xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเอาจริงประกันพืชผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" เมื่อเช้าวานนี้ (30ส.ค.) ถึงนโยบายการแทรกแซงราคาพืชผลโดยเฉพาะเรื่องข้าว ว่า เคยคุยกันไว้หลายครั้งแล้วว่ารัฐบาลจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการในการแทรกแซงจากเดิมที่ไปจำนำในราคาที่สูง ซึ่งทำให้มีปัญหาหลายปัญหาตามมา ตั้งแต่ เป็นการทำลายกลไกตลาด ทำให้ข้าวไทยในตลาดโลกไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะมีราคาสูง ขณะเดียวกันมาตรการจำนำก็มีโควตาจำกัดมาก จนกระทั่งในที่สุดคนที่ได้ประโยชน์เป็นเพียงคนส่วนน้อย แล้วพอรัฐบาลจำนำในราคาสูง ในที่สุดก็เหมือนกับรัฐบาลซื้อเข้ามา ก็มีปัญหาในเรื่องของการบริหารสต็อก ประกาศขายที ราคาก็ตก ครั้นจะเก็บเอาไว้ก็มีปัญหาเรื่องของการเสื่อมคุณภาพ โดยเฉพาะในปีหน้า เมื่อเราเปิดเขตการค้าเสรีกับอาเซียน นั่นหมายถึงว่า พืชผลทางการเกษตรของประเทศเพื่อนบ้าน จะสามารถเข้ามาสู่ประเทศไทยได้ด้วย เพราะฉะนั้นแนวทางการจำนำคงไม่สามารถที่จะทำต่อได้ เราก็ใช้รูปแบบของการที่เข้ามาใช้ระบบประกัน จริงๆ แล้วก็เป็นการผสมผสานระหว่างเรื่องของราคา กับรายได้
นายอภิสิทธิ์ได้อธิบายขั้นตอนการแทรกแซงราคาว่า สำหรับข้าวนาปี จะมีการไปดำเนินการจดทะเบียน ซึ่งขณะนี้ได้ทำไปแล้ว ซึ่งล่าสุดคือประมาณครึ่งหนึ่งของพี่น้องเกษตรกรหลายล้านครัวเรือน ประมาณ 2 ล้านกว่าครัวเรือน ได้มีการมาขึ้นทะเบียนเอาไว้ การขึ้นทะเบียนเอาไว้ ก็จะทำให้ทราบว่า เกษตรกรแต่ละครัวเรือน ปลูกอะไร คือปลูกข้าว ข้าวโพด หรือมันสำปะหลัง ในเรื่องข้าว เป็นข้าวประเภทไหนบ้าง ในที่ดินที่ถือครองอยู่เท่าไร ซึ่งที่ดินตรงนี้สำหรับปีนี้ ก็อนุโลมในเรื่องของที่ดินที่ไม่เอกสารสิทธิ์ ตราบเท่าที่ไม่ใช่เป็นการไปบุกรุกใหม่ ก็จะมีการขึ้นทะเบียนเอาไว้ เมื่อขึ้นทะเบียนเสร็จแล้ว เราก็จะมาคำนวณผลผลิต ซึ่งในแต่ละจังหวัด เราจะมีตัวเลขอยู่แล้วว่า ผลผลิตต่อไร่ ในพื้นที่ในเขตชลประทานเป็นเท่าไร นอกเขตชลประทานเป็นเท่าไร เพื่อคำนวณถึงผลผลิตที่จะได้ในฤดูกาลนั้น เมื่อได้ตัวเลขโครงการผลผลิตทั้งหมดแล้ว เราก็จะประกาศต่อไปว่า ที่รัฐบาลจะประกันให้ในปริมาณเท่าไร ขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ เดิมทีมีข้อเสนอว่าอาจจะเป็น 20 ตันต่อครัวเรือน ตอนนี้ก็มีการพูดถึงว่าจะขยายไปถึง 30 หรือไม่อย่างไร ก็จะไปดูจากโครงสร้างก่อน
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่าเรื่องนี้ได้มีการประชุมกำหนดราคาไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นข้าวหอมมะลิ ราคาประกันจะอยู่ที่ 15,300 บาท ถ้าเป็นข้าวขาวก็ 10,000 บาท อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว รัฐบาลก็จะประกาศราคาที่เรียกว่า ราคาอ้างอิง ซึ่งจะประเมินจากราคาที่สามารถเอาข้าวไปขายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ อิงกับตลาดโลกด้วย แล้วก็เกษตรกรจะสามารถมาใช้สิทธิ์ตามที่ขึ้นทะเบียนเอาไว้ เช่น สมมติว่าเป็นข้าวขาว ราคาประกันอยู่ที่ 10,000 วันนั้นมีการประกาศราคาอ้างอิง 8,000 บาท เกษตรกรจะสามารถมารับส่วนต่างได้ 2,000 บาท อย่างนี้เป็นต้น โดยที่ไม่ต้องมีการมาส่งมอบข้าว
ส่วนที่มีคนกังวลว่า ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะมีช่องโหว่ช่องว่างไปสู่การทุจริต หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเลย เพราะว่าเกษตรกรเมื่อเขาใช้สิทธิ์ไปในฤดูเพาะปลูกนั้นแล้วก็จบกันไป ส่วนข้าวเขาจะปลูก แล้วรับประทานเอง ปลูกแล้วจะไปขายหรือไม่ ในราคาเท่าไร ก็ว่าไปตามกลไกตลาด มีคนไปกังวลตอนแรกว่า ถ้าสมมติเขาไปสมคบกัน อ้างว่าขายในราคาถูก มารับส่วนต่างมากๆ ไม่ได้ เพราะว่าส่วนต่างที่เราชดเชยให้ เป็นส่วนต่างระหว่างราคาประกัน กับราคาที่ รัฐบาลประกาศที่เรียกว่าราคาอ้างอิง แต่ว่าถ้าหากว่า ราคาที่ซื้อขายกันจริงมีแนวโน้มที่จะลดต่ำลง รัฐบาลจะมีมาตรการแทรกแซงอื่น เพื่อช่วยที่จะพยุงราคาด้วยพร้อมๆกันไป ไม่ได้หมายความจะไม่มีมาตรการอื่นเลย
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลดี ของนโยบายประกันราคาผลดีที่เห็นได้แน่ชัดคือ ประการแรก เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรทุกครัวเรือน เป็นครั้งแรก เพราะว่าก่อนหน้านี้ทุกครั้งมีการจำนำ จะมีโควตา และตนไปดูแล้วตัวเลขของครัวเรือนที่สามารถได้ประโยชน์จากโครงการการจำนำ อย่างเก่งที่สุดก็เฉียดๆ คือไม่ถึงครึ่งดี สำหรับกรณีข้าวนาปรัง ถ้าเป็นกรณีอื่นๆ นั้นเพียงร้อยละ 20 บ้าง ร้อยละ 30 บ้าง เพราะฉะนั้นครั้งนี้ เกษตรกรทุกรายได้ประโยชน์ แม้กระทั่งเกษตรกรซึ่งปกติไม่ได้ปลูกข้าวและขายด้วยซ้ำ
ประการที่ 2 สิ่งที่เกษตรกรจะได้จากระบบการชดเชยคือ เงินสดในมือเลย ในส่วนของความแตกต่างของส่วนต่างราคา แล้วก็คูณด้วยกับปริมาณที่เราใช้จากสูตรคำนวณ อย่างที่เล่าให้ฟังในช่วงแรก
ประการที่ 3 รัฐบาลจะไม่ค่อยมีภาระในเรื่องของการที่จะต้องมาบริหารจัดการสต็อกข้าว และทำให้กลไกลการซื้อขายข้าวกลับมาดำเนินการอย่างปกติ
"เราคิดว่าพอเราทำมาตรการนี้ ที่เราสูญเสียความสามารถในการแข่งขันข้าวไปให้กับประเทศคู่แข่ง อย่างเช่นเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันราคาข้าวถูกกว่าเรามาก เพราะว่าต้นทุนข้าวในประเทศเราสูงจากระบบจำนำ ตรงนี้ก็จะลดช่องว่างลงมา ข้าวไทยก็จะแข่งขันได้มากขึ้น และถ้าเราทำระบบประกัน และมีความชัดเจน ขณะนี้คิดว่ามากที่สุดคือให้ปีละ 2 รอบ ก็จะเป็นการค่อย ๆ จูงใจให้เกษตรกร มาเลือกปลูกข้าวที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดเป็น พันธุ์ที่ดีมากกว่าที่จะเน้นความรวดเร็วของรอบของการปลูก" นายกรัฐมนตรีกล่าว และว่า จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น