xs
xsm
sm
md
lg

หุ้้นปรับฐานดิ่ง13จุด-ลุ้นลงต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – ดัชนีหุ้นไทยร่วง 13.49 จุด เชื่อเป็นการปรับฐานหลังดีดขึ้นอย่างร้อนแรงเมื่อสัปดาห์ก่อน โบรกเกอร์คาดวันนี้ยังทรุดต่อ แนะจับตากระแสราคาน้ำมันชี้หากยังอ่อนตัวลงจะฉุดหุ้นพลังงานและดัชนีทั้งกระดาน ล่าสุดตลท.เริ่มเปิดเผยข้อมูลพอร์ตบล.แล้ว พบอาทิตย์ก่อนซื้อสุทธิ 2 พันล้าน ขณะที่ก.ล.ต.เดินหน้าหนุนแผนหาสินค้าใหม่เข้าตลาดหุ้น รุดตั้งเกณฑ์กำหนดคุณสมบัติบริษัทต่างชาติ บังคับต้องกระจายหุ้นในไทยดวย และนักลงทุนไทยต้องได้รับข้อมูลเทียบเท่าที่ชี้แจงในตลาดหุ้นต่างประเทศ
ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยวานนี้ (14ก.ย.) ดัชนีปิดตลาดที่ที่ระดับ 694.32 จุด ลดลง 13.49 จุด หรือ -1.91% มูลค่าการซื้อขาย 24,453.46 ล้านบาท โดยระหว่างวันปรับตัวสูงสุดที่ระดับ 708.44 จุด และต่ำสุดที่ระดับ 692.51 จุด ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเป็นการปรับฐานช่วงสั้น หลังดัชนีปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้านี้ และ เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศทั้งตลาดภูมิภาค-ยุโรป จากราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวลง
ส่วนหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวานนี้ เพิ่มขึ้น 103 หลักทรัพย์ ลดลง 275 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 87 หลักทรัพย์ โดยหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์แรกได้แก่ PTT มูลค่าการซื้อขาย 1,895.12 ล้านบาท ปิดที่ 257.00 บาท ลดลง 8.00 บาท PTTEP มูลค่าการซื้อขาย 1,601.84 ล้านบาท ปิดที่ 143.50 บาท ลดลง 5.00 บาท PTTAR มูลค่าการซื้อขาย 1,551.96 ล้านบาท ปิดที่ 25.00 บาท ลดลง 1.50 บาท TMB มูลค่าการซื้อขาย 1,123.85 ล้านบาท ปิดที่ 1.19 บาท ลดลง 0.04 บาท และ TTA มูลค่าการซื้อขาย 941.52 ล้านบาท ปิดที่ 25.25 บาท ลดลง 1.50 บาท
นางภรณี ทองเย็น ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในวันนี้(15 ก.ย.)นางภรณี กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยอาจจะมีการรีบาวน์ขึ้นได้ แต่คงจะติดแนว 700 จุด พร้อมให้แนวรับไว้ที่ 690-694 จุด แนวต้าน 708 จุด
ด้านนางธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยวานนี้ปรับตัวลดลงถึง 14 จุด เพราะเผชิญกับแรงขายทำกำไร (Take Profit) หลังในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นในย่านภูมิภาคส่วนใหญ่ เริ่มปรับตัวลดลง ผนวกกับดัชนีฯ หลุดที่ระดับ 700 จุด ส่งผลต่อ Sentiment การลงทุนในช่วงบ่าย ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่หาจังหวะขายทำกำไร
“ที่ผ่านมาดัชนีฯ ได้รับแรงหนุนจากประเด็นการควบรวม 4 บริษัท ทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นเครือปตท. อย่างไรก็ตามถ้าหากราคาน้ำมันดิบลดลงต่อเนื่อง ก็อาจจะมีผลต่อบรรยากาศการลงุทนในตลาดหุ้นยิ่งอ่อนตัวลง แต่ก็เชื่อว่าดัชนีฯ วันนี้(15ก.ย.)คงจะปรับตัวลดลงไม่แรงเท่ากับวานนี้” นางธีรดา กล่าว
โดยแนวโน้มของดัชนีฯ วันนี้ (15 ก.ย.) ประเมินว่ามีโอกาสที่จะอ่อนตัวลดลง เพราะเชื่อว่าดัชนีฯ อยู่ในช่วงของการปรับฐาน หลังที่ผ่านมาดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นแรง ทั้งนี้ ควรจับตาราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งหากราคาปรับลดลงแรง ก็จะมีผลโดยตรงต่อราคาหุ้นในกลุ่มพลังงาน และส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยด้วย ซึ่งกลยุทธ์การลงทุน แนะเทรดดิ้งหุ้น laggard และราคาหุ้นที่ยังขยับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เช่น กลุ่มการแพทย์ อาหาร พาณิชย์ประเมินแนวรับดัชนีฯที่ 680 จุด แนวต้าน 700 จุด

**สัปดาห์ที่แล้วบล.ซื้อหุ้น2พันล.
ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้รายงานสรุปข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์แยกตามกลุ่มนักลงทุน ระหว่างวันที่7-11 ก.ย. โดยพบว่า บัญชีของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) มีการซื้อสุทธิในสัปดาห์ที่ผ่านมา 2,079 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1,038.58 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างประเทศที่ซื้อสุทธิ 12,540.25 ล้านบาท โดยนักลงทุนทั่วไปขายสุทธิถึง 15,658.75 ล้านบาท

**ก.ล.ต.ตั้งเกณฑ์รับบจ.ต่างชาติ
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนครั้งที่ 11/2552 และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ครั้งที่ 10/2552 ว่าที่ประชุมมีการพิจารณาและให้ความเห็นชอบในการเปิดให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาเสนอขายหลักทรัพย์และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เพื่อเพิ่มจำนวนและความหลากหลายให้แก่สินค้าในตลาดทุนและเป็นทางเลือกของผู้ลงทุนไทย รวมทั้งเป็นการเพิ่มบทบาทของตลาดทุนไทยในภูมิภาค
โดย บริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์จะต้องเป็นบริษัทที่มีคุณภาพผ่านการคัดกรองมาแล้วระดับหนึ่ง โดยต้องเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ (home exchange) ที่เป็นสมาชิกขององค์การตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges: WFE) มาแล้วระยะหนึ่ง
ขณะเดียวกันบริษัทต้องทำการกระจายหุ้นต่อประชาชนก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีหุ้นให้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จำนวนหนึ่ง โดยการเสนอขายสามารถทำได้ทั้งบริษัทต่างประเทศออกหุ้นใหม่ และผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทต่างประเทศนั้นเสนอขายหุ้นเดิม แต่การจัดสรรวงเงินสำหรับการเสนอขายจะอยู่ภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อนุญาต
รวมถึง ให้บริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จดทะเบียนอยู่ก่อนแล้วเป็นหลัก และปฏิบัติตามเกณฑ์ไทยเพิ่มเติมในบางเรื่อง โดยในส่วนของผู้ลงทุนไทยจะได้รับการคุ้มครองและได้รับข้อมูลเช่นเดียวกับผู้ลงทุนในต่างประเทศของ home exchange และไม่แตกต่างกับกรณีที่ผู้ลงทุนไทยนำเงินออกไปซื้อหลักทรัพย์ในต่างประเทศโดยตรง
อีกทั้ง เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ลงทุนไทยและทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดให้หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของประเทศที่บริษัทต่างประเทศจดทะเบียนอยู่ (home regulator) ต้องเป็นภาคีในข้อตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายขององค์กร ก.ล.ต. โลก (International Organization of Securities Commissions: IOSCO) เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การเปิดให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาเสนอขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ไทยจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป
กำลังโหลดความคิดเห็น