โฆษกดีเอสไอ แถลงแก้ตัวให้นาย อ้างพิลึกคดีบุกรุกป่าสบกกล่าช้า เพราะพยานหลักฐานทางคดียังไม่สมบูรณ์ ลั่นให้ความเป็นธรรมผู้บุกรุก ด้วยการสันนิษฐานว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ “ชาญเชาวน์” บ้าจี้ตามสั่งสอบวินัย “ปิยะวัฒก์”ขณะที่"ปิยะวัฒก์"ยันพื้นที่ป่าสบกกเป็นเขตป่าสงวน ย้ำสอบเพิ่มเติมต้องทำเพื่อให้พยานหลักฐานมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น มิใช่ทำเพื่อให้มีน้ำหนักน้อยลง
วานนี้(18 ก.ย.)พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เปิดเผยกรณีที่ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับคดีพิเศษที่ 70/2550 กรณีคดีบุกรุกป่าสบกก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ว่า ผู้บังคับบัญชา (พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันท์ชัย รองอธิบดีดีเอสไอ ฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน) ประวิงเวลาไม่สั่งคดี ทำให้สำนวนการสอบสวนเกิดความล่าช้า ว่า สาเหตุเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของ พ.อ.ปิยะวัฒก์ เกี่ยวกับการสั่งคดี เนื่องจากคดีดังกล่าวมีประเด็นสำคัญทางคดีเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ยังไม่สามารถมีความเห็นทางคดีได้ และพยานหลักฐานทางคดียังไม่สมบูรณ์ จึงได้สั่งให้คณะพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม และตรวจสอบว่าที่ดังกล่าวเป็นที่ป่าสงวนหรือ ที่ดิน ส.ป.ก.กันแน่ ซึ่งมีความซับซ้อนกันอยู่ ต้องตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ ผู้บังคับบัญชาที่สั่งสำนวนไม่ได้มีความต้องการที่จะปกป้องให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาแต่ประการใด โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ต้องดูข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้าน ส่วนกรณีที่มีการสั่งสอบเพิ่มเติมเพื่อให้สำนวนคดีมีความสมบูรณ์ โดยในการสอบสวนคดีอาญา ตามหลักการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 39 ระบุว่า ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จะมาด่วนสรุปไม่ได้ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย
“ที่กล่าวอ้างว่าคดีมีการสั่งคดีล่าช้านั้น อันนี้ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องการเข้าใจผิดของพนักงานสอบสวน คือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 140 พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษในทุกคดี เสมือนว่าเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนทุกคดี คืออธิบดีหรือรองอธิบดี ที่ได้รับมอบหมายซึ่งในคดีนี้ คือ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นผู้ที่สั่งสำนวน สั่งให้ไปสอบเพิ่มเติม สั่งให้ไปปรับเปลี่ยนแก้ไข ซึ่งมีอำนาจสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยหลักพนักงานสอบสวนจะต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้าเกิดเห็นว่าสั่งการไปแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้องไม่ชอบด้วยกฏหมายก็ให้ส่งหนังสือแย้งมา” โฆษกดีเอสไอ กล่าว
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวต่อว่า สาเหตุหนึ่งที่คดีมีการสั่งล่าช้า เนื่องจากรองอธิบดีที่กำกับดูแลสั่งการให้ดำเนินการเพิ่มเติมแต่พนักงานสอบสวนมิได้ดำเนินการเพิ่มเติม และสำนวนขณะนี้ยังไม่ได้ส่งมาถึงท่านอธิบดี รวมถึง พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ก็ยังไม่ได้รับสำนวนและพยายามเรียกให้ส่งมาหลายครั้งแล้ว ตนคิดว่าพนักงานสอบสวนขั้นต้น คือ พ.อ.ปิยะวัฒก์ และคณะ มีความมุ่งมั่นที่จะเอาความผิดกับผู้กระทำผิดในทางคดี จนกระทั่งบางครั้งไม่ยอมรับความเห็นต่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันภายในหน่วยงาน ส่วนเรื่องที่มีการแจ้งดำเนินคดีกันนั้นคิดว่า สามารถตกลงกันได้คงเป็นแค่ความเห็นต่างกันเท่านั้น
ส่วนกรณีที่จะมีพนักงานสอบสวนขอถอนตัวโดยดีเอสไอ จะมีการตั้งพนักงานสอบสวนชุดใหม่ไปดำเนินการ แต่การขอถอนตัวต้องมีเอกสารทางราชการอย่างชัดเจน และมอบสำนวนการสอบสวนให้กับผู้บังคับบัญชาเพื่อให้กับพนักงานสอบสวนชุดใหม่ดำเนินการต่อเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
“ชาญเชาวน์” สั่งสอบ “ปิยะวัฒก์”
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งในการสอบสวนคดีบุกรุกป่าสบกกและคดีฆ่าพระสุพจน์ สุวโจ ว่า ตนได้สั่งการให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอ ตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนความผิดทางวินัยต่อ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ เนื่องจากไม่ต้องการให้ดีเอสไอมีวัฒนธรรมองค์กรที่ลูกน้องไม่พอใจผู้บังคับบัญชาแล้วไม่พยายามแก้ปัญหาการบริหารงานภายใน แต่กลับนำข้อมูลออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยเฉพาะคดีฆ่าพระสุพจน์ ซึ่งแม้จะมีการตรวจสอบพบว่ามีการป้อนข้อมูลภาพเข้าไปในฮาร์ทดิสก์ของพระสุพจน์หลังเกิดเหตุฆาตกรรม แต่ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นความลับในสำนวนการสอบสวนที่ไม่ควรนำมาออกมาเปิดเผย
“ปิยะวัฒก์”ยันป่าสบกกเป็นเขตป่าสงวน
ด้าน พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า นอกจากพนักงานสอบสวนจะได้รับคำสั่งให้ดำเนินคดีกับพยานสำคัญที่ให้การยืนยันว่าเห็นกลุ่มนายทุนผู้ต้องหาเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุหลายครั้งแล้ว อธิบดีดีเอสไอ ยังมีความพยายามสั่งการให้นำผู้เชี่ยวชาญศาลด้านการวิเคราะห์แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศไปตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ และขอให้มีการจัดประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายครั้ง ซึ่งได้ข้อสรุปว่า พื้นที่พิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่อธิบดียังไม่ยอมสั่งคดี โดยจัดประชุมและตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบอีก 2 ครั้ง เพื่อให้สอบสวนเพิ่มเติมว่าที่เกิดเหตุเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้งที่มีความชัดเจนว่า พื้นที่เกิดเหตุยังคงเป็นเขตป่าไม้หรือป่าสงวนแห่งชาติอยู่ประมาณ 917 ไร่ คิดเป็นความเสียหายที่รัฐได้รับประมาณ 91 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ ส.ป.ก.14 แปลงนั้น ตามรายงานการประชุมการศึกษาหารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ป่าสบกก ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปเป็นมติว่า ส.ป.ก.ได้กันพื้นที่คืนให้กรมป่าไม้แล้ว เพราะมีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้หากมีคำสั่งตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนความผิดทางวินัย ตนจะนำคดียื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพราะคนที่ต้องถูกสอบสวนคืออธิบดีดีเอสไอไม่ใช่พนักงานสอบสวน
พ.อ.ปิยะวัฒก์ กล่าวด้วยว่า การสอบสวนเพิ่มเติมต้องทำเพื่อให้พยานหลักฐานมีน้ำหนักมั่นคงเพิ่มขึ้น มิใช่ทำเพื่อให้พยานหลักฐานมีน้ำหนักน้อยลง หากอธิบดีเห็นว่าเป็นเขตปฏิรูปที่ดินก็ใช้ดุลพินิจสั่งคดีไปตามที่เห็นสมควรได้ ไม่สมควรที่จะบังคับให้สอบสวนไปในทางที่บิดเบือนเบี่ยงเบนไปจากข้อเท็จจริง ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานกระทำด้วยประการใดๆ ในตำแหน่งเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิดมิให้ต้องโทษ หรือให้ได้รับโทษน้อยลง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 ซึ่งมีอัตราโทษถึงจำคุกตลอดชีวิต
วานนี้(18 ก.ย.)พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เปิดเผยกรณีที่ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับคดีพิเศษที่ 70/2550 กรณีคดีบุกรุกป่าสบกก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ว่า ผู้บังคับบัญชา (พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันท์ชัย รองอธิบดีดีเอสไอ ฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน) ประวิงเวลาไม่สั่งคดี ทำให้สำนวนการสอบสวนเกิดความล่าช้า ว่า สาเหตุเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของ พ.อ.ปิยะวัฒก์ เกี่ยวกับการสั่งคดี เนื่องจากคดีดังกล่าวมีประเด็นสำคัญทางคดีเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ยังไม่สามารถมีความเห็นทางคดีได้ และพยานหลักฐานทางคดียังไม่สมบูรณ์ จึงได้สั่งให้คณะพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม และตรวจสอบว่าที่ดังกล่าวเป็นที่ป่าสงวนหรือ ที่ดิน ส.ป.ก.กันแน่ ซึ่งมีความซับซ้อนกันอยู่ ต้องตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ ผู้บังคับบัญชาที่สั่งสำนวนไม่ได้มีความต้องการที่จะปกป้องให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาแต่ประการใด โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ต้องดูข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้าน ส่วนกรณีที่มีการสั่งสอบเพิ่มเติมเพื่อให้สำนวนคดีมีความสมบูรณ์ โดยในการสอบสวนคดีอาญา ตามหลักการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 39 ระบุว่า ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จะมาด่วนสรุปไม่ได้ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย
“ที่กล่าวอ้างว่าคดีมีการสั่งคดีล่าช้านั้น อันนี้ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องการเข้าใจผิดของพนักงานสอบสวน คือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 140 พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษในทุกคดี เสมือนว่าเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนทุกคดี คืออธิบดีหรือรองอธิบดี ที่ได้รับมอบหมายซึ่งในคดีนี้ คือ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นผู้ที่สั่งสำนวน สั่งให้ไปสอบเพิ่มเติม สั่งให้ไปปรับเปลี่ยนแก้ไข ซึ่งมีอำนาจสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยหลักพนักงานสอบสวนจะต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้าเกิดเห็นว่าสั่งการไปแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้องไม่ชอบด้วยกฏหมายก็ให้ส่งหนังสือแย้งมา” โฆษกดีเอสไอ กล่าว
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวต่อว่า สาเหตุหนึ่งที่คดีมีการสั่งล่าช้า เนื่องจากรองอธิบดีที่กำกับดูแลสั่งการให้ดำเนินการเพิ่มเติมแต่พนักงานสอบสวนมิได้ดำเนินการเพิ่มเติม และสำนวนขณะนี้ยังไม่ได้ส่งมาถึงท่านอธิบดี รวมถึง พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ก็ยังไม่ได้รับสำนวนและพยายามเรียกให้ส่งมาหลายครั้งแล้ว ตนคิดว่าพนักงานสอบสวนขั้นต้น คือ พ.อ.ปิยะวัฒก์ และคณะ มีความมุ่งมั่นที่จะเอาความผิดกับผู้กระทำผิดในทางคดี จนกระทั่งบางครั้งไม่ยอมรับความเห็นต่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันภายในหน่วยงาน ส่วนเรื่องที่มีการแจ้งดำเนินคดีกันนั้นคิดว่า สามารถตกลงกันได้คงเป็นแค่ความเห็นต่างกันเท่านั้น
ส่วนกรณีที่จะมีพนักงานสอบสวนขอถอนตัวโดยดีเอสไอ จะมีการตั้งพนักงานสอบสวนชุดใหม่ไปดำเนินการ แต่การขอถอนตัวต้องมีเอกสารทางราชการอย่างชัดเจน และมอบสำนวนการสอบสวนให้กับผู้บังคับบัญชาเพื่อให้กับพนักงานสอบสวนชุดใหม่ดำเนินการต่อเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
“ชาญเชาวน์” สั่งสอบ “ปิยะวัฒก์”
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งในการสอบสวนคดีบุกรุกป่าสบกกและคดีฆ่าพระสุพจน์ สุวโจ ว่า ตนได้สั่งการให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอ ตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนความผิดทางวินัยต่อ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ เนื่องจากไม่ต้องการให้ดีเอสไอมีวัฒนธรรมองค์กรที่ลูกน้องไม่พอใจผู้บังคับบัญชาแล้วไม่พยายามแก้ปัญหาการบริหารงานภายใน แต่กลับนำข้อมูลออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยเฉพาะคดีฆ่าพระสุพจน์ ซึ่งแม้จะมีการตรวจสอบพบว่ามีการป้อนข้อมูลภาพเข้าไปในฮาร์ทดิสก์ของพระสุพจน์หลังเกิดเหตุฆาตกรรม แต่ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นความลับในสำนวนการสอบสวนที่ไม่ควรนำมาออกมาเปิดเผย
“ปิยะวัฒก์”ยันป่าสบกกเป็นเขตป่าสงวน
ด้าน พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า นอกจากพนักงานสอบสวนจะได้รับคำสั่งให้ดำเนินคดีกับพยานสำคัญที่ให้การยืนยันว่าเห็นกลุ่มนายทุนผู้ต้องหาเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุหลายครั้งแล้ว อธิบดีดีเอสไอ ยังมีความพยายามสั่งการให้นำผู้เชี่ยวชาญศาลด้านการวิเคราะห์แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศไปตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ และขอให้มีการจัดประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายครั้ง ซึ่งได้ข้อสรุปว่า พื้นที่พิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่อธิบดียังไม่ยอมสั่งคดี โดยจัดประชุมและตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบอีก 2 ครั้ง เพื่อให้สอบสวนเพิ่มเติมว่าที่เกิดเหตุเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้งที่มีความชัดเจนว่า พื้นที่เกิดเหตุยังคงเป็นเขตป่าไม้หรือป่าสงวนแห่งชาติอยู่ประมาณ 917 ไร่ คิดเป็นความเสียหายที่รัฐได้รับประมาณ 91 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ ส.ป.ก.14 แปลงนั้น ตามรายงานการประชุมการศึกษาหารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ป่าสบกก ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปเป็นมติว่า ส.ป.ก.ได้กันพื้นที่คืนให้กรมป่าไม้แล้ว เพราะมีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้หากมีคำสั่งตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนความผิดทางวินัย ตนจะนำคดียื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพราะคนที่ต้องถูกสอบสวนคืออธิบดีดีเอสไอไม่ใช่พนักงานสอบสวน
พ.อ.ปิยะวัฒก์ กล่าวด้วยว่า การสอบสวนเพิ่มเติมต้องทำเพื่อให้พยานหลักฐานมีน้ำหนักมั่นคงเพิ่มขึ้น มิใช่ทำเพื่อให้พยานหลักฐานมีน้ำหนักน้อยลง หากอธิบดีเห็นว่าเป็นเขตปฏิรูปที่ดินก็ใช้ดุลพินิจสั่งคดีไปตามที่เห็นสมควรได้ ไม่สมควรที่จะบังคับให้สอบสวนไปในทางที่บิดเบือนเบี่ยงเบนไปจากข้อเท็จจริง ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานกระทำด้วยประการใดๆ ในตำแหน่งเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิดมิให้ต้องโทษ หรือให้ได้รับโทษน้อยลง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 ซึ่งมีอัตราโทษถึงจำคุกตลอดชีวิต