ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม เดือน ก.ค.อยู่ที่ระดับ 89.9 สูงสุดในรอบ 19 เดือน หลังผู้ประกอบการรับรู้ถึงสัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น แต่ความเชื่อมั่นยังไม่แข็งแกร่ง กังวลปัญหาน้ำมันแพง ต้นทุนผลิตพุ่ง แนะทำการเมืองให้นิ่ง เพื่อดึงความเชื่อมั่นการลงทุน เร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน หาแหล่งตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่ม โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างภูมิภาค กระตุ้นให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายกฏหรือเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อลง เพื่อช่วยให้ธุรกิจมีสภาพคล่องมาใช้หมุนเวียนในกิจการได้
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยเดือนกรกฎาคม 2552 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,112 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.โดยระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 89.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากที่ระดับ 83.5 ในเดือนมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา
นายสันติ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นที่ฟื้นตัวขึ้นเป็นผลดีจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ราคาขาย ตลอดจนปริมาณการผลิตและผลประกอบการ เพราะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน สถานการณ์การเมืองในประเทศช่วงเดือนกรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ประกอบกับการสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดต่างประเทศที่สะท้อนมาจากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้มีการปรับสต๊อกสินค้าคงคลังให้เหมาะสมตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันมีแนวโน้ม สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และค่าดัชนีความเชื่อมั่นยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงภาวะความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก
ส่วนดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.0 เนื่องจากผู้ประกอบการรับทราบสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า จะได้รับผลดีจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต ผลประกอบการที่จะปรับตัวดีขึ้น
แต่เมื่อเปรียบเทียบค่าดัชนีดังกล่าวกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 82.9 พบว่า มีการปรับตัวที่สูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่คาดว่าจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว แม้การเมืองในประเทศจะยังไม่มีเสถียรภาพก็ตาม แต่ปัจจัยลบต่างๆ ก็ยังเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของภาคอุตสาหกรรมในระยะถัดไปได้
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ ส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกัน คือ ให้ภาครัฐเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน หาแหล่งตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่ม โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างภูมิภาค กระตุ้นให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น
นอกจากนี้ ควรผ่อนคลายกฎหรือเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อลงเพื่อช่วยให้ธุรกิจมีสภาพคล่องมาใช้หมุนเวียนในกิจการได้ เร่งหาแนวทางแก้ไขเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง พร้อมทั้งสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง ดูแลเรื่องราคาน้ำมัน เพราะหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจะผลักให้ราคา วัตถุดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ผลผลิตจะไม่สามารถปรับราคาขายได้ ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ลดภาษีนำเข้าในวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ลดการเก็บภาษีซ้ำซ้อน และควรมีมาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร