xs
xsm
sm
md
lg

รัฐสภาไทยมีอำนาจอธิปไตยออกฎหมายนิรโทษกรรมได้หรือไม่เพียงใด

เผยแพร่:   โดย: ยินดี ต่อสุวรรณ

บทความนี้เป็นบทความทางวิชาการที่ผู้เขียนมิได้มีอคติหรือเป็นฝ่ายกับผู้ใดและมิได้มีเจตนาที่จะให้เกิดผลดีผลร้ายกับผู้ใด แต่ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นคนไทยที่มีความห่วงใยในสถานภาพของรัฐไทยจากการมีข่าวจากสื่อมวลชนว่า จะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกว่า “พวกเสื้อเหลือง” และ “พวกเสื้อแดง” โดยอ้างถึงความปรองดองสมานฉันท์กันในหมู่ประชาชน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะต้องผ่านรัฐสภาของรัฐไทย ข้อเขียนทางวิชาการนี้ผู้เขียนต้องการเผยแพร่ให้ผู้มีส่วนได้เสีย คือประชาชนของประเทศรวมทั้งผู้รับผิดชอบต่อการบริหารรัฐกิจของรัฐไทยได้นำไปศึกษาไตร่ตรอง เพื่อมิให้มีการนำพาประเทศตกสู่หลุมดำแห่งความหายนะของประเทศได้

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีแห่งประชาคมโลก จึงมีความผูกพันตามสนธิสัญญาต่างๆ ที่ชาติต่างๆ ได้ร่วมกันร่างขึ้นเป็นกติกาที่จะใช้บังคับกับประเทศสมาชิก สนธิสัญญาต่างๆ ที่ร่างขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ หรือโดยองค์กรระหว่างประเทศที่ไทยได้เข้าร่วมในสนธิสัญญานั้น เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่สามารถใช้บังคับกับประเทศที่เป็นภาคีได้ (หรือแม้แต่ประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีก็อาจใช้บังคับได้ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นกับตอลิบันในอัฟกานิสถาน เป็นต้น)

การที่ประเทศไทยเข้าร่วมในสนธิสัญญาต่างๆ กับประชาคมโลกนั้น การใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศไทยจึงมีข้อจำกัดและมิได้มีอิสรเสรีภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ผู้มีอำนาจในรัฐ หรือผู้บริหารรัฐกิจคิดจะทำอะไรตามอำเภอใจหาได้ไม่ ผู้บริหารรัฐกิจของประเทศจำเป็นต้องคำนึงถึงกฎกติกาในสนธิสัญญาต่างๆ ที่ไทยได้เป็นภาคีแห่งสนธิสัญญานั้นๆ ด้วย มิฉะนั้นผู้บริหารรัฐกิจไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการ ก็อาจจะนำพาประเทศไปสู่จุดอับของสังคมหรือตกเป็นจำเลยในศาลระหว่างประเทศหรือศาลในประเทศมหาอำนาจได้

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) เป็นศาลที่ได้จัดตั้งขึ้นจากการมีสนธิสัญญาต่างๆ ระหว่างประเทศในประชาคมโลกเพื่อใช้บังคับกับประเทศ หรือบุคคลที่ได้กระทำการอันละเมิดสนธิสัญญาหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งมีเขตอำนาจศาลครอบคลุมอย่างกว้างขวางแล้ว สนธิสัญญาอันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ยังมีผลทำให้ประเทศมหาอำนาจหรือประเทศผู้นำในภาคพื้นยุโรปได้ขยายเขตอำนาจศาลภายในประเทศของตนให้มีอำนาจศาลนอกเขตประเทศได้ (Extraterritorial Jurisdiction หรือ Universal Jurisdiction) เพื่อใช้บังคับกับประเทศหรือผู้ใช้อำนาจรัฐของประเทศต่างๆ ที่มิได้ปฏิบัติตามสนธิสัญญาหรือกฎหมายระหว่างประเทศของประชาคมโลกได้อีกด้วย

เพราะประเทศมหาอำนาจและประเทศผู้นำในภาคพื้นยุโรปได้นำหลักการของสนธิสัญญาระหว่างประเทศไปบัญญัติเป็นกฎหมายรองรับการกระทำอันฝ่าฝืนกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศให้เป็นกฎหมายภายในประเทศของตน เช่น สหรัฐอเมริกาได้มีกฎหมายที่สอดคล้องกับการกระทำอันเป็นการละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการละเมิดคนต่างชาติ (The Alien Tort Claims Act of 1789) และพระราชบัญญัติการคุ้มครองเหยื่อผู้ถูกทรมาน (The Torture Victim Protection Act of 1991) เป็นต้น

เมื่อประเทศมหาอำนาจสามารถขยายเขตอำนาจศาลให้ครอบคลุมที่จะพิจารณาพิพากษาคดีให้กับเหยื่อหรือผู้เสียหายที่ได้ถูกกระทำการอันเป็นการละเมิดต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศและได้ฟ้องคดีต่อศาลในประเทศดังกล่าวแล้ว ประเทศหรือผู้บริหารรัฐกิจของประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญานั้น ก็อาจกลายเป็นจำเลยในศาลระหว่างประเทศหรือศาลของประเทศมหาอำนาจและศาลในประเทศในภาคพื้นยุโรปได้ เช่น ในกรณีที่มีข้อขัดแย้งระหว่างประเทศหรือข้อขัดแย้งภายในประเทศ และผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เสียหายจากการขัดแย้งดังกล่าว โดยเป็นผู้เสียหายจากการกระทำอันเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (action for genocide)

การข่มขืน การถูกบังคับให้ค้าประเวณีและการตั้งครรภ์ การทรมานหรือการกระทำโดยการทารุณโหดร้าย การปฏิบัติและการกระทำโดยขาดมนุษยธรรม การทำร้ายร่างกาย การขังยาวโดยอคติ (Prolonged Arbitrary Detention) การปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันเพราะเพศและความเชื่อทางศาสนา การฆ่าคนโดยวิธีรวบรัด (Summary Execution) หรือการกระทำให้ตายโดยผิดธรรมชาติ (Wrongful Death) ซึ่งผู้เสียหายสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าว และศาลที่ดำเนินคดีสามารถพิจารณาพิพากษาคดีและบังคับประเทศ ซึ่งเป็นภาคีในสนธิสัญญาดังกล่าวให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลได้

การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองหรือผู้ชุมนุมเสื้อแดง เป็นการออกกฎหมายยกโทษหรือให้อภัยแก่ผู้กระทำความผิดให้เป็นผู้บริสุทธิ์ดุจผู้นั้นไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดจะทำได้เพียงใด และไม่นำพาประเทศไทยไปสู่ความผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งไทยเป็นภาคีสมาชิกและได้ลงนามตามพันธกรณีระหว่างประเทศไว้แล้ว (ไม่ว่าจะลงนามในสนธิสัญญา (Convention หรือ Covenant) และ/หรือลงนามในพิธีสาร (Protocol) หรือไม่ก็ตาม) จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารรัฐกิจของประเทศจะต้องรู้ถึงการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น ว่าความผิดประเภทใดที่รัฐสภาไทยจะใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่างบริบูรณ์ในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้ เพราะการกระทำความผิดบางประเภทอันเป็นข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศที่เข้าข่ายเป็นการกระทำละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ (Violation of the Law of Nations) นั้น

การออกกฎหมายนิรโทษกรรมต่อการกระทำดังกล่าวอาจจะนำพาประเทศไปสู่ความหายนะได้อย่างไม่คาดคิด ประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาเจนีวา 4 ฉบับหรือเรียกให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ว่าไทยได้ร่วมในสนธิสัญญาอาชญากรสงคราม (War Crimes) สนธิสัญญาเจนีวามิได้มีข้อบัญญัติแต่เฉพาะกรณีการทำสงครามระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ได้มีข้อบัญญัติถึงการมีข้อขัดแย้งที่มิใช่เป็นข้อขัดแย้งระหว่างประเทศ (Non – International Conflicts) แต่เป็นข้อขัดแย้งภายในประเทศ (Internal Conflicts) ทั้งนี้เป็นไปตามสนธิสัญญาเจนีวาตามข้อบัญญัติร่วมข้อ 3 (Article III) ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศหากเป็นการขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธเข้าประหัตประหารกัน (Armed Conflict) การกระทำดังกล่าวก็จะเข้าข่ายของการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ (Violation of the Law of Nations) ได้ และผู้ที่ใช้อาวุธนั้นอาจถือได้ว่าเป็นอาชญากรสงคราม (War Crimes) ได้เช่นเดียวกันกับการมีข้อขัดแย้งระหว่างประเทศ

การออกกฎหมายนิรโทษกรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ออกกฎหมายจะต้องรู้ แยกแยะ และต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าการกระทำความผิดประเภทใดที่รัฐสภาไทยจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ได้ และใครเป็นผู้กระทำความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรมดังกล่าวได้ หากไม่แยกแยะการกระทำดังกล่าวแล้วออกกฎหมายรวมๆ กันไป รัฐสภาไทยรวมทั้งประเทศไทยก็จะเป็นผู้กระทำการอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศนั่นเอง ซึ่งสุ่มเสี่ยงกับการที่จะนำพาประเทศไทยให้กลายเป็นจำเลยในศาลระหว่างประเทศ หรือศาลในประเทศมหาอำนาจได้

ดังนั้น การออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ออกกฎหมาย จะต้องรู้ว่าผู้กระทำความผิดนั้นได้กระทำการอันเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ จากการศึกษาข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนได้ทราบจากข่าวที่ปรากฏจากสื่อมวลชนอันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นสาธารณะแล้วว่า การกระทำที่อ้างว่าเป็นความผิดของผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองนั้น มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลาหลายเดือนโดยประกาศต่อสาธารณชนถึงการไม่ใช้อาวุธในการชุมนุม (Armless) โดยอ้างถึงการต่อต้านรัฐบาลในสมัยนั้นมิให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือเฉพาะกลุ่มบุคคล อันมิใช่เป็นปัญหาของประชาชนโดยรวม กับกรณีปัญหาข้อพิพาทปราสาทพระวิหารจากการบริหารรัฐกิจของรัฐบาลในสมัยนั้น ซึ่งมีข้อสงสัยว่าประเทศไทยจะเสียอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนรอบปราสาทพระวิหารไปหรือไม่

การกระทำของผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองจึงเป็นการกระทำอันเป็นการต่อต้านรัฐบาลเพื่อหยุดยั้งมิให้รัฐบาลกระทำการอันเป็นที่เสียหายแก่ประเทศชาติและสังคมโดยรวม (Protest) อันมิใช่เป็นเรื่องของความขัดแย้งภายในประเทศภาคีสนธิสัญญาที่ผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองได้ใช้อาวุธเพื่อต่อต้านหรือล้มล้างรัฐบาลแต่อย่างใด (Armed Conflict) แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าในระหว่างการชุมนุมนั้น ผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองได้ถูกลอบยิงด้วยอาวุธปืนร้ายแรงหลายครั้งหลายหน มีคนบาดเจ็บและล้มตายจำนวนหนึ่ง จนกระทั่งการต่อต้านได้ขยายวงโดยการปิดล้อมและบุกเข้ายึดสนามบินดอนเมืองซึ่งเป็นที่ทำการรัฐบาลชั่วคราวและปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อต่อต้านการกลับจากต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

และเมื่อนายสมชายได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนายสมัครซึ่งจะต้องแถลงนโยบายต่อสภา พวกเสื้อเหลืองจึงได้พากันปิดกั้นล้อมรัฐสภาเพื่อต่อต้านและคัดค้านการแถลงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งปรากฏว่ามีการสลายการชุมนุมโดยมีการใช้แก๊สน้ำตาและอาวุธร้ายแรงบางชนิดทำให้คนบาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก และแม้จะมีการแถลงนโยบายแล้ว การสลายการชุมนุมยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยการใช้อาวุธยิงผู้ชุมนุมซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บและตายอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งปรากฏภาพข่าวจากสื่อมวลชนว่าการสลายการชุมนุมในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 นั้น เป็นการกระทำที่ปรากฏหลักฐานต่อสาธารณชนทั่วโลกว่า เป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ (Inflicted by Public Official) หรือโดยการสนับสนุนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (Instigation of Public Official) โดยมีลักษณะเป็นการกระทำของรัฐ (State Action) และมีการใช้อาวุธกระทำต่อผู้ชุมนุม (Armed Conflict)

การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองในเหตุการณ์ที่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเป็นอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยที่สภาจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ได้ เพราะเป็นการกระทำที่มีการกล่าวหาว่า ผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองบุกรุกสถานที่ราชการ ที่ทำการสนามบินดอนเมือง ที่ทำการสนามบินสุวรรณภูมิ อันมีผลกระทบทำให้มีข้อขัดข้องในการบินของสายการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ข้อกล่าวหาในการกระทำความผิดหรือโดยลักษณะของการกระทำความผิดโดยปราศจากซึ่งอาวุธอันเป็นการกระทำต่อต้าน (Protest) การบริหารงานของรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารนั้น การกระทำการดังกล่าวแม้จะเป็นความผิดในข้อหาดังกล่าว ก็ไม่เข้าข่ายของการกระทำความผิดกฎหมายระหว่างประเทศตามสนธิสัญญาเจนีวา และผู้กระทำไม่ใช่เป็นอาชญากรสงครามแต่อย่างใด รัฐสภาไทยจึงออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองได้เพราะเป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศไทยโดยเฉพาะ

แต่การที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองได้ถูกลอบยิงด้วยอาวุธปืนร้ายแรงหลายครั้งหลายหนที่ทำเนียบรัฐบาลและที่สนามบินดอนเมืองจนมีคนบาดเจ็บและล้มตายจำนวนหนึ่ง และการสลายการชุมชนที่คัดค้านการแถลงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งก็ปรากฏว่ามีการสลายการชุมนุมโดยมีการใช้อาวุธจนมีผู้บาดเจ็บ พิการ แขนขาด ขาขาด และล้มตาย อันเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยมีลักษณะเป็นการกระทำของรัฐโดยใช้อาวุธซึ่งละเมิดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ (Violations of International humanitarian law) นั้น

การออกกฎหมายนิรโทษกรรมในกรณีดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ หรือเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำอันมีลักษณะที่เป็นอาชญากรสงคราม (War Crimes) ซึ่งรัฐสภาไทยจะไม่มีอำนาจอธิปไตยที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำดังกล่าวได้เลย

ส่วนการกระทำของผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ปรากฏข้อเท็จจริงตามข่าวในสื่อมวลชนนั้น ผู้ชุมนุมไม่ต้องการให้มีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยาและต้องการล้มการประชุม และได้กระทำการบุกรุกเข้าไปในสถานที่ประชุมจนต้องล้มเลิกการประชุม และผู้นำอาเซียนรวมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมต้องหนีออกจากสถานที่ประชุมในทันที กับก่อเหตุในช่วงสงกรานต์ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงออกสู่สาธารณชนว่ามีการใช้รถแท็กซี่ ใช้รถเมล์ปิดการจราจร นำรถแก๊สไปจอดในชุมชนเพื่อให้เกิดความกลัวกับประชาชนจากการระเบิดของรถแก๊สโดยที่ประชาชนเหล่านั้นมิได้เป็นผู้ร่วมชุมชนด้วย มีการขว้างระเบิดเพลิงเพื่อให้เกิดเพลิงไหม้รถเมล์ที่นำไปจอดไว้ในที่สาธารณะก่อให้เกิดความวุ่นวายกับประชาชนที่มิได้มีส่วนรวมในการชุมนุม มีการยิงอาวุธปืนและมีการตายเกิดขึ้นกับประชาชนที่มิได้มีส่วนร่วมในการชุมนุม

มีการโฟนอินจากต่างประเทศอันแสดงออกในทางยุยงส่งเสริมเพื่อไม่ให้มีการประชุมผู้นำอาเซียนที่พัทยา อันมีลักษณะของการกระทำเพื่อทำลายความเชื่อมั่นของรัฐต่างประเทศ การกระทำต่างๆ ดังกล่าวเป็นการกระทำที่เข้าข่ายของการกระทำซึ่งเป็นปรปักษ์กับความมั่นคงของรัฐ และมีการกระทำที่มีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายการก่อวินาศกรรม (Saboteur) มีการใช้สิ่งที่ไม่ใช่เป็นอาวุธโดยสภาพให้กลายเป็นอาวุธ จึงเป็นปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศโดยใช้กำลังอาวุธ (Armed Conflict) โดยไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่ในขณะนั้น (ก่อนมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน) ได้ดำเนินการใดๆ อันเป็นการป้องกันมิให้เกิดเหตุหรือปกป้องคุ้มครองประชาชนที่มิได้มีส่วนเข้าร่วมการชุมนุมแต่อย่างใดเลย (ผู้เขียนจะไม่ระบุถึงผู้มีหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เพราะผู้เขียนประสงค์ให้ข้อคิดในทางวิชาการเท่านั้น)

การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่ในขณะนั้นได้ละเว้นการกระทำตามหน้าที่ไม่หาทางระงับเหตุการณ์การกระทำของผู้ชุมนุมเสื้อแดงก็ดี การละเว้นไม่คุ้มครองสาธารณชนและประชาชนซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมชุมนุมก็ดี การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีหน้าที่ในขณะนั้น จึงเป็นการกระทำที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั่นเอง

การออกกฎหมายนิรโทษในกรณีเช่นนี้ จึงเป็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับการกระทำอันเป็นความขัดแย้งในประเทศ (Non – International Conflict) ที่มีการใช้กำลังอาวุธ (Armed Conflict) อันมีลักษณะและเจตนาที่แสดงออกถึงการกระทำอันเป็นปรปักษ์ต่อความมั่นคงของรัฐและการก่อวินาศกรรมเพื่อให้พ้นจากความผิด จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจกระทำได้ เพราะผู้กระทำการดังกล่าวไม่อาจอ้างสิทธิของการกระทำเช่นนั้น เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามสนธิสัญญาหรือกฎหมายระหว่างประเทศได้ เพราะสนธิสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการป้องกันสิทธิของบุคคลในภาวะสงครามนั้น (Convention IV Relative to the Protection of Civilian Person in Time of War,Geneva,12 August 1949) ได้มีข้อบัญญัติข้อ 5 (article 5) ซึ่งได้ระบุถึงการกระทำอันเป็นปรปักษ์ต่อความมั่นคงของรัฐ (Activities Hostile to the Security of State) หรือการกระทำอันเป็นการก่อวินาศกรรมอันมีพฤติกรรมที่ชัดเจนว่าเป็นการกระทำอันเป็นปรปักษ์ต่อความมั่นคงของรัฐนั้น

บุคคลผู้กระทำการดังกล่าวจะอ้างสิทธิตามสนธิสัญญาเพื่อได้รับความคุ้มครองในการกระทำอันเป็นปรปักษ์ต่อความมั่นคงของรัฐไม่ได้ ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่แต่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ไม่ปกป้องคุ้มครองประชาชนที่มิได้เข้าร่วมชุมนุมโดยมีลักษณะเป็นการกระทำของรัฐ ก็ไม่อาจอ้างสิทธิตามสนธิสัญญาดังกล่าวได้ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมเสื้อแดงและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่ในขณะนั้น จึงเป็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐสภาไทยไม่น่าจะมีอำนาจออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ได้

การออกกฎหมายนิรโทษกรรม จึงเป็นการออกกฎหมายยกเลิกการกระทำของกลุ่มบุคคลซึ่งอ้างว่ามีการกระทำความผิดของคน 4 กลุ่มคือ ผู้ชุมนุมเสื้อเหลือง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้กระทำการปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อเหลือง ผู้ชุมนุมเสื้อแดง เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐที่ไม่ปกป้องคุ้มครองผู้ที่มิได้มีส่วนในการร่วมชุมนุมจนมีความเสียหายการบาดเจ็บและความตายเกิดขึ้น การนิรโทษกรรมที่จะกระทำได้ในกรณีนี้จำเป็นจะต้องจำแนกการกระทำความผิดให้ชัดเจนเสียก่อน ว่าการกระทำความผิดที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้นั้น เป็นความผิดประเภทใด

ถ้าการกระทำความผิดนั้นเข้าข่ายของการกระทำความผิดกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งมีสนธิสัญญาต่อกันแล้ว รัฐสภาไทยไม่มีอำนาจจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมยกเลิกความผิดอันเป็นการกระทำความผิดกฎหมายระหว่างประเทศได้เลย แม้จะไม่มีใครมาบังคับไม่ให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมก็ตาม แต่ในความมีศักดิ์ศรีของประเทศชาติและจะไม่นำพาประเทศชาติไปสู่ความล่มจมด้วยการเป็นจำเลยของศาลระหว่างประเทศและ/หรือศาลในต่างประเทศ ตลอดจนเป็นจำเลยของประชาคมโลกและเสียหน้าในเวทีโลกแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจะต้องร่วมกันศึกษาถึงอำนาจการออกกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวให้ถี่ถ้วนเสียก่อน เพราะจะต้องตระหนักว่าความผูกพันระหว่างประเทศตามสนธิสัญญาอันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ประเทศไทยมิได้มีอำนาจอธิปไตยที่จะทำทุกอย่างได้ตามอำเภอใจหาได้ไม่ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจอธิปไตยในการบริหาร การนิติบัญญัติ และการตุลาการ เพราะในปัจจุบันอำนาจอธิปไตยนั้นต้องคำนึงถึงกรอบอันต้องอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศด้วย เพราะกฎหมายระหว่างประเทศนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของมนุษยชาติ (Humanitarian Comcerned) ไว้เกือบทั้งสิ้น

และโดยเฉพาะผู้มีหน้าที่บริหารรัฐกิจที่เกี่ยวกับพันธกรณีตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศหรือมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการอันเป็นการการผูกพันระหว่างประเทศ คือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม ฯลฯ จะต้องมีหน้าที่อันสำคัญโดยตรงและต้องกำหนดให้เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเผยแพร่ความผูกพันและพันธกรณีดังกล่าวแก่ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอธิปไตยให้ทราบด้วยการเผยแพร่สนธิสัญญา ข้อตกลง ข้อผูกพัน การให้สัตยาบัน หรือการไม่ให้สัตยาบัน พร้อมทั้งคำแปลเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศนั้นได้ทราบและรู้สถานภาพของประเทศ

ตลอดจนหน้าที่อันต้องปฏิบัติของตนเอง เพื่อมิให้ประเทศไทยต้องเพลี่ยงพล้ำ เสียเปรียบ หรือตกเป็นเบี้ยล่างไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เพราะความไม่รู้ ขาดข่าวสารหรือขาดองค์ความรู้ของพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าว ดังเช่นกรณีที่ได้เกิดขึ้นในการเสนอออกกฎหมายนิรโทษกรรม กรณีปราสาทพระวิหาร และกรณีการก่อการร้ายที่ยืดเยื้อในภาคใต้ อันมีเขตประเทศที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น