xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความเชื่อมั่นเดือน พ.ค.มีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ยังมีความเปราะบาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.เผย ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ เดือน พ.ค.อยู่ที่ 78.5 มีสัญญาณที่ดีขึ้น พร้อมยอมรับ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ยังอยู่ในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก เพราะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และกังวลต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคต อัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีเสถียรภาพ

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 78.5 เพิ่มขึ้นจาก 76.3 ในเดือนเมษายน 2552 เนื่องจากนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการก็ยังประสบกับปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อผลประกอบการที่ลดลง ถึงแม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก สะท้อนจากค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 และติดต่อกันเป็นเดือนที่ 38 นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 เป็นต้นมา

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในช่วง 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 93.5 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจในเดือนเมษายน 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 81.0 เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่าคำสั่งซื้อจะปรับตัวดีขึ้นอีกตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มมีทิศทางการขยายตัวของการบริโภคอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น

ค่าดัชนีดังกล่าวยังเป็นระดับที่สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2551 ซึ่งอยู่ในระดับ 76.9 แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคต อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีเสถียรภาพ

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ คือ ต้องการให้ภาครัฐยุติความขัดแย้งทางการเมือง และสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นโดยเร็ว พร้อมทั้งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอให้ภาครัฐดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 34-35 บาทต่อดอลลาร์ และดูแลเรื่องราคาน้ำมัน และราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมได้

ทั้งนี้ ควรปรับลดภาษีนำเข้าในวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต มีมาตรการส่งเสริมการส่งออก หาแหล่งเงินกู้ให้กับภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ยังปล่อยกู้ให้ภาคอุตสาหกรรมน้อย ทำให้เงินทุนไม่เพียงพอต่อการนำไปลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น