบาง “มาเฟีย” ในกระทรวงพาณิชย์!

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

ปัญหาคาราคาซังติดต่อกันมาหลายสัปดาห์ ในกรณีของ “การแต่งตั้งปลัดกระทรวงพาณิชย์” ที่ไม่มั่นใจว่าสัปดาห์นี้จะจบหรือไม่ หรือว่าต้องรอให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกาเสียก่อน หลังไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 64 (United Nations Assembly 64th)

หรือการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้อาจจะจบลงเรียบร้อยโรงเรียนรองนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรีไปแล้วก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่า “กระทรวงพาณิชย์” เป็นกระทรวงสำคัญทางด้านเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ และไม่สำคัญเท่ากับ “ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์” เป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ จบการศึกษาระดับปริญญาโทจำนวนมากจากต่างประเทศ ปริญญาเอกก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน!

ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ต้องยอมรับว่า มีความรู้ ความสามารถแทบทั้งสิ้น ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว “รู้-เก่ง” กว่ารัฐมนตรี ทั้งว่าการและช่วยมากมายก่ายกอง ดีไม่ดี น่าจะรอบรู้และเก่งกว่ารัฐมนตรีฯ ต่างๆ หลายคนในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ก็ยังมีข้าราชการระดับสูงในอดีตและปัจจุบันที่มีความรู้ ประสบการณ์ในเชิงวิชาการและเชิงเทคนิคที่สะสมมาเป็นเวลายาวนานนับหลายสิบปี ที่ต้องยอมรับว่า “เหนือกว่า” รัฐมนตรีหลายคนเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม “ข้าราชการประจำ” ในฐานะที่เป็นกลไก ฟันเฟืองสำคัญที่เข้าใจและตระหนักถึงกฎหมาย กระบวนการขั้นตอนเป็นอย่างดีในเชิงบริหารจัดการ จึงมีความจำเป็นเช่นเดียวกันที่ต้องปฏิบัติภารกิจและหน้าที่ “การบริหารองค์การ” ทั้งในกรณีของการบริหารงานบุคคล บริหารงบประมาณ ตลอดจนติดตาม ประเมินผล เพื่อให้ภารกิจและพันธกิจของกระทรวง กรม โดยเฉพาะ “นโยบายฝ่ายการเมือง” บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ดังนั้น “ข้าราชการการเมือง” กับ “ข้าราชการประจำ” จึงจะต้องมีการประสานงานกันอย่างยิ่ง มิเช่นนั้น “นโยบาย” ที่กำหนดโดยฝ่ายการเมืองที่ต้องสอดคล้องกับ “นโยบายรัฐบาล” ในภาพรวมจำต้องถูกนำไปปฏิบัติโดย “ข้าราชการประจำ”

แทบจะทุกกระทรวงทุกกรม ในการบริหารราชการของส่วนรัฐบาล (Government) จึงเป็นธรรมดาที่บรรดาข้าราชประจำที่มีความคุ้นเคย ความเชี่ยวชาญ ชำนาญการกับภารกิจของ “ความชำนาญ” แต่ละภารกิจของกระทรวงที่เป็นกิจกรรมประจำ จำต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามโครงสร้าง กฎเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับอย่างเข้มงวด ประกอบกับนำนโยบายจากฝ่ายการเมืองมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยยึดวัตถุประสงค์ในการตอบสนองนโยบายเพื่อ “ประโยชน์ของประชาชน”

ความจริงที่ต้องยอมรับว่า “ข้าราชการประจำ” ในแต่ละกระทรวงต่างช่ำชองและรู้ดีกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ พอที่จะหา “ช่องโหว่” ในการปฏิบัติหน้าที่ที่อาจล่วงละเมิดทำนอง “ทุจริต-ประพฤติมิชอบ-ฉ้อราษฎร์บังหลวง” ได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว มักเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าราชการที่ “เขี้ยวลากดิน!” เนื่องด้วยอยู่ยาว จนรู้ “ลู่ทาง-ช่องทาง” เป็นอย่างดี

ข้าราชการแทบทุกกระทรวง มักจะ “เกียร์ว่าง!” ในช่วงต้นๆ ของการมีรัฐบาลใหม่ๆ เนื่องด้วยอาจไม่มีความเชื่อมั่นว่า “รัฐมนตรีฯ” จะอยู่นานหรือไม่ จึงรีรอดูท่าที ตลอดจนเสถียรภาพของรัฐบาล จึงเข้าทำนองแบบ “เช้าชามเย็นชาม” ไม่ค่อยตอบสนองนโยบายของรัฐมนตรีประจำกระทรวง ทั้งนี้ทั้งนั้น ที่สำคัญเช่นเดียวกัน คือ การเฝ้าติดตามฝีไม้ลายมือ ความรู้ของรัฐมนตรีฯ ว่าสามารถปฏิบัติภารกิจได้ดีมากน้อยเพียงไร

พูดง่ายๆ ก็หมายความว่า ถ้าเป็นนักการเมืองหลายสมัย ตลอดจนเป็นรัฐมนตรีที่มีประสบการณ์มาหลายกระทรวง ก็จะตอบสนองด้วยการ “วิ่งเข้าหา” ทันที เพื่อ “เชลียร์!” แต่ถ้าเป็น “มือใหม่หัดขับ” บรรดาข้าราชการ โดยเฉพาะระดับสูง จะออกอาการ “ลีลาจัด!”

เท่าที่ “แสงแดด” ได้ติดตามข้อมูลจากบรรดาผู้สื่อข่าว นักวิชาการ และข้าราชการ ที่ยึดมั่นเป้าหมายองค์กรและประชาชนเป็นหลัก โดยจะไม่ได้ยึดถือ “นโยบายเกียร์ว่าง” ก็จะปฏิบัติภารกิจหน้าที่ตามปกติ ได้เล่าให้ฟังมาโดยตลอดว่า “ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์” นั้น ไม่ต้องเอ่ยถึงว่า “เขี้ยวลากดิน-แสบสัน” เพียงใด

ทั้งนี้ที่กล่าวเช่นนั้น มิได้เหมารวมว่า “ทุกกรม” ใน “กระทรวงพาณิชย์” บรรดาข้าราชการมีพฤติการณ์พฤติกรรมเช่นนั้นหมด จะมีแต่เพียงข้าราชการระดับสูง ระดับกระทรวง และระดับกรมที่มีบทบาทสำคัญต่อเป้าหมายและภารกิจของกระทรวงพาณิชย์เท่านั้นที่ค่อนข้างมีพฤติกรรมไปทาง “เจ้าพ่อ-มาเฟีย”

ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว ทุกกรมในกระทรวงพาณิชย์มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่ถ้าจะลำดับความสำคัญก่อนหลัง (Priority) ของแต่ละกรมนั้นต้องยอมรับว่า “กรมส่งเสริมการส่งออก” น่าจะมีความสำคัญอันดับหนึ่ง ประกบคู่แบบตามติดคือ “กรมการค้าภายใน” ซึ่งทั้งสองกรมหลักนี้ดูแลกิจการค้าการพาณิชย์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

“กรมการค้าต่างประเทศ” และ “กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่ “กรมการค้าต่างประเทศ” นั้น มีความสำคัญกับกรณี “โควตา” สารพัดอย่าง ไม่ว่า ข้าว ข้าวโพด เสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออก และ “กรมเจรจาฯ” นั้น เน้นด้านการเจรจาและด้านสัญญาระหว่างประเทศ ตลอดการประชุมระดับภูมิภาคและระดับโลก

ส่วน “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” นั้น ดูแลด้านระเบียบกฎเกณฑ์และจดทะเบียนการค้าของบริษัทห้างร้านต่างๆ ซึ่งน่าจะต้องก้าวล่วงสู่ “การพัฒนาและบริการธุรกิจการค้า” ให้สามารถพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะบรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME’s)

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า “กรมส่งเสริมการส่งออก” มีบทบาทและน้ำหนักอย่างมากของกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “งบประมาณ” ที่มีมากจำนวนหลักหลายพันล้านบาทในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมด้านการส่งออก ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ งบประมาณของกรมส่งเสริมการส่งออก จึงมีจำนวนมากที่สุด มากกว่ากรมอื่นๆ ในกระทรวงพาณิชย์อีกหลายเท่าตัว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย ตั้งแต่วันแรกที่ย่างก้าวเข้ามาทำงานที่กระทรวงพาณิชย์ ได้เพียรพยายามสร้างความสัมพันธ์ ตลอดจนเชิญบรรดาข้าราชการระดับสูง ตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวง อธิบดี รองอธิบดี แม้กระทั่งผู้อำนวยกอง ให้เข้ามารายงานถึงภารกิจ บทบาท และวิสัยทัศน์ของข้าราชการ ตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่ต้องแก้ไขร่วมกัน

นอกจากนั้น ความสัมพันธ์เป็นไปในลักษณะ “สองทาง (Interactive)” กล่าวคือ ประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือร่วมกัน เพื่อให้เป้าหมายของกระทรวงฯ บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่า “ด้านการส่งออก” และ “การค้าภายใน” เพื่อก่อให้เกิดรายได้นำเข้าสู่ประเทศ และปัญหาปากท้องของประชาชน

“ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการ-ผู้บริโภค” เป็นนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีฯ พรทิวา นาคาศัย ที่ครบวงจร โดยต้องอาศัย “กลไก” ของกระทรวงพาณิชย์ในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายให้ 3 ภาคส่วนสำคัญสามารถเดินหน้าได้ ภายใต้สภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ตั้งแต่รับตำแหน่งต้นปี 2552 เรื่อยมาอย่าง “ไม่ย่อท้อ!”

การเรียก “ประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop)” ทั้งในส่วนของข้าราชการระดับสูงและกลาง คณะที่ปรึกษา ตลอดจนภาคเอกชนทั้งด้านการเกษตร การค้าปลีกและการส่งออก อาทิ สมาคมอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ สมาคมธนาคารไทย ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในภารกิจ “กรอบความร่วมมือภาครัฐและเอกชน”

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง “ผู้หญิง” ที่ต้องยอมรับว่าเป็น “มือใหม่หัดขับ” อย่างรัฐมนตรีฯ พรทิวา นาคาศัย พยายามทุ่มเทในการเรียนรู้ การระดมสรรพกำลังจากนักวิชาการ ข้าราชการในกระทรวงและภาคเอกชน เพื่อให้นโยบายการค้าการพาณิชย์ คืบหน้าไปได้ภายใต้สภาวการณ์ต่างๆ ที่วิกฤต ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองทั้งภายในกระทรวงพาณิชย์และนอกกระทรวงฯ ด้วย “การถูกเตะตัดขา-ขัดขวาง” แทบทุกมาตรการ เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค

ในขณะเดียวกัน อธิบดีกรมสำคัญของกระทรวงฯ ได้เร่งรีบใช้งบประมาณเกือบ 2,000 ล้านบาท อย่างรวดเร็วช่วงเดือนเมษายน 2552 โดยไม่สามารถ “ตรวจสอบความโปร่งใส” ได้เลย!

ถามว่า “การทุจริต” เกิดขึ้นหรือไม่ในกระทรวงฯ นี้ ก็ต้องตอบว่า “มีแน่นอน” แถมยังมีการ “แจกซองขาว!” จ้างสื่อมวลชนหนึ่งค่ายให้เขียนโจมตีรัฐมนตรีฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อ “ดิสเครดิต” โดยมุ่งหวัง “เก้าอี้เจ้ากระทรวงฝ่ายประจำ” เป็นเดิมพันกับ “สารพัดวิธีสกปรก” ที่สมควร “นุ่งกระโปรง!” เพราะ “ก้อนเนื้อ-สเต็ก-เค้ก” ใหญ่เหลือเกิน ประกอบกับ “สืบทอด” กับ “การเป็นมาเฟีย” ตัวจริงเสียงจริงของกระทรวงพาณิชย์!
กำลังโหลดความคิดเห็น