xs
xsm
sm
md
lg

‘ปกรณ์’ขอแค่1ปีคุม‘TSFC’ก่อนไขก๊อกแก้ภาพติดลบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ปกรณ์” ลั่นขอนั่งประธาน บล. เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ต่ออีก 1 ปี หวั่นส่งผลต่อภาพลักษณ์ ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ ยันถือหุ้น 3 ปี แต่อาจพิจารณาขายหุ้นช่วงเข็นเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น หากมีผู้สนใจซื้อหุ้น ด้านทริสเรทติ้งปรับเพิ่มเครดิต เป็น BB จากเดิม D หลังปรับโครงสร้างทุน-เพิ่มทุนสำเร็จ

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และในฐานะประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน)หรือ TSFC เปิดเผยว่า หลังจากการที่บล.เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติแล้ว ตนเองจะขอดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ในบล.เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ เพียง 1 ปีเท่านั้น เพื่อที่จะได้ไม่ถูกมองว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเข้าไปควบคุมบริหารงานทีเอสเอฟซี

ทั้งนี้ บล.เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นตามโครงสร้างถือหุ้นใหม่แล้ว และมีการแต่งตั้งกรรมการใหม่บางส่วน แต่ยังไม่ครบ เนื่องจากทางกระทรวงการคลัง ธนาคารพาณิชย์เอกชน และภาครัฐ ยังไม่ได้ส่งรายชื่อผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการ โดยเชื่อว่าหน่วยงานดังกล่าวจะส่งรายชื่อผู้ที่เหมาะสมที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการและนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการบล. หลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ ได้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากนั้นจะมีการกำหนดนโยบายการบริหารงานของบริษัทที่ชัดเจน

“ผมจะนั่งเป็นประธานกรรมการ TSFC เพียง 1 ปีเท่านั้น คือไม่อยากให้คนอื่นมองว่าตลาดหลักทรัพย์ฯเข้าไปคุมในเรื่องการบริหารงานของ TSFC จากการที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าไปฟื้นฟูให้กลับมาทำธุรกิจปกติ แต่อาจจะส่งตัวแทนเข้าไปเป็นกรรม ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบในเรื่องนโยบายบริหารงานของ TSFC ได้เพราะ ขณะนี้บอร์ดยังไม่ครบ เพราะยังมีบางส่วนหน่วยงานยังไม่ได้เสนอชื่อสั่งตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการ แต่คาดว่าจะประชุมบอร์ด TSFC ภายในสิ้นเดือนนี้ ”นายปกรณ์ กล่าว

แหล่งข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะยังคงถือหุ้นอยู่ใน บล.หลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ ต่อไปจนเมื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในอีก 3 ปี ข้างหน้า แต่หากในช่วงที่ บล.หลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จะมีการเสนอขายหุ้น มีผู้สนใจต้องการเข้ามาถือหุ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจจะพิจารณาขายหุ้นออกมาในช่วงนั้น เพราะตามเงื่อนไขของการปรับโครงสร้างทุนและการเงินนั้น เมื่อ TSFC เข้ามาจดทะเบียนแล้วสามารถที่จะขายออกมาเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี

ด้านบริษัททริสเรทติ้ง จำกัด ได้มีการปรับเพื่ออันดับเครดิตองค์กรของ TSFC เป็นระดับ BB จากระดับ D หลังจากที่บริษัทสามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับโครงสร้างหนี้และเพิ่มทุนได้สำเร็จ อันดับเครดิตสะท้อนถึงข้อจำกัด ในด้านความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัท และความอ่อนแอของระดับความสามารถในการทำกำไรแม้ว่าบริษัทจะมีเงินทุนที่แข็งแกร่งหลังจากเพิ่มทุนก็ตาม

ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของภาวะแวดล้อมทางธุรกิจและการตอบสนองจากตลาดหลักทรัพย์ต่อการกลับเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท รวมถึงการดำเนินธุรกิจอื่นในอนาคต คือ ธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน และธุรกิจการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งระบบการดำเนินงานที่ดีที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจสินเชื่อเพื่อซื้อและสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติจากสถาบันการเงินเพื่อใช้ชำระคืนหนี้สินตามข้อผูกพันในข้อตกลงลงการปรับโครงสร้างหนี้

สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิต คือ คงที่ สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่า บริษัทจะสามารถจ่ายชำระคืนหนี้ได้ตามข้อผูกพันและข้อกำหนดในข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้และข้อกำหนดอื่นๆ ที่อาจมีขึ้นในการขอแหล่งเงินทุนใหม่ของบริษัท นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความคาดหมายที่บริษัทจะได้รับการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด โดยความสามารถในการฟื้นคืนฐานะทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการเข้าถึงเงินทุนจากหลายแหล่งเหมืนอที่บริษัทสามารถกระทำได้ในอดีตยังเป็นสิ่งที่ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป

ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2552 บริษัทมีขนาดสินทรัพย์ (ยังไม่ได้ตรวจสอบและสอบทาน) จำนวน 4,840 ล้านบาท ลดลงจาก 8,705 ล้านบาท ณ ปลายปี 2551 ในปี 2551 บริษัทบันทึกผลขาดทุนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ยังไม่รับรู้เป็นรายได้จำนวน 987 ล้านบาท ซึ่งทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญเป็น 62 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2551 จาก 2,129 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2550 ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทกลับเป็นติดลบจำนวน 14 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2552 แต่หลังจากการเพิ่มทุนแล้ว ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทก็กลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 1,122 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน บริษัทมียอดคงค้างของเงินให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์จำนวน 2,680 ล้านบาท และมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาลและเงินลงทุนในตลาดเงินจำนวน 1,662 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น