xs
xsm
sm
md
lg

สิงคโปร์เผชิญ "คลื่นยักษ์สึนามิสีเงินยวง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สิงคโปร์เป็นชาติที่ประชากรกำลังมีระดับอายุโดยเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดชาติหนึ่งของโลก ประมาณการกันว่าภายในปี 2030 ผู้คนที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนเท่ากับ 23% ของประชากรทั้งประเทศ อัตราส่วนเช่นนี้จัดว่าสูงที่สุดเป็นอันดับสองในเอเชีย โดยตามหลังญี่ปุ่นเพียงชาติเดียว ถ้าหากแนวโน้มด้านประชากรยังคงอยู่ในทิศทางเฉกเช่นปัจจุบัน ค่ากลาง (median) ของอายุประชากรในรัฐแห่งนี้ก็จะเพิ่มขึ้นจาก 36 ปีในปัจจุบัน กลายเป็น 41 ปีภายในปี 2030 จากนั้นภายในปี 2050 ค่ากลางของอายุคนสิงคโปร์จะทะยานขึ้นเป็น 54 ปี ทำให้มีเหลือเพียงญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, และมาเก๊าเท่านั้น ที่ประชากรมีค่ากลางของอายุสูงกว่า
การเปลี่ยนแปลงทางประชากรของสิงคโปร์ในทิศทางสู่สังคมคนชราเช่นนี้ มีความเข้มข้นรุนแรงยิ่งขึ้นมากจากการที่ประเทศมีอัตราเกิดที่ต่ำ โดยลดถอยลงมาจนถึงจุดต่ำสุดที่ 1.24 (ในจำนวนประชากร 1,000 คน มีเด็กที่เกิดและมีชีวิตรอด 1.24 คน) ในปี 2004 ก่อนจะกระเตื้องดีขึ้นในปีที่แล้วเป็น 1.29 การที่ลูกหลานมีจำนวนน้อยลงเช่นนี้ ย่อมหมายความว่าประชากรในวัยหนุ่มสาวของสังคมมีภาระเพิ่มมากขึ้นในการเลี้ยงดูผู้คนที่อยู่ในวัยชรา เมื่อต้นปีนี้ รัฐมนตรีสาธารณสุขสิงคโปร์ เกาบุนวัน ได้พูดถึงสภาพทางประชากรที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ว่า เป็นเสมือน "คลื่นยักษ์สึนามิสีเงินยวง" (silver tsunami)

รัฐบาลสิงคโปร์นั้นได้บังคับให้ประชาชนแต่ละคนต้องมีเงินเก็บเงินออมกันมานานแล้ว โดยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนกลาง (Central Provident Fund หรือ CPF) ที่บังคับให้ประชาชนผู้ทำงานทุกคนต้องเข้าเป็นสมาชิกเพื่อฝากออมเงินเอาไว้ใช้ในยามชรา

อย่างไรก็ตาม การสำรวจที่กระทำเมื่อไม่นานมานี้กลับพบว่า มีประชาชนสูงอายุในปัจจุบันไม่ถึง 5% ที่พึ่งพาอาศัยดอกผลจากกองทุนซีพีเอฟมาเลี้ยงชีพ ตรงกันข้าม ผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่บอกว่าพวกเขาพึ่งพาอาศัยลูกหลานของพวกเขาเองเป็นหลัก ทว่าการพึ่งพาเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นการทำให้สายสัมพันธ์ในครอบครัวเกิดความตึงเครียด ในเมื่อค่าใช้จ่ายเฉลี่ยทางด้านการดูแลสุขภาพกำลังเพิ่มสูงลิ่ว

อันที่จริง รัฐบาลสิงคโปร์ก็พยายามเน้นย้ำบทบาทของลูกหลานในครอบครัวที่จะต้องให้การดูแลผู้ชรา เป็นต้นว่า ได้ออกรัฐบัญญัติการเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้ปกครอง (Maintenance of Parents Act) ปี 2005 ซึ่งเปิดทางให้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถฟ้องร้องเรียกเงินค่าเลี้ยงดูจากลูกหลานของพวกตนได้ ปรากฏว่าในปีที่แล้ว มีผู้ยื่นฟ้องร้องต่อ ศาลเพื่อการเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้ปกครอง (Tribunal for Maintenance of Parents) สูงที่สุดในรอบ 9 ปีทีเดียว

ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีพลเมืองอาวุโส 172 รายยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงดูจากลูกหลานของพวกเขา สูงขึ้นจากรอบ 12 เดือนก่อนหน้านั้นซึ่งมีจำนวนประมาณ 100 ราย กระนั้นก็ตามที สถานสงเคราะห์คนชราที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง ซึ่งใช้ชื่อว่า "เกย์ลัง อีสต์ โฮม ฟอร์ ดิ เอจด์" (Geylang East Home for the Aged) เปิดเผยว่า บ้านพักขนาด 37 เตียงของทางสถานสงเคราะห์มีผู้มาขอพักอาศัยจนเต็มอยู่เสมอ

ความขัดแย้งระหว่างคนต่างรุ่นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายด้านดูแลสุขภาพซึ่งพุ่งสูงลิ่วๆ นั่นเอง ในปี 1984 รัฐบาลสิงคโปร์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายประมาณสามในสี่ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของทั่วประเทศ ทว่าภาระดังกล่าวได้ถูกโยกออกมาจากภาครัฐ เมื่อรัฐบาลสิงคโปร์ประกาศใช้ระบบออมเงินเพื่อค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ ซึ่งกำหนดให้ประชาชนแต่ละคนต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านนี้เอง

เวลานี้ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพคิดเป็นประมาณ 4.5% ของค่าใช้จ่ายโดยรวมของประเทศ นับว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลกทีเดียว รายงานการวิจัยที่จัดทำโดย เดวิด เรสแมน แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง ชี้ให้เห็นว่า ในสิงคโปร์เมื่อปี 2007 ภาครัฐเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายด้านการดูแลรักษาสุขภาพประมาณ 36% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดทางด้านนี้ของประเทศ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วก็ใกล้เคียงกับชาติที่ยากจนกว่ามากอย่างอินโดนีเซีย ตลอดจนประเทศที่อยู่ในภาวะพิกลพิการทางเศรษฐกิจอย่างซิมบับเว

ตามรายงานการวิจัยของเรสแมน ในสภาพที่ด้านหนึ่งมีพลเมืองอาวุโสจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีลูกหลานที่ไม่ปรารถนาหรือไม่สามารถที่จะแบกรับภาระเช่นนี้ได้ รัฐบาลสิงคโปร์จึงจะตกอยู่ในอาการลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่เข้าแบกรับค่าใช้จ่ายด้านนี้เพิ่มมากขึ้น

วิกฤตที่กำลังสาหัสขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ กระตุ้นให้เกิดการขบคิดเสนอความเห็นบางอย่างที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ทว่าบางทีก็ก่อให้เกิดการโต้แย้งกันอย่างดุเดือด

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีสาธารณสุขเกาบุนวัน ได้จุดชนวนทำให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อน เมื่อเขาเสนอแนะให้สิงคโปร์พิจารณาโยกย้ายประชาชนสูงอายุของตน ข้ามพรมแดนไปอยู่ที่เมืองยะโฮร์บาห์รู อันเป็นเมืองในมาเลเซียที่อยู่ห่างเกาะสิงคโปร์นิดเดียว

เขาประมาณการให้ฟังว่าเงินค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งสถานพยาบาลแบบโพลิคลินิกขึ้นมาสักแห่งในสิงคโปร์นั้น หากเป็นที่ยะโฮร์บาห์รูจะสามารถนำไปสร้างบ้านพักคนชราขนาด 200 เตียงที่มีบริการทุกอย่างครบครันได้ทีเดียว

"แน่นอนว่า มี(สมาชิกในครอบครัว)จำนวนมาก ไปเยี่ยมเยียน (พ่อแม่ผู้ปกครองของพวกเขา) กันเป็นประจำทุกวัน แต่ก็มีจำนวนเยอะทีเดียวที่ไปเยี่ยมเพียงเฉพาะช่วงสุดสัปดาห์ ดังนั้นมันจะมีความแตกต่างอะไรถ้าหากนำพวกเขาไปอยู่เสียที่ยะโฮร์บาห์รู?"

(เก็บความและตัดทอนจากเรื่อง Singapore faces a 'silver tsunami'
โดย Megawati Wijaya นักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในสิงคโปร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น