xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯเชื่อหุ้นไทย Q3 ดิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กูรูประเมินหุ้นไทยในไตรมาส 3 ไปไม่รอด ชี้ ยังเป็นไปในลักษณะพักฐาน จากแรงเทขายทำกำไร หลังดีดขึ้นมาแรงจัดในช่วงก่อนหน้า อีกทั้งไร้ปัจจัยกระตุ้นตลาด ล่าสุดพบพอร์ตลงทุนโบรกเกอร์ฟันกำไรจากดัชนีพุ่งไปกว่า 6-7 พันล้านบาทแล้ว แม้เม็ดเงินรวมน้อยกว่ากองทุน ชูหุ้นกลุ่มแบงก์น่าลงทุนมากสุด เพราะได้รับอานิสงส์จาก พ.ร.ก.เงินกู้ ส่วนสิ้นปีนี้ให้ดัชนีอยู่ที่ 580 จุด แม้กระแสเงินยังไหลเข้าต่อเนื่อง ขณะที่วานนี้ตลาดหุ้นดิ่งอีก 10 จุด ลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3

นายกวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาส 3/52 จะยังเคลื่อนไหวในลักษณะพักฐานประกอบกับไม่มีปัจจัยอะไรที่เข้ามากระตุ้นการลงทุน จึงทำให้อาจเห็นแรงเทขายทำกำไรจากนักลงทุนสถาบันจนฉุดดัชนีร่วงลงอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ จากการสำรวจพอร์ตการลงทุนในหลักทรัพย์ไทยของธุรกิจหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ทั้งหมดในสิ้นไตรมาส 1/52 พบว่า มูลค่าพอร์ตประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากมีการซื้อขายของเม็ดเงินในส่วนดังกล่าวเป็นประจำส่งผลให้วอลุ่มปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1-1.5 แสนล้านบาทในช่วงที่ดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น 40% ซึ่งหากคิดเป็นกำไรของพอร์ตแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 6-7 พันล้านบาท

ปัจจุบันสัดส่วนของพอร์ตการลงทุนของโบรกเกอร์ในนักลงทุนสถาบันขยับเพิ่มขึ้นมาเป็น 60% และ 40% จากกองทุนต่างๆ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างสัดส่วนทั้งสองปรากฏว่าพอร์ตโบรกเกอร์มูลค่าที่น้อยกว่ามูลค่าพอร์ตกองทุน แต่ถ้าวัดกันในเรื่องของวอลุ่มแล้วพอร์ตของธุรกิจหลักทรัพย์ถือว่ามีวอลุ่มที่สูงกว่าพอร์ตกองทุนค่อนข้างมาก

**แนะแยกหุ้นออกจากสภาพ ศก.

อย่างไรก็ตาม ทิศทางตลาดหุ้นในครึ่งหลังปี 2552 แนะนำให้นักลงทุนควรแบ่งแยกตลาดหุ้นกับสภาพเศรษฐกิจออกจากกัน โดยมองว่าบรรยาการเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในรูปแบบ W Shape แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีนักไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบจำนวนมาก เช่นเดียวกันกับประเทศจีนดันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

โดยสังเกตจากตัวเลขสินเชื่อที่ขยายตัวค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลจากรัฐบาลจีนสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ จนทำให้ปริมาณเงินในระบบสูงมาก แต่กลับมีอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐฯ มาก่อนจนกลายเป็นภาวะฟองสบู่แตก แต่อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่าจีนได้รับทราบถึงผลกระทบเหล่านี้แล้วเพียงแต่มีความจำเป็นต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อทำให้ตัวเลขภาคการผลิตขยับสูงขึ้นและสวนทางกับภาคบริโภคที่ตัวเลขยังทรงตัว

“การปล่อยสินเชื่อส่วนใหญ่ของจีนประมาณ 80% เกิดจากรัฐบาล ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและเม็ดเงินในนระบบที่สูง ส่งผลให้ราคาสินค้า เช่น น้ำมัน เหล็ก ปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วจนเกินไปจนอาจจะกลายเป็นปัจจัยที่ฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในที่สุด” นายกวี กล่าว

ทั้งนี้ วิธีป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตฟองสบู่แตกในจีนมี 2 ทาง คือ 1.วิธีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าจีนจะไม่ทำเช่นนั้น 2.การลดปริมาณเงินออมซึ่งเป็นการดึงเงินออกจากระบบ โดยพอเริ่มดึงเงินออกจากระบบจะเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจที่มีความนิ่งมากขึ้น

**Q 3-4 ตัวเลขส่งออกเป็นบวก

นายกวี กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 3-4 เชื่อว่า ตัวเลขการส่งออกจะออกมาเป็นบวก แต่นักลงทุนคงต้องจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลายๆ ตัว เช่น อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐฯ รวมทั้งการเคลื่อนไหวของเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งจะเป็นสัญญาณแสดงถึงความฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดเรียบร้อยแล้ว แต่การฟื้นตัวคงต้องใช้เวลา ดังนั้น นักลงทุนจึงควรระวังเพราะยังอาจมีอีกหลายปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ส่วนกลยุทธ์การลงทุนหากต้องการลงทุนในระยะยาว ขอแนะนำเป็นหุ้นกลุ่มพลังงาน เช่น PTTEP และธนาคารพาณิชย์เพราะมีสัดส่วนคิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดหุ้นไทย โดยสลับกันเป็นกลุ่มนำที่ดึงดัชนี ขณะที่นักลงทุนระยะสั้น เชื่อว่า ตลาดน่าจะมีการปรับฐานในระยะเวลาเป็นเดือน ทั้งนี้ในช่วงประมาณไตรมาส 3/52 หุ้นที่จะสามารถเข้าไปเก็งกำไรได้ คือ หุ้นในกลุ่มธนาคารมากกว่ากลุ่มพลังงาน แม้ว่าในไตรมาส 3 จะมีความกังวลในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มชะลอตัวลง แต่กลุ่มดังกล่าวอาจได้รับอานิสงส์ การกู้เงินจากพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดกู้เงินจำนวน 8 แสนล้านบาทของภาครัฐไทยเพื่อนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหุ้น KTB น่าจะได้รับเม็ดเงินดังกล่าวเข้ามาประมาณ 30% รวมทั้งเชื่อว่ามีความเป็นได้ที่จะเห็นตัวเลขสินเชื่อขยายตัวเป็น 15% ในปี 2553

**ประเมินเม็ดเงิน ตปท.ยังไหลเข้า

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ผลตอบแทนในพันธบัตรจะสูง แต่เชื่อว่า จะไม่กระทบต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะมองว่าหากผู้ลงทุนในส่วนนี้จะโยกเงินลงทุนน่าจะไปเข้าการฝากเงินมากกว่า เพราะนักลงทุนในพันธบัตรส่วนใหญ่นั้นมีสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำ ซึ่งเปรียบเทียบกับการลงทุนในตลาด หุ้นแล้วถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก

แต่หากเรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบจริง น่าจะมีผลหุ้นไอพีโอที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งเป็นทางเลือกของนักลงทุนต่างชาติ และจะทำให้ความสนใจในหุ้นที่ซื้อขายอยู่ในกระดานลดลง แต่ก็เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญมากนัก ทั้งนี้ ประเมินว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะปรับตัวลดลงไปถึง 520 จุดได้ แม้ดัชนีฯ ยังมีแนวต้านที่ 580 จุด โดยหากหลุดแนวต้านดังกล่าวก็ยังมีแนวรองรับอยู่ที่ 550 จุด ซึ่งก็น่าจะพยุงตลาดได้

ส่วนบรรรการซื้อขายหุ้นไทย 6 เดือนที่เหลือ น่าจะฟื้นตัวเป็นด้านบวกต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าจะมีกระแสเงินที่ไหลเข้า (Fund Flow) ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ดัชนีปรับเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าอาจเห็นดัชนีโอกาสแตะ 660 จุด อีกครั้ง ซึ่งเดิมมองว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 580 จุด แต่จากกระแสเงินที่ไหลเข้าและภาพรวมของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่น่าจะเป็นช่วงที่ต่ำสุดแล้ว จะช่วยหนุนให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น และจะกลายเป็นผลดีต่อธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามอง คือ การที่ธนาคารหลายแห่งได้แสดงความกังวลในการประชุมจี 8 ว่าเม็ดเงินที่อยู่ในระบบมากอาจจะเป็นความเสี่ยง ขณะเดียวกันการมีไอพีโอมากขึ้นและรัฐบาลออกพันธบัตรมากขึ้นก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อภาพรวมของตลาดเช่นกัน

**ประเมินสิ้นปีหุ้นไทย 580 จุด

นางสาววราภรณ์ วิบูลคณารักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวว่า คาดการณ์ดัชนีปี 2553 จะแตะที่ระดับ 710 จุด โดยประเมินบนประมาณการค่า P/E 12 เท่า และผลประกอบการโต 8% ส่วนในปี 2552 เชื่อว่า ในช่วงครึ่งปีหลังแนวโน้มของการฟื้นตัวของดัชนียังเป็นไปในทิศทางบวก โดยน่าจะสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และผลประกอบการมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้น ซึ่งประมาณการดัชนีฯ สิ้นปีนี้ไว้ที่ 580 จุด และมีค่า P/E 12 เท่า ผลประกอบการเติบโต 15% ส่วนสาเหตุที่ผลประกอบการในปีนี้เติบโตกว่า 53 เพราะฐานของการคำนวณแตกต่างกัน

“การปรับฐานของดัชนีหุ้นไทยช่วงนี้ถือเป็นเรื่องปกติของหุ้นที่ขึ้นมาแรงเกินปัจจัยพื้นฐาน ทำให้มีแรงขายออกมา และพันธบัตรก็เริ่มจูงใจนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตามว่าน่าจะเป็นการปรับฐานเพื่อรองการปรับขึ้นรอบต่อไปมากกว่า และก็ไม่น่าจะเห็นดัชนีลงไปถึงจุดต่ำสุดที่ระดับ 380 จุดอีกแล้ว” นางสาววราภรณ์ กล่าว

**หุ้นไทยร่วงต่ออีก 10 จุด

ขณะที่ความเคลื่อไหวตลาดหุ้นไทย วานนี้ (17 มิ.ย.) ดัชนีปิดที่ระดับ 586.14 จุด ลดลง 10.40 จุด หรือ -1.74% มูลค่าการซื้อขาย 19,756 ล้านบาท ซึ่งตลอดทั้งวันดัชนีเคลื่อนไหวในแดนบวกและลบสลับกันตลอดทั้งวัน โดยขยับขึ้นแตะจุดสูงสุดที่ 599.61 จุด และต่ำสุดขที่ 585.29 จุด

ด้าน น.ส.ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ ยังปรับฐานอยู่ มี take profit ออกมาต่อเนื่อง ทั้งธนาคาร พลังงาน แต่ยังอยู่ในกรอบของการปรับฐานตามตลาดภูมิภาคส่วนนี้ยังมองว่าน่าจะอยู่ในกรอบของการปรับฐาน ทำให้ตลาดคงจะมีความผันผวนเหมือนวานนี้เพราะลงแรงติดต่อกันมา จึงแนะนำช่วงนี้ให้เข้าหุ้นกลุ่มขนาดรองลงมา หลีกเลี่ยงหุ้นขนาดใหญ่ไปก่อน เพราะตอนนี้มีแรงขายออกมามาก
กำลังโหลดความคิดเห็น