xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.สวนทางคลังไม่ยืดNPLแบงก์เชื่อกำกับดีแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติป้องแบงก์พาณิชย์ ชี้ไม่จำเป็นต้องขยายอายุเอ็นพีแอลเหมือนแบงก์เฉพาะกิจของรัฐ เชื่อนายแบงก์ตัดสินใจเองได้ ฟุ้งคุณภาพแบงก์พาณิชย์ที่ ธปท.เป็นผู้กำกับดูแลมีการติดตามลูกค้าอย่างใกล้ชิด หนี้เสียต่ำไม่จำเป็นต้องยืด

กรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง มีนโยบายขยายระยะเวลาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สำหรับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเป็น 1-2 ปี แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ที่ใช้มาตรฐาน 3-6 เดือน นั้น นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า แม้ รมว.คลังต้องการให้ ธปท.ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ แต่กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ ธปท.ใช้กำกับดูแลในส่วนธนาคารพาณิชย์ ถือว่าเหมาะสมแล้วกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะตัดสินใจปล่อยสินเชื่อต้องพิจารณาเรื่องความเพียงพอ ทั้งเงินกองทุน สภาพคล่อง หลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน รวมถึงข้อมูลของลูกค้าที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันการเงินมีปัญหาเรื่องนี้จำนวนมาก ขณะเดียวกันการปล่อยสินเชื่อเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างหนึ่งที่มีขายทั่วไป จึงไม่สามารถบอกได้ว่าธนาคารพาณิชย์ควรทำอย่างไร
"การตัดสินใจปล่อยสินเชื่อต้องขึ้นอยู่กับธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ตัดสินใจ เพราะเป็นธุรกิจของธนาคารพาณิชย์เอง ธปท.ไม่สามารถเข้าไปกำหนดกฎเกณฑ์อะไรมากได้ เพียงแต่จะพยายามดูสถานการณ์และสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการปล่อยกู้เท่านั้น" นายเกริกกล่าวและย้ำว่า ในฐานะผู้กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์มองว่าหนี้ที่เป็นของเสียแล้วแม้จะขยายให้ยาวนานแค่ไหนก็ไม่ได้ช่วยอะไร โดยขณะนี้เอ็นพีแอลในระบบก็ไม่ได้เป็นปัญหา และสถาบันการเงินแต่ละแห่งก็ไม่ได้มีหนี้เสียเต็มไปหมด จึงไม่เข้าใจว่าจะเก็บของเสียไว้ทำไมให้ยาว
“อะไรที่ไม่ดีก็ไม่ต้องเก็บเอาไว้ และจากการเก็บรายงานเรื่องนี้ของเรา พบว่า ปัญหาหนี้เอ็นพีแอลในระบบยังไม่มาก เพราะเรามีการพูดคุยกับแบงก์พาณิชย์ตลอดให้ดูแลลูกค้าก่อนที่จะเข้าข่ายเป็นเอ็นพีแอล”

ยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตกระเตื้องขึ้น
รายงานข่าวจาก ธปท.แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินของธปท.ได้ประกาศตัวเลขบัตรเครดิตล่าสุดสิ้นเดือนก.ค.ของปี 2552 พบว่า ปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมทุกประเภททั้งการใช้จ่ายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงยอดเบิกเงินสดล่วงหน้า เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่สถานการณ์และตัวเลขกลับต่างกันเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณการใช้จ่ายรวมในเดือนนี้อยู่ที่ 7.56 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5.56 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.94% แต่เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนลดลง 2.43 พันล้านบาท ลดลง 3.12%
ทั้งนี้ ในส่วนของปริมาณการใช้จ่ายในประเทศในเดือนนี้มีทั้งสิ้น 5.64 หมื่นล้านบาท ซึ่งสถาบันการเงินทุกประเภทต่างมียอดเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามกระแสตัวเลขโดยรวมของระบบ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้น 4.48 พันล้านบาท คิดเป็น 8.63% แต่กลับลดลง 1.16 พันล้านบาท ลดลง 2.01% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน
ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศมีทั้งสิ้น 3.12 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 227 ล้านบาท คิดเป็น 8.15% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน 229 ล้านบาท คิดเป็น 7.06% สำหรับยอดการเบิกจ่ายเงินสดล่วงหน้ามียอดทั้งสิ้น 1.62 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 853 ล้านบาท คิดเป็น 5.55% แต่กลับลดลง 1.04 พันล้านบาท หรือลดลง 6.04% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน
สำหรับยอดสินเชื่องคงค้างยังคงเพิ่มขึ้นทั้งเทียบกับเดือนก่อนหน้าและระยะเดียวกันปีก่อน โดยในปัจจุบันยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตมีทั้งสิ้น 1.82 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 693 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.38% และเพิ่มขึ้น 2.61 พันล้านบาท คิดเป็น 1.46% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าและระยะเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ โดยมีเพียงสาขาธนาคารต่างชาติเท่านั้นที่มียอดสินเชื่อคงค้างลดลง
ด้านปริมาณบัตรเครดิตทั้งระบบมีอยู่ 13.14 ล้านใบ ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบเดือนก่อนหน้าและระยะเดียวกันปีก่อน โดยเพิ่มขึ้น 6.17 หมื่นใบ หรือเพิ่มขึ้น 0.47% ซึ่งมีเพียงนอนแบงก์เท่านั้นที่มียอดใบเพิ่มขึ้น 8.70 หมื่นใบ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ไทยและสาขาธนาคารต่างชาติลดลง 1.30 หมื่นใบ และ1.24 หมื่นใบ ตามลำดับ ขณะที่ระยะเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้น 6.64 หมื่นใบ คิดเป็น 5.32% ซึ่งสาขาธนาคารต่างชาติเท่านั้นที่มียอดลดลง 3.43 หมื่นใบ แต่ธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 4.43 แสนใบ และนอนแบงก์เพิ่มขึ้น 2.55 แสนใบ
สายนโยบายสถาบันการเงิน แจ้งว่า สำหรับธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลล่าสุดในเดือนก.ค.ของปีนี้ทั้งจำนวนบัญชีและยอดคงค้างสินเชื่อต่างลดลง โดยในปัจจุบันมีจำนวนบัญชีทั้งสิ้น 9.02 ล้านบัญชี ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1.28 แสนบัญชี ลดลง 1.40% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนลดลงมากถึง 2.27 ล้านบัญชี หรือลดลงถึง 20.10% ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อประเภทนี้มีทั้งสิ้น 2.20 แสนล้านบาท ลดลง 2.80 พันล้านบาท ลดลง 1.26% และเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ลดลง 4.14 พันล้านบาท ลดลง 1.85%
กำลังโหลดความคิดเห็น