xs
xsm
sm
md
lg

ตลท.แขวนNCหุ้นSECC เหตุเข้าข่ายเพิกถอนจี้ส่งงบก่อน1มี.ค.53

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - ตลาดหลักทรัพย์ประกาศให้ เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน เหตุไม่นำส่งงบการเงินสิ้นปี 51 ล่าช้าเกินกว่า 180 วันตามเกณฑ์ พร้อมแขวนป้าย NC เพิ่มอีกเริ่ม 2 ก.ย.นี้เป็นต้นไป หลังก่อนหน้าติด SP แล้ว จี้ให้เร่งนำส่งงบก่อน 1 มี.ค.53 ก่อนดำเนินการตามเกณฑ์

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดนโยบายการประกาศรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่ต้องแก้ไขคุณสมบัติในการเป็นบริษัทจดทะเบียน กรณีบริษัทจดทะเบียนนำส่งงบการเงินล่าช้าเกินกว่า 180 วัน เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเร่งปรับปรุงระบบการควบคุมภายในและระบบบัญชี รวมทั้งกระบวนการจัดทำรายงานทางการเงินอย่างมีประสิทธิผล โดยตลาดหลักทรัพย์จะประกาศรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่นำส่งงบการเงินล่าช้าเป็นเวลานานติดต่อกันมากกว่า 180 วัน ซึ่งบริษัทดังกล่าวจะต้องแก้ไขคุณสมบัติในการเป็นบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวมิฉะนั้นอาจถูกเพิกถอนหลักทรัพย์จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนตามความในข้อ 9 (3) และ 9 (5) แห่งข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน พ.ศ. 2542 นั้น

โดย ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2552 ปรากฏว่า บริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) (SECC) ยังมิได้นำส่งงบการเงินประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ต่อตลาดหลักทรัพย์ซึ่งล่าช้าเกินกว่า 180 วัน และเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามความในข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าวตลาดหลักทรัพย์จึงดำเนินการดังนี้

(1) ประกาศว่าหลักทรัพย์ของ SECC เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2552 และยังคงขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) ห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของ SECC และขึ้นเครื่องหมาย NC (Non-Compliance) ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2552 เพื่อกำกับไว้ให้ผู้ลงทุนทราบว่าหลักทรัพย์ของบริษัท เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน

(2) SECC สามารถดำเนินการให้เหตุแห่งการเพิกถอนหมดไป โดยเร่งนำส่งงบการเงินดังกล่าวโดยเร็วและไม่เกินกว่า 180 วัน นับแต่วันประกาศเข้าเกณฑ์อาจถูกเพิกถอน โดย SECC สามารถขอให้ตลาดหลักทรัพย์พิจารณาพ้นเหตุแห่งการเพิกถอนเมื่อ SECC สามารถส่งงบการเงินภายในเวลาที่กำหนด 2 งวดติดต่อกันภายหลังที่ได้นำส่งงบการเงินงวดที่ล่าช้า และรายงานของผู้สอบบัญชีต้องไม่เป็นรายงานประเภทใดประเภทหนึ่งดังนี้

2.1 ผู้สอบบัญชีเสนอรายงานแบบมีเงื่อนไขเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนมีข้อบกพร่องในระบบควบคุมภายในหรือระบบบัญชีไม่สมบูรณ์ หรือบริษัทจดทะเบียนไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป

2.2 ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน กรณีถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบโดยการกระทำหรือไม่กระทำของบริษัทหรือผู้บริหาร

2.3 ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ หาก SECC ไม่สามารถแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนให้หมดไป กล่าวคือไม่สามารถนำส่งงบการเงินประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ต่อตลาดหลักทรัพย์ ได้ภายใน 180 วัน หรือภายในวันที่ 1 มีนาคม 2553 ตลาดหลักทรัพย์อาจพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์ของ SECC จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน

อนึ่ง ตลาดหลักทรัพย์ได้ แขวนเครื่องหมาย SP (Suspension) หุ้น SECC เนื่องจากไม่ส่งงบการเงินงวดสิ้นปี 51 ตั้งแต่การซื้อขายรอบเช้าวันที่ 3 มีนาคม 52 มาก่อนหน้านี้แล้ว และ SECC ยังขอผ่อนผันกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต. ) ไม่ต้องจัดให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เนื่องจากขณะนี้ SECC ต้องจัดทำงบการเงินประจำปี 51 โดยมีผู้สอบบัญชีตรวจสอบและให้ความเห็นแล้ว จึงผ่อนผันการจัดทำ special audit โดยมีเงื่อนไขว่า การตรวจสอบงบการเงินประจำปี 51 จะต้องครอบคลุมประเด็นที่สำนักงานได้เคยสั่งการให้ทำ special audit และให้เปิดเผยข้อเท็จ จริงและผลกระทบจากการทุจริตที่พบหรือสงสัยว่าอาจมีการทุจริตไว้ในงบการเงินประจำปี 51 ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น