xs
xsm
sm
md
lg

เอกภาพนายกรัฐมนตรี เอกภาพตำรวจ

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

ภาวการณ์ความขัดแย้งกรณีที่คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. ท้าทายภาวะผู้นำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ด้วยการปฏิเสธไม่ยอมรับ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจที่นายกรัฐมนตรีเสนอชื่อให้เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้วยคะแนนเสียง 5 : 4 โดยกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามนำโดย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเข้าใจกันว่ามีความเห็นร่วมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ จนเกิดเป็นข้อคิดว่า

“ปรากฏการณ์นี้เป็นการแสดงอำนาจแฝง” ของคนหลายคนหลายฝ่ายตามธรรมชาติของเกมการเมือง หรือการหักหน้านายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เป็นการเตือนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ต้องฟังและเอาใจหรือตามใจเพื่อนร่วมผลประโยชน์ทางการเมือง

หากวิเคราะห์กรณีหักหน้าครั้งนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ที่เสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป เพียงคนเดียวนั้น เป็นการแสดงจุดยืนถึงเอกภาพการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารรัฐตามอำนาจอธิปไตย ตามเกณฑ์การพิจารณาที่กำหนดเป็นหลักการของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ และแนวคิดที่พึงปฏิบัติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจอันเป็นครรลอง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547

แต่ที่สำคัญการสร้างเอกภาพลักษณะนี้ย่อมทำให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีมีใจเดียวที่ปรารถนาจะใช้งานนายตำรวจชื่อ พล.ต.อ.ปทีป อย่างจริงจัง จึงนำเสนอเพียงชื่อเดียวเพื่อให้ได้รับความนับถือและความจงรักภักดีอย่างเอกเทศ และเอกอุดมจากคนคนเดียว เพราะหากส่งไปหลายชื่อเพื่อให้คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ เลือกแล้วก็มีลักษณะ “ไม่จริงใจ”หรือ “เอาใครก็ได้” หรือ “เผื่อเลือก” ประกอบกับคุณสมบัติของ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ มีประวัติที่ใสสะอาดเป็นนักบริหารชั้นเยี่ยม และไม่ได้เป็นส่วนประกอบของระบอบทักษิณ ซึ่งตรงข้ามกับ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ซึ่งก็มีความใสสะอาด แต่มีนิสัยชอบบู๊และเคยนิยมระบอบทักษิณ ซึ่งอาจจะทำให้หลายฝ่ายไม่สบายใจเพราะเหตุการณ์ “แดงบ้าเลือด” เป็นปรากฏการณ์การเมืองของไทยที่หลอกหลอนคนไทยทั้งชาติ

ปรากฏการณ์การเมืองที่สร้างโดยทักษิณ เป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจของชาติแม้นักวิเคราะห์ต่างชาติก็มองเห็นเช่นนี้ ทำให้อยู่ภาระการเติบโตเกือบหยุดนิ่งแต่มันเป็นการอำนวยประโยชน์ให้ทักษิณให้ใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างคะแนนนิยมด้วยแนวคิดเชิงทุนนิยมสามานย์ เช่น การลงทุนทำเหมืองเพชรซึ่งรู้กันว่าเป็นความร่ำรวยบนสมรภูมิเลือด

และในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 2001 ประธานาธิบดี บิลล์ คลินตัน ออกเป็นคำสั่งประธานาธิบดีที่ 13194 ห้ามไม่ให้นำเข้าเพชรดิบจากเซียร์รา ลีโอน เข้าสหรัฐฯ ตามมติของสหประชาชาติ เพราะเซียร์รา ลีโอน เป็นประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกาที่หัวหน้าเผ่านำเงินกำไรจากการขายเพชรไปซื้ออาวุธปืนมาทำสงครามกลางเมืองสังหารโหดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้บริสุทธิ์

ตำรวจมีความสำคัญอย่างยิ่งในสังคมทุกสังคม ดังเช่นวลีนิติศาสตร์ที่ปราชญ์ทางกฎหมายได้กล่าวไว้ว่า “ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั่นมีสังคม และที่ใดมีสังคม ที่นั่นย่อมมีกฎหมาย” และดังนั้นหากสังคมใดปราศจากผู้รักษากฎหมายที่ดีแล้ว กฎหมายที่มีอยู่ก็ไร้ความหมาย

ตำรวจหรือ Police ในภาษาอังกฤษซึ่งแผลงมาจากคำฝรั่งเศส Policier ที่นำเข้ามาในอังกฤษเพราะพระเจ้าวิลเลียม ผู้พิชิต (William the conqueror) กษัตริย์นอร์แมนจากฝรั่งเศสตอนเหนือเข้ายึดเกาะอังกฤษใน ค.ศ. 1066 โดยมีชัยชนะที่เมืองเฮสติ้ง (Hasting) ทำให้ภาษาฝรั่งเศสมีอิทธิพลมากมายในราชสำนักอังกฤษจึงเป็นศัพท์สูงในสังคมอังกฤษปัจจุบัน โดยมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Politia ซึ่งได้รับอิทธิพลจากภาษากรีกที่มีความหมายว่า “เวียง” หรือ City หรือการบริหารเมืองให้อยู่อย่างสงบสุข

ไทยก็เป็นอารยสังคมเช่นเดียวกับอารยธรรมอื่น และมีความเด่นชัดในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎระเบียบการปกครองบ้านเมืองเป็น 4 เหล่า คือ เวียง วัง คลัง นา เรียกว่า จตุสดมภ์ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีตำรวจขึ้นด้วย และให้อยู่ในสังกัด “เวียง” มีเจ้าพระยาจักศรีองครักษ์ สมุหนายก อัครมหาเสนาบดี เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ ซึ่งกิจการตำรวจครั้งนั้นแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ตำรวจพระนครบาล ตำรวจภูธร ส่วนตำรวจทางหลวงให้ขึ้นอยู่กับส่วน “วัง” มีเจ้าพระยาธรรมาธิบดีศรีรัตนมณเฑียรบาลเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

ในสมัยนั้นการเลือกตำรวจต้องเลือกจากผู้ที่มีชาติกำเนิดสืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่ทำคุณงามความดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต้องเป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงวางพระราชหฤทัย และตำรวจขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อำนาจการปกครองบังคับบัญชากรมตำรวจก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยโดยขึ้นตรงต่ออำนาจนักการเมือง และนักการเมืองใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือในการรักษาฐานอำนาจ หรือมีการใช้ตำรวจให้ทำงานสกปรกให้ เพราะอำนาจหน้าที่ของตำรวจในคือการรักษากฎหมายจึงมีลักษณะให้คุณให้โทษได้

อำนาจของตำรวจที่แท้จริงและเป็นอำนาจที่เกิดผลเป็นคุณประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง คือ การรักษาความสงบสุข ปกป้องสุจริตธรรม และผดุงความถูกต้องเป็นธรรม

แต่ 65 ปีที่ผ่านมา ตำรวจที่เป็นเฉพาะตัวบุคคลไม่ใช่หน่วยงานจึงเป็นเครื่องมือของนักการเมืองมาตลอด และมียุคหนึ่งที่ตำรวจมีความสำคัญทางการเมืองมากและได้ทิ้งวัฒนธรรมการเมืองในวงการตำรวจไว้พอสมควร ได้แก่ช่วง พ.ศ. 2490-2500 เมื่อพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น และยังเป็นกรมหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย จนมีวลีหนึ่งที่ว่า “ภายใต้ฟ้านี้ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” เกิดคดีอื้อฉาวทางการเมืองหลายคดี เช่น อุ้มฆ่านักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ซึ่งยุคนั้นแค่เป็นพวกเสรีนิยมก็ถูกตราหน้าว่าเป็นศัตรูกับรัฐบาลสมัยนั้นแล้ว

วัฒนธรรมการเมืองไทยจึงเป็นรูปแบบของนักการเมืองที่ต้องมีตำรวจไว้ใต้อุ้งอาณัติบารมี เพราะอำนาจนี้เป็นทั้งเครื่องมือเชิงรุก และเชิงรับในเชิงการเมือง ดังเช่นเห็นๆ กันว่ามีอดีตนักการเมืองต้องโทษอาญาแผ่นดิน แต่สามารถเล็ดรอดหนีคดีไปอยู่ต่างแดนได้ เช่น นายวัฒนา อัศวเหม ทักษิณ ชินวัตร และกำนันเป๊าะ คุณปลื้ม เป็นต้น

เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินครั้งสำคัญ ภายหลังกรณีเหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 2535 กรมตำรวจเองก็ถูกชำแหละและมีการตรา พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ที่ปรับเปลี่ยนอำนาจของอธิบดีกรมตำรวจ หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอดีตมีอำนาจในการบริหารงานกรมตำรวจ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพียงแต่ผู้เดียว และอำนาจที่เป็นกิเลสสูงสุดนั้นคือ การให้คุณ ให้โทษกับมนุษย์ด้วยกัน ทั้งสองประการนี้มีผลประโยชน์มหาศาลสามารถแปลงเป็นเม็ดเงินได้ง่ายดาย

ผู้เขียนเองก็เคยได้ยินมากับหูจากปากนายตำรวจคนหนึ่ง ซึ่งตัวเองไม่รู้จักแต่เผอิญอยู่ในวงสนทนาเดียวกัน ซึ่งผู้ประสานงานกับผู้ใหญ่ในกรมตำรวจเป็นคนรู้จักกับผู้เขียน และนายตำรวจผู้นี้พูดออกมาอย่างไร้ยางอายว่า เขามีเงินพอที่จะซื้อตำแหน่งสารวัตรสถานีลุมพินีในสมัยนั้น ประมาณ 20 ปีมาแล้ว แต่เป็นเหตุบังเอิญที่ว่า สารวัตรลุมพินีขณะนั้นเป็นพี่ชายเพื่อนของผู้เขียน จึงได้เตือนเขาอย่างตรงไปตรงมาว่า เรื่องซื้อตำแหน่งเป็นเรื่องเลวร้ายทำลายปรัชญาตำรวจ

พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มีสองมาตราคือ มาตรา 16 และมาตรา 31 ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ และประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ

ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารรัฐ รับผิดชอบชั่วดีของทั้งคณะรัฐมนตรี หรือของข้าราชการที่ต้องสนองตอบนโยบายรัฐและความต้องการของประชาชน และความปรารถนาของประชาชนคือความสงบสุข ความปลอดภัย ความเป็นธรรม และการปกป้องสุจริตธรรมให้กับปวงชนทั้งมวล

นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่ต้องรับผิดชอบ ไม่มีใครเห็นใจนายกรัฐมนตรี หากเกิดความเลวร้ายขึ้นในสังคม และคงไม่มีกรรมการคนไหนกล้าออกหน้ามารับผิดว่า “ผบ.ตร.คนนี้ผมเลือกเอง” หากคนคนนั้นปฏิบัติงานผิดพลาด ซึ่งทุกคนในคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ก็ดี กรรมการข้าราชการตำรวจก็ดี ก็จะโยนความผิดให้กับนายกรัฐมนตรี และในฐานะที่ประชาชนไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแล้ว เกณฑ์การพิจารณาของ ผบ.ตร.นั้น ส่วนหนึ่งคงต้องพิจารณาจากความต้องการของประชาชนด้วย จึงขอให้นายกรัฐมนตรียืนหยัดในความถูกต้องและทำเพื่ออุดมการณ์ของตนเองอันเป็นเอกภาพ เอกสิทธิ์และผลทั้งมวลจะได้เกิดเอกภาพในประชาคมตำรวจเสียที
กำลังโหลดความคิดเห็น