xs
xsm
sm
md
lg

ปีหน้าทุนนอกทะลักธปท.Changeรับมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติเผยปีหน้ามีเม็ดเงินต่างประเทศไหลเข้าไปมากขึ้น เหตุต่างชาติเพิ่มน้ำหนักลงทุนเอเชีย ย้ำบทเรียนวิกฤติเศรษฐกิจทำ ธปท.ปรับเปลี่ยนแนวโยบายการเงินดูแลภาคเศรษฐกิจจริงมากขึ้น ดอกเบี้ย-ค่าเงินจะช่วยผู้ส่งออกและภาคธุรกิจ เวลาเศรษฐกิจวิกฤตจะไม่ทรุดหนัก

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยภายในงานเสวนาหัวข้อ “โลกาภิวัตน์ด้านเงินทุน และตลาดเงิน ตลาดทุนไทย” ซึ่งจัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเมื่อวานนี้(10 ก.ย.) ว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ธปท.รวมถึงธนาคารกลางทั่วโลกไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการกำกับดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายมากนัก โดยกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายข้ามประเทศในปีนี้และปีที่แล้วลดลง แต่คาดว่าในปีหน้าจะมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามายังไทยมากขึ้น และไหลเวียนลงทุนอยู่ในเอเชียเพิ่มขึ้น แทนประเทศในแถบตะวันตก ซึ่งจะส่งผลต่อเงินทุนเข้ามายังไทยด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยคงไม่สามารถปิดกั้นเงินลงทุนที่จะเข้ามาจากต่างประเทศได้ โดยเฉพาะเงินทุนที่เกิดจากนักลงทุนขนาดใหญ่ แม้เข้ามาแล้วกระทบต่อด้านราคา แต่เม็ดเงินเหล่านี้ช่วยให้เกิดการใช้จ่ายในระบบ จึงยอมรับว่าเม็ดเงินเหล่านั้นช่วยพัฒนาตลาดเงิน และตลาดทุนของไทยให้มีความกว้างและมีขนาดใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผู้วางนโยบายก็ต้องรับมือกับภาวะฟองสบู่ที่อาจจะเกิดขึ้นจากเงินที่ไหลเข้าออกอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งไม่ควรยึดแต่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ซึ่งอาจทำให้ขาดการเชื่อมโยงภาคการเงินและเศรษฐกิจจริงได้
ฉะนั้น เงินทุนไหลเข้ามาเหมือนกับกระแสน้ำ จึงต้องมีท่อระบายน้ำให้ไหลออกไป โดยขณะนี้ธปท.เตรียมที่จะผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนไทยหันไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ถือเป็นการช่วยลดแรงกดดันอย่างหนึ่ง แต่การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป
และการดำเนินการเช่นนี้เป็นการสร้างโอกาสให้นักลงทุนไทยหาผลตอบแทนในต่างประเทศมากขึ้นดีกว่าจำกัดการลงทุนในช่วงที่แม้ตลาดหุ้นไม่ดีหรือผลตอบแทนพันธบัตรในประเทศต่ำเท่านั้น
“เมื่อปี 50 มีกระแสเงินทุนไหลทั่วโลกมากขึ้น 8 แสนล้านเหรียญ ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าไทยมากจนต้องมีมาตรการ30% แต่ในปี 51-52 กลับมีเงินทุนไหลเข้าไทยลดลง แต่คาดว่าในปีหน้าจะมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาสูงกว่าปีนี้ แต่กระแสเงินคงไม่มากถึงกับปี 50 แต่หากวิกฤตการเงินโลกคลี่คลาย และนักลงทุนรู้สึกอยากเสี่ยงมากขึ้นจะมีเงินทุนไหลเข้ามาภายในไทยมากขึ้น และหากภาวะปัจจัยการเมืองเริ่มดีจะเป็นส่วนที่ช่วยสนับสนุนด้วย”
อย่างก็ตาม ในกรณีที่เกิดภาวะฟองสบู่ ซึ่งตามทฤษฎีเดิมธนาคารกลางจะมีความจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอการใช้จ่าย โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจร้อนแรงและเงินเฟ้อสูงก็สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ แต่หากเกิดฟองสบู่ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่แข่งแกร่งอาจเป็นการซ้ำเติมอีก และกลับสร้างปัญหาด้านอื่นแทนไม่ว่าจะเป็นการออม การลงทุน การใช้จ่ายโดยรวม ฉะนั้น ควรเลือกแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดหรือภาคใดภาคหนึ่งเท่านั้น และหากสาเหตุปัญหาฟองสบู่ที่เกิดขึ้น ซึ่งช่วยให้ ธปท.ทำนโยบายง่ายขึ้น
ขณะที่การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องที่ยากกว่าเครื่องมือผ่านอัตราดอกเบี้ย โดยหากธปท.ปล่อยให้เงินที่ไหลเข้าจะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่า แต่ภาคส่งออกจะแย่ ในทางกลับกันถ้าเข้าไปดูแลไม่ให้บาทแข็งเกินไปด้วยการที่ ธปท.เข้าไปซื้อเงินดอลลาร์ในตลาดจะมีผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงขึ้น แต่ราคาสินทรัพย์ในประเทศไม่แพง ถือเป็นวิธีกดราคาอย่างหนึ่ง ฉะนั้นการทำนโยบายต้องดูภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ขณะนั้นเป็นหลัก เพื่อไม่ให้กระทบวงกว้างหรือภาคอื่นๆ ด้วย
“ที่ผ่านมาแบงก์ชาติไม่ได้ใส่เกียร์ว่างเหมือนที่หลายฝ่ายมอง แต่การดำเนินงานของธนาคารกลางทั่วไป ถือว่าเสี่ยงไม่ได้ แม้คนอื่นบอกว่าภาพเศรษฐกิจดีขึ้น ดังนั้นธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึง ธปท.มุ่งรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ คือ ดูแลเงินเฟ้อต่ำหรือเศรษฐกิจเติบโตตามศักยภาพ แต่การทำเช่นนี้อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องดูแลภาคการเงินประกอบด้วย จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างประสิทธิภาพ” นางอัจนากล่าวและว่า แผนพัฒนาตลาดทุนนั้นสิ่งสำคัญ เพราะประเทศเกิดใหม่ทุกประเทศล้วนมีเงินทุนไหลเข้ามา จึงจำเป็นที่ตลาดทุนต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ผู้เล่นในตลาดมองว่าเข้ามาลงทุนแล้วได้รับประโยชน์ และมีต้นทุนที่ถูก พร้อมทั้งมีระบบโครงสร้างกฎหมายที่ดี ตลาดการเงินที่ลึกและกว้าง เป็นต้น
สำหรับการพึ่งพาเศรษฐกิจจีน เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวไม่ได้นั้นคงเป็นเรื่องยาก แม้จีนพยายามจะค้าขายภายในภูมิภาคเดียวกัน แต่อาจช่วยเรื่องสินค้าส่งออกภายในภูมิภาคไม่ให้เลวร้ายลง ขณะเดียวกันอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจจีนแค่ 6%ของอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลก แต่ในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐมีสัดส่วนมาถึง 13%ของเศรษฐกิจโลกฉะนั้นเศรษฐกิจโลกเติบโตได้แบบยั่งยืนก็คงยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศหลักอยู่.
กำลังโหลดความคิดเห็น