xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ห่วง NPL บัตรเครดิตพุ่ง สินเชื่อบุคคลวูบ 9 แสน บช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นายแบงก์เผยหนี้เน่าบัตรเครดิตขยับเพิ่ม บัวหลวงอัตราเพิ่มขึ้นเป็น 2% จากปลายปีที่อยู่ในระดับ 1.75% พร้อมตั้งเป้าคุมไม่ให้เกิน 2% พร้อมเกาะติดกลุ่มธุรกิจส่วนตัว กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ด้านแบงก์ชาติยอมรับแนวโน้มไม่สู้ดีทั้งเอ็นพีแอลบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เผยปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมผ่านบัตรเครดิตหดตัว13.47% ลดลงกว่า 6 พันล้าน สินเชื่อส่วนบุคคลจำนวนบัญชีหดเกือบ 9 แสนบัญชี เฉพาะนอนแบงก์เกือบ 8 แสนบัญชี

นายโชค ณ ระนอง ผู้จัดการสายบัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในส่วนของบัตรเครดิตขณะนี้ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในช่วงปลายที่ก่อนอยู่ที่ 1.75% มาเป็น 2% ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและปัจจัยด้านการเมืองที่มีความวุ่นวาย ส่วนยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรในไตรมาสแรกของปีนั้นก็ได้มีการปรับตัวลดลงเช่นกัน จากความระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้จ่ายที่มีมากขึ้น โดยยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ 9,000 บาทต่อบัตร ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1-2 %

ณ สิ้นไตรมาสแรกธนาคารมีฐานบัตรเครดิตอยู่ที่ 950,000 บัตร ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ้นปี ในขณะที่ยอดการผ่อนชำระอยู่ที่ 50% ชำระเต็มจำนวน 50% และเป้าหมายควบคุมเอ็นพีแอล นั้นในปีนี้จะควบคุมไม่ให้เกิน 2% ส่วนยอดบัตรเครดิตน่าจะอยู่ที่ 1 ล้านบัตร

"ธนาคารมีความระมัดระวังในการอนุมัติบัตรเครดิตมากขึ้นกว่าเดิม เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว พร้อมทั้งได้เฝ้าติดตามดูกลุ่มธุรกิจส่วนตัว เพราะมีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ก็พิจารณากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มยานยนต์เป็นกรณีพิเศษ" นายโชคกล่าว

นายรุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายผลิตภัณฑ์สินเชื่อลูกค้าบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวว่า ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไตรมาสแรกเติบโต 2-3% เนื่องจากมีรายการส่งเสริมการขายค่อนข้างมากบนพื้นฐานต้นทุนที่ต่ำ เพราะเน้นกลุ่มลูกค้าของธนาคารเป็นหลัก ทำให้ได้รับผลกระทบน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หรือนอนแบงก์ โดยยอดการใช้จ่าย ณ ไตรมาสแรกมีมูลค่ารวมกว่า 25,000 ล้านบาท ส่วนไตรมาสสองนั้นไม่แน่ใจว่ายอดการใช้จ่ายจะเพิ่มหรือลดลง

ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000 บาทต่อบัตร หากคิดยอดบัตรที่มีการเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ (แอคทีฟ) จะอยู่ที่ 12,000 บาทต่อบัตรต่อเดือน โดยฐานบัตรเครดิต ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 1.9 ล้านบัตร โดยเป็นบัตรแฟมิลี่ ถึง 300,000 บัตร ทั้งนี้ในจำนวน 1.9 ล้านบัตร นั้น เป็นบัตรที่แอ๊คทีฟ 60-70% มียอดการผ่อนชำระ 60% ที่เหลือชำระเต็มจำนวน ส่วนเอ็นพีแอล นั้นไม่ถึง 2%

ส่วนรายการส่งเสริมการขายในช่วงนี้ ยังคงเน้น รับเงินคืนสูงสุดรวม 15% เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ใดก็ได้ครบทุก 10,000 บาท รับเงินคืนทุกเดือนขั้นต่ำ 2% และรับเงินคืนเพิ่ม 1% ทุกเดือน ถ้าใช้จ่ายติดต่อกันทุกเดือน รวม 4 เดือน และเพิ่มความพิเศษเมื่อสะสมยอดใช้จ่ายครบ 500,000 บาทขึ้นไปตลอด 4 เดือน รับเงินคืนเพิ่มอีก 10% รวมเป็น 15% โดยคำนวณยอดเงินคืนจากการใช้จ่ายในหมวด Hotel, Dining และ Shopping เท่านั้น เพียงลงทะเบียนรับสิทธิ์ผ่าน SMS วันนี้ - 31 ก.ค.52 เท่านั้น

สำหรับเป้าหมายสิ้นปีนี้คาดว่ายอดบัตรเครดิตน่าจะอยู่ที่ 1.8-1.9 ล้านบัตร เพราะจะมีบางบัตรที่ลูกค้าทำการยกเลิก แต่บัตรเครดิตที่เพิ่มจะเป็นบัตรเครดิตแฟมิลี่มากกว่า โดยคาดว่าช่วงเวลาที่เหลือน่าจะมียอดบัตรเครดิตแฟมิลี่เพิ่มอีก 300,000 บัตร รวมทั้งปียอดบัตรเครดิตแฟมิลี่ 600,000 บัตร โดยลูกค้าก็ยึดถือจากฐานลูกค้าเงินฝากของธนาคารเป็นหลัก

"ปีนี้ไม่ได้เน้นเพิ่มยอดบัตรมากนัก ยกเว้นบัตรเครดิตแฟมิลี่ แต่สิ่งที่เน้นคือยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรมากกว่า ณ ปัจจุบัน ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรของธนาคารมีส่วนแบ่งการครองตลาด 16% ถือเป็นอันดับ1 ของอุตสาหกรรม" นายรุ่งเรืองกล่าว

ด้านสินเชื่อหมุนเวียน speedy cash ที่เป็นเงินสดพร้อมใช้ มีการผ่อนชำระคืน 5% นั้น ณ สิ้นไตรมาสแรกมียอดสินเชื่อคงค้าง 9,000 ล้านบาท เติบโต41% จำนวนรายอยู่ที่ 380,000 ราย ขณะที่ไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ยอดคงค้างอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท ส่วนยอดเอ็นพีแอล ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 5% ซึ่งสิ้นปีนี้คาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างน่าจะอยู่ที่ 14,000-15,000 ล้านบาท ทั้งนี้รวมสินเชื่อส่วนบุคคล speedy loan ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นรายเดือนเท่ากันด้วย ซึ่ง ณ ปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท ส่วนรายได้ของผู้ที่ขอสินเชื่อดังกล่าวเน้นกลุ่มผู้มีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป แต่หากลูกค้าที่มีรายได้ 10,000 บาทต่อเดือนแล้วมีศักยภาพ ธนาคารก็รับเป็นลูกค้า

สินเชื่อที่อยู่อาศัย ณ ปัจจุบันมียอดคงค้างอยู่ที่ 220,000 ล้านบาท ไตรมาสแรกมียอดสินเชื่อใหม่เพิ่ ม 11,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตสุทธิ 10% โดยมีเอ็นพีแอล อยู่ที่ 2.5% โดยธนาคารจะควบคุมไม่ให้เกิน 3% ในปีนี้ ซึ่งสินเชื่อบ้านใหม่ในปีนี้มีอัตราการเติบโตที่ลดลง ทำให้ตลาดรีไฟแนนซ์กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง แต่หากแบงก์อื่นมารีไฟแนนซ์ลูกค้าของแบงก์ไทยพาณิชย์ แบงก์ก็จะเอาคืนเป็น 2 เท่า ซึ่งตลาดสินเรื่องรีไฟแนนซ์นั้นไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจมีการขับเคลื่อน เนื่องจากย้ายจากแบงก์หนึ่งไปอีกแบงก์หนึ่งเท่านั้น

*** แบงก์ชาติยอมรับNPLรายย่อยพุ่ง
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ภาคสถาบันการเงินต่างงัดผลิตภัณฑ์หลากหลาย แคมเปญต่างๆ รวมทั้งเงื่อนไขพิเศษสุดทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมบางประเภท เพื่อกระตุ้นรายได้และเพิ่มฐานลูกค้าอย่างล่าสุดได้มีการจัดงานมหกรรมทางการเงิน ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 7-10 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่สายนโยบายสถาบันการเงินได้รายงานการภาวะการให้บริการบัตรเครดิต แยกตามประเภทบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.ล่าสุดในเดือน มี.ค.หรือไตรมาสแรกของปีนี้

ทั้งนี้ ธุรกิจบัตรเครดิตยังคงมีปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมลดลงต่อเนื่อง แต่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงตามภาวะเศรษฐกิจ แม้จำนวนบัตรเครดิตและยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมที่ออกโดยผู้ประกอบการทุกประเภทมีจำนวนรวม 8.01 หมื่นล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 6.42 พันล้านบาท ลดลงถึง 13.47% โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรของธนาคารพาณิชย์ลดลงมากที่สุด 3.20 พันล้านบาท รองลงมาเป็นบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) 2.71 พันล้านบาท และสาขาธนาคารต่างชาติ 517 ล้านบาท

โดยเมื่อแยกตามประเภทการใช้จ่าย พบว่า ปริมาณการใช้จ่ายในประเทศผ่านบัตรเครดิตมีทั้งสิ้น 5.93 หมื่นล้านบาท ลดลง 5.29 พันล้านบาท ลดลง 16.10% จากไตรมาสก่อน ซึ่งบัตรที่ออกโดยผู้ประกอบการทุกประเภทลดลงไปในทิศทางเดียวกันบัตร โดยธนาคารพาณิชย์ 2.43 พันล้านบาท นอนแบงก์ 2.34 พันล้านบาท และสาขาต่างชาติ 501 ล้านบาท

เช่นเดียวกันในระบบมีการเบิกเงินสดล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิตโดยรวม 1.78 หมื่นล้านบาท ลดลง 1.52 พันล้านบาท ลดลงในสัดส่วน 10.93% ซึ่งผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ลดลง 951 ล้านบาท นอนแบงก์ลดลง 474 ล้านบาท และสาขาธนาคารต่างชาติลดลง 93 ล้านบาท นอกจากนี้ ปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศกลับสวนกระแสมียอดเพิ่มขึ้น 382 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 39.87% จากปัจจุบันที่มียอดทั้งสิ้น 2.92 พันล้านบาท โดยผู้ประกอบในส่วนของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 199 ล้านบาท นอนแบงก์ 107 ล้านบาท และสาขาธนาคารต่างชาติ 76 ล้านบาท

ยอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป หรือเอ็นพีแอลในธุรกิจบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในสัดส่วนถึง 17.16% เพิ่มขึ้น 363 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เอ็นพีแอลในส่วนของธนาคารพาณิชย์ 344 ล้านบาท คิดเป็น 16.26% นอนแบงก์ 167 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.70% แต่มีเพียงสาขาธนาคารต่างชาติกลับลดลง 149 ล้านบาท ลดลง 12.89% ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตลดลง 8.05 พันล้านบาท ลดลง 11.90% ซึ่งเป็นการลดลงของผู้ประกอบทุกประเภททั้งธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์และสาขาธนาคารต่างชาติ 3.57 พันล้านบาท 3.34 พันล้านบาท และ1.14 พันล้านบาท ตามลำดับ จากปัจจุบันที่ในระบบมียอดคงค้างสินเชื่อประเภทนี้ทั้งสิ้น 1.82 แสนล้านบาท

ส่วนปริมาณบัตรเครดิตโดยรวมมีจำนวน 13.14 ล้านใบ เพิ่มขึ้น 1.65 แสนใบ เพิ่มขึ้น 3.28% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ 2.29 แสนใบ แต่ในส่วนของนอนแบงก์และสาขาธนาคารต่างชาติลดลง 5.84 หมื่นล้านบาท และ 5.70 พันล้านบาท ตามลำดับ

ทั้งนี้ ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลมีจำนวนบัญชีทั้งสิ้น 9.45 ล้านบัญชี ลดลง 8.77 แสนบัญชี คิดเป็น 8.49% ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อ 2.25 แสนล้านบาท ลดลง 4.22 พันล้านบาท หรือลดลง 1.84% ซึ่งผู้ประกอบการสินเชื่อส่วนบุคคลทุกประเภทต่างมีจำนวนบัญชีและยอดคงค้างสินเชื่อลดลง โดยเฉพาะนอนแบงก์ที่มีจำนวนบัญชีลดลงถึง 7.95 แสนบัญชี และมียอดคงค้างสินเชื่อลดลง 3.15 พันล้านบาท

ยอดเอ็นพีแอลของสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.57% จากปัจจุบันที่มียอดเอ็นพีแอลรวม 8.3 พันล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการนอนแบงก์มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 305 ล้านบาท แต่ในส่วนของธนาคารพาณิชย์และสาขาธนาคารต่างลดลง 18 ล้านบาท และ 240 ล้านบาท ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น