xs
xsm
sm
md
lg

สิงคโปร์เผชิญ “คลื่นยักษ์สึนามิสีเงินยวง”

เผยแพร่:   โดย: เมกาวาตี วิชายา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Singapore faces a ‘silver tsunami’
By Megawati Wijaya
26/08/2009

ผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์กำลังถูกบังคับให้ไปพึ่งพาอาศัยพวกสถานสงเคราะห์สำหรับ “พ่อแม่ที่ถูกทอดทิ้ง” หรือไม่ก็กำลังฟ้องร้องลูกหลานของพวกเขาเองเพื่อเรียกร้องเงินค่าเลี้ยงดู ขณะที่ภาครัฐของประเทศนี้ก็กำลังต่อสู้รบรากับค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพที่พุ่งลิ่วขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมที่กำลังกลายเป็นสังคมคนแก่มากขึ้นทุกทีๆ แนวโน้มเช่นนี้กำลังส่งผลอย่างรุนแรงมาถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ตลอดจนก่อให้เกิดข้อเสนอที่เรียกเสียงโต้แย้งดังอื้ออึง เป็นต้นว่า มีรัฐมนตรีผู้หนึ่งแนะนำให้ส่งคนชราทั้งหมดไปพำนักอาศัยในมาเลเซีย

สิงคโปร์ – หลายๆ ปีที่ผ่านมา เมื่อถึงการชุมนุมใหญ่เนื่องในวันชาติ รัฐบาลสิงคโปร์จะสนับสนุนให้ดำเนินการรณรงค์ที่มุ่งส่งข้อความไปถึงคู่สมรสทั้งหลาย ว่าต้องเร่งรัดช่วยกันมีลูกเพิ่มมากขึ้น ทว่าการรณรงค์วันชาติปีนี้แตกต่างออกไป เพราะสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนออย่างโดดเด่น กลับเป็นปัญหาว่าด้วยรัฐแห่งนี้กำลังกลายเป็นสังคมคนแก่ผมสีเงินยวงไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางประชากรอย่างใหญ่โตเช่นนี้ ย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพและค่าใช้จ่ายด้านชีวิตความเป็นอยู่ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งทำท่าจะกลายเป็นการคุกคามเสถียรภาพทางสังคมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น มันจึงกำลังทำให้รัฐบาลต้องหวนกลับมาทบทวนตรวจสอบจุดยืนของตนเอง ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาก็ต่อต้านคัดค้านการที่จะทำตัวเป็นรัฐสวัสดิการ

สิงคโปร์เป็นชาติที่ประชากรกำลังมีระดับอายุโดยเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดชาติหนึ่งของโลก ประมาณการกันว่าภายในปี 2030 ผู้คนที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นมา จะมีจำนวนเท่ากับ 23% ของประชากรทั้งประเทศ อัตราส่วนเช่นนี้จัดว่าสูงที่สุดเป็นอันดับสองในเอเชีย โดยตามหลังญี่ปุ่นเพียงชาติเดียว ถ้าหากแนวโน้มด้านประชากรยังคงอยู่ในทิศทางเฉกเช่นปัจจุบัน ค่ากลาง (median) ของอายุประชากรในรัฐแห่งนี้ก็จะเพิ่มขึ้นจาก 36 ปีในปัจจุบัน กลายเป็น 41 ปีภายในปี 2030 จากนั้นภายในปี 2050 ค่ากลางของอายุคนสิงคโปร์จะทะยานขึ้นเป็น 54 ปี ทำให้เหลือเพียงญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, และมาเก๊าเท่านั้น ที่ประชากรมีค่ากลางของอายุสูงกว่า

การเปลี่ยนแปลงทางประชากรของสิงคโปร์ในทิศทางสู่สังคมคนชราเช่นนี้ มีความเข้มข้นรุนแรงยิ่งขึ้นมาก จากการที่ประเทศมีอัตราเกิดที่ต่ำ โดยลดถอยลงมาจนถึงจุดต่ำสุดที่ 1.24 (ในจำนวนประชากร 1,000 คน มีเด็กที่เกิดและมีชีวิตรอด 1.24 คน) เมื่อปี 2004 ก่อนจะกระเตื้องดีขึ้นในปีที่แล้วเป็น 1.29 การที่ลูกหลานมีจำนวนน้อยลงเช่นนี้ ย่อมหมายความว่าประชากรในวัยหนุ่มสาวของสังคมมีภาระเพิ่มมากขึ้นในการเลี้ยงดูผู้คนที่อยู่ในวัยชรา เมื่อต้นปีนี้ รัฐมนตรีสาธารณสุขสิงคโปร์ เกาบุนวัน (Khaw Boon Wan) ได้พูดถึงสภาพทางประชากรที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ว่า เป็นเสมือน “คลื่นยักษ์สึนามิสีเงินยวง” (silver tsunami)

รัฐบาลสิงคโปร์นั้นได้บังคับให้ประชาชนแต่ละคนต้องมีเงินเก็บเงินออมกันมานานแล้ว โดยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนกลาง (Central Provident Fund หรือ CPF) ที่บังคับให้ประชาชนผู้ทำงานทุกคนต้องเข้าเป็นสมาชิกเพื่อฝากออมเงินเอาไว้ใช้ในยามชรา นอกจากนั้น ช่วงปีสองปีมานี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังประกาศแผนการที่จะออกกฎหมายที่ใช้ชื่อว่า รัฐบัญญัติการจ้างงานใหม่ (Re-employment Act) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2012 โดยสาระสำคัญคือการยืดช่วงวัยเกษียณอายุมาตรฐาน จากวัย 62 ปี ไปเป็น 65 ปี

อย่างไรก็ตาม การสำรวจที่กระทำเมื่อไม่นานมานี้กลับพบว่า มีประชาชนสูงอายุในปัจจุบันไม่ถึง 5% ที่พึ่งพาอาศัยดอกผลจากกองทุนซีพีเอฟมาเลี้ยงชีพ ตรงกันข้าม ผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่บอกว่าพวกเขาพึ่งพาอาศัยลูกหลานของพวกเขาเองเป็นหลัก ทว่าการพึ่งพาเช่นนี้กำลังมีแนวโน้มที่จะทำให้สายสัมพันธ์ในครอบครัวเกิดความตึงเครียด ในเมื่อค่าใช้จ่ายเฉลี่ยทางด้านการดูแลสุขภาพกำลังเพิ่มสูงขึ้น

อันที่จริง รัฐบาลสิงคโปร์ก็พยายามเน้นย้ำบทบาทของลูกหลานที่จะต้องให้การดูแลพ่อแม่ผู้ชรา เป็นต้นว่า ได้ออกรัฐบัญญัติการเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้ปกครอง (Maintenance of Parents Act) ปี 2005 ซึ่งเปิดทางให้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถฟ้องร้องเรียกเงินค่าเลี้ยงดูจากลูกหลานของพวกตนได้ ปรากฏว่าในปีที่แล้ว มีผู้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลเพื่อการเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้ปกครอง (Tribunal for Maintenance of Parents) สูงที่สุดในรอบ 9 ปีทีเดียว

ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีพลเมืองอาวุโส 172 รายยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงดูจากลูกหลานของพวกตน สูงขึ้นจากรอบ 12 เดือนก่อนหน้านั้นซึ่งมีจำนวนประมาณ 100 ราย กระนั้นก็ตามที สถานสงเคราะห์คนชราที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง ซึ่งใช้ชื่อว่า “เกย์ลัง อีสต์ โฮม ฟอร์ ดิ เอจด์” (Geylang East Home for the Aged) เปิดเผยว่า บ้านพักขนาด 37 เตียงของทางสถานสงเคราะห์มีผู้มาขอพักอาศัยจนเต็มอยู่เสมอ ทั้งนี้พ่อแม่ผู้ปกครองที่ถูกทอดทิ้งและไม่สามารถดูแลตัวเองได้อีกต่อไป มักได้รับคำแนะนำรับรองจากเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ให้มาอยู่ที่นี่

ความขัดแย้งระหว่างคนต่างรุ่นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายด้านดูแลสุขภาพซึ่งพุ่งสูงลิ่วๆ นั่นเอง ในปี 1984 รัฐบาลสิงคโปร์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายประมาณสามในสี่ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของทั่วประเทศ ทว่าภาระดังกล่าวได้ถูกโยกออกมาจากภาครัฐ เมื่อรัฐบาลสิงคโปร์ประกาศใช้ระบบออมเงินเพื่อค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ ซึ่งกำหนดให้ประชาชนแต่ละคนต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านนี้เอง

เวลานี้ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพคิดเป็นประมาณ 4.5% ของค่าใช้จ่ายโดยรวมของประเทศ นับว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลกทีเดียว รายงานการวิจัยที่จัดทำโดย เดวิด เรสแมน (David Reisman) แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง (Nanyang Technological University) ชี้ให้เห็นว่า ในสิงคโปร์เมื่อปี 2007 ภาครัฐเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายด้านการดูแลรักษาสุขภาพประมาณ 36% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดทางด้านนี้ของประเทศ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วก็ใกล้เคียงกับชาติที่ยากจนกว่ามากอย่างอินโดนีเซีย ตลอดจนประเทศที่อยู่ในภาวะพิกลพิการทางเศรษฐกิจอย่างซิมบับเว

ตามรายงานการวิจัยของเรสแมน ในสภาพที่ด้านหนึ่งมีพลเมืองอาวุโสจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีลูกหลานที่ไม่ปรารถนาหรือไม่สามารถที่จะแบกรับภาระเช่นนี้ได้ รัฐบาลสิงคโปร์จึงจะตกอยู่ในอาการลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่เข้าแบกรับค่าใช้จ่ายด้านนี้เพิ่มมากขึ้น

ในประเทศอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมและการพัฒนาเศรษฐกิจ (Organization of Economic Cooperation and Development หรือ OECD) ถัวเฉลี่ยแล้วภาครัฐเป็นผู้แบกค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพประมาณ 80% ของค่าใช้จ่ายด้านนี้ในประเทศนั้นๆ ส่วนใหญ่ในรูปของการให้การอุดหนุนแก่พวกโรงพยาบาลรัฐ และหากแยกเป็นรายประเทศสมาชิก สวีเดนและสหราชอาณาจักรจะอยู่ในระดับ 85%, ญี่ปุ่นอยู่ที่ 81%, แม้แต่สหรัฐฯก็ยังอยู่ที่ 45% โดยที่เวลานี้ภายในสหรัฐฯกำลังมีการต่อสู้ขัดแย้งกันอย่างหนัก ในเรื่องแผนการปฏิรูประบบการดูแลสุขภาพที่จะให้ครอบคลุมประชาชนทุกๆ คน

ในสิงคโปร์ สื่อท้องถิ่นรายงานคำพูดของ ส.ส.พอลลิน เทย์-สตรอจกัน (Paulin Tay-Straughan) ที่กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพที่พุ่งโด่งขึ้นเรื่อยๆ สามารถถึงขั้นที่จะทำให้ทรัพยากรของรัฐบาลสิงคโปร์เข้าสู่ภาวะตึงตัวหนักหน่วงได้ทีเดียว “ถ้า (แต่ละคน) ไม่ได้มีการไปซื้อไปหาการประกันสุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว ก็จะเกิดความตึงตัวอย่างสาหัสในระบบการดูแลสุขภาพที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ ซึ่งจะต้องดูดเอาเงินรายรับของรัฐไป” เธอบอก

ตลอดชีวิตของชาวสิงคโปร์คนหนึ่งๆ จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเฉลี่ยแล้ว 11 ครั้ง โดยที่ 8 ครั้งจะเป็นการเข้าโรงพยาบาลหลังอายุ 55 ปี ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและด้วยภาวะไร้ความสามารถต่างๆ อันสืบเนื่องจากความเสื่อมถอยของร่างกาย มักมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นคนที่ต้องนอนอยู่แต่บนเตียง

แม้กระทั่งในกรณีที่แต่ละคนมีความสามารถที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาล ก็ยังจะต้องเกิดปัญหาเตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพออยู่บ่อยๆ แหล่งข่าวหลายรายบอกว่า โดยเฉลี่ยแล้วต้องรอกันประมาณ 4 ถึง 8 ชั่วโมงทีเดียว กว่าที่คนป่วยจะได้เข้าเป็นคนไข้ใน ทางรัฐบาลนั้นกำลังพยายามบรรเทาปัญหา ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้จัดระบบดูแลรักษาคนไข้กันที่บ้าน ทว่าก็เกิดปัญหาขาดแคลนแพทย์ที่ปรารถนาและที่สามารถไปเยี่ยมไข้ฉุกเฉินตามบ้านได้อยู่ดี พวกผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้หลายๆ คนกล่าว

วิกฤตที่กำลังสาหัสขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ กระตุ้นให้เกิดการขบคิดเสนอความเห็นบางอย่าง ที่บางครั้งเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ทว่าบางทีก็ก่อให้เกิดการโต้แย้งกันอย่างดุเดือด เป็นต้นว่า ระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ริเริ่มแผนการประกันภัยเพื่อดูแลคนชราทั่วประเทศในกรณีที่ประสบภาวะไร้ความสามารถร้ายแรงเป็นระยะยาว โครงการนี้รู้จักกันในชื่อว่า เอลเดอร์ชิลด์ (Eldershield) นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้ริเริ่มมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือคนชราอีกหลายๆ อย่าง แม้จะดำเนินการกันอย่างเงียบๆ และไม่มีการเรียกขานอย่างโจ่งแจ้งว่าเป็นสวัสดิการ เป็นต้นว่า โครงการฝึกอบรมเพื่อเสริมรายได้ (Workfare Income Supplement) และการอุดหนุนด้านการดูแลสุขภาพอื่นๆ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีสาธารณสุขเกาบุนวัน ได้จุดชนวนทำให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อน เมื่อเขาเสนอแนะให้สิงคโปร์พิจารณาโยกย้ายประชาชนสูงอายุของตน ข้ามพรมแดนไปอยู่ที่เมืองยะโฮร์บาห์รู อันเป็นเมืองในมาเลเซียที่อยู่ห่างเกาะสิงคโปร์นิดเดียว เขาประมาณการให้ฟังว่าเงินค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งสถานพยาบาลแบบโพลิคลินิกขึ้นมาสักแห่งในสิงคโปร์นั้น หากเป็นที่ยะโฮร์บาห์รูจะสามารถนำไปสร้างบ้านพักคนชราขนาด 200 เตียงที่มีบริการทุกอย่างครบครันได้ทีเดียว
“แน่นอนว่า มี(สมาชิกในครอบครัว)จำนวนมาก ไปเยี่ยมเยียน (พ่อแม่ผู้ปกครองของพวกเขา) กันเป็นประจำทุกวัน แต่ก็มีจำนวนเยอะทีเดียวที่ไปเยี่ยมเพียงเฉพาะช่วงสุดสัปดาห์ ดังนั้นมันจะมีความแตกต่างอะไร ถ้าหากนำพวกเขาไปอยู่เสียที่ยะโฮร์บาห์รู?”

การโยกย้ายคนไข้ไปมาเลเซีย ยังจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื้อรังของสิงคโปร์ ที่ขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ชำนาญทางด้านการบำบัดอาการปวดต่างๆ ตลอดจนในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความชรา ความขาดแคลนดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ในระยะไม่กี่ปีมานี้ โรงพยาบาลต่างๆ ในสิงคโปร์ต้องนำเข้าพยาบาลจากจีน, ฟิลิปปินส์, และแม้กระทั่งชาติลำบากยากจนอย่างพม่า

มีบางคนบอกว่าวิกฤตด้านการดูแลสุขภาพของสิงคโปร์นั้น มีรากเหง้าต้นตออยู่ที่วัฒนธรรม ตลอดจนการที่คนต่างรุ่นจัดลำดับความสำคัญในชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม

ในฟิลิปปินส์และไทย เด็กๆ โดยเฉพาะที่เป็นผู้หญิง ได้รับการคาดหวังว่าจะทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่ผู้ปกครองของพวกเธอเมื่อคนเหล่านี้เข้าสู่วัยชรา เนื่องจากความสำนึกถึงหนี้บุญคุณ แต่ในสิงคโปร์ มันไม่ใช่เช่นนี้อีกต่อไปแล้ว

“เราไม่สามารถที่จะออกกฎหมายเพื่อกำหนดกะเกณฑ์ให้เกิดความรัก (ในพ่อแม่ผู้ปกครองของตน)” วิเวียน บาลากฤษณัน (Vivian Balakrishnan) รัฐมนตรีดูแลการพัฒนาชุมชน, เยาวชน, และกีฬาของสิงคโปร์ กล่าวในรัฐสภาเมื่อเร็วๆ นี้ “แต่เราก็ทราบว่ามีคนส่วนน้อยจำนวนไม่มากนักจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ และเราก็จะต้องทำให้แน่ใจว่ามีความช่วยเหลือไปถึงพวกเขา ... พวกที่กำลังคิดหาทางหลีกเลี่ยงละเลยความรับผิดชอบของตนนั้น จะต้องได้รับรู้ว่าระบบจะตามไล่ล่าจับพวกคุณให้ได้”

เมกาวาตี วิชายา เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในสิงคโปร์ อาจติดต่อกับเธอได้ที่ megawati.wijaya@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น