xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ออกกฎคุมตู้น้ำดื่ม หลังพบไร้มาตรฐาน ฝุ่น สนิมเกาะกรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.แก้ไขข้อบัญญัติควบคุมตู้น้ำดื่มให้ผู้ประกอบการอยู่ภายใต้การควบคุม โดยเฉพาะการดูแลคุณภาพ ความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค หลังพบไม่มีการดูแลและบำรุงรักษา มีฝุ่น สนิม และการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ไม่มีระบบตัดไฟฟ้าเมื่อเกิดกระแสไฟรั่วหรือลัดวงจร เผย มีใบอนุญาตเพียง 62 ตู้ จาก 2,814 ตู้ - กทม.เล็งอายัดช้างเร่ร่อน หากตรวจพบว่าเป็นช้างป่าสวมสิทธิ์ พร้อมทำโฮมสเตย์ให้ช้าง แก้ปัญหาช้างเร่ร่อนระยะยาว

วันนี้ (18 ส.ค.) ในการประชุมคณะผู้บริหาร ที่มี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธานการประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบในการยกร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (ฉบับที่....) พ.ศ....โดย นางวันทนีย์ วัฒนะ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม.เปิดเผยว่า การยกร่างข้อบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากต้องการนำข้อบังคับของกฎหมายเข้าไปควบคุมให้ผู้ประกอบการดูแลรักษาตู้น้ำดื่ม และทำให้คุณภาพน้ำมีมาตรฐานปลอดภัยกับผู้บริโภค และเพื่อกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มเข้ามาขอใบอนุญาต เพื่อเข้าสู่ระบบการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ จากการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่ กทม.จำนวน 2,814 ตู้ แต่มีใบอนุญาตเพียง 62 ตู้ และอยู่ระหว่างขออนุญาต 34 ตู้ และพบว่าตู้น้ำดื่มส่วนใหญ่ไม่มีการดูแล หรือบำรุงรักษา อาทิ มีคราบสนิม ไม่มีระบบตัดไฟฟ้าเมื่อเกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว และยังพบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร

นางวันทนีย์ กล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดที่สำคัญในร่างข้อบัญญัติจะมีการเพิ่มค่าธรรมเนียมของการประกอบกิจการการผลิตน้ำกลั่น น้ำบริโภค ประกอบด้วย 1.เครื่องผลิตน้ำกลั่น น้ำบริโภค โดยไม่ใช้เครื่องจักรหรือใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมไม่เกิน 1 แรงม้า คิดค่าธรรมเนียมฉบับละ 1,000 บาท 2.เครื่องผลิตน้ำกลั่น น้ำบริโภคที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมตั้งแต่ 1 แรงม้า แต่ไม่เกิน 20 แรงม้า คิดค่าธรรมเนียมฉบับละ 2,000 บาท และ 3.เครื่องผลิตน้ำกลั่น น้ำบริโภคที่มีแรงม้าตั้งแต่ 20 แรงม้าขึ้นไป ให้คิดค่าเพิ่มแรงม้าละ 1,000 บาท โดยให้คิดแรงม้าเป็นจำนวนเต็มปัดเศษทิ้ง แต่รวมแล้วไม่เกิน 10,000 บาท อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของหรือผู้ประกอบการใดฝ่าฝืนก็จะมีโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ขั้นสูงสุด คือโทษปรับ 10,000 บาท และโทษจำคุก 6 เดือน

**กทม.เตรียมทำ “โฮมสเตย์ช้าง” ช่วยเหลือช้างเร่ร่อน
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 ส.ค.เวลา 11.00 น.จะมีการหารือของคณะทำงานโครงการช้างยิ้ม กทม.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ และตัวแทนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อรับทราบถึงสถานการณ์ช้างเร่ร่อนในพื้นที่ กทม.รวมไปถึงวางมาตรการระยะยาว เพื่อป้องกันไม่ให้มีช้างเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ เบื้องต้นจากรายงานของเจ้าหน้าที่เทศกิจ ทราบว่า ขณะนี้มีช้างที่เร่ร่อนในพื้นที่ กทม.เหลือเพียง 20 เชือก สาเหตุสำคัญที่ยังมีช้างเร่ร่อนในพื้นที่ กทม. เพราะควาญช้างลักลอบนำช้างเข้ามาหากินในพื้นที่ กทม.ช่วงกลางคืน จากเดิมตอนกลางวันก็พาช้างไปพักอยู่ตามจังหวัดรอบนอก กทม.โดยเฉพาะ จ.ปทุมธานี จ.สมุทรปราการ ซึ่งการทำงานในช่วงกลางคืนนั้น กทม.ไม่สามารถจัดเจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างทั่วถึง

นายธีระชน กล่าวอีกว่า ในการหารือดังกล่าวจะมีข้อหารือใน 2 ประเด็น คือ 1.การจัดทำโฮมสเตย์บ้านช้าง เพื่อเป็นการช่วยเหลือช้างและควาญช้างอย่างยั่งยืน ไม่ให้นำช้างกลับมาเร่ร่อนหากินในเมืองอีก ซึ่งรูปแบบจะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ และ 2.การใช้กฎหมายขั้นรุนแรงในการปราบปรามผู้ที่นำช้างมาเร่ร่อนในเมือง นอกเหนือจากการ จับ-ปรับควาญช้าง เบื้องต้นได้หารือในแนวทางที่จะมีการอายัดช้าง หากพบว่าช้างเร่ร่อนที่จับได้ดังกล่าวเป็นช้างป่าที่นำมาสวมสิทธิ์ โดยอาจจะอายัดช้างให้อยู่ในศูนย์อนุรักษ์ช้าง จ.กาญจนบุรี เป็นเวลา 30 วัน ทั้งนี้ แนวคิดการอายัดช้างดังกล่าวเพื่อเป็นการตรวจสอบด้วยว่าช้างที่นำมาเร่ร่อนดังกล่าวเป็นช้างเช่าจากนายทุนค้าช้างจริงหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น