xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่าวิกฤตภาวะผู้นำ‘มาร์ค’ พิสูจน์ข้อหา‘เทพเทือก’หักหลัง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งจะสงบลงไปได้ไม่นาน ก็ต้องปะทุขึ้นมารอบใหม่
หลังจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เกิดความเห็นต่างกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในการเสนอรายชื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่
เหตุการณ์หน้าแตกยับเยินของ“อภิสิทธิ์” หลังพ่ายโหวตในที่ประชุม ก.ต.ช. เมื่อเสียง 5 ต่อ 4 ไม่เอา พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจ แต่ สุเทพ กลับไปดันก้น พล.ต.อ.จุมพล มุ่งหมาย
ยังเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ถึงขั้นที่ว่างานนี้ สุเทพ หักหลักคนกันเอง !
แม้ว่าจะมีการจัดฉาก ดึงนายกฯ และแกนนำพรรคระดับผู้ใหญ่หลายคน ไปเคลียร์ใจกันที่บ้านเกิด จ.สุราษฏร์ธานี เมื่อช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีวาระหลักคือ ปราศรัยหาเสียงช่วยน้องชายสุเทพ คือ ธานี เทือกสุบรรณ กับภาระกิจเลือกตั้งซ่อมส.ส. เขต1 สุราษฏร์ธานี
ในยามนั้นทั้ง สุเทพ และ อภิสิทธิ์ ต่างพยายามปราศรัยแก้ต่างกระแสข่าวเรื่อง“รอยร้าวความขัดแย้ง” ที่เกิดขึ้น บนเวทีปราศรัย
โดยทั้งสองยังย้ำว่า เป็นแค่ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในการทำงาน แต่ไม่ใช่ความแตกแยก ยังคงจะจับมือร่วมกันเป็นรัฐบาลเดินหน้าสานโครงการต่างๆ และดันงบประมาณให้ลงไปให้พื้นที่ให้ถึงมือประชาชนทุกจุดอย่างแน่นอน
แต่ ส.ส.หลายคนในพรรคเองก็ยังไม่หายคลางแคลงใจกับท่าที บทบาทการทำงานของ “สุเทพ” ที่มีการเอาใจพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคภูมิใจไทย อย่างออกหน้าออกตา
ถึงกับกล้าหักหน้า หัวหน้าพรรคตนเองได้
หลายครั้งหลายหนที่สร้างความอึดอัดใจให้เกิดขึ้น เมื่อ“สุเทพ” เข้าไปชี้นำ เจ้ากี้เจ้าการเองทุกอย่าง แทนที่จะปล่อยให้ นายกฯได้ใช้ศักยภาพที่มีทำงานด้วยตัวเอง ซึ่งแต่ละเรื่องก็ล้วนมีข้อกังขาในเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงของบางกลุ่ม บางก๊วน ที่ต้องคอยตอบคำถามกับสังคมอยู่เสมอ
ขณะที่บางเรื่องจำต้องใช้ความสามารถของรองนายกรัฐมนตรี ในการประสานกับพรรคร่วมหรือ หน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของนายกฯ อย่างเช่น ก.ต.ช. ก็กลับโดดเดี่ยวนายกฯ และหันไปดันฝ่ายตรงข้ามแทน
ส่งผลกระทบต่อศักยภาพและภาวะผู้นำของนายกฯ เป็นอย่างยิ่ง
แทนที่จะคอยทำหน้าที่แบ่งเบาภาระ เป็นมือเป็นไม้ หรือเป็นมันสมองให้กับนายกฯ แต่กลับมาเพิ่มภาระหนักอึ้ง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องชื่อ ผบ.ตร.
เพราะ ถ้ายอมเสนอชื่อที่ สุเทพ สนับสนุน นายกฯ ก็ต้องโดนสังคมวิจารณ์ที่ยอมสยบต่อพรรคร่วม ไม่มีภาวะผู้นำที่แท้จริง แต่ถ้ายังดันรายชื่อคนเดิม แล้วเกิดแพ้อีก ก็เกิดวิกฤตผู้นำอีกรอบ ไม่มีอำนาจเหมือนยักษ์ไม่มีกระบอง หรือจำต้องหาคนอื่นขึ้นมาก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะต้องเอาคนที่คิดว่าทำงานสนองนโยบายรัฐบาลได้อย่างแท้จริง แต่ก็ต้องยอมรับแรงกระเพื่อมภายในพรรคร่วมรัฐบาลอีกด้วย
ส.ส.บางคนถึงขั้นเสนอว่า หากที่สุดแล้วนายกฯไม่สามารถตั้งคนของตัวเองเป็น ผบ.ตร.ได้ ก็ควรจะมีการปรับ ครม.ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก็จะดี !
งานนี้ ถือว่า “สุเทพ” โดนไปเต็มๆ
แม้ดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะมอบหมายให้ สุเทพ เป็นผู้จัดทำรัฐบาล และเข้าไปกุมบังเหียนการบริหารงานต่างๆ แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็ยังคงจับตามองอยู่ห่างๆ ด้วยความเป็นห่วง อย่างนายหัวชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ที่เป็นผู้ปลุกปั้น อภิสิทธิ์ มากับมือ ถึงกับออกปากกับ ส.ส.คนสนิท หลังเวทีปราศรัยหาเสียงที่สุราษฏร์ฯว่า
เป็นห่วงต่อสถานการณ์วิกฤตผู้นำของอภิสิทธิ์ ในครั้งนี้ แต่เชื่อว่าที่สุดแล้วคนอย่าง อภิสิทธิ์ จะเอาตัวรอดได้..
แม้แต่ “ขงเบ้ง”ประจำพรรค ที่มีความเฉียบคมในการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองให้กับสมาชิกพรรคทุกสัปดาห์ ยังออกปากห่วงใยต่อการบริหารงานภายใต้การให้น้ำหนักกับพรรคร่วมรัฐบาลมากเกินไป ซึ่งจะยากต่อการบริหารควบคุมให้อยู่ในร่องในรอยได้
ปรากฎการณ์กลุ่ม 30 ส.ส.นำโดย เฉลิมชัย ศรีอ่อน รองหัวหน้าพรรคภาคกลางตอนล่าง ตบเท้าให้กำลังใจ “อภิสิทธิ์” ที่ห้องรับรองสภา ก่อนที่จะไปร่วมประชุม ก.ต.ช.ในวันนั้น จึงเหมือนเป็นการจะบอกความนัยไปยัง สุเทพ ด้วยว่า ทุกคนพร้อมที่จะยืนข้าง อภิสิทธิ์ หากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น
“กลุ่มก๊วนนายหัวชวน” อย่าง อาคม เอ่งฉ้วน ถึงกับงัดเรื่องยุบสภา มาทวงถามกลางงานเลี้ยงอาหารมื้อเที่ยงที่บ้านพักของ สุเทพ เหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่า หากมีปัญหามากนัก ก็ล้มโต๊ะ ยุบสภา
วันนั้น แม้ “สุเทพ” จะไม่ได้เป็นคนตอบคำถามนี้ด้วยตัวเอง แต่ก็ได้ปรารภผ่านสื่อมวลชนที่ร่วมคณะว่า ที่ผ่านมามักจะมีส.ส.บางกลุ่มยุให้นายกฯยุบสภา ถ้ามีการยุบสภาในตอนนี้ตนก็
จะขอลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค และจะไม่ขอเป็นอีก
นับว่าต่างฝ่ายต่างทันเกมกัน เพราะ“สุเทพ” รู้แก่ใจดีว่า ถ้ายื่นไม้ตายนี้ไป จะสามารถสยบลูกพรรคได้ เพราะไม่มีใครอยากอาสามาเป็น “แม่บ้านพรรค” ในตอนนี้อย่างแน่นอน
เพราะงานความรับผิดชอบมันหนักหนากว่ายุคใดๆ โดยเฉพาะภาระการโกยเงินเข้าพรรค เพื่อเตรียมใช้เป็นกระสุนดินดำในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร
“ผมเห็นใจท่านสุเทพ ที่ต้องทำงานหนัก ทั้งเป็นรองนายกฯ ดูแลความมั่นคงของชาติ และดูแลความมั่นคงภายในพรรค สิ่งที่ท่านทำคือการรักษามารยาท ประคับประคองการเป็นรัฐบาลผสม แต่เราต้องไม่ลืมผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งภาวะแบบนี้ทำให้ทำงานลำบาก .....” นัยยะคำพูดของ อภิสิทธิ์ กลางโต๊ะกินข้าวที่บ้านพัก สุเทพ เหมือนเป็นการย้ำเตือนว่า ไม่ว่าจะผลประโยชน์ที่ได้จากการบริหารงานจากโครงการ หรืองบประมาณต่างๆ ก็ยืดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก
แม้ความขัดแย้งในความคิด จะถือเป็นเรื่องธรรมชาติของพรรคการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง อย่างพรรคประชาธิปัตย์
แต่อย่าลืมว่า ในยามนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นแค่พรรคฝ่ายค้านเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นพรรคการเมืองที่มีดีกรีเป็นถึงพรรคแกนนำในรัฐบาล ที่มี อำนาจ และผลประโยชน์มหาศาล เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเลี่ยงไม่ได้จะถูกจับจ้องจากสังคมรอบข้าง
ดังนั้นอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ในยามนี้ ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่า ยังอยู่ในมือผู้ใด ระหว่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือ สุเทพ เทือกสุบรรณ กันแน่
ข้อกล่าวหาที่ว่า “สุเทพ เทือกสุบรรณ” จะเป็นผู้ล้มรัฐบาลชุดนี้ จะเป็นจริงหรือไม่ ต้องลุ้นกันต่อ!
กำลังโหลดความคิดเห็น