xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯฉายภาพธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ครึ่งปีหลังหดตัว 2.0-2.9%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลปี 52 หดตัวต่อเนื่อง พร้อมสินเชื่อส่วนบุคคลคงค้าง หดตัวประมาณ 2.0-2.9% ตามทิศทางภาวะ ศก.ที่ซบเซา ผู้ประกอบการเข้มงวดขึ้น เพราะไม่มีหลักประกัน แนะลูกค้าศึกษารายละเอียดให้รอบด้าน ก่อนตัดสินใจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยบทวิเคราะห์ประเมินภาพรวมธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2552 โดยระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะปัญหาการเลิกจ้างงานเป็นจำนวนมากในบางภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มที่มีภาระการผ่อนชำระสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-Bank) ไม่สามารถผ่อนชำระสินเชื่อต่อไปได้ ทำให้ผู้ประกอบการมีการยกเลิกบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก

สำหรับภาพรวมจำนวนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลในเดือนพฤษภาคม 2552 มีประมาณ 9.224 ล้านบัญชี หดตัว 16.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนบัญชีประมาณ 11.065 ล้านบัญชี นอกจากนี้ ผู้ประกอบการทั้งธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank ต่างเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น โดยมีการปรับกฎเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ การเลือกเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงน้อยในภาวะที่เศรษฐกิจยังคงถูกรุมเร้าด้วยปัจจัยลบนานัปการ ซึ่งมีผลทำให้การขยายตัวของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นชะลอตัวลงตาม

สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลครึ่งหลังปี 2552 เชื่อว่า ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง แม้คาดว่าเศรษฐกิจอาจฟื้นตัว แต่ยังต้องระวังความเสี่ยง ศูนย์วิจัยกสิกรฯ จึงได้ปรับประมาณการยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2552 ลง โดยคาดว่าน่าจะหดตัว 2.0-2.9% คิดเป็นมูลค่า 224,500-222,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ให้เหตุผลว่า เนื่องจากสินเชื่อส่วนบุคคลไร้หลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงจัดเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยก็ยังคงมีความเสี่ยงที่สูง อาทิ ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในไทย ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 และอาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของสินเชื่อในระบบ รวมถึงแนวโน้มการว่าจ้างงานที่ลดลง จะส่งผลกระทบลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามาสู่ระบบมีจำนวนลดลง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง และการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาระรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้บริโภค รวมถึงการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารพาณิชย์และกลุ่ม Non-Bank ยังคงให้ความสำคัญในการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการปรับระบบการบริหารความเสี่ยง เช่น การปรับกฎเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ หันมาจับกลุ่มลูกค้าในสายอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไม่มากนัก การปรับขึ้นรายได้ขั้นต่ำ

สำหรับแนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลครึ่งหลังปี 2552 มองว่า ธนาคารพาณิชย์ และ Non-bank ยังคงเดินหน้าทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วอุณหภูมิการแข่งขันในธุรกิจนี้อาจจะลดความร้อนแรงลงไป เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทำให้มีการปรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคล ให้มีระยะเวลาการผ่อนชำระนานขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ทั้งนี้ คาดว่า ผู้ประกอบการยังใช้กลยุทธ์ฟรีค่าธรรมเนียมการจัดการเงินกู้ ค่าอากรแสตมป์ และฟรีค่าธรรมเนียมในการโอน รวมถึงการแจกของสมนาคุณ รวมถึงการใช้กลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยเข้ามาจูงใจผู้บริโภค เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เสนอแนะให้ผู้บริโภคที่มีความต้องการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลนั้น ควรทำการศึกษาหาข้อมูลของผลิตภัณฑ์สินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงิน เช่น อัตราดอกเบี้ย การคิดคำนวณอัตราดอกเบี้ยในแต่ละเดือน ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาเปรียบเทียบความแตกต่างและนำมาช่วยในการวางแผนทางการเงินในแต่ละเดือนของผู้บริโภค เพื่อป้องกันผลกระทบในการผ่อนชำระสินเชื่อที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาว ระมัดระวังไม่ควรใช้จ่ายจนเกินกำลังความสามารถในการผ่อนชำระของตนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น