xs
xsm
sm
md
lg

“เจ๊วา”สั่งด่วนปลุกผีกฎหมายค้าปลีก ดึงทุกฝ่ายร่วมยกร่างคาดเสร็จสิ้นปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“พรทิวา”ปลุกผีกฎหมายค้าปลีก สั่งเร่งทำประชาพิจารณ์ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวม 9 ครั้ง ดึงทุกฝ่ายร่วมยกร่างกฎหมายที่ทุกคนยอมรับได้ ตั้งธง 4 ประเด็นหลัก ธุรกิจแบบไหนต้องขออนุญาต ใครมีอำนาจออกใบอนุญาต จะช่วยค้าปลีกรายย่อยยังไง และบทลงโทษควรมีมากน้อยแค่ไหน โยนเข้ากลางวงให้โต้แย้งโต้เถียงกันเอง คาดสรุปผลได้ใน 2 เดือน ก่อนชงครม.พิจารณา เผยบิ๊กโฟร์ โลตัส คาร์ฟูร์ บิ๊กซี และแมคโคร ไม่รอด ส่วนห้าง ร้านสะดวกซื้อ รอลุ้นถูกคุมหรือไม่

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมฯ จัดทำประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ. ... ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวม 9 ครั้ง เช่น อุบลราชธานี ขอนแก่น พิษณุโลก ชลบุรี ระยอง สุพรรณบุรี และตรัง เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งค้าปลีกรายย่อย (โชห่วย) ค้าปลีก ค้าส่ง รายใหญ่ นักวิชาการ ภาครัฐและเอกชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มีความเหมาะสม และทุกฝ่ายยอมรับได้ โดยตั้งเป้าหมายที่จะทำประชาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และจากนั้นจะนำมาปรับปรุงร่างกฎหมายสุดท้าย และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป คาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นก่อนสิ้นปีนี้

“ในการจัดเวทีประชาพิจารณ์ เราได้ยกประเด็นที่เป็นปัญหาที่เคยถกเถียงกันมาก่อนหน้านี้ และเป็นประเด็นที่ร่างกฎหมายฉบับเดิม ก็เป็นปัญหา และมีคนท้วงติงมาก เลยต้องการส่งให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งระบบ ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็น และหาทางออกร่วมกัน เพราะสิ่งที่จะได้มา ถือเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับร่วมกันแล้วและจะได้ไม่มีปัญหาในภายหลังเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้”นายยรรยงกล่าว

สำหรับประเด็นที่จะจัดทำประชาพิจารณ์ จะพุ่งเป้าใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การกำหนดประเภทธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ที่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจว่าจะมีอะไรบ้าง 2.การออกใบอนุญาตจะมีวิธีการอย่างไร เป็นแบบรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง หรือกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณา 3.มาตรการส่งเสริมและพัฒนาค้าปลีกรายย่อย ควรจะมีอะไรบ้าง 4.โทษปรับตามกฎหมาย จะมีการปรับปรุงโทษอาญา และโทษปรับอย่างไร

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า การกำหนดให้ธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ที่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจ เบื้องต้นกำหนดให้กลุ่มค้าปลีก ค้าส่ง ขนาดใหญ่ (ไฮเปอร์มาร์ท) เช่น เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์ และแมคโคร รวมทั้งห้างค้าที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร นับเฉพาะส่วนพื้นที่ค้าขาย ไม่นับที่จอดรถหรือส่วนบริหารจัดการอื่นๆ จะต้องขออนุญาตแน่นอน ส่วนกลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ต เช่น ท็อป ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อที่มีรายได้รวมทุกสาขา 1,000 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป เช่น เซเว่น อีเลฟเวน ตลาดสด และร้านค้าเฉพาะสินค้า เช่น บูธ วัตสัน อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าต้องขออนุญาตหรือไม่ หรืออาจกำหนดให้ต้องขออนุญาต แต่วิธีการและขั้นตอนในการพิจารณาอนุญาตอาจจะง่ายกว่ากลุ่มไฮเปอร์มาร์ท

ในด้านการพิจารณาออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ กำหนดไว้ 2 รูปแบบ คือ กำหนดให้คณะกรรมการส่วนกลาง เป็นผู้พิจารณาออกใบอนุญาตทั้งหมด หรือมอบหมายให้คณะกรรมการส่วนจังหวัด เป็นผู้พิจารณาออกใบอนุญาต โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกลางฯ กำหนด เช่น การกำหนดระยะห่างจากตัวเมือง 5 หรือ 10 กิโลเมตร ระยะเวลาเปิด-ปิดในแต่ละวัน เป็นต้น

สำหรับมาตรการส่งเสริมและพัฒนาค้าปลีกรายย่อย เบื้องต้นได้มีการเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกวงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาร้านค้าปลีกรายย่อยที่มีกว่า 4 แสนราย ทั้งด้านเงินทุน และเทคโนโลยี รวมทั้งช่วยในการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายการค้า การจัดระบบโลจิสติกส์ และการพัฒนาให้ค้าปลีกรายย่อยเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อให้สามารถขอคืน VAT ได้

ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย ได้กำหนดให้มีการปรับบทลงโทษในส่วนของโทษอาญาที่ต้องจำคุกให้ลดลงกว่า 1 ปี ในกรณีที่ไม่ได้ขอใบอนุญาต และให้เพิ่มโทษปรับให้มากขึ้น รวมทั้งให้เพิ่มโทษทางปกครอง เช่น การระงับใบอนุญาต และโทษทางสังคม เช่น การให้บริการสาธารณะ เป็นต้น  

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับข้อมูลการขยายสาขาห้างค้าปลีก ค้าส่ง ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ ตั้งแต่ปี 2548 ถึง เดือน ก.ค.2552 ห้างเทสโก้ โลตัส ได้เพิ่มสาขามากสุดจากปี 2548 ที่มี 184 แห่ง เป็นปัจจุบัน 633 แห่ง บิ๊กซี 50 แห่ง เป็น 77 แห่ง คาร์ฟูร์ 23 แห่ง เป็น 34 แห่ง แม็คโคร 29 แห่ง เป็น 42 แห่ง ท็อป ซูเปอร์มาร์เก็ต 81 แห่ง เป็น 109 แห่ง และเซเว่น อีเลฟเว่น 3,311 แห่ง เป็น 4,943 แห่ง  
กำลังโหลดความคิดเห็น