ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม เดือน เม.ย.52 อยู่ที่ 76.3 จาก 69.4 ในเดือน มี.ค.52 ฟื้นตัวดีขึ้น หลังมีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง ขณะที่ตัวเลขที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 สะท้อนความกังวลต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคต อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงชะลอตัว รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีเสถียรภาพ
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2552 อยู่ที่ 76.3 เพิ่มขึ้นจาก 69.4 ในเดือนมีนาคม 2552 ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลประกอบการของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมดีขึ้น และมองว่า ภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองเริ่มนิ่งแล้ว
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในช่วง 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 81.0 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจในเดือนมีนาคม 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 75.1 เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่าความเชื่อมั่นในด้านยอดคำสั่งซื้อและยอดขายทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจในบางประเทศคู่ค้าเริ่มมีทิศทางการขยายตัวของการบริโภคอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ดี ค่าดัชนีดังกล่าวยังเป็นระดับที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 91.7 และยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคต อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงชะลอตัว รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีเสถียรภาพ
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวถึงข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐ คือ ต้องการให้ภาครัฐยุติความขัดแย้งทางการเมือง และสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นโดยเร็ว พร้อมทั้งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นความเชื่อมั่น และผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ภาคอุตสาหกรรมเพื่อเสริมสภาพคล่อง
นอกจากนี้ ยังขอให้ทางการช่วยดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ โดยอย่าให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากไปกว่านี้ ซึ่งระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ผู้ประกอบการเห็นว่าเหมาะสมอยู่ที่ระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และดูแลเรื่องราคาน้ำมัน ตลอดจนราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมได้